แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 646

ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทราบว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน สติก็สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาไม่ได้เกรงกลัวต่อสถานที่หรือว่าเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าอบรมเจริญแล้ว ปัญญาย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น การที่อัธยาศัยของท่านจะน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เป็นไปโดยการฝืน หรือว่าโดยการบังคับ แต่เป็นเพราะปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด ก็ย่อมเป็นชีวิตจริงของท่านซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมที่สะสมมาที่จะเป็นบุคคลนั้นในสถานที่นั้น และสติก็สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

สำหรับประการต่อไป คือ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการหนึ่ง

โดยนัยเดียวกัน สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แต่ก่อนท่านอาจจะเคยเล่นไพ่ สนุก ไม่มีอะไรทำ อยู่ว่างๆ ไม่ได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่กิเลสพอใจ บางท่านไปดูภาพยนตร์ตามกิเลสที่พอใจซึ่งสะสมมา บางท่านเล่นไพ่ เพราะว่ามีกิเลสในการเล่นไพ่ซึ่งสะสมมาพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น

แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะหยุดเล่นไพ่ไหม จะหยุดหรือยัง หยุดเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท หรือว่าบางครั้งก็เล่น บางครั้งก็ไม่เล่น ก็แล้วแต่อัธยาศัยอีกเหมือนกัน บางครั้งอาจจะหยุดได้เลยทันที แล้วแต่ชีวิตของแต่ละท่านว่า เป็นใคร อยู่ในสถานที่ใด และอยู่กับบุคคลใด

ถ้าอยู่กับมิตรสหายเพื่อนฝูง ซึ่งมีฉันทะ มีความพอใจในการที่จะเล่นไพ่ และก็มีการชักชวนเกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ท่านจะเล่นหรือท่านจะไม่เล่น เพราะเหตุใด เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้สภาพธรรมในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นประการใด คิดว่าจะไม่ไปดูภาพยนตร์ แต่ไปไหม

พระโสดาบันบุคคลไปหรือเปล่า พระสกทาคามีบุคคลไปหรือเปล่า ดูการมหรสพต่างๆ ตามคุณธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ้าท่านเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบัน ท่านก็ไม่เข้าใจผิดว่าท่านเป็น พระสกทาคามีบุคคล หรือพระอนาคามีบุคคล หรือพระอรหันต์ ถ้าท่านเป็น พระสกทาคามีบุคคล ท่านก็ไม่เข้าใจผิดว่า ท่านเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ท่านตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ชีวิตของแต่ละท่านที่สะสมมา โดยที่นอกจากบุคคลอื่นจะไม่ทราบว่าชีวิตของคนอื่นจะเป็นอย่างไรแล้ว แม้แต่ตัวท่านเอง ในวันหนึ่งๆ นี้ ท่านก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นเป็นไป ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา ซึ่งถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จะไม่ยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

และเมื่อปรากฏว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นขั้นต้นของการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพราะตราบใดที่ยังมีตัวตนที่แสนดี ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะมีความยึดติดในความดีนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวเรา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของกิเลสที่ละเอียดขึ้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ซึ่งกิเลสทั้งหลายจะปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันนี่เอง ถ้าผู้ใดยังมีกิเลสมาก และมุ่งเหลือเกินที่จะประพฤติดีประพฤติชอบโดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า ไม่สามารถที่จะต้านทานแรงของกิเลสได้

แต่เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง จึงทำให้ปัญญาละเอียดขึ้น และรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น

บางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันไม่ควรจะเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องหลีกเร้นไปแสวงหาสภาพธรรมเพื่อที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรมนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้วทุกขณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาสภาพธรรมอื่นเลย ขณะนี้ เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ และถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

สติจะต้องเกิดขึ้น ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรือวิบากก็ตาม ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง ที่สติจะต้องระลึกรู้ ศึกษา จนกว่าจะประจักษ์ชัดว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ข้อความในสิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสสะสมอยู่มากน้อยต่างกัน และสำหรับข้อปฏิบัติของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า หรือผู้ที่ดำเนินหนทางไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน

ชีวิตของคฤหัสถ์ทุกคนจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีโภคะ หรือโภคสมบัติ โภคทรัพย์ ที่จะต้องจับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงชีวิต แต่ผู้ที่ไม่สามารถจะพิจารณารู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็ย่อมจะเสพทางเสื่อมแห่งโภคะ แต่พระอริยเจ้าเป็นผู้ที่ศึกษา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรง สภาพธรรมใดเป็นอกุศล ลักษณะของอกุศลธรรมปรากฏในความเป็นอกุศลให้พระอริยเจ้าเว้นตามควรแก่สติ ตามควรแก่ปัญญาของพระอริยเจ้าขั้นต่างๆ ไม่เข้าใจผิดว่า อกุศลเป็นกุศล

เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อริยสาวกย่อมไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดีบุตร การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบ เนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การเที่ยวดูมหรสพ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑ ฯ

ผู้ที่สนใจในการขัดเกลากิเลสทราบได้ว่า เป็นความจริง ท่านเริ่มน้อมไปสู่ข้อปฏิบัติของผู้ที่เป็นพระอริยะ โดยท่านที่เคยดื่มสุราก็คงจะเริ่มงดเว้น ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็คงจะงดเว้น และก็น้อยลง

สำหรับความหมายของคำว่า เที่ยว หมายถึงการไปสู่ที่ใดโดยไม่มีกิจธุระ และในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์

การเที่ยวดูมหรสพ แต่ก่อนท่านอาจจะเป็นผู้ที่ติดมากในการดูมหรสพต่างๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าท่านไม่สามารถจะงดเว้นการดูมหรสพได้โดยเด็ดขาด เพราะว่ายังเป็นวิสัยของคฤหัสถ์ แต่แม้กระนั้นท่านก็จะสังเกตได้ว่า ท่านลดความติดลงไป คือ ดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ ไม่ดูนานๆ ก็ยังได้ เป็นผู้ที่เริ่มเปลี่ยนอัธยาศัย ซึ่งเคยเป็นผู้ที่ติดในการดูมหรสพ

สำหรับการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็โดยนัยเดียวกัน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะสังเกตได้ว่า ตามปกติแต่ก่อนนี้ อาจจะเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยในการพนัน แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว เล่นก็ได้ ไม่เล่นก็ได้ และก็ไม่ได้มีจิตฝักใฝ่ในเรื่องการพนัน แต่อาจจะเป็นเพียงการเพลิดเพลินตามปกติวิสัยของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์

สำหรับเรื่องการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นความเสื่อมแห่งโภคะ ท่านก็จะทราบได้ว่า บุคคลที่ท่านคบหาสมาคมด้วยเป็นบุคคลเช่นไร โดยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ากิเลสในตัวท่านมีเท่าไร สติสามารถระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้รวดเร็วว่องไวยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ก่อนอาจจะเป็นผู้ที่มีกายวาจาที่ไม่ดีงาม แต่พอเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติมีความชำนาญขึ้น รู้ว่ากายอย่างนั้นไม่สมควร วาจาอย่างนั้นไม่สมควร ทำให้ปัญญาที่รู้อย่างนั้น กระทำกิจละเว้นกายวาจาที่ไม่สมควร ตามควรแก่ปัญญาที่ท่านได้อบรม แต่ไม่ใช่ว่าจะหมดทีเดียว ไม่เกิดอีกเลย และเมื่อท่านสามารถรู้สภาพความจริงของความเป็นปุถุชนของตัวท่านได้ละเอียดขึ้นฉันใด ก็ทำให้ท่านรู้จักคนอื่นชัดเจนปรุโปร่งยิ่งขึ้นฉันนั้น จนกระทั่งรู้ว่า บุคคลที่ท่านคบหาสมาคมด้วยแต่ละบุคคลนั้น เป็นบุคคลอย่างไร บุคคลใดควรเว้น และบุคคลใดควรคบ

ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านรู้ว่า การคบกับบุคคลทั้งหลายนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ถึงแม้ว่ามิตรสหายในอดีตจะเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานทำให้ท่านรู้จักตัวท่านละเอียด และทำให้ท่านรู้จักผู้ที่ท่านคบหาสมาคมละเอียดขึ้นด้วย แต่แม้กระนั้น ท่านอาจจะมีจิตเมตตาใคร่จะเกื้อกูลแม้บุคคลซึ่งมีความประพฤติที่ไม่สมควร

เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลาย ก็จะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการคบหาสมาคมกับผู้ที่เป็นมิตรที่ดี หรือผู้มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา และจิตใจไม่เหมาะสมที่จะคบหาสมาคมด้วย

ถ. ในสิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้คฤหัสถ์ประพฤติธรรม ๑๔ ประการ มีกรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ ไม่เสพธรรมเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ รวมกันเป็น ๑๔ ประการ ธรรม ๑๔ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรประพฤติ แต่กระผมอยากจะขอเพิ่มอีกสูตรหนึ่งที่อาจารย์เคยบรรยายนานมาแล้ว คือ มหานามสูตร สูตรนี้พระองค์ทรงแสดงกับคฤหัสถ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายก็ควรประพฤติธรรมในที่นี้อีก ๑๑ ประการ คือ ให้เจริญอินทรีย์ ๕ และอนุสติ ๖

ธรรม ๑๑ ประการนี้ บวกกับอีก ๑๔ เป็น ๒๕ ธรรม ๒๕ ประการนี้ ไม่ว่าอุบาสก อุบาสิกาก็ควรจะเจริญทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กระผมอยากจะชักชวนให้อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ประพฤติธรรมทั้ง ๒๕ ประการ คือ ให้เจริญอินทรีย์ ๕ ให้เจริญอนุสติ ๖ ละกรรมกิเลส ๔ ละอคติ ๔ ละความเสื่อมแห่งโภคะ ๖

ธรรม ๒๕ ประการนี้ ใครปฏิบัติแล้ว กระผมคิดว่าจะต้องบรรลุเป็น พระอริยบุคคลในวันใดวันหนึ่งแน่นอน

สุ. เรื่องที่จะบรรลุ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงไว้ถึง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก กิเลสก็ไม่หมด ไม่ว่าจะอ่านจบแล้ว อ่านจบอีก ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

ด้วยเหตุนี้การศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็เพื่อที่จะได้เข้าใจในจุดประสงค์ที่ทรงแสดงแต่ละสูตรแต่ละตอน และจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระบรมศาสดาจริงๆ ที่ทรงชี้ธรรมแต่ละข้อแต่ละตอนให้ผู้ฟังได้เข้าใจ ได้เห็นคุณและโทษ เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม

อย่างข้อความในสิงคาลกสูตร จะเห็นได้ว่า สิงคาลกมาณพเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มีการไหว้ผิด คือ ไหว้ทิศโดยที่ไม่รู้ความหมายของการที่ควรจะเป็นผู้ที่มีความประพฤติอย่างไรในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นการนอบน้อมหรือเป็นกุศลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเจริญกุศล แต่ว่าอกุศลที่มีเต็มและหนักมากยังไม่ได้บรรเทา ยังไม่ได้ละคลายลงไปเลย กุศลนั้นจะเกิดได้อย่างไร

ในบางครั้ง สำหรับผู้ที่มีกิเลสเบาบาง หรือว่ามีจิตอ่อนควรแล้ว ก็ทรงแสดงเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม การอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นในกาลที่ควรสำหรับบุคคลนั้น แต่ในกาลที่กิเลสกลุ้มรุมหนักมาก ยากที่จะปล่อยไป จะทำอย่างไร จะให้ไปอบรมเจริญกุศลก็ไม่ไหว เพราะว่ากุศลไม่เกิด ไม่สามารถที่จะเกิดได้ มีปัจจัยของกิเลสที่สะสมมามาก จนกระทั่งกิเลสนั้นเองมีกำลังที่ปรากฏให้เห็นความแรงกล้าของกิเลสนั้น

การอบรมปัญญาจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง อุปการเกื้อกูล ส่งเสริมทุกด้าน ทุกประการที่จะให้กุศลงอกงามขึ้น

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค บางครั้งได้ทรงแสดงโทษของกิเลสนานาประการที่แต่ละบุคคลสะสมมาให้บุคคลนั้นเห็นโทษจริงๆ เป็นขั้นๆ เป็นลำดับขั้นไป ตั้งแต่การไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ เป็นต้น เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลนั้น เป็นจริงตามที่ได้สะสมมา และปรากฏในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ถ้าชีวิตประจำวันของบุคคลทั้งหลายยังเต็มไปด้วยกิเลส และจะให้ไปถึง พระนิพพานทันที ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามีกิเลสสะสมมา มีฉันทะความพอใจในการดื่มน้ำเมา คือ สุรา ซึ่งยังไม่เลิก จะทำอย่างไร นอกจากจะชี้โทษให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และอบรมเจริญสติปัฏฐานประกอบกันไปด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็สามารถที่จะดับความยินดีพอใจในสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่ปัญญา เพราะว่าปัญญาย่อมเกิดขึ้นในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ใช่ในขณะที่หมดสติ หรือในขณะที่มัวเมา มึนเมา

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงโทษที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ให้คฤหัสถ์ได้เห็นเพื่อจะได้ละเว้น และประพฤติในทางที่เกื้อกูลแก่การที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ละคลาย จนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความต่อไปใน สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา ซึ่งดูเหมือนว่าทุกท่านก็ทราบดี ไม่น่าที่พระผู้มีพระภาคจะต้องทรงชี้โทษเลย แต่แม้กระนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมที่ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงชี้โทษของสิ่งที่เป็นโทษ เพื่อที่บุคคลใดพิจารณาไตร่ตรองแล้ว จะได้ประพฤติปฏิบัติตามด้วย

เปิด  229
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565