แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 660

ขณะนี้สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ความไม่รู้คั่นอยู่ แทรกอยู่ กำลังเห็น ความไม่รู้มี คั่นอยู่ แทรกอยู่ แม้ว่าก่อนจะคิด กำลังเห็นขณะนี้ยังไม่ได้คิดอะไรเลย เวลานี้เห็นยังไม่ได้คิด ความ ไม่รู้แทรกอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่กำลังเห็นก็ดูเสมือนว่าได้ยินด้วย

เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อของสภาพนามธรรมและรูปธรรมเร็วมาก เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และแทรกความไม่รู้ไว้ทุกทวาร ฉันใด ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็แทรกสติ แทรกปัญญาที่จะเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย

กำลังเห็น ก่อนที่จะคิดมีความไม่รู้ ก็เปลี่ยนเป็น กำลังเห็น ระลึก ศึกษาเพื่อที่จะรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แทรกความรู้แทนความไม่รู้ และก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นความรู้ที่คมกล้าขึ้น จนสามารถที่จะประจักษ์ความขาดตอนของลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะทางมโนทวารได้

เวลานี้ตามความเป็นจริง ทางมโนทวารเกิดคั่นทางปัญจทวารที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่สัมผัสถูกต้อง แต่อาการของมโนทวารไม่ปรากฏ

กำลังเห็น สีที่ปรากฏทางตาไม่ได้ดับเลย มโนทวารแทรกตอนไหน คั่นตอนไหน ไม่ปรากฏ แต่ว่าตามความเป็นจริง มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทุกครั้ง ไม่ว่าทางตาเห็นสีเกิดขึ้นแล้วดับไป จะต้องมีมโนทวารเกิดรับรู้สีนั้นต่อจากทางปัญจทวารทุกครั้ง แต่เวลานี้ การเห็นดูเสมือนว่าไม่ดับเลย มโนทวารวิถีจะแทรกอยู่ระหว่างจักขุทวารวิถีที่กำลังเห็นทางตามากสักเท่าไร ก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะขาดตอนกันจริงๆ ที่จะปรากฏว่า หาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้ นี่ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อค่อยๆ อบรมไป แต่ถ้าไม่มีการอบรมเลย ก็ไม่มีวันที่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังฟังเรื่องของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับสิงคาลกมาณพ มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งปกติคั่นด้วยความไม่รู้ ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นการคั่นด้วยความเริ่มรู้ขึ้น ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑ นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร ๑ ฯ

บางคนอาจจะนับถือเพื่อนเท่านั้น ลืมที่จะนับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตรด้วย และถ้าเป็นอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งจะต้องขัดเกลาอีก เรื่องของอกุศลที่จะต้องขัดเกลามีมากเหลือเกิน ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ในชีวิตประจำวัน

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น ชื่อว่าอันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้ ฯ

ถ้าท่านเป็นมิตรที่เลว มีหวังที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมไหม กิเลสหนา และแสดงออกมาทางกาย ทางวาจามากมาย ไม่ว่าจะคบใคร พบใคร ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทั้งๆ ที่ยังมีกิเลสมากมายอย่างนี้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย ๑ ฯ

สำคัญไหมผู้ที่รับใช้ท่าน ถ้าท่านปฏิบัติไม่ดีด้วย ภัยมหาศาลย่อมจะเกิดขึ้นกับท่านได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดอยู่ในบ้าน แต่บางท่านอาจจะไม่เห็นว่า การที่จะมีเมตตากรุณาโดยทั่วถึงกับบุคคลในบ้าน ย่อมเป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ เป็นการอบรมเจริญกุศลของท่านด้วย และเป็นการปกปิดภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นจากคนที่ใกล้ชิดด้วย

แม้แต่คำพูด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางครั้งอาจจะสำคัญกว่าการกระทำทางกาย เพราะว่าเพียงคำพูดโดยประมาทนิดเดียว ท่านอาจไม่ทราบว่า จะเกิดโทษสักแค่ไหน ขอกล่าวถึง คัมภีร์พระธรรมบท ซึ่งมีเนื้อความว่า

ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่าสุมังคลเศรษฐี ท่านเป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ซื้อที่ดินกว้างยาว ๒๐ อุสภะ แล้วสร้างเป็นวิหารถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พื้นของวิหารก็ปูด้วยทองคำทั้งนั้น เวลาที่ท่านสร้างเสร็จ ได้มีการฉลองด้วยการบริจาคทรัพย์เท่ากับทุนที่สร้าง อยู่มาเช้าวันหนึ่ง เมื่อสุมังคลเศรษฐีนั้นออกไปสู่วิหาร ก็ได้เห็นโจรคนหนึ่งนอนคลุมศีรษะอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่ง ที่ใกล้ๆ ประตูเมือง โจรคนนั้นมีเท้าเปื้อนโคลน เศรษฐีนั้นก็ได้กล่าวขึ้นว่า

บุรุษที่มีเท้าเปื้อนโคลนคนนี้ เห็นจะเป็นคนเที่ยวกลางคืน

พอโจรได้ยิน ก็ได้เปิดผ้าคลุมหน้าขึ้นดูแล้วก็รู้ว่าเป็นเศรษฐี ก็เกิดความอาฆาตว่า จะต้องทำความพินาศให้กับเศรษฐีนี้ให้จงได้ แล้วก็ไปลอบเผานาของเศรษฐีถึง ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอกอีกถึง ๗ ครั้ง เผาเรือนอีก ๗ ครั้ง แต่ก็ยังไม่หายโกรธ จึงไปประจบประแจงทำเป็นคนชอบพอกับคนใช้ของเศรษฐี แล้วได้ถามคนใช้ว่า อะไรเป็นที่รักที่สุดของท่านเศรษฐี ซึ่งคนใช้ก็ได้บอกว่า

สิ่งอื่นที่จะเป็นที่รักของท่านเศรษฐี ยิ่งไปกว่าพระคันธกุฎีของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่มี

โจรก็คิดว่า จะต้องไปเผาพระคันธกุฎีให้ได้

พอพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเวลาเช้า โจรคนนั้นก็ได้เข้าไปยังพระวิหาร ต่อยหม้อน้ำฉันน้ำใช้จนหมด แล้วก็ได้เผาพระคันธกุฎี พอเศรษฐีได้ทราบว่า ไฟไหม้พระคันธกุฎีก็รีบออกไปดู แล้วก็ตบมือด้วยความดีใจ ไม่มีความเสียใจแม้เท่าปลายขนทรายจามรี คนทั้งหลายที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ก็ได้ถามว่า

ข้าแต่ท่านเศรษฐี ท่านได้สละทรัพย์เป็นอันมากสร้างพระคันธกุฎีนี้ แต่เมื่อไฟไหม้เช่นนี้ เหตุไรท่านจึงตบมือแสดงความดีใจ

เศรษฐีนั้นก็ได้ตอบว่า

ดูกร สหายทั้งหลาย การที่เราสละทรัพย์ออกสร้างพระคันธกุฎีนี้ เรียกว่า เราฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา อันไม่อาจพินาศไปด้วยภัยใดๆ ทั้งสิ้น การที่เราตบมือแสดงความดีใจก็เพราะคิดว่า เราจะได้สละทรัพย์เป็นอันมากสำหรับสร้างพระ คันธกุฎีอีก

ต่อมาไม่ช้า เศรษฐีนั้นก็ได้สละทรัพย์เป็นอันมากสร้างพระคันธกุฎีอีก ครั้นสร้างเสร็จแล้ว ก็ได้ถวายทานแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารสองหมื่น ด้วยความชื่นชมยินดี แต่โจรนั้นคิดว่า ถ้าเราไม่ฆ่าเศรษฐีเสีย ก็จะไม่หายโกรธเป็นแน่

ถึงแม้จะได้เผาพระคันธกุฎีแล้ว ก็ยังไม่หายโกรธ คิดว่าจะต้องฆ่าเศรษฐีจึงจะหายโกรธ

เพราะฉะนั้น โจรนั้นก็ตั้งใจที่จะฆ่าเศรษฐีให้ได้ แล้วได้ซ่อนกริชไว้ในผ้านุ่ง แล้วเที่ยวไปมาอยู่ในวิหารนั้นถึง ๗ วัน แต่ก็ไม่ได้โอกาสที่จะทำร้ายเศรษฐี เมื่อท่านเศรษฐีถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์อยู่สิ้น ๗ วันแล้ว ก็ได้กราบทูลพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค มีบุรุษผู้หนึ่งได้เผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ได้ตัดเท้าโคในคอกของข้าพระองค์อีก ๗ ครั้ง ได้เผาเรือนของข้าพระองค์อีก ๗ ครั้ง เห็นจะเป็นบุรุษนั้นแหละเป็นผู้เผาพระคันธกุฎี ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในการที่ข้าพระองค์บริจาคทานครั้งนี้แก่บุรุษนั้นก่อนกว่าคนทั้งปวง

เมื่อโจรได้ฟังดังนั้น ก็รู้สึกตัวว่าผิด แล้วก็คิดได้ว่า ได้กระทำกรรมอันหนักเสียแล้ว เพราะว่าท่านเศรษฐีไม่ได้มีความโกรธแก่โจรผู้ได้ทำผิดถึงเพียงนั้น แล้วยังได้ให้ส่วนบุญแก่โจรก่อนบุคคลทั้งปวงอีก เพราะฉะนั้น โจรก็คิดว่า ถ้าตนได้ทำร้ายแก่ท่านเศรษฐีแล้ว ก็คงจะต้องได้รับโทษภัยอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่ เมื่อได้เกิดความคิดอย่างนี้แล้ว โจรนั้นก็ได้เข้าไปหมอบแทบเท้าท่านเศรษฐี ขอให้ท่านเศรษฐียกโทษให้ ซึ่งท่านเศรษฐีก็ถามโจรว่า ท่านไม่เคยเห็นหน้าของโจรเลย เพราะเหตุใดโจรจึงได้โกรธและทำกับท่านถึงอย่างนี้

ซึ่งโจรก็ได้เล่าเรื่องให้ฟังตั้งแต่ต้น เศรษฐีก็นึกได้ แล้วก็ได้ขอโทษโจรที่ท่านได้กล่าวอย่างนั้น พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ยกโทษให้กับโจรด้วย แล้วให้ปล่อยโจรไป แต่โจรก็ได้ขอให้เศรษฐีรับตนและบุตรภรรยาไว้เป็นทาสอยู่ในบ้านของเศรษฐี แต่ท่านเศรษฐีไม่รับ เพราะเห็นว่าท่านเพียงกล่าวเท่านั้น โจรก็ยังทำความพินาศให้กับท่านได้ถึงเพียงนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าไปอยู่ในบ้าน ท่านก็ไม่แน่ใจว่า ท่านจะกล่าวอะไรที่จะทำให้โจรไม่พอใจและเกิดความโกรธอย่างนั้นอีก

ซึ่งเมื่อโจรนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้เกิดในอเวจีมหานรก พอพ้นจากอเวจีมหานรกแล้ว ก็ได้เกิดเป็นเปรตงูเหลือมอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ซึ่งเมื่อท่าน พระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระลักขณะลงจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อจะไปบิณฑบาต ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้เห็นเปรตงูเหลือมนั้นด้วยทิพยจักษุญาณ แล้วก็ได้ยิ้ม ซึ่งเมื่อท่านพระลักขณะถามท่านว่า ยิ้มด้วยเหตุไร ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ให้ท่านพระลักขณะถามท่านในเวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงบุพกรรมของเปรตงูเหลือมนั้น ในอชครเปรต เพียงเท่านี้

อันตรายไหมจากความโกรธ และใครจะตั้งจิตไว้ชอบ หรือใครจะตั้งจิตไว้ผิดอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมทั้งสิ้น ถ้าถามท่านผู้ฟังว่า ทำจิตอย่างท่านเศรษฐีได้ไหม ลำบากสำหรับการสะสมที่เป็นตัวท่าน แต่ใครจะทำได้ไม่ลำบาก ก็ด้วยการสะสมของ ผู้นั้นเอง นี่เป็นเหตุให้แต่ละท่านต่างกัน ตั้งแต่อดีตกาลเนิ่นนานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันและตลอดไป ทุกยุคทุกสมัย

สำหรับเรื่องของพระวิหารที่มีผู้สร้างถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับท่านอนาถบิณฑิกะสร้างพระวิหารเชตวันถวาย มีข้อความใน จตุตถสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาจุลวรรควรรณนา เสนาสนขันธกะวรรณนา เรื่องท่านอนาถบิณฑิกะ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นศรัทธาของบรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาคว่า ได้สร้างวิหารในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับท่านอนาถบิณฑิกะ คือ

คฤหบดี ชื่อ ปุนัพพสุมิต ได้ซื้อพื้นที่ประมาณโยชน์หนึ่ง ด้วยปูอิฐทองคำ (เต็มพื้นที่) สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี

สิริวัฑฒคฤหบดี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณ ๓ คาวุต ด้วยลาดไม้เส้าทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี

โสตถิชคฤหบดี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณกึ่งโยชน์ ด้วยลาดผาลทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เวสสภู

อัจจุตคฤหบดี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณคาวุตหนึ่ง ด้วยเรียงเท้าช้างทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะ

อุคคคฤหบดี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณกึ่งคาวุต ด้วยเรียงอิฐทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โกนาคมนะ

สุมังคลคฤหบดี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณ ๒๐ อุสภะ ด้วยเรียงเต่าทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ซึ่งได้ถูกโจรเผา

สุทัตตคฤหบดี คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ซื้อพื้นที่ประมาณ ๘ กรีส ด้วยเรียงกหาปณะทองคำ สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย

สำหรับที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกมาณพเกี่ยวกับทาสกรรมกรว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย คือ ให้พักผ่อน ๑

กล่าวคือ ถ้าอายุยังน้อย ร่างกายไม่แข็งแรง ก็อย่าให้ทำงานหนักนัก หรือแล้วแต่เพศว่า เป็นหญิงหรือเป็นชาย

นี่คือความละเอียดของชีวิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแม้ด้วยกิจที่ว่า แจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน สำคัญไหมรส มีใครไม่ปรารถนาในรสบ้าง ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งจะล่วงการผ่านวัยไปสักเท่าไร การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น อาจจะเบาบางลงบ้าง แต่ว่าในรสนี้ ตั้งแต่เด็กจนตาย เพราะฉะนั้น รสเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านมีกุศลจิต มีความเมตตาแม้ในสิ่งเล็กน้อยซึ่งอาจจะลืม แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ควรที่จะลืมแจกแม้แต่ของที่มีรสแปลกประหลาดให้ทาสกรรมกรด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑ เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑ ทำการงานให้ดีขึ้น ๑ นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑ ฯ

สำหรับทาสกรรมกร ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรับใช้ในบ้าน หรือว่าเป็นทาสจริงๆ เป็นกรรมกรจริงๆ แม้แต่ท่านที่ทำงาน จะเป็นข้าราชการ หรือเป็นผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ที่จะปฏิบัติต่อวงการงานของท่าน ก็สามารถที่จะอบรมเจริญกุศลได้ตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ โดยเฉพาะสำหรับทาสกรรมกร ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ

ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๑

ตามหน้าที่ เมื่อเป็นทาส เป็นกรรมกร หน้าที่ไม่ใช่ตื่นสาย แต่ต้องตื่นเช้า เพื่อที่จะกระทำกิจของตน การตื่นเช้าแม้ในการปฏิบัติหน้าที่การงานก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นลักษณะของผู้ที่ขยันในการที่จะดำเนินชีวิตในทางที่ถูก แม้พระผู้มีพระภาคและพระสาวกก็ตื่นแต่เช้า เพราะฉะนั้น ถ้าใครตื่นเช้า ก็จะได้เวลามาอีกหลายชั่วโมงที่จะกระทำกิจต่างๆ ได้

เลิกการงานทีหลังนาย ๑ ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑

นี่เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งก็เป็นเรื่องของศีลด้วย

ทำการงานให้ดีขึ้น ๑

ถ้าถือว่างานของบุคคลอื่นเหมือนกับงานของตนเอง ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ทำการงานดีขึ้นเรื่อยๆ

นำคุณของนายไปสรรเสริญ ๑ ฯ

สรรเสริญได้หลายอย่าง เช่น สรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ ท่านเป็นผู้ที่ไม่ทำความทุกข์ความเดือดร้อนให้ หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่ทำตัวให้รู้สึกเสมือนว่าเป็นนาย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น ชื่อว่าอันนายปกปิดให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้ ฯ

เปิด  243
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566