แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 657

ผู้ฟัง อริยมรรคจะเกิดหรือไม่เกิดในชาติหนึ่งๆ ผมว่าเกี่ยวกับตำแหน่ง คือ อย่างพระพุทธเจ้า ถ้าท่านจะเป็นพระอริยะเฉยๆ สมัยที่ท่านเป็นสุเมธดาบสก็ได้ แต่ท่านปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า หลักเกณฑ์อยู่ตรงนั้น จะต้องเดินไปถึงขั้นนั้น ตามความปรารถนา ความตั้งใจ

สุ. ในบรรดาท่านที่อบรมเจริญอบรมสติปัฏฐาน มีความปรารถนาอะไรบ้างหรือเปล่า บางท่านก็ไม่รอคอยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป

ผู้ฟัง เฉพาะผม ถ้าจะสำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้ แค่พระโสดาผมก็เอา เบื่อชีวิตเต็มที อายุ ๘๓ ปี ถ้าตายระหว่างนั้นเห็นจะไปนรก

สุ. ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านมีความปรารถนาอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะว่าบางท่านก็ไม่รอคอยที่จะพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่ว่าบางท่านก็ขอได้พบ ได้เฝ้า และได้บรรลุมรรคผลในขณะที่ได้ฟังพระธรรมของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผลทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุ สำหรับท่านที่ปรารถนาจะพบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ท่านอาจจะเห็นกิเลสของท่านว่ามากเหลือเกิน โดยเฉพาะสมุทัย ความยินดีพอใจยังเต็มเหลือเกินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในบุตรธิดา ในญาติ ในมิตรสหาย พร้อมไปถึงในสัตว์โลกต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านก็เห็นว่า ท่านคงไม่สามารถจะบรรลุอริยสัจธรรมก่อนสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป

แต่ว่าการที่จะได้พบ ได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมต่อพระพักตร์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ท่านพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะได้เฝ้า ได้ฟังธรรม ก็อาจจะเป็นเหมือนกับในขณะนี้ก็ได้ ซึ่งบางท่านก็อาจจะยังไม่แจ่มแจ้งในพระธรรม ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเหตุ คือ ปัญญาไปเรื่อยๆ และก็แล้วแต่เหตุว่า ท่านจะบรรลุมรรคผลก่อนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป หรือว่าจะได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป แต่ก็ขออย่าเป็นผู้ที่ประมาท เพราะถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมก็เหมือนกับที่เคยได้เฝ้า ได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในอดีต ซึ่งท่านก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

ผู้ฟัง สำหรับผม ผมยึดหลักนี้ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คือ ถ้าเราเห็นธรรม ก็เหมือนเห็นตถาคตเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าผมจะสำเร็จวันนี้พรุ่งนี้ ผมไม่รอคอยที่จะพบพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องรอ คือ เจริญเหตุไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุพร้อมเมื่อไร ผลก็เกิดเมื่อนั้น แต่ถ้าเหตุไม่พร้อม ถึงแม้ว่าได้เฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป ก็ยังไม่พร้อม ก็ยังต้องรอต่อไปอีก ไม่ทราบว่าจะต้องถึงพระองค์ไหน เพราะฉะนั้น การไม่รอ คือ ผู้ที่ไม่ประมาท ดีที่สุด

วิธีที่ไม่รอ คืออย่างไร คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ถ้าไม่ระลึก หมายความว่า ปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

นี่คือความยากยิ่งของการอบรมปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยการสร้างสมเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิด ซึ่งมากมายหลายประการทีเดียวที่จะเป็นบารมีที่จะให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ระลึกและศึกษาด้วยความแยบคายในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ และปัญญาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ข้อสำคัญ คือ ไม่รอ โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

แต่ถ้าจะให้ท่านบรรลุนิพพานโดยไม่มีความรู้อะไรเลย ท่านต้องการหรือไม่ ที่ว่าชาตินี้ได้ก็ดี

ถ. ถ้าให้ผมบรรลุนิพพานเดี๋ยวนี้ ผมไม่ต้องการหรอก ยังเสียดายตัณหา เพราะถ้าบรรลุนิพพานแล้ว ไม่สนุก

สุ. ท่านที่ต้องการนิพพานในชาตินี้ ถ้าจะให้บรรลุโดยไม่รู้อะไร จะเอาไหม ไม่เอา เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายยังไม่ควรจะเป็นนิพพานเลย เพราะว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่ไกลมาก

จุดมุ่งหมายในแต่ละขณะ ควรจะเป็นการศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เพราะถ้ายังไม่มีการศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ถึงแน่ ไม่มีทางที่จะบรรลุถึงนิพพานโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะรีบร้อนไปถึงนิพพาน แต่ควรที่จะระลึกได้ รู้ว่ามีความรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่มี ก็ไม่ใช่กิจอื่น นอกจากการระลึกได้ในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สังเกต สำเหนียก ศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็หมดไป และก็มีลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งเป็นธาตุรู้ อาการรู้ในลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อไป นี่เป็นสภาพธรรมที่ตราบใดยังไม่ระลึก ยังไม่ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นจนถึงนิพพานได้

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง หัวใจหยุดเต้นไป ๒ ครั้ง แพทย์ก็ช่วยไว้ได้ รักษาพยาบาลทำให้ไม่ถึงกับสิ้นชีวิต ท่านถามว่า ในขณะนั้นควรจะทำอะไรดีที่สุด ซึ่งก็ได้เรียนชี้แจงว่า ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ทั้งสิ้น เพราะว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดให้เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการได้ ผู้ที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้สภาพธรรมที่เป็นกุศลเกิดขึ้นตามที่ต้องการ แม้แต่จะเป็นกุศลขั้นความสงบ หรือว่ากุศลที่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ไม่ศึกษา ไม่สังเกต ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และจะไปหวังว่า เวลาที่ท่านใกล้จะสิ้นชีวิต ก็จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แม้แต่ท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเอง เวลาที่ใกล้จะสิ้นชีวิต ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า จิตในขณะนั้นจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาแต่ละขณะ เป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ แล้วแต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึกขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

ท่านผู้นั้นได้ถามต่อไปว่า แทนที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น ทางกาย ก็มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ ดูเหมือนกับว่าจะไม่ได้ประโยชน์เท่ากับการที่จะระลึกถึงพุทโธ เป็นความคิดของท่านที่คิดว่า เมื่อใกล้สิ้นชีวิตแทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน หรือเสียง หรือสีที่ปรากฏทางตา หรือเห็น หรือได้ยิน เป็นต้น ท่านคิดว่า ไม่มีประโยชน์เท่าระลึกถึงพุทโธ

พระธรรมเทศนาทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่ออนุเคราะห์ให้สาวก คือ ผู้ฟังธรรม ได้เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น นี่เป็นจุดประสงค์ของพระธรรมเทศนาทั้งหมด

การระลึกถึงพุทโธ ไม่ใช่การศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏโดยสภาพความจริงแล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ลักษณะอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ดูเป็นของธรรมดาเหลือเกิน ปรากฏอยู่เสมอในวันหนึ่งๆ ทำไมยังจะต้องศึกษา ถ้าไม่เห็นประโยชน์ว่า ศึกษาเพื่อที่ละความเห็นผิดที่ยึดถืออ่อนแข็งนั้นเองว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นความเห็นผิด เป็นของธรรมดาๆ ที่ปรากฏอยู่ตามปกติ ไม่มีใครไม่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือที่แข็ง แต่ถ้าไม่ศึกษาจะเกิดความรู้จริงๆ ได้ไหมว่า ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งนั้นไม่ใช่ตัวของเรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏกับสภาพนามธรรม ธาตุรู้ อาการรู้ ที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อนหรือลักษณะที่แข็งในขณะนั้น

แม้แต่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ไม่ระลึก ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ก็ไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังรู้อ่อนนั้น ไม่ใช่ตัวตน เป็นธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้รูปอื่น ขณะนี้อ่อนกำลังปรากฏกับสภาพรู้อ่อน สภาพรู้อ่อนในขณะนั้นรู้อื่นไม่ได้เลย เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นก็รู้อ่อนเท่านั้นเอง จะรู้อย่างอื่นๆ ไม่ได้ ขณะที่เห็น เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งขณะที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น จะรู้อ่อนด้วยไม่ได้ เป็นธาตุรู้แต่ละลักษณะจริงๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ ว่า ปัญญาที่เป็นการรู้แจ้งแทงตลอด ก็คือ การรู้จริง รู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี่เอง ก็จะทำให้ท่านคิดว่า การระลึกถึงสิ่งอื่นมีประโยชน์กว่า เช่น การระลึกถึงพุทโธ เป็นต้น

การระลึกถึงพุทโธ ไม่ใช่การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่การระลึกได้ ไม่ลืมที่จะสังเกตเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นการที่จะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ซึ่งเป็นพุทธประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมต่อสาวก ที่จะให้ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสได้ ดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงประจักษ์แจ้งและทรงดับกิเลสแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกท่านก็จะเห็นได้ว่า แสนยาก เพราะว่าส่วนมากจะมีปัญญาขั้นความคิด ตรึก นึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แทนที่จะเป็นสติที่ระลึกในลักษณะนั้น และสังเกต สำเหนียก รู้ในลักษณะนั้น ก่อนคิด เวลานี้ไม่คิด สิ่งที่ปรากฏทางตามี เพราะมีธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สติปัฏฐาน คือ ไม่ลืมที่จะสังเกต น้อมไปสู่ความรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นอาการของธาตุรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

การระลึกได้ พร้อมทั้งการน้อมไปสู่การที่จะรู้ในสิ่งที่ปรากฏโดยยังไม่ได้คิด นี่เป็นความรู้ขั้นที่ต่างกับเพียงขั้นนึกคิด เพราะว่าบางท่านก็นึกว่า นามเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นรูป นามได้ยิน เสียงเป็นรูป นี่เป็นขั้นคิด ซึ่งทุกท่านก็ทราบว่า ห้ามไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถที่จะห้ามความคิดนึกได้ แต่ความเข้าใจสามารถที่จะระลึกได้ว่า การคิดไม่ใช่การสังเกตที่น้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อนคิด

ห้ามความคิดไม่ได้ ประเดี๋ยวความคิดก็เกิดอีก แต่ว่าขณะที่คิด เป็นสภาพนามธรรมที่กำลังรู้คำ ไม่ใช่การสังเกต สำเหนียก น้อมไปสู่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพรู้แต่ละลักษณะ แม้แต่สภาพที่คิด สติก็จะต้องระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมที่เป็นธาตุรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่การได้ยินเสียง หรือว่าไม่ใช่การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นและทั่วขึ้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งซึ่งทุกท่านจะทราบได้ด้วยตัวของท่านเองว่า เป็นสิ่งที่แสนยาก เพราะว่าต้องเป็นสภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะไม่ให้เห็นในขณะที่การเห็นเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งธาตุรู้เสียง เวลาที่มีการได้ยินเกิดขึ้น แต่สติสามารถที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ

ถ. คนที่กำลังจะตาย เขาระลึกถึงพุทโธ ขณะนั้นก็มีสติระลึกรู้ว่า สภาพนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เช่นนี้จะเป็นวิปัสสนาหรือเปล่า

สุ. เป็นแน่นอน

ถ. เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้น เป็นเพียงธาตุที่คิด

สุ. ไม่ได้ห้ามการคิดนึก แต่พร้อมกันนั้น อบรมปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมใดๆ แม้แต่การคิดนึกในขณะนั้น ก็รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน

ความคิดเป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปกั้นหรือไปหยุดยั้งความคิดด้วยความเป็นตัวตน แต่จะต้องศึกษา ระลึกรู้ว่า ขณะที่คิดเป็นการรู้คำ หรือรู้เรื่อง

เปิด  257
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565