แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 633

บางท่านเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เพียงการคิด แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ไม่ได้พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด ท่านมุ่งกลับไปหาสมาธิ เพื่อที่จะให้ประจักษ์ลักษณะความเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าในมรรคมีองค์ ๘ ได้แยกลักษณะของสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ

สมาธิไม่ใช่สติแน่นอน การที่จะไปจดจ้อง จับจ้องเพื่อที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่ได้สังเกต สำเหนียก ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ทันทีที่เห็นก็เกือบจะไม่ทราบแล้วว่า มีการตรึกนึกถึงรูปร่างจึงรู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ ทันทีที่เห็นก็เหมือนกับรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น จะประจักษ์การเกิดดับของอะไร ในเมื่อปัญญายังไม่ได้อบรมที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา และทางใจซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว การนึกถึงรูปร่างกับการเห็น เป็นจิตที่ต่างกัน ถ้าศึกษาและระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หรือทางหู เช่น เวลาที่ได้ยิน สติเกิดศึกษารู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางหูไม่ใช่สภาพรู้ ต้องแยกกันก่อน สิ่งที่ปรากฏทางหูไม่ใช่สภาพรู้ แต่เสียง คือ สิ่งที่ปรากฏทางหู ปรากฏได้เพราะมีสภาพรู้เสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่กำลังได้ยิน ที่เสียงกำลังปรากฏ มีสภาพรู้เสียงซึ่งเป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่ง คือ โสตวิญญาณ ไม่ใช่จักขุวิญญาณซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

ขณะที่เสียงปรากฏ เดี๋ยวนี้เสียงกำลังปรากฏ มีสภาพรู้เสียง แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเสียงกับสภาพที่รู้เสียงซึ่งเกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น ยังมีการนึกถึงคำ จึงเข้าใจความหมาย ถ้าไม่นึกถึงคำ จะไม่เข้าใจความหมายเลย เพราะฉะนั้น ที่โลกจะปราศไป ตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งหลายจะหายไปจากความเห็นผิด การยึดถือว่ามีจริงๆ ได้นั้น ก็โดยการศึกษาระลึกรู้เพิ่มขึ้นว่า แท้ที่จริงที่กำลังเข้าใจว่า เป็นใครพูด และมีความหมายว่าอะไร เป็นเสียงใคร พูดเรื่องอะไร แท้ที่จริงก็เป็นสภาพของจิตที่กำลังคิดถึงความหมายนั้นๆ เท่านั้น ถ้าจิตไม่คิดถึงความหมาย จะไม่มีการเข้าใจความหมายของเสียงที่พูดเลย

โลกที่แท้จริง คือ แต่ละขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละทาง ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางใจก็อย่างหนึ่ง เป็นแต่ละอย่าง ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ย่อมไม่สามารถละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การคิด และไม่ใช่การจ้องที่จะรู้การเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นการระลึกและศึกษาเพื่อเพิ่มความรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน

ถ. ผมขอถามแทนผู้เป็นเจ้าของจดหมาย คือ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ปัญญายังไม่รู้ถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า มีลักษณะต่างกัน เวลามีสติเกิดขึ้น มักจะตรึกในใจว่า เห็นบ้าง เห็นนั้นเป็นสี คิดในใจอย่างนั้น หรือขณะที่ได้ยิน ก็มักจะตรึกว่า เป็นเสียง ขณะที่ตรึกอย่างนั้น อาจารย์ก็พูดหลายครั้งหลายหนแล้วว่า ไม่ใช่การสังเกต ไม่ใช่อารมณ์ของสติปัฏฐาน ถามว่า ถ้าไม่ได้ตรึกว่าเป็นสี สีก็ปรากฏตามปกติ ถ้าไม่ได้ตรึกว่าเป็นเสียง เสียงก็ปรากฏเป็นปกติ แต่ขณะที่ตรึกว่าเป็นสีนั้น จิตเป็นกุศลหรือไม่

สุ. เป็นกุศลขั้นคิด เพราะว่าคิดถูก ไม่ได้เห็นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ถ. จะเป็นโยนิโสมนสิการไหม

สุ. โยนิโสมนสิการเกิดกับกุศลจิตได้ แต่แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นไหน

ถ. ขณะจิตที่คิดว่า เห็นสี ขณะนั้นชื่อว่า มนสิการได้ไหม

สุ. มนสิการเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่ขณะนั้นยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ได้สังเกต สำเหนียก เพื่อรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ

ถ. ไม่ใช่ ถามตกไป ถามว่าจะเป็นโยนิโสมนสิการหรือไม่

สุ. โยนิโสมนสิการเกิดกับกุศลจิตทุกดวง ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศลเพราะว่า คิดถูก แม้แต่ความคิด ก็มีคิดถูกหรือคิดผิด ถ้าคิดผิดว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล นั่นไม่ใช่กุศล ถ้าคิดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นกุศล แต่ว่าเป็นกุศลขั้นไหน ขั้นที่สังเกต สำเหนียก รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือขั้นที่นึกไปทั้งวัน

ถ. เป็นกุศลเท่าที่ปัญญาเขามีได้เท่านั้น

สุ. แต่ต้องเจริญขึ้น

ถ. แน่นอน แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ เวลาฟังก็เข้าใจดี แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ มักจะปฏิบัติไม่ตรง และก็รู้ว่าปฏิบัติไม่ตรง ที่จะปฏิบัติให้ตรงนั้นปฏิบัติอย่างไร สังเกตอย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ปฏิบัติไม่ค่อยจะถูก

สุ. ที่รู้ว่าผิด เป็นปัญญาที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติถูก เพราะถ้านึก ก็รู้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะเป็นการศึกษา สังเกต รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ นั้น ไม่ใช่นึก เมื่อสติเกิดระลึกได้ รู้ว่าไม่ใช่นึก ก็จะทำให้ไม่นึก และก็ศึกษาโดยไม่นึก หรือว่าจะมีการนึกเกิดสลับขึ้น ก็รู้ว่าขณะที่นึกนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การรู้อย่างนี้จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการศึกษาเพิ่มขึ้น และรู้ว่าการนึกเป็นสภาพของจิตอีกชนิดหนึ่ง

การรู้ที่สำคัญที่สุด คือ รู้ว่าคิดก็เป็นเพียงสภาพที่คิด และไม่ใช่ขณะเดียวกับที่ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่คิด การเข้าใจถูกอย่างนี้โดยที่ไม่หลงลืมจะทำให้ขณะที่กำลังคิด หยุดคิด และเริ่มศึกษาโดยไม่คิด แต่ความคิดก็จะเกิดคั่นเรื่อยๆ ซึ่ง ผู้นั้นก็รู้เสียแล้วว่า ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่ศึกษาโดยไม่คิด เพราะฉะนั้น การศึกษา คือศึกษาสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง แม้การคิดนึกก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพจิตที่คิด ไม่ใช่สภาพที่เห็น ไม่ใช่สภาพที่ได้ยิน แต่เป็นสภาพที่กำลังรู้คำ

ความคิดทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าการคิดนึกจะเกิดกับบุคคลใด แม้การคิดนึกนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงคิดอย่างนั้นๆ เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย หรือจิตที่คิด ก็ดับทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วแต่ว่า สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏขณะใด ก็เพิ่มความรู้ในสิ่งที่ปรากฏนั้นขึ้น

จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน อย่ามุ่งที่จะไปประจักษ์การเกิดดับโดยปราศจากความรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะแยกออก ทางตาเป็นส่วนหนึ่ง ทางหูเป็นอีกส่วนหนึ่งจริงๆ ทางจมูกเป็นอีกส่วนหนึ่งจริงๆ ทางลิ้นเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ทางกายเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ทางใจเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ถ้ายังคงติดต่อกันหรือปรากฏรวมกัน ขณะนั้นก็หมายความว่า ยังไม่มีความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง

ถ. อย่างที่อาจารย์พูดนี้ถูก ทุกขณะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมมีสติอยู่ขณะหนึ่ง ตอนเช้าออกมาทำงาน เจอเพื่อนคนหนึ่ง เขามาทักว่า ไปไหนแต่เช้า ผมก็ตอบว่าไปทำงาน ขณะที่บอกว่าไปทำงาน ขณะที่ได้ยินว่าจะไปไหน ในใจตอบว่า จะไปทำงาน วาจาจึงพูดว่าจะไปทำงาน สติเกิดขึ้น ทางใจคิดก่อน สติรู้ว่า จิตดวงที่คิดนี้หมดไป และปัญญาเกิดขึ้นรู้อีกทีว่า ลักษณะนี้เป็นอนัตตา แต่เป็นปกติ และตอบว่า ผมจะไปทำงาน สภาพที่แยกจากกัน ถูกต้องตามที่อาจารย์บรรยาย

สุ. พอไหมรู้อย่างนั้น

ถ. ยังไม่พอ เพราะจากนั้นดูเหมือนเกิดความฟุ้งซ่าน คิดถึงขณะจิตที่เมื่อครู่เกิดขึ้น ที่ประจักษ์ความเป็นอนัตตา และก็มีแต่ความฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ ตื้นเต้นดีใจ หลังจากนั้น เป็นตัวตนตลอดเวลา

สุ. เพราะฉะนั้น กว่าที่จะชินจนกระทั่ง ไม่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ทางตาก็ระลึกได้เป็นปกติ ทางหูที่กำลังได้ยิน ถ้าสติจะระลึกก็เป็นปกติ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปัญญาไม่หวั่นไหว เพราะว่ารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนตามปกติ ชินขึ้นโดยไม่หวั่นไหว แต่ว่าความรู้ชัดนี้ถ้ายังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะอาการของปัญญาขั้นรู้ชัดได้ว่า ปัญญาขั้นที่รู้ชัดนั้นคืออย่างไร

โดยมากเวลาที่พูดถึงคำว่า ปัญญา ดูเหมือนไม่มีใครสงสัยเลยในลักษณะของปัญญาว่า เป็นความรู้ เป็นความฉลาด เป็นความสามารถในการที่จะรู้ชัด ดูเหมือนว่าไม่มีใครสงสัยเลยในความหมาย ในความคิดว่าปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาขั้นนั้นที่จะให้เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของปัญญาขั้นนั้นได้เลยว่า ปัญญาขั้นนั้นเกิดขณะไหน อย่างไร ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมอย่างไร แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างไร

ทุกคนพูดถึงพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรมด้วยพระองค์เอง ไม่มีปัญหาเลยในพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ใครจะรู้บ้างว่า ปัญญานั้นมีลักษณะอย่างไร ในเมื่อบุคคลนั้นไม่ได้เจริญปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เกิดขึ้นกับตนเอง ถ้าลดจาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถึงพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมด ทุกท่านนึกไม่ออกเลยใช่ไหมว่า กิเลสจะไม่เกิดได้อย่างไร ทางตาเห็น ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ยังคงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความยินดี ยินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ มีความตระหนี่ มีความริษยา มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความถือตน สำคัญตน ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดอย่างรวดเร็วและบ่อยมาก แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดมีเหตุปัจจัยสะสมที่จะเกิดมากหรือน้อย ก็เกิดขึ้นมากน้อยต่างกันแต่ละบุคคล

แต่ผู้ที่ดับสนิทจะเป็นได้อย่างไร ปัญญาประจักษ์แจ้งอย่างไรจึงสามารถที่จะดับกิเลสได้หมด ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปแล้วมากกับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมกล้าถึงขั้นนั้นได้ แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ก็จะต้องเข้าใจลักษณะของปัญญาตั้งแต่ขั้นต้นทีเดียว คือ ขั้นความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยหมั่นฟังบ่อยๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นจนได้

อย่างถ้าพูดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ซึ่งควรเหลือเกินที่จะพูดถึง และเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสาวกที่กำลังสดับพระธรรมเทศนาในขณะนั้น เป็นของจริงที่จะต้องพิสูจน์ในขณะนั้นทันที เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเองตรัสเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเหมือนกันหมด

ในอดีตก่อนการแสดงธรรม สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา จะปรากฏเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้ระลึก ให้ศึกษา ให้เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่างขณะนี้ มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา พูดเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า ให้รู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตอนตาเห็นนั่น จะระลึกถึงจักขุปสาทด้วยหรือเปล่า

สุ. ไม่ต้อง และต้องมีเหตุผลว่า เพราะอะไรจึงไม่ต้อง ก็เพราะจักขุปสาทไม่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพธรรมที่มีจริง คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสามารถที่จะรู้จริงได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่เป็นความเห็นถูก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อระลึกได้เนืองๆ รู้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

ถ. ระลึกรู้ที่เห็น ที่ได้ยิน เท่านั้นหรือ

สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ. ที่เคยสนทนากับอาจารย์ว่า แยกรูปปรมัตถ์ที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ๔ และทางกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวอีก ๓ รวมเป็น ๗ ปสาทรูปอีก ๕ ทั้งหมดเป็น ๑๒

สุ. นั่นเป็นการนึกถึงเรื่อง

ถ. ถ้าจำได้ ก็ไม่ต้องนึก

สุ. เวลานี้ ถอดความเป็นบุคคลออกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในลักษณะที่เคยจดจำว่าเป็นสิ่งที่กำลังยืนอยู่ เป็นคนที่กำลังยืนอยู่ เหลือแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

ถ. สำคัญตรงนี้

สุ. คน สัตว์ วัตถุต่างๆ ถอดออกหมด ไม่มีความหมาย ไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ นี่คือความหมายของไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะว่ามีการระลึกรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

ถ. และในรูปกลาปอีก ๑๐ รูป

สุ. นั่นเป็นการนึกถึงเรื่องอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็น เจริญสติ คือ ระลึกที่จะถอดความเป็นคน เป็นสัตว์ ออกไปให้หมด

ถ. อาจารย์ว่าถอด พูดง่าย แต่ถอดไม่ใช่ของง่าย

สุ. เพราะฉะนั้น ใช้พยัญชนะหลายๆ อย่าง เพื่อให้ระลึกได้ เพื่อให้เข้าใจว่า ไม่ใส่ใจ เพ่งเล็งในนิมิตอนุพยัญชนะ

ถ. แต่ถอดทีไรก็เป็นตัวตนทุกที

สุ. ยังไม่ได้ถอด

ถ. ก็พยายามถอด

สุ. พยายามถอดก็ยาก แต่ว่าเป็นการศึกษาที่จะให้เข้าใจ

เปิด  234
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565