แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 647

ข้อ ๑๗๙

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการนี้ คือ ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑ มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ

นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งขณะที่ดื่มไม่เห็นโทษ แต่เวลาโทษเกิด รู้ได้ว่าเกิดจากการดื่มสุรา เช่น ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง เพราะว่าผู้ที่ดื่มสุราก็คงจะดื่มเป็นนิตย์ถ้าติดแล้ว และดื่มลำพังคนเดียวก็คงจะไม่เป็นที่พอใจ จะต้องมีมิตรสหายมากมายทีเดียวในการดื่มสุราแต่ละครั้ง ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้มีการเสียทรัพย์ในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้น

ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในอรรถกถา ได้แสดงชีวิตของบุคคลต่างๆ ในครั้งอดีตไว้ ไม่ว่าจะเป็นพระชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองในชาติก่อนๆ หรือว่าของพระอริยสาวกในครั้งโน้นที่ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ที่ไม่หมดกิเลส ได้มีความประพฤติอย่างไรๆ ในเรื่องของธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็มีปรากฏมาก เช่น ในเรื่องโทษของการดื่มสุราเมรัย คือ ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑

ขณะที่กำลังดื่ม ยังไม่มีการทะเลาะวิวาท ก็ไม่เห็นโทษ แต่เวลาที่เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นจากการเป็นผู้ที่ดื่มสุรา ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นไม่ดื่มสุราหรือว่าไม่มึนเมาแล้ว อาจจะไม่ทะเลาะวิวาท มีสติสัมปชัญญะพอที่จะเห็นว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สามารถที่จะระงับไว้ ไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้

แต่เวลาที่มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเพราะเป็นผู้ที่ดื่มน้ำเมา ก็จะเห็นได้ว่า การทะเลาะวิวาทบางครั้งอาจจะมีโทษถึงกับทำให้เสียชีวิต ให้ถึงกับความตายก็ได้

เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑

ผู้ที่ดื่มสุรามากๆ ก็เกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เวลาที่เกิดโรคภัยต่างๆ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เป็นโทษที่มาจากการดื่มสุรา

เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑

เพราะว่าจะทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้หลายประการ เช่น บางท่านอาจประทุษร้ายมารดาบิดา มิตรสหาย หรือแม้แต่สมณะก็ได้ เพราะความมึนเมา ซึ่งก็จะทำให้เป็นผู้ที่เสียชื่อเสียง

เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑

อาจจะกระทำการสิ่งใดก็ได้ ซึ่งในขณะที่ไม่มึนเมาไม่สามารถจะกระทำได้เลย

มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑

ถ้าปกติเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็สามารถที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้นได้ แต่ถ้าขณะใดที่ขาดสติ มึนเมา ขณะนั้นแม้ปัญญาซึ่งมีอยู่ก่อน ก็ถึงความเสื่อมได้ เช่น พระสาคตะ เป็นต้น

ผู้ฟัง เรื่องการจะละกิเลสต่างๆ อยู่ที่เจตนาของบุคคลนั้น พระธรรมของ พระพุทธองค์สอนละเอียดมาก แต่ผู้ปฏิบัติปฏิบัติได้น้อย เพราะไม่มีเจตนา ไม่เชื่อถือ อย่างผม เป็นต้น เมื่อก่อนไม่ค่อยศรัทธาอะไรเท่าไร ศรัทธาไปตามบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ตอนบวชแล้วจึงรู้ อย่างที่ผมเคยบอกอาจารย์ ที่ว่ามาสะดุดใจตอนพระติสสเถระอิสสาริษยาพระอรหันต์ ท่านก็ไปเกิดเป็นเปรต เปลือยกายอะไรต่างๆ ใจก็นึกกลัว จึงอยากจะปฏิบัติให้ห่างไกลจากเวรกรรมนั้น ครั้นปฏิบัติเข้า ก็ไปในทางที่ผิดอีก ปฏิบัติตั้ง ๑๐ – ๒๐ ปี ก็ไม่ถูก เพราะว่าหนทางไปไม่ถูก

สุ. นี่ก็เป็นชีวิตหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละชีวิต แต่ละภพ แต่ละชาติ ก็มีเหตุการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ สามารถที่จะอุปการะแก่ผู้ที่ฟังแล้วก็พิจารณาในเหตุผล ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติตามได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตของท่านเองก็เหมือนกัน ชาตินี้เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งมีกุศลบ้าง อกุศลบ้างที่ได้กระทำมาแล้ว และที่ได้กระทำในชาตินี้ ซึ่งต่อไปก็เป็นอดีต เพราะฉะนั้น แต่ละภพ แต่ละชาติ กว่าที่จะได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง สามารถที่จะประจักษ์สัจธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าจะจารึกไว้ในพระไตรปิฎกก็ได้มาก จนเหลือที่จะจารึก

เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกก็มีแต่เพียงชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระผู้มีพระภาคในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งเป็นตัวอย่างสำหรับบุคคลในครั้งนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมทุกอย่างเป็นของจริง เป็นสังสารวัฏฏ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งสืบต่อและเกิดขึ้นตามการสะสม เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และวิจิตรขึ้นเรื่อยๆ ชั่วขณะที่ท่านอยู่ในที่นี้ ท่านก็สะสมสิ่งใหม่ๆ สำหรับที่จะเป็นปัจจัยให้นามธรรมและรูปธรรมข้างหน้าเกิดขึ้นวิจิตรเป็นไปต่างๆ แล้ว

ขณะนี้มีรูปธรรมและนามธรรมซึ่งกำลังเกิด เกิดเพราะการสะสมซึ่งสืบต่อมาเป็นปัจจัยให้นามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ แต่ว่าขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ การคิดนึกต่างๆ สุขทุกข์ ต่างๆ ทางใจ ก็เป็นการสะสมเพิ่มขึ้นของปัจจัยซึ่งวิจิตรขึ้น และก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้นามรูปข้างหน้าเป็นไปต่างๆ ตามการสะสมที่เพิ่มขึ้นด้วย

ถ. ผมเคยนั่งอยู่คนเดียว จิตคิดดีผมก็รู้ คิดไม่ดีผมก็รู้ เรียนถามอาจารย์ว่า อาศัยอะไรถึงได้รู้ว่า คิดดีก็รู้ คิดไม่ดีก็รู้

สุ. เหตุปัจจัย

ถ. หมายถึงสติด้วยใช่ไหม

สุ. ทุกอย่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงควรสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิด และควรจะเป็นกุศลจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นเรา เป็นของเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครองไม่รักษาตัว ๑ ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๑ ไม่คุ้มครองไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๑ เป็นที่ระแวงของคนอื่น ๑ คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น ๑ อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนเหล่านี้แล ฯ

อะไรก็ตามซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ย่อมให้โทษ เช่น ในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ก็ย่อมมีโทษ เพราะว่าภัยอันตรายทั้งหลายย่อมมีได้ในการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน นอกจากนั้นยังเป็นที่ระแวงของบุคคลอื่นว่า บุคคลนี้ไปไหนในตรอกต่างๆ ในเวลาค่ำคืน หรือว่าในยามวิกาล เพราะฉะนั้น ถ้ามีกรรมอะไรซึ่งเป็นทุจริตกรรมเกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นที่ระแวงสงสัยของบุคคลอื่นได้ว่า ผู้ที่เที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนนั้น คงจะเป็นผู้ที่ประกอบกรรมนั้น เพราะฉะนั้น ก็ย่อมได้รับทุกข์โทษมาก เกิดจากการที่เป็นที่ระแวงของบุคคลอื่น เป็นที่สงสัยของบุคคลอื่น

ข้อความต่อไป ทรงแสดงโทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการเหล่านี้ คือ รำที่ไหนไปที่นั่น ๑ ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๑ ประโคมที่ไหนไปที่นั่น ๑ เสภาที่ไหนไปที่นั่น ๑ เพลงที่ไหนไปที่นั่น ๑ เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการเที่ยวดูมหรสพเหล่านี้แล ฯ

โทษทั้งหมดรวมความได้ว่า จะต้องเสียทรัพย์ นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุดในการเที่ยวไป ในการเที่ยวทุกแห่ง อย่างน้อยก็ต้องมีการตระเตรียมเสื้อผ้า หรือถ้าเป็นเทศกาลต่างๆ ก็อาจจะต้องตระเตรียมอาหารสำหรับในการเดินทาง หรือสำหรับในการที่จะจัดไว้ที่บ้าน เวลาที่ท่านปลีกตัวไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ

และยังจะต้องเสียค่าดูมหรสพต่างๆ ซึ่งเวลาที่ไปดูก็คงไม่ได้ไปดูเฉยๆ จะต้องมีการรับประทานอาหารด้วย มีการรื่นเริงต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเสียค่าอาหารหรือค่าเครื่องดื่ม นอกจากนั้น คือ เสียเวลาทำงาน และอดนอนด้วย

โทษต่างๆ รวมกันแล้ว ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าได้ฟังโทษของการดูมหรสพ หรือพิจารณาเห็นโทษของการเที่ยวดูมหรสพด้วยตัวของท่านเองแล้ว ขณะที่เห็นโทษก็เป็นตอนหนึ่ง แต่กิเลสที่มี ก็ยังทำให้เป็นผู้ที่เที่ยวดูมหรสพด้วย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ และไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะละชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงของคฤหัสถ์ได้ แต่แม้กระนั้น ท่านก็จะดำเนินชีวิตที่คล้อยไปตามชีวิตของพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑ ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน ๑ ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น ๑ ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท ๑ ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ

เปิด  236
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566