แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 663

การที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องละออกจากขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องละออกจากขณะที่กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือกำลังคิดนึก ขณะนี้ถ้าจะมีการคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น และมีสติที่จะรู้ว่า การคิดเรื่องนั้นเกิดขึ้นเพราะความทรงจำ หรือความจดจำในเรื่องนั้นเป็นปัจจัย จึงได้เกิดการคิดอย่างนั้นขึ้น

ลักษณะสภาพที่คิดมีจริง จะคิดถึงคำว่า “มีจริง” ก็ได้ ถ้ามีความเข้าใจในความหมายของคำว่า “มีจริง” ให้ทราบว่า เป็นเพราะสัญญาความจำในคำว่า “มี” ในคำว่า “จริง” เป็นปัจจัยให้เกิดนึกถึงความหมายของคำว่า “มี” และคำว่า “จริง” เพราะฉะนั้น ทุกคำ ทุกเรื่องที่มีเกิดเพราะความทรงจำทั้งสิ้น ถ้าเพียงแต่จะไม่มีความทรงจำ ไม่มีความจดจำ ขณะนี้จะปรากฏแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่ปรากฏทางหู

ถ้าไม่คิด จะไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงที่ปรากฏทางหูแล้วก็หมดไป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะความคิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะความจำแทรกอยู่ คั่นอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้ปรากฏเป็นโลก เป็นเรื่องต่างๆ ขึ้นเพราะความคิด

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ความจริงของสภาพคิด เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องรู้ลักษณะของขันธ์ ๕ สัญญาขันธ์ขณะใด ขณะที่กำลังคิดนั่นเอง เป็นความจดจำที่ทำให้เกิดความคิดในขณะนั้นขึ้น ถ้าไม่รู้ว่าเป็นสัญญาในขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่า สัญญาขันธ์เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่จำสิ่งต่างๆ เท่านั้น แม้แต่ในขณะที่เห็น กำลังเห็น และรู้ว่าเป็นอะไร ขณะนั้นก็เป็นความจำเท่านั้นเองที่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมไปอีกมากทีเดียวกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

ถ. คำว่า ธาตุ กับขันธ์ ๕ เหมือนกันหรือต่างกัน

สุ. คำว่า ธาตุ หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง และสภาพธรรมนั้นมีลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ส่วนคำว่า ขันธ์ หมายความถึงธาตุนั่นเอง แต่จำแนกออกเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต หรือว่าใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ภายใน ภายนอก

แต่ถ้าพูดถึงธาตุ จะรวมถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์ คือ นิพพานด้วย นิพพานก็เป็นธาตุ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่คำว่าขันธ์หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมที่เกิดและดับเป็นอดีต สภาพธรรมที่เกิดปรากฏแล้วแต่ยังไม่ดับไปเป็นปัจจุบัน สภาพธรรมที่จะเกิดต่อไปเป็นอนาคต เพราะฉะนั้น คำว่าขันธ์หมายความเฉพาะสภาพธรรมที่เกิดดับ

ถ. ประกอบรวมกันกับขันธ์ใช่ไหม ระหว่างที่มีแต่ธาตุรู้ มีขันธ์เข้าไปปนด้วยหรือเปล่า

สุ. สภาพธรรมที่เป็นธาตุ ที่เกิดดับเป็นขันธ์ ส่วนธาตุที่ไม่เกิดดับไม่ใช่ขันธ์ แต่เป็นขันธวิมุตติ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ พระนิพพาน ไม่เกิดดับ

ถ. ที่ว่ามรรคมีองค์ ๘ เพื่อขัดเกลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขอให้อาจารย์อธิบายแต่ละข้อ จะได้รู้ลักษณะของมรรคมีองค์ ๘ ให้ชัด

สุ. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ในขณะที่กำลังเห็น เห็นถูก คือ สติระลึกและรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้เท่านั้น เป็นสภาพรู้ที่รู้สี คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่เห็น ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง

ถ. ต้องรู้พร้อมลักษณะของธรรมเกิดใช่ไหม จึงจะเป็นสัมมาสติ ปัจจุบันธรรม

สุ. ในขณะนี้สภาพเห็นมีใช่ไหม สภาพเห็นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพเห็นไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้คิดนึก ทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ นี่คือ ความเข้าใจ แต่ว่ายังไม่ใช่การระลึก หรือการศึกษาที่จะรู้ว่า สภาพรู้หรือธาตุรู้ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เป็นอย่างไร เพราะว่ายังมีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาแยกขาดออกจากกันว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่การเห็น เวลานี้การเห็นมี สิ่งที่ปรากฏทางตามี แต่ยังไม่มีการระลึกที่จะศึกษาให้รู้การแยกขาดจากกันว่า สภาพที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ และสภาพที่เห็น เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ได้จริงๆ ต้องอาศัยสติ คือ การไม่หลงลืม ขณะนี้มีการไม่หลงลืมได้ คือ ระลึก ถ้าใช้คำว่า ระลึก ก็อาจจะไม่เข้าใจว่า ระลึกอย่างไร แต่ถ้าใช้คำว่าไม่หลงลืมที่จะรู้ในขณะนี้ว่า สภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น แต่เพียงธาตุรู้ หรืออาการรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ก็อาจจะเข้าใจได้

ถ. แล้วต่อไป

สุ. ต่อไปก็ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพธรรมอะไรก็ได้ที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และต่อไปจะกลับมารู้ทางตาอีกหลายๆ ครั้งก็ได้ ไม่ลืมที่จะรู้ ที่จะศึกษาไปเรื่อยๆ

ถ. ไม่เฉพาะเห็นอย่างเดียวใช่ไหม

สุ. ทั้งทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจทีเดียว

ถ. ได้ทั้งนั้นใช่ไหม

สุ. ทุกอย่างที่มีจริง และไม่รู้ ก็จะต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ขึ้นว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

ฟังดูเหมือนกับจะรู้แล้ว หรือเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ไม่ใช่การรู้จริงจนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏสภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ โดยปรากฏทีละลักษณะ ถ้าปรากฏพร้อมๆ กันอย่างในขณะนี้ เห็นด้วย รู้ด้วย คือ คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏด้วยว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร และได้ยินด้วย มีการเข้าใจเรื่องที่ได้ยินหรือคำที่ได้ยินด้วย ถ้าเป็นในลักษณะอาการอย่างนี้ แสดงว่า สภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะแม้ว่าสภาพธรรมปรากฏจริง แต่ว่าการคิดนึกตรึกถึงสภาพธรรมนั้น การหลงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทำให้ไม่เห็นความปรากฏของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. ทุกอย่างทุกประการ ใช่ไหม

สุ. ทุกทวาร

ถ. ต่อไปอีกแต่ละองค์ ขอความกรุณาอธิบาย

สุ. ถ้าสติเกิด ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นก็มีความเพียร สัมมาวายามะ เกิดร่วมด้วย เพราะขณะที่ยังไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ที่กำลังเห็น เพียงแต่นึกได้ และเริ่มที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ทางตาเท่านั้น ขณะนั้นที่กำลังเริ่มศึกษาที่จะเข้าใจ เป็นความเพียร เป็นสัมมาวายาโม เพราะว่าเพียรที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น และไม่มีใครสามารถกระทำสัมมาวายาโมให้เกิดขึ้น แต่สัมมาวายาโมเกิดเพราะสัมมาสติเป็นปัจจัย เกิดพร้อมกับสัมมาสติ ซึ่งถ้าไม่มีการระลึกได้จะไม่มีสัมมาวายาโม คือ การเพียรที่จะศึกษาที่จะรู้จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

เพราะฉะนั้น สัมมาวายาโมต้องเกิดพร้อมกับสัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิโดยที่ว่าไม่มีใครไปทำสัมมาวายาโมให้เกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อมีปัจจัย คือ มีการไม่หลงลืม มีการระลึกได้ในขณะนี้ที่จะรู้ได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เห็น เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็มีสัมมาวายาโมเกิดร่วมด้วย

ถ. และสัมมาสังกัปปะ

สุ. สัมมาสังกัปปะ เป็นการจรดในอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ เวลานี้ทางหู มีเสียงปรากฏ แต่เสียงจะปรากฏไม่ได้เลยถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น สภาพที่ได้ยินเป็นธาตุรู้เสียง ซึ่งไม่ใช่ธาตุเห็น ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุ แต่เป็นโสตวิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นก็กระทำกิจได้ยินเสียง ธาตุนี้จะกระทำกิจอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏจะต้องมีสภาพที่รู้เสียง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏด้วย

ถ. รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏ

สุ. ไม่ใช่ความหมาย แต่เป็นสภาพได้ยินเสียงที่ปรากฏ เสียงปรากฏเพราะมีสภาพรู้เสียงที่ปรากฏนั้น สภาพรู้เสียงเมื่อครู่นี้ดับไปแล้ว เมื่อมีเสียงใหม่ปรากฏขณะใด ก็จะต้องมีสภาพรู้เสียงที่ปรากฏในขณะนั้น เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น สัมมาสังกัปปะเป็นเจตสิกธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตที่จรดในอารมณ์ที่ปรากฏถูกต้อง เป็นสัมมาสังกัปโป คือ ถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่ใช่ได้ยิน สัมมาสังกัปปะก็จรดในลักษณะของเสียง เพื่อที่สัมมาทิฏฐิจะได้เริ่มรู้ว่า เสียงเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป ขณะที่เสียงปรากฏกับโสตวิญญาณหรือสภาพที่รู้เสียง ขณะนั้นไม่ใช่การรู้คำ แต่เพราะเหตุว่าเสียงต่างกัน ถ้าพูดว่าขณะนี้ ขณะนั้น นี้กับนั้นเป็นเสียงที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ความต่างกันของเสียงที่จิตได้ยิน เป็นปัจจัยให้เกิดการคิดถึงคำที่ต่างกัน

ความจริงแล้ว สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้เสียง จะได้ยินเสียงเท่านั้นโดยไม่ได้นึกถึงคำว่า นี้ แต่เพราะเสียง นี้ กับเสียง นั้น ต่างกัน จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการคิดถึงความหมายที่ต่างกัน ซึ่งการที่จะละสักกายทิฏฐิให้หมดไปได้ ก็ต่อเมื่อสติไม่หลงลืม ระลึกและรู้ว่า เสียงเป็นเสียง เพราะสัมมาสังกัปปะจรดที่เสียง ไม่ใช่จรดที่ได้ยิน

นี่เป็นลักษณะของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจในขณะนั้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะไปสร้างไปทำให้สัมมาสังกัปปะเกิดขึ้นได้ แต่ขณะใดที่สัมมาสติเกิด สัมมาสังกัปปะก็จรดในอารมณ์ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สติต้องเป็นสติที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสติ แม้แต่อารมณ์ของสติ ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่ถูกต้องด้วย

ถ. ก็ไม่ใช่ความคิดนึก ใช่ไหม ไม่ใช่เกี่ยวกับสภาพธรรมคิดนึกใช่ไหม

สุ. การคิดนึกเป็นสภาพที่มีจริง แต่ไม่ใช่สัมมาสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ คนละขั้น

ถ. สัมมาสังกัปปะ ก็ไม่ใช่หรือ

สุ. สัมมาสังกัปปะก็มีหลายขั้น ถ้าเป็นสัมมาสังกัปปะในมรรคมีองค์ ๘ แล้วต้องเกิดพร้อมสติ คือ จรดในอารมณ์ที่สติระลึก

ถ. ขณะนั้นสติต้องมีด้วย

สุ. อย่างทางตาในขณะนี้ เห็นมี ดับไปๆ เรื่อยๆ โดยไม่รู้ความจริงของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งนั่นเป็นอวิชชา ในเมื่อเห็นมี กำลังเห็นอยู่ ทำไมไม่เจริญปัญญา ทำไมไม่ศึกษาโดยไม่หลงลืม ระลึกและก็รู้ เพียรที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่ระลึกที่จะศึกษา สัมมาสังกัปปะจรดในธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้

ถ. สัมมาวาจา

สุ. สัมมาวาจาต้องในขณะที่วิรัติทุจริต

ถ. ไม่ใช่ว่าสงบ ไม่พูดเลย ไม่ใช่อย่างนั้นหรือ

สุ. ไม่พูด ก็ไม่มีวาจา

ถ. พูดจะเป็นสัมมาวาจาได้ไหม

สุ. เวลาที่พูด บางครั้งเป็นกุศลจิต บางครั้งก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งถ้าเป็นอกุศลจิต จะพูดในทางที่ไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร แต่ว่าขณะนั้นวิรัติวจีทุจริต เป็นสภาพของสัมมาวาจาเจตสิก และทางปัญจทวารกับทางมโนทวารก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สติสามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่วิรัติในขณะนั้นได้ว่า ไม่ใช่เราเลย ถ้าสัมมาวาจาไม่เกิด วจีทุจริตก็ล่วงไป เพราะฉะนั้น ขณะใดที่วิรัติ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสัมมาวาจา ขณะที่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นสัมมาวาจาในมรรคมีองค์ ๘

ถ. ต้องประกอบด้วยสติเหมือนกันใช่ไหม

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น จึงเป็นสติปัฏฐาน

ถ. บางคนบอกว่า ถ้าปฏิบัติสัมมาวาจาแล้วในมรรคมีองค์ ๘ จะพูดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพูดอะไร พูดไม่ได้เลย

สุ. พูดไม่ได้ และเวลาพูดก็เป็นวจีทุจริต ก็แย่ เวลาไม่พูด ก็ไม่มีเรื่องมีราว ใช่ไหม ที่มีเรื่องต่างๆ ในโลกนี้เพราะการพูดมากๆ ใช่ไหม และเวลาที่พูดก็จะรู้ได้ว่าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในขณะที่พูด ตัวผู้พูดเองถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ทราบได้ว่า ที่พูดนี้ด้วยโลภมูลจิต อยากจะได้อะไรของใครในทางหนึ่งทางใดบ้างหรือเปล่า อยากจะต้องการแม้คำชม คำชื่นชมจากบุคคลอื่นหรือเปล่า

สภาพของจิตเกิดดับอย่างละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ชำระกิเลสในจิตใจของตนเองไม่ได้ เพราะว่ากิเลสละเอียดมาก

แต่ถ้าขณะนั้นรู้ว่า ที่จะพูดเป็นอกุศล สัมมาวาจาเกิดขึ้นวิรัติ สติก็ยังระลึกรู้ได้ว่า ขณะที่วิรัตินั้นไม่ใช่ตัวเราที่สามารถวิรัติ แต่เป็นเพราะสภาพธรรมในขณะนั้นที่เกิดขึ้นวิรัติ จะใช้ชื่อว่าอะไรก็ได้ แต่ว่าสภาพธรรมนั้นมีจริง และกระทำกิจของสัมมาวาจา คือ วิรัติวจีทุจริต

ถ. ที่กำลังพูดนั่นหรือ

สุ. การพูดเป็นปกติ ใครจะไปห้ามว่าอย่าพูด

ถ. ที่เรากำลังนิ่งอยู่ แต่ไม่พูด จิตเราคิดเป็นอกุศลไปโน่นไปนี่ คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ จะเป็นสัมมาวาจาได้ไหม

สุ. ขอโทษ ถ้าไม่มีการพูด สาวกของพระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านแสดงธรรม ท่านสนทนาธรรม ก็ต้องพูด

ถ. ใช่

สุ. และท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย แม้ในขณะที่พูด เพราะฉะนั้น ถ้าใครไปทำวิปัสสนาแล้วไม่พูด ไม่ใช่ปกติแน่ ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และทำไมถึงไม่พูด อยากอะไร ต้องการอะไรหรือเปล่าจึงไม่พูด

ถ. คนนั้นบอกว่า กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่พูดไม่ได้ ถ้าพูดแล้วไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติ

สุ. ไม่ตรง ถ้าตรง ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขอให้คิดถึงสาวกของพระผู้มีพระภาคด้วยว่า ท่านพูด ท่านแสดงธรรม ท่านสนทนาธรรม และท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ถ. ดิฉันบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพระผู้มีพระภาคของเราและสาวกที่สั่งสอนสาธุชนทั้งหลาย ก็ขาดการปฏิบัติไป เขาก็บอกว่าไม่ใช่ๆ ก็เถียงกัน จึงได้มาถามอาจารย์อย่างนี้

สุ. เพราะฉะนั้น เรื่องของการเข้าใจสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดในเหตุผลที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ได้ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ก็ได้ในขณะนี้ เป็นพระอนาคามีบุคคลก็ได้ เป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ได้ เป็น พระโสดาบันบุคคลก็ได้

วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จะเกิดในขณะนี้ก็ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าอบรมปัญญาจนถึงโอกาสกาลที่ปัญญาจะเกิด ใครก็ยับยั้งปัญญาไม่ให้เกิดไม่ได้ จะผัดผ่อนปัญญาว่า อย่าให้เกิดที่นี่ คอยเดี๋ยว ให้ไปเกิดที่โน่น ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

ถ. สัมมากัมมันตะ

สุ. การงานชอบ วิรัติทุจริตทางกาย

ถ. ต้องเว้นจากการงาน

สุ. วิรัติทุจริตทางกาย ๓ และในขณะนั้นสติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ขณะที่วิรัตินั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีเรา ไม่มีของเราที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น เวลาที่ได้ยินเสียง ก็ไม่ใช่ธาตุรู้ อาการรู้ทางตา เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง

ถ. บางคนบอกว่า สัมมากัมมันตะ ห้ามทำการงาน ให้นั่งปฏิบัติเฉยๆ จึงจะเป็นสัมมากัมมันตะ

สุ. ถ้าเป็นอย่างนั้น คฤหัสถ์ก็ไม่สามารถบรรลุอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคลได้ ซึ่งก็จะค้านกับพระไตรปิฎก และตามความเป็นจริงที่ปรากฏ คฤหัสถ์ทั้งหลายทั้งอุบาสกอุบาสิกาที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลก็มีมาก เป็นพระสกทาคามีบุคคลก็มี เป็น พระอนาคามีบุคคลก็มี และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในเพศคฤหัสถ์ก็มี

เปิด  311
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566