แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 649

ถ. การดูมหรสพ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับพระภิกษุว่าเป็นข้าศึก ถ้าคฤหัสถ์ไปดูมหรสพก็ทรงแสดงว่าเสื่อมทรัพย์ แต่ไม่เป็นข้าศึกหรืออย่างไร

สุ. สำหรับพระภิกษุเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ และต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสในเพศของสมณะ

ถ. ถ้าคฤหัสถ์ไปดูมหรสพ ไม่เป็นข้าศึกหรืออย่างไร

สุ. ชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกับบรรพชิต คฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต บรรพชิตไม่ใช่คฤหัสถ์ กิเลสที่มีต่างกัน ทำให้ชีวิตต่างกันเป็น ๒ เพศ

ถ. จุดมุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงกับพระภิกษุ และกับคฤหัสถ์นั้น ต่างกัน ทำไมจึงต่างกัน

สุ. เพราะเหตุว่าเจตนาของการที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ไม่ใช่เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสในเพศของคฤหัสถ์ เพศต่างกันตามกิเลสที่มี ตามการสะสมที่มี

คามิกะ อาจารย์ว่าถูกแล้ว บรรพชิตเขาเรียกว่า เป็นข้าศึกกับพรหมจรรย์ พูดกันง่ายๆ อย่างไม่เกรงใจ พรหมจรรย์ คือ ประพฤติอย่างพรหม พรหมไม่มีลูกเมีย ฆราวาสนั้นมีลูกเมีย คนละเรื่อง ท่านจึงเทศน์เฉพาะเรื่องเฉพาะราย คำสอนของพระองค์บางที่ก็เฉพาะเรื่อง บางที่ก็เฉพาะราย เพราะฉะนั้น ฆราวาสไม่ได้ห้ามมีลูกมีเมีย ไม่ได้ประพฤติตัวอย่างพรหม พระท่านก็ว่าไปอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้กินข้าวเย็น หรือเวลาวิกาล ฆราวาสห้ามหรือเปล่า เป็นคนละเรื่อง คนละราย รวมความแล้วก็อย่างที่อาจารย์ว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ นี่เป็นยาหม้อใหญ่ หรืออย่างที่ท่านกล่าวว่า รอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย รอยเท้าช้างเป็นใหญ่ที่สุด สมัยพระพุทธเจ้าท่านว่ารอยเท้าช้างใหญ่ที่สุด ฉันใด ธรรมทั้งหลาย อัปปมาทธรรม เหมือนกับว่าธรรมทุกๆ อย่างมารวมอยู่ในอัปปมาทธรรม ที่อาจารย์กล่าวถูกต้องแล้ว

สุ. พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด เพื่อความไม่ประมาททั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อที่จะประคับประคองชีวิตให้ไปสู่จุดประสงค์ คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้โดยไม่ยาก เพราะถ้าชีวิตยังคลุกเคล้ากับทางเสื่อม ก็ยากเหลือเกินที่จะให้เจริญทางฝ่ายกุศลที่ปัญญาสามารถจะเกิดรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้ามีการขัดเกลากิเลสและเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ทำให้ชีวิตต้องถึงความเสื่อมในทางโลก ก็จะเกื้อกูลต่อการที่จะดับกิเลสได้

ข้อความต่อไป ใน สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการคบมิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าในชีวิตของแต่ละท่านเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ตามลำพังผู้เดียว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า มิตรสหายย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตของท่านเป็นไปในทางกุศล หรือในทางอกุศลมากน้อยเพียงไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว (คนปอกลอก) ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางพินาศ ๑ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ฯ

พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อที่จะพิจารณาตัวท่านด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากจะคิดถึงบุคคลอื่นซึ่งเป็นมิตรสหายที่ท่านคบหาสมาคม ท่านควรจะพิจารณาว่า สภาพของจิตใจที่ยังมีกิเลสของท่านทำให้ท่านเป็นมิตรประเภทหนึ่งประเภทใดในมิตรเหล่านี้บ้างหรือไม่

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

เพื่อนมีมาก แต่เพื่อนประเภทใดจัดว่าเป็นคนปอกลอก คือ เป็นคนที่คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ในการที่คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวก็จะต้องมีวิธีการว่า ทำอย่างไรจึงเป็นผู้ได้ ถ้าไม่เสียเสียเลยอาจจะไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้น มิตรประเภทหนึ่งที่เป็นมิตร ปอกลอก คือ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก

ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คบบุคคลอื่นเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น ซึ่งลักษณะประการหนึ่งที่เห็นชัดคือ บุคคลที่เป็นคน ปอกลอกซึ่งเป็นแต่เพียงคนเทียมมิตร คือ คบเพื่อนเพราะเห็นประโยชน์ของตัว นี่เป็นชีวิตจริงในสังคมในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านจะพิจารณาได้ว่า บุคคลใดเป็นมิตรประเภทใดโดยการที่เมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เพื่อนบางคนที่เป็นมิตรแท้ก็จะรับทำกิจทุกอย่างให้ แต่ว่าผู้ที่เป็นแต่คนเทียมมิตรนั้นไม่ยอมรับทำกิจใดๆ ให้เลย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑ อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย ๑ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง (ออกปากพึ่งมิได้) ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

คนที่พูดมากๆ มีไหมที่เป็นเพื่อนกัน คุยกัน สนทนากัน แต่ละคนก็มีลักษณะของการพูดต่างๆ กันไป ส่วนคนที่ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ปากหวาน คือ ดีแต่พูด ลักษณะของคนที่ดีแต่พูดซึ่งเป็นคนเทียมมิตร คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย เช่น ของที่คิดว่าจะให้ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ว่าเป็นสิ่งที่ล่วงแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่กำลังมีอยู่เฉพาะหน้า แต่ว่าอ้างถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่เป็นประโยชน์อีกแล้ว นี่เป็นลักษณะหนึ่ง

บางท่านอาจจะไม่พูดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว แต่อ้างเอาของที่ยังมาไม่ถึงมาปราศรัย เช่น ปีนี้จะเป็นอย่างนี้ จะได้ประโยชน์อย่างนี้ จะได้ลาภอย่างนั้น จะแบ่งปันให้อย่างโน้น แต่ว่ายังไม่เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย แต่ว่าถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ลองดูน้ำใจมิตรว่า จะเป็นอย่างที่เคยปราศรัยไว้บ้างไหม นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่ดีแต่พูด คือ เป็นผู้ที่ไม่ใช่มิตร เป็นคนเทียมมิตร

แต่ข้อสำคัญ คือ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ใช่เพื่อที่จะให้พิจารณาบุคคลอื่น ที่จะให้เป็นผู้ที่เลือกคบผู้ที่มีประโยชน์ แต่ควรที่ท่านจะพิจารณาตนเองด้วยว่า ยังมีกิเลส ยังมีอกุศลสะสมมาที่จะเป็นบุคคลที่พูดหวานๆ พูดเพราะๆ และก็พูดปราศรัยโดยที่ใจจริงๆ หาได้เป็นอย่างนั้นไม่

ถ้าท่านสะสมมาที่จะเป็นบุคคลอย่างนี้ และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นคำพูดที่เกิดขึ้นเพราะสะสมมาที่จะเป็นผู้ที่ปากหวานหรือดีแต่พูด ท่านก็จะได้รู้ว่า ขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต และถ้าปัญญารู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นอกุศลที่สะสมมาว่า เป็นโทษ ควรที่จะต้องละ ควรที่จะต้องขัดเกลา ปัญญาที่รู้ตามความจริงอย่างนั้น จะทำให้ท่านละคลายการที่จะเป็นบุคคลที่ดีแต่พูด

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดไม่ใช่มีอยู่ภายในบุคคลอื่นเท่านั้น แม้ในตัวของท่านเอง ซึ่งสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตรงต่ออกุศลธรรมที่สะสมมาเห็นอกุศลที่มีในตนว่า บุคคลอื่นไม่สามารถจะละให้ได้ และเห็นว่าอกุศลธรรมนั้นเป็นโทษจริงๆ เป็นอกุศลที่ควรดับให้หมด ซึ่งการที่เห็นโทษของอกุศลในขณะนั้น จะเป็นปัจจัยทำให้สภาพของกุศลจิตเกิดขึ้นแทนอกุศลในขณะนั้นได้

คนที่ไม่ใช่มิตร เป็นคนเทียมมิตรที่ดีแต่พูด บางคนก็ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้

ข้อความในอรรถกถา อธิบายความหมายของพยัญชนะที่ว่า สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ ว่าหมายถึง ไม่ใช่อ้างถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่พูดในสิ่งที่ให้ไม่ได้ คือ เป็นที่รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ให้ไม่ได้ แต่ก็ดีแต่พูด ปากหวานว่าจะให้ หรือเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนนั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะให้ได้ จะโดยกฎหมายหรือจะโดยประการใดก็ตาม แต่แม้กระนั้นการสะสมมาที่เป็นผู้ที่ดีแต่พูดก็ทำให้เกิดอกุศลจิต และก็กล่าวคำพูดที่ไม่จริง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ให้ไม่ได้ ก็กล่าวว่าเป็นสิ่งที่จะให้

นอกจากนั้น คือ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง คือ ออกปากพึ่งมิได้

นั่นก็เป็นลักษณะของคนที่ดีแต่พูด เพราะว่าเวลาที่ยังไม่มีความจำเป็นเกิดขึ้น ทำอะไรๆ ก็ทำให้ได้ทุกอย่างโดยคำพูด แต่ถ้ามีกิจจำเป็นเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ขอร้องให้ทำ ก็ไม่สามารถจะทำให้ได้ โดยอ้างความจำเป็นต่างๆ ที่ไม่สามารถจะทำให้ได้

นี่เป็นลักษณะของคนเทียมมิตร

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม) ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (เวลาที่เพื่อนจะทำดีก็คล้อยตาม) ๑ ต่อหน้าสรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

อกุศลที่เกิดขึ้นวิจิตรมาก แม้แต่ในการคบหาสมาคมกันโดยไม่ใช่มิตรแท้ ก็ทำให้ลักษณะของคนเทียมมิตรมีประการต่างๆ แม้ว่าจะไม่ใช่คนที่ปอกลอก หรือคนดีแต่พูด แต่ก็มีอีกลักษณะหนึ่ง คือ เป็นลักษณะของคนหัวประจบ เพื่อที่จะให้เป็นที่รัก เพื่อที่จะให้เพื่อนรัก หรือว่าตนเองรักเพื่อน เพราะฉะนั้น ก็มีแต่คำพูดซึ่งคล้อยตาม ไม่ว่าเพื่อนจะทำความชั่วก็คล้อยตาม ไม่ห้าม ไม่เตือนว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ถ้าท่านมีเพื่อนที่จะฆ่าสัตว์ จะทำอย่างไร คล้อยตามไหม

ถ. มีคนเขาอวดว่า ช้างตัวใหญ่นั้นของดิฉัน คุณรู้ไหมว่าราคาเท่าไร ราคาตั้งเป็นหมื่นๆ ผมอยากถามอาจารย์ว่า อย่างนี้เรียกว่าเขาอวดผมหรือไม่อวด

สุ. เขา ใช่ไหม ก็เรื่องของเขา ใครจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา แต่เรื่องของเรา นอกจากจะพิจารณาบุคคลที่คบหาสมาคมเพื่อที่จะรู้ความจริงว่าใครเป็นอย่างไร เพราะว่าในการคบมิตรสหาย ถ้าไม่รู้จักความจริงว่าใครเป็นอย่างไร เราก็จะคบคนผิดได้ หรืออาจจะเข้าใจว่า คนหัวประจบเป็นเพื่อนแท้ แต่ว่าความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นอกจากจะให้พิจารณาถึงบุคคลที่คบหาสมาคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะชักนำให้เกิดกุศลจิตและอกุศลจิตในทางเจริญหรือในทางเสื่อมแล้ว พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ควรน้อมนำมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองมีลักษณะประการหนึ่งประการใดอย่างนั้นบ้างไหม เพราะว่าผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสจริงๆ

และกิเลสก็แสนที่จะวิจิตร กิเลสของคนอื่นวิจิตรมาก ปรากฏให้คนอื่นเห็นได้ ฉันใด ตัวของท่านเองแต่ละคนที่ยังเป็นปุถุชน ก็ไม่พ้นไปจากการสะสมที่วิจิตรมากของกิเลส ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างบุคคลนั้น อาจจะน้อยกว่า หรืออาจจะมากกว่า แต่ถ้าท่านไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น อกุศลธรรมซึ่งทำให้เป็นคนคด ก็ยังคงคดต่อไป แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้น ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเห็นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่ของใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีของท่าน ไม่มีของใคร เป็นแต่เพียงสภาพของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเพราะการสะสม ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะทำให้ความคดนั้นตรงขึ้น และแทนที่จะเป็นอกุศล ก็เป็นกุศลขึ้น

ถ. ลูกสาวถามว่า หนูเกิดจากอะไร สัตว์ต่างๆ เกิดจากอะไร

สุ. ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นปัจจัย จะไม่มีการเกิดเลย การเกิดเป็นผลของกรรม แต่ละท่านเกิดมาต่างกันเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ต่างกัน ในชาตินี้ก็มีกรรมต่างๆ แต่ว่ากรรมต่างๆ ที่ต่างกันไปในชาตินี้ ย่อมมาจากเหตุ คือ การสะสมในอดีต สะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กันในชาติก่อนๆ และก็กระทำกรรมต่างๆ กันในชาติก่อนๆ เป็นเหตุให้อัธยาศัยในปัจจุบันชาตินี้ต่างกัน และกรรมในชาตินี้ก็ต่างกัน

เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่งเท่านั้นในบรรดากรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถที่จะเลือกที่เกิดได้ ไม่สามารถที่จะเลือกตระกูล สมบัติ หรือว่าวงศาคณาญาติได้ ย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งในบรรดากุศลกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไว้ และถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในบรรดาอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว

และเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ยังไม่พ้นกรรม คือ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรม สำหรับให้เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ดี ที่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าพอใจ ทางหูก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้ได้ยินเสียงต่างๆ ที่น่ายินดี น่าพอใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน

ถ. อาจารย์ตอบว่ากรรมเป็นสาเหตุของการเกิด ตามอภิธรรมปริจเฉท ๘ อาจารย์ลองไล่อวิชชาให้ฟังสักหน่อย การเกิดนี่ไม่เข้าอวิชชาหรือ อาจารย์ลองทบทวนดูว่าที่อาจารย์ตอบว่า กรรม ขัดกันไหม ผมเห็นว่าขัดกัน

สุ. ถ้าไม่มีอวิชชา จะมีกรรมไหม

ถ. ปริจเฉท ๘ เขาบอกไว้ชัด อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สุ. สังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกในกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่มีกรรม ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่เกิด เพราะว่าดับอวิชชาและดับกรรม

เปิด  237
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565