แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 652

สุ. ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ กี่คนที่จะเป็นอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะว่าการเสียสละของผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นบารมีที่ยิ่งใหญ่ ที่จะไม่บรรลุคุณธรรมเพียงพระองค์เดียว แต่ว่าจะต้องทรงประกอบถึงการบรรลุคุณธรรมของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะช่วยบุคคลอื่นให้ดับกิเลสได้เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกระทำได้อย่างนั้น กระทำได้ตามเหตุตามผล ตามสมควรที่ได้สะสมมา

ถ. พระผู้มีพระภาคท่านว่า มิตรดีที่สละชีวิตเพื่อเพื่อน นี่ก็เป็นคุณธรรมอันสูง แต่ผู้ที่จะกระทำได้ก็ยาก เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎกก็มีพระอานนท์เท่านั้นที่จะสละชีวิตเพื่อพระพุทธเจ้าให้ช้างนาฬาคีรีชน นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีใคร แต่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า เพื่อนที่ดีสูงสุดต้องสละชีวิตได้ หมายความว่าอย่างนั้น อีกอย่างที่ว่าสละตัวให้เสือกิน นั่นไม่ใช่เพื่อเพื่อน แต่เพื่อตัวเอง คนละเรื่อง

สุ. จะว่าเพื่อตัวเองโดยตรงก็ไม่ได้ เพราะว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นอกจากที่พระองค์จะดับกิเลสแล้ว ก็ยังสามารถที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นโดยทรงแสดงธรรมให้บุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตาม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วย

ถ. ที่กล่าวว่า ความลับนั้น จะรู้ได้ขนาดไหน คนเดียวจะเป็นความลับไหม ๓ คนจะเป็นความลับไหม

สุ. สิ่งที่ไม่อยากจะเปิดเผย เป็นความลับทั้งนั้น

ถ. คนเดียวจึงจะเป็นความลับ

สุ. ไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้ ก็ต้องเป็นความลับด้วย คือ สิ่งที่ไม่อยากจะเปิดเผย เป็นความลับ คือ ไม่ให้คนอื่นล่วงรู้

ถ. ก็รู้คนเดียวเท่านั้นเอง

สุ. ก็แล้วแต่ ถ้ามีความสนิทสนม ไว้ใจคนอื่นคิดว่าจะเก็บไว้ได้

ถ. ผมเคยอ่านหนังสือ แต่จำไม่ได้เพราะนานมาแล้ว คือ ความลับจะต้องรู้เฉพาะ ๒ คน ถ้า ๓ คนก็ไม่เป็นความลับ ท่านว่าอย่างนั้น

สุ. ไม่มีอะไรที่เป็นความลับที่สุด ที่ยังไม่เคยบอกใครเลยหรือ

ถ. เรื่องของความลับ ผมก็เคยอ่านหนังสือเหมือนกัน เขาว่าความลับอยู่ที่ตัวเรา ตกไป ๔ หู ไม่ลับแล้ว ลับต้องอยู่ที่เราคนเดียว ไปบอกคนอื่น จะชื่อว่าลับได้อย่างไร ลับต้องอยู่ที่ตัวเราคนเดียว

สุ. ก็ไม่มีการเปิดความลับ เพราะเหตุว่าความลับต้องไม่เปิดอย่างนั้นหรือ

ถ. พูดถึงความลับ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ความลับไม่มีในโลก ความหมายของคำนี้ หมายความว่าอย่างไร

สุ. ที่คิดว่าลับ เพราะไม่รู้ไม่เห็นว่า บุคคลอื่นร่วมรู้เห็นด้วย เช่น อมนุษย์ เป็นต้น เทวดาเห็นแน่ แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องลับขนาดไหน ถ้าเป็นการกระทำที่ปรากฏภายนอก คนอื่นก็เห็นได้ แต่ถ้าไม่ล่วงออกมาภายนอก ก็ต้องอาศัยผู้ที่สามารถรู้วาระจิตของคนอื่นได้ จึงสามารถที่จะรู้ได้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรแท้ที่เป็นมิตรแนะประโยชน์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

บางท่านเป็นมิตรมีอุปการะ คอยช่วยเหลือเวลาที่มีภัยอันตรายต่างๆ บางท่านเป็นมิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีความรักใคร่สนิทสนม พร้อมที่จะสุขด้วยทุกข์ด้วย ไม่ทอดทิ้งในขณะที่มีอันตราย บางท่านก็เป็นมิตรที่แนะประโยชน์ สำหรับประโยชน์ที่นี่ก็ต้องเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คือ ในชาตินี้และชาติหน้าด้วย

สำหรับมิตรแท้โดยสถาน ๔ ที่เป็นมิตรแนะประโยชน์ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑พึงตักเตือน หรือว่าห้ามจากการที่จะกระทำอกุศลกรรม หรือที่จะให้เป็นอกุศลจิต เพราะว่าโทษของอกุศลกรรมบถที่เห็นได้มีมากเหลือเกิน ในปัจจุบันนี้ก็สามารถที่จะเห็นได้ เช่น การต้องได้รับโทษจองจำต่างๆ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ทำอกุศลกรรมเลย ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ต้องได้รับโทษจองจำต่างๆ ตามกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งอาจจะร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ถึงขั้นที่ถูกตัดศีรษะ หรือว่าถูกประหารชีวิตก็ได้ หรือถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง แต่เป็นไปตามกรรม คือ อกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้

เพราะฉะนั้น มิตรที่แนะนำประโยชน์ ก็แนะนำมิตรสหายของตนให้เห็นโทษของอกุศลกรมซึ่งมีนานาประการ นอกจากการที่จะต้องโทษถูกจองจำตามกฎหมายของบ้านเมือง หรือว่าตามกรรมของตน มีการถูกตัดศีรษะหรือประหารชีวิต ก็อาจจะมีทุกข์เวทนาซึ่งเกิดจากโรคภัยต่างๆ ที่ปรากฏก็มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เกิดกับท่านหรือบุคคลใกล้ชิด หรือมิตรสหายของท่าน ท่านก็อาจจะลืมสภาพของทุกขเวทนานั้นว่าเป็นทุกขเวทนาที่สาหัส และร้ายแรงจริงๆ เช่น โรคอัมพาต หรือโรคที่ต้องเสียดวงตา ง่อยเปลี้ยเสียขา โรคเรื้อน โรคมะเร็ง หรือโรคร้ายต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับทุกขเวทนามากทีเดียว เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏให้เห็น ซึ่งเหตุของทุกขเวทนาเหล่านั้นต้องเป็นอกุศลกรรมทั้งหมด

นอกจากนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอกุศลจิตไว้มาก ก็จะทำให้สภาพของจิตใจฟุ้งซ่าน ผิดปกติ เสียจริต เป็นบ้า

นี่เป็นผลของอกุศลทีละเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย และเมื่อผลปรากฏขึ้น ถ้าพิจารณาถึงเหตุ ก็จะทราบได้ว่า เป็นผลของอกุศลทั้งสิ้น

นอกจากเรื่องของชีวิตที่จะต้องลำบากเดือดร้อน เป็นโรคภัยต่างๆ หรือมีจิตใจที่ฟุ้งซ่าน ผลของอกุศลที่ปรากฏ คือ ความพินาศของทรัพย์สมบัติ หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกริบยศออกจากตำแหน่งหน้าที่ หรือการเสื่อมเสียมัวหมองชื่อเสียงเกียรติยศ หรือการถูกกล่าวตู่อย่างหนัก หรือสิ้นญาติที่สามารถจะเป็นที่พึ่งของตนได้ นอกจากนั้น ยังมีภัยพิบัติต่างๆ จากไฟไหม้ น้ำท่วม หรือภัยพิบัติซึ่งเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนถึงผลของอกุศลกรรมในชาติต่อไปเมื่อพ้นจากการเป็นมนุษย์แล้ว คือ ทำให้เกิดในอบายภูมิได้

เพราะฉะนั้น มิตรที่แนะนำประโยชน์จะคอยชี้ คอยเตือนสภาพของจิตใจที่เป็นอกุศล เพื่อที่ไม่ให้เกิดการกระทำถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรมได้ นอกจากจะห้ามความชั่วแล้ว ยังให้ตั้งอยู่ในความดี เพราะว่าเพียงเว้นจากความชั่วก็ยังไม่พอ ต้องเจริญสะสมคุณความดีให้ยิ่งขึ้น ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ มีการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง มีการประพฤติปฏิบัติสมาทานในศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ นี่เป็นสิ่งที่มิตรแนะประโยชน์จะกระทำต่อมิตร นอกจากนั้นยังให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ซึ่งได้แก่ เหตุผลของสภาพธรรมทั้งหลายที่ละเอียดยิ่งขึ้นของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ และยังบอกทางสวรรค์ให้ ว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยให้ได้รับผล คือ การเกิดในสุคติภูมิ เพราะว่าส่วนมากทุกท่านมักจะนึกถึงแต่เฉพาะชาตินี้ ไม่ได้นึกไกลไปจนถึงชาติหน้า วันนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องของชาตินี้ทั้งนั้น และการคิด การตระเตรียมต่างๆ ในวันพรุ่งนี้ หรือว่าในวันต่อๆ ไป ก็เป็นเรื่องของชาตินี้เป็นส่วนใหญ่ทีเดียว น้อยนักที่จะคิดตระเตรียมถึงชาติหน้า ถ้าคิดตระเตรียมถึงชาติหน้าจริงๆ ก็จะเว้นอกุศลกรรม และก็จะตั้งอยู่ในกุศลกรรมยิ่งขึ้น เพราะว่าสำหรับทางที่จะไปสวรรค์ต้องเป็นทางที่เป็นกุศล

ข้อความต่อไป เป็นลักษณะของมิตรแท้ประการที่ ๔ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ๑ ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑

ดูกร คฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

ที่บอกว่ารักกันมาก รักเพื่อนคนนี้เหลือเกิน ก็จะทราบได้ว่า มิตรรักใคร่ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร คือ ผู้นั้นไม่ยินดีเลยกับความเสื่อมของเพื่อน ไม่ใช่ว่าเพื่อนถึงความเสื่อมแล้วก็ดีใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่มีความรักใคร่อย่างแท้จริง แต่เวลาที่เพื่อนมีภัยพิบัติต่างๆ หรือว่าได้ประสบกับความไม่เจริญต่างๆ ผู้ที่เป็นมิตรที่มีความรักใคร่แล้ว จะไม่รู้สึกยินดีเลยในสภาพที่ไม่เจริญ ในสภาพที่ไม่ก้าวหน้า หรือในความเสื่อมของเพื่อน แต่มิตรที่รักใคร่จะยินดีด้วยในความเจริญของเพื่อน เวลาที่เพื่อนได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ผู้นั้นจะมีความสุขด้วยจริงๆ ไม่ได้มีความริษยา ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะให้เพื่อนต้องขาดลาภ หรือขาดยศ หรือขาดสรรเสริญ หรือขาดสุข และไม่ได้คิดน้อยอกน้อยใจว่า ทำไมตัวท่านไม่ได้แต่เพื่อนได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ใช่เพื่อนที่มีความรักใคร่จริงๆ เพราะถ้าเป็นเพื่อนที่มีความรักใคร่จริงๆ จะมีความยินดีด้วยในความเจริญของเพื่อนทั้งในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

นอกจากนั้น ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน บางคนเพื่อนถูกติเตียน ก็อาจจะยินดี หรือไม่ถึงกับยินดี ก็รู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่คนอื่นจะกล่าวโทษเพื่อนโดยที่ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของชาติตระกูล สมบัติ ความประพฤติ หรือแม้แต่รูปร่างลักษณะ

สำหรับคนที่เป็นมิตรรักใคร่นั้น ย่อมสรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน บางคนเวลาที่ใครสรรเสริญเพื่อน ก็ไม่รักใคร่ถึงขั้นจะสรรเสริญด้วย แต่ว่าเพียงแต่เฉยๆ บ้าง หรือว่าอาจจะไม่รู้สึกสรรเสริญด้วย แต่ถ้าเพื่อนเป็นบุคคลที่ควรสรรเสริญจริงๆ และคนอื่นก็สรรเสริญเพื่อน ก็จะทำให้เพื่อนที่มีความรักใคร่อดไม่ได้ที่จะสรรเสริญเพื่อนที่ควรสรรเสริญนั้นด้วย นั่นเป็นลักษณะของมิตรที่มีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็นมิตรแท้ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีลย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่ เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายว่า จักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ

นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับคฤหัสถ์ ในการที่ทรงอนุเคราะห์ให้เป็นคฤหัสถ์ผู้ที่เจริญยิ่งขึ้นในทางโลก เพื่อที่จะได้เจริญยิ่งขึ้นในทางธรรม

ถ. อย่างเช่น ผมบริโภคกาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส ผมได้อ่านเจอในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โทษของผู้บริโภคกามนั้นเหมือนยาพิษบ้าง เหมือนงูพิษบ้าง เหมือนสัตว์ป่าบ้าง อยากให้ขยายความละเอียดว่า โทษของผู้บริโภคกามเป็นอย่างไรบ้าง

สุ. การเห็นโทษมีหลายขั้น เพียงฟังและพิจารณาเห็นตามเท่านั้น ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งจนถึงขั้นที่จะละได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ชื่อว่าเข้าใจโทษ พิจารณาเห็นเหตุผลของโทษเท่านั้น แต่ยังไม่ประจักษ์ในโทษที่แท้จริงถึงกับสามารถที่จะละคลายและเว้นขาดได้เป็นสมุจเฉท เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายจะไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีจริง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมีจริง เกิดแล้ว กำลังปรากฏ จะเห็นโทษได้อย่างไรถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าความพอใจที่พอใจในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏก็เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจึงพอใจ เพราะฉะนั้น การที่จะละความยินดีพอใจและเห็นว่าเป็นโทษได้ ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเสียก่อนว่า สิ่งที่เคยเข้าใจผิดหลงยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ที่น่าพอใจ แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะที่ปรากฏทางตาหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุที่น่าพอใจไม่ได้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

ต้องประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้ก่อน จึงจะเห็นโทษจริงๆ ของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และแม้ความพอใจว่า ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ได้ประจักษ์แจ้งในโทษของสภาพธรรมนั้นๆ แล้ว

ถ. ที่ผมถามอาจารย์ เพราะว่าผู้ที่บวชเป็นภิกษุทุกวันนี้ที่เห็นโทษในกาม คิดว่าคงจะน้อย

สุ. ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่น พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ตรงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และที่ท่านเกิดอกุศลมากขึ้น ก็เพราะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพศต่างๆ กัน แต่ถ้าเห็นเป็นธรรมจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตรงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าโลภะของใครเกิดปรากฏเป็นการกระทำให้เห็น แทนที่จะเห็นเป็นบุคคลนั้น ก็เห็นสภาพธรรม คือ เห็นโลภะ ไม่ใช่เห็นคนนั้น ถ้ามีใครกำลังมีอาการปรากฏของโทสะ แทนที่จะเห็นว่าเป็นคนนั้นโกรธเหลือเกิน ก็ไม่เห็นเป็นคนนั้น แต่เห็นเป็นสภาพของโทสะที่มีกำลัง ที่มีอาการที่ปรากฏทางกาย หรือทางวาจา เห็นเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่คำนึงในบุคคลอื่นที่จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต เพราะว่าในขณะนั้นปัญญาเกิดขึ้นเห็นเป็นธรรม

ถ. ที่ว่าเห็นธรรมตามความเป็นจริง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ให้เห็นสมมติสัจจะก่อนจึงจะเห็นปรมัตถสัจจะอย่างนั้นหรือ อาจารอธิบายก่อนว่า ไหนก่อนไหนหลัง สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ

เปิด  249
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566