แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 636

ความเข้าใจเป็นปัจจัยให้เกิดสังเกต ระลึก และพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือ การปฏิบัติ เพราะสติเกิดขึ้นกระทำกิจของสติ คือ ระลึก รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่สอนให้ทำ แต่ฟังให้เข้าใจ เป็นปัญญาขั้นความเข้าใจของตนเองซึ่งเกิดขึ้นและเป็นปัจจัยให้มีการสังเกตเพราะระลึกได้ จึงศึกษา หรือสังเกตสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะเอาอะไรมาพิจารณาได้ ตามคำถามที่ท่านถามว่า เพราะเพียงอาจารย์กล่าวว่า ให้พิจารณาว่าสิ่งที่ปรากฏแต่ละทางนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏในแต่ละทางจริงๆ และมีอาการรู้สภาพที่ปรากฏจึงรู้ได้ แค่นี้ผมก็ยังเคลือบแคลงอยู่ คำว่าให้พิจารณานั้น เอาอะไรมาพิจารณา

ไม่ต้องเอาอะไรมาเลย เพราะว่าเอาอะไรมาไม่ได้ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิด เมื่อฟังบ่อยๆ ความเข้าใจเกิดขึ้น ความเข้าใจเป็นปัจจัยให้เกิดสังเกตขึ้นในขณะใด ขณะนั้น คือ ลักษณะของสติซึ่งเกิดขึ้น โดยไม่มีใครไปเอามาได้ อยากจะเอาสติมาระลึก อยากจะเอาปัญญามารู้ ก็เอามาไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะมีความเข้าใจในขั้นของการฟังพอที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสังเกตระลึกขึ้นได้ในขณะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

คำถามข้อ. ๔ ท่านถามว่า คำว่า สติและปัญญา มันอยู่ที่ไหน ทำอย่างไรจึงจะนำมาแทงตลอดในนามธรรมและรูปธรรมได้ ผมรู้สึกว่า นามธรรมทางใจ ๑ สติ ๑ ปัญญา ๑ มันพันกันอยู่อย่างวุ่นวาย ขอให้อาจารย์ช่วยแยกแยะให้ฟังด้วย

ที่ยังวุ่นวายอยู่ เพราะความเข้าใจจากการฟังยังน้อยอยู่ ถ้ามีการฟังและพิจารณาโดยละเอียด จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยที่ไม่สับสนและไม่วุ่นวาย เพราะต้องเข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัย อย่าได้คิดหวังจะไปนำอะไรมาจากไหนเลย

สภาพธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป นำมาไม่ได้ และเมื่อยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะกระทำกิจของธรรมนั้นได้ ไม่ใช่ว่ามีรออยู่ และก็มี ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความสามารถที่จะไปนำมาใช้ได้

เมื่อสติยังไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรจะกระทำกิจของสติได้ เพราะว่าสภาพธรรมใดมีกิจอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นก็กระทำกิจของธรรมนั้น ถ้าสภาพของโลภะเกิดขึ้น ก็กระทำกิจของโลภะ จะให้โลภะไปทำกิจของสติก็ไม่ได้ และสภาพของปัญญาเมื่อเกิดขึ้นจึงจะกระทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด จะให้โทสเจตสิกไปกระทำกิจของปัญญาก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น การอบรมที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะต้องอาศัยการฟัง และความเข้าใจในเรื่องลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อมีการสังเกต สำเหนียก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ปัญญาก็รู้ชัดขึ้น สามารถกระทำกิจ คือ แทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

ที่ท่านว่า ผมรู้สึกว่า นามธรรมทางใจ ๑ สติ ๑ ปัญญา ๑ มันพันกันอยู่อย่างวุ่นวาย ขอให้อาจารย์ช่วยแยกแยะให้ฟังด้วย

ทำไมแยกนามธรรมทางใจ ทางอื่นชัดเจนดีแล้วหรือ เพราะว่าสภาพรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นนามธรรม ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ที่ใช้คำว่า ทางตา เพราะว่าไม่ใช่สภาพคิด ไม่ใช่สภาพที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เพียงเห็น ขณะนี้เห็นมี ที่กำลังเห็น เพียงแค่เห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ เห็น ยังไม่ได้รู้ทางใจ เพียงเห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาโดยการที่เริ่มรู้ว่า ในขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ ส่วนภายหลังเวลาที่มีการคิดนึก และมีการระลึกรู้ในลักษณะที่คิดนึกก็จะรู้ว่า เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การเห็น

เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มสังเกต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจให้ตรงลักษณะของสภาพรู้จริงๆ จะไม่วุ่นวาย เพราะไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สภาพรู้ก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั้นต่างกันในแต่ละทาง แต่สภาพรู้เป็นสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตาในขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้ ทางใจที่กำลังรู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง

ทางหูที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพรู้เสียง เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง ที่กำลังนึกถึงความหมายของแต่ละคำก็เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธาตุรู้ สภาพรู้แล้ว ก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้เท่านั้นเอง

ถ้ารู้ในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้แต่ละทางละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้น จะทำให้ละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ในแต่ละทาง

การที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ จะต้องเป็นการรู้เพิ่มขึ้นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถละคลายได้เลย เช่น ทางตา สติเกิด สังเกต ระลึก รู้ว่า สภาพรู้กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สัตว์ บุคคล ตัวตนจะมีในขณะนั้นได้ไหม ถ้าขณะนั้นเป็นปัญญาที่คม เพราะได้อบรมมานานจนกระทั่งสติเกิดปัญญาก็รู้ทันทีว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ได้เลย นี่เป็นปัญญาที่เจริญแล้ว จึงสามารถที่จะรู้ความจริง และก็ถอนความเห็นผิดในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ และในขณะที่รู้ความหมายว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไรเพราะมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้น ถ้ารู้ว่าเป็นจิตของตนเองที่กำลังตรึกนึกถึงรูปร่าง ก็จะถ่ายถอนความที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้ ซึ่งต้องถ่ายถอนออกได้จริงๆ จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

เช่น ในขณะนี้เห็น และทราบว่าเห็นใคร หรือว่าเห็นอะไรตามปกติ สติเริ่มสังเกต ระลึก และเมื่อปัญญาเพิ่มขึ้นรู้ว่ากำลังรู้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ เพียงเท่านี้ ก็จะละนิมิตอนุพยัญชนะ การสนใจในรูปร่างสัณฐานหรือส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ เพราะขณะนั้นปัญญารู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

และเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ซึ่งความจริงแล้วไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าเป็นจิตของตนเองที่เกิดขึ้นตรึกนึกถึงรูปร่าง เมื่อรู้ว่าเป็นสภาพของจิตประเภทหนึ่งซึ่งเพียงนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏและก็มีจิตที่รู้ในอรรถ ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เท่านี้ โลกนี้ก็ปราศจากบุคคล ตัวตน และวัตถุสิ่งทั้งหลาย เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพของจิตที่ตรึกนึกถึงในสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น นี่เป็นการที่จะถ่ายถอนความเห็นผิดซึ่งหนาแน่นเหนียวแน่นเหลือเกินที่เคยสะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ โดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น สติเกิดขึ้นขณะใด ก็สังเกต เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องสังเกตด้วย รู้ว่า ขณะที่กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง แต่ที่เข้าใจความหมาย ไม่ใช่มีแต่เสียงกับสภาพธรรมที่ได้ยิน ต้องมีจิตของตนเองที่เกิดขึ้นนึกถึงคำ ทันทีที่เริ่มสังเกต สำเหนียก รู้ว่าแท้ที่จริงเป็นแต่เพียงสภาพจิตของตนเองซึ่งเกิดขึ้นนึกถึงคำ จึงปรากฏเป็นความหมายเป็นเรื่องราวต่างๆ ได้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ชัดเจนถูกต้อง สัตว์ บุคคลที่เคยมีอยู่ในจิตใจในขณะที่ได้ยินจะหมดไป ที่จะคิดว่าเป็นเรื่องคนนั้นกำลังทำอย่างนั้น เป็นเรื่องคนนี้กำลังทำอย่างนี้ เป็นเรื่องราวต่างๆ มากมายในชีวิตประจำวัน เป็นคน ๒ คนบ้าง คนหนึ่งบ้าง ๓ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ทั้งประเทศบ้าง ทั้งโลกบ้าง ก็เป็นแต่เพียงจิตของตนเองเกิดขึ้นและก็นึกถึงด้วยความทรงจำเท่านั้นเอง และจิตที่นึกก็ดับไป เพราะฉะนั้น คนอยู่ที่ไหน โลกอยู่ที่ไหน ไม่มีเลย มีแต่สภาพจิตที่เกิดขึ้นนึกและก็ดับ นี่เป็นทางที่จะถ่ายถอนเยื่อใย ความยึดถือ ซึ่งเคยคิดว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน มีวัตถุต่างๆ จริงๆ โดยที่สามารถจะรู้ชัดว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพจิตที่ตรึกหรือนึกเท่านั้นเอง นี่เป็นหนทางเดียวที่จะถ่ายถอนสัญญาวิปลาส ความทรงจำที่คลาดเคลื่อน ที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปได้

เมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างนี้ ความหวั่นไหวก็จะน้อยลง สติก็จะมั่นคงขึ้น พร้อมที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ซึ่งวิจิตรมากตามปกติตามความเป็นจริงได้ เพราะถ้าสติระลึกจริงๆ จะเห็นความวิจิตรของสภาพธรรมที่เกิดกับท่านแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเป็นเวทนา ความรู้สึกต่างๆ หรือไม่ว่าจะเป็นสัญญา ความทรงจำต่างๆ ความคิดนึกต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษารู้ในลักษณะของนามธรรม จะไม่สงสัยในลักษณะของสติและปัญญา สติก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ปัญญาก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นามธรรมมีหลายอย่าง ซึ่งสติต้องระลึกรู้จนกว่าจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน

ถ้าท่านเป็นคนเก่ง มีความรู้ดี สามารถจะกระทำอะไรก็ได้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป

ถ้าท่านเป็นผู้ที่ทะนงตน ถือตน ยกตน โอ้อวดตน ถ้าสติไม่ระลึก จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีอาการปรากฏอย่างนั้น เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น และก็ดับไป

เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติประจำวัน เป็นสภาพธรรม เป็นสติปัฏฐานที่จะทำให้ปัญญาสามารถรู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่หลงยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น ความรู้ชัดเพิ่มขึ้น ความสงสัยน้อยลง จนสามารถดับความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ต้องตรงต่อความเป็นจริง ทางตาระลึกบ้างไหม ปัญญาเพิ่มขึ้นบ้างไหม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ระลึกบ้างหรือยัง ถ้ายัง ก็ไม่มีวันถึงนิพพาน การที่จะดับกิเลสก็เป็นไปไม่ได้ การที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็มีไม่ได้ เพราะว่าหนทางเดียวที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ก็โดยสังเกตทันที

ขณะนี้จะสังเกต ระลึก ศึกษา ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ มีสภาพธรรมแต่ละลักษณะพร้อมที่จะให้ปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

ถ. มีคนที่อยู่ใกล้เคียง เขาปฏิบัติเจริญสติ และฟังอาจารย์บรรยาย ตาเขาเสียทั้ง ๒ ข้าง เขาเคยไปวัดกับคุณยายเมื่อตอนอายุยังน้อย ไปเจริญสติแบบพองหนอ ยุบหนอ ต่อมาเมื่อเขาโตแล้ว มีครอบครัว เขาก็มาวัดวันพระ มาฟังอาจารย์บรรยายด้วย และฟังที่ดิฉันอัดเทปไปให้เพื่อนๆ ฟังด้วย เขาบอกว่า เขาเจริญสติ ดิฉันแก้ไขเขาไม่ได้แล้ว เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้เขาจิตว่างแล้ว ดิฉันไม่มีปัญญาจะอธิบายให้เขาฟัง ให้เขาสามารถเข้าใจได้ว่า นั้นไม่ถูก เป็นเพียงความสงบเท่านั้น แต่เขาฝากให้ดิฉันมาเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้เขาเข้าใจบ้างว่า เขาผิดอย่างไรและ ควรจะแก้ไขอย่างไรบ้าง

สุ. ขอตอบคำถามของท่านผู้ฟัง พร้อมกับตอบจดหมายของพระคุณเจ้ารูปหนึ่งจากเพชรบุรี

ข้อความในจดหมายมีว่า

เมืองเพชรบุรี

๑๕ ก.ย. ๑๙

เจริญพรมายังอาจารย์สุจินต์ที่นับถือ

ขอถามปัญหาดังนี้

๑. พองหนอ ยุบหนอ ได้เห็นหนอ ได้ยินหนอ ฯลฯ ถ้าปฏิบัติวิปัสสนาแบบนี้ จะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ เพราะเหตุใด และพระปัญจวัคคีย์ฟังธรรมจากพระองค์ ถ้ากำหนดได้ยินหนอ ท่านทั้ง ๕ รูปจะได้บรรลุพ้นทุกข์หรือไม่ เพราะเหตุไร

๒. อาตมาเคยนั่งกำหนดพองหนอ ยุบหนอ แล้วเกิดปีติ ทำจิตใจให้สบายดี แล้วหลังจากนั้น มด ยุง ก็ไม่ฆ่า ซึ่งก่อนนั้นเคยฆ่า ถามอาจารย์ว่า จะบรรลุคุณธรรมอะไรบ้าง

๓. พอมีทุกข์ร้อนอะไรเกิดขึ้นแก่จิตใจ เจริญสติปัฏฐานในอิริยาบถต่างๆ ตามที่อาจารย์สุจินต์บรรยาย ทุกข์ที่เกิดแก่จิตนั้นหายได้จริง แสดงว่าสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว กำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้จริงตามที่พระองค์บอก เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้น จะไปนั่งคู้บัลลังก์ หลับตา แก้ทุกข์ก็ไม่ทัน เพราะยังไม่ถึงเวลา และไม่มีเวลาจะทำ ถึงทำเข้าจริงก็ทำได้เล็กๆ น้อยๆ ประเดี๋ยวก็เลิกทำ ไม่ทันดับทุกข์ที่เกิดขึ้น สู้เจริญอย่างอาจารย์สุจินต์บอกไม่ได้ ได้ผลดี ทันกับทุกข์ที่เกิดขึ้น และทำได้ทุกเวลา ไม่ต้องเวลาไปนั่งเข้าที่ ซึ่งในขณะนั้นทุกข์ก็กัดกินอย่างพอแรง

เปิด  271
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565