แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 664

สุ. ถ้ารู้ลักษณะของสัมมาสติ จะไม่สงสัยเลยว่าสัมมาสติสามารถจะเกิดในขณะไหนก็ได้ และไม่มีใครรู้ล่วงหน้าด้วยว่า สติจะเกิดเมื่อไร จวนจะเกิดแล้วหรือยัง เพราะว่าสติเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ระลึกทันที รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ใน ๖ ทาง ทางหนึ่งทางใดก็ได้

ถ. ดิฉันก็บอกว่า ถ้ามานั่งเฉยๆ ไม่ทำงาน และสติระลึกจะเป็น สัมมากัมมันตะ ทำการงานองค์นี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ไม่ใช่องค์มรรค ดิฉันก็ตอบเขาไปอย่างนั้น คล้ายๆ กับการปฏิบัตินี้ไม่ถูกในองค์มรรค

สุ. ข้อที่ควรพิจารณา คือ ควรพิจารณาว่า ปัญญารู้อะไร สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปัญญารู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ก็ไม่ใช่ปัญญา อย่าเรียกว่าเป็นปัญญาเลย ต้องเป็นอวิชชาแน่นอนที่ไม่รู้ เพราะว่าอวิชชารู้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

ถ. ไม่ว่าจะทำการงานอะไรที่สุจริตหรือ

สุ. สภาพธรรมกำลังปรากฏ มีสภาพธรรมปรากฏตลอดเวลา มีจิต มีเจตสิก มีรูปเกิดดับสืบต่อกันอยู่ทุกขณะ พร้อมที่จะให้เห็นความจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่นี่ รู้ดีหรือไม่รู้ดีกว่า สติเกิดหรือว่าสติไม่เกิดดีกว่า ขณะที่กำลังทำงานจะรู้ดีหรือไม่รู้ดีกว่า สติจะเกิดหรือสติจะไม่เกิดดีกว่า ขณะที่กำลังพูดจะรู้ดีหรือว่าจะไม่รู้ดีกว่า สติจะเกิดหรือไม่เกิดดีกว่า นี่เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ควรที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ถ้ากล่าวว่า รู้ไม่ได้ หรือสติไม่เกิด ก็เพราะเหตุว่าไม่ได้อบรม ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า สติเกิดได้ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิดเท่านั้น จะเกิดมากหรือจะเกิดน้อย ปัญญารู้ได้ แล้วแต่ว่าปัญญาจะเกิดหรือว่าปัญญาจะยังไม่เกิดเท่านั้น แต่ปัญญาเกิดได้ สติเกิดได้ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงแสดงการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘

มรรคมีองค์ ๘ นั้น เป็นเจตสิกธรรม ไม่ใช่ตัวตน ถ้ามรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นก็จะกระทำกิจของตน ถ้าสติเกิดขึ้นก็กระทำกิจไม่หลงลืม มีลักษณะที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดก็เป็นการหลงลืมสติไป เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิดก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นสภาพธรรมที่กำลังระลึก ขณะนี้ถ้าจะระลึก ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดระลึกได้

ถ. บางคนบอกว่า สัมมากัมมันตะ เกี่ยวกับเลี้ยงชีพชอบ ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่สัมมากัมมันตะ แต่เป็นสัมมาอาชีวะ

ถ. เขาบอกว่า สัมมากัมมันตะ เลี้ยงชีพชอบ ดิฉันก็บอกว่า ไม่ใช่ ต้องสัมมาอาชีวะจึงจะเลี้ยงชีพชอบ แต่ลักษณะดิฉันยังไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. สัมมากัมมันตะ เป็นการเว้นกายทุจริต ๓ คือ การฆ่าสัตว์ การ ลักทรัพย์ หรือว่าการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม เป็นเจตสิกธรรมซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจวิรัติในขณะนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการอาชีพ

ถ. จึงไม่ห้ามการงานในขณะนั้นใช่ไหม

สุ. เวลาที่สติเกิดบ่อยๆ ก็เป็นการเจริญสติ สติมีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดสติข้างหน้าต่อไปอีก

ถ. สัมมาอาชีวะ

สุ. สัมมาอาชีวะ เป็นสภาพธรรมที่เว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การเลี้ยงชีพ

ถ. เป็นองค์ศีล ใช่ไหม

สุ. ค่ะ ถ้าท่านผู้ฟังมีอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการที่จะเกิดทุจริตขึ้น และก็มีการวิรัติ ในขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่ตัวท่าน เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสัมมาอาชีโวเจตสิกเกิดขึ้นจึงกระทำกิจวิรัติ แต่ถ้าสัมมาอาชีโวเจตสิกไม่เกิดขึ้น ท่านก็กระทำทุจริตในการอาชีพ ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่สามารถแยกความละเอียดของสภาพเจตสิกธรรมแต่ละชนิดออกจากกันได้

ถ. ระยะแรกๆ เมื่อมีการเจริญสติเกิดขึ้นนั้น ผมมักจะมีการใคร่ครวญว่า เป็นรูปหรือเป็นนามเสมอ แต่ระยะหลังที่ได้ฟังอาจารย์บรรยายว่า ภาวนาปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการใคร่ครวญคิดเหตุผลเหมือนอย่างปัญญาในทางโลกที่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้น การนึกคิดต่างๆ จะไม่เป็นปัจจัยให้เราได้เห็นสภาพธรรมที่แท้จริง ระยะหลังนี้ผมก็รู้สึกว่า เมื่อสติเกิดขึ้น การท่องคำว่ารูปหรือว่านามจะน้อยลงไป และระยะหลังจะพิจารณาเฉยๆ ขณะที่สติเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีโยนิโสมนสิการ ทำให้ผมคิดว่า ดูเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย ดูเหมือนว่าผมไม่ได้เจริญสติเลย จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่ได้เจริญสติเลย ก็หมายความว่า เห็นไปเรื่อยๆ ไม่มีการระลึกที่จะรู้ ไม่มีการเริ่มรู้ ซึ่งจะรู้ทันทีไม่ได้ ต้องอาศัยการศึกษา คือ การสังเกต หรือว่าพิจารณาโดยไม่ใช่คิด

ขณะนี้ที่กำลังเห็นนี่ รู้ เป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรืออาการรู้เท่านั้นได้ไหม หรือว่ายาก กำลังเห็นในขณะนี้เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ แต่จะสำเหนียกสังเกต หรือพิจารณาโดยไม่คิดได้ไม่นานใช่ไหม ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ความคิดจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การยับยั้งความคิด ขณะที่คิดเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่การเห็น ไม่ใช่การได้ยิน เป็นสภาพคิด เป็นลักษณะคิด เป็นอาการคิดเรื่อง หรือว่าคิดคำ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังรู้เรื่อง รู้คำ ขณะนั้นไม่ใช่รู้สี ไม่ใช่รู้เสียง เป็นสภาพธรรมคนละอย่าง

ในขณะที่กำลังมีคำหรือความหมายที่คิดเป็นอารมณ์ จะไม่ใช่การสังเกต สำเหนียก รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่เห็นความต่างกันของขณะที่เพียงคิด กับขณะที่กำลังศึกษา ใช้คำว่าศึกษา หมายความถึงกำลังสังเกต พิจารณา หรือเพียรที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้

ในขณะที่กำลังคิด กับขณะที่กำลังศึกษา ก็จะเห็นความจริงว่า ขณะที่เป็นสัมมาสติแท้ๆ ต้องไม่ใช่ในขณะที่คิด

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นสัมมาสติจริงๆ น้อยกว่าปัญญาขั้นคิด แต่ไม่ใช่การห้าม ไม่ใช่การยับยั้งความคิด เพราะทุกท่านทราบว่า มีปัจจัยมากเหลือเกิน คือ ความจดจำ สัญญาขันธ์ ลักษณะของสัญญาเจตสิกซึ่งจำ จำทุกขณะตั้งแต่ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดเพียงขณะเดียว

ที่ท่านกำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนว่าเห็นเป็นเวลานาน แต่ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตอื่นเกิดต่ออีกนานมากกว่าจะถึงอีกขณะหนึ่งซึ่งเห็น เพราะฉะนั้น ความห่างกันของจักขุวิญญาณขณะหนึ่งๆ ห่างกันโดยจิตเกิดคั่นแทรกมาก แต่ว่าจักขุวิญญาณซึ่งเห็นในขณะนี้ดูเสมือนว่าไม่มีอะไรคั่นเลย

แต่ว่าตามความเป็นจริง ลองคิด คิดอะไรก็ได้ อย่างในขณะที่กำลังฟัง นอกจากมีการได้ยินแล้ว ก็ยังมีการคิดว่า คิดอะไรก็ได้ คั่นระหว่างการเห็นมากแล้ว แต่แม้กระนั้นการเห็นของจักขุวิญญาณแต่ละขณะก็สืบต่อกันอย่างรวดเร็วจนปรากฏเหมือนกับว่า การเห็นในขณะนี้ไม่ได้ดับเลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากเหลือเกินที่จะอบรมปัญญาให้ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรม

เมื่อมีความจำ สัญญาเจตสิกเป็นปัจจัยทำให้เกิดการคิดอยู่เรื่อยๆ การคิดก็จะต้องคั่นระหว่างสัมมาสติ เพราะฉะนั้น สัมมาสติที่จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ก็ชั่วขณะเล็กน้อย และปัญญาที่จะศึกษา ที่จะเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่สัมมาสติกำลังระลึก จึงเป็นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยจริงๆ และขณะนั้นก็ดับไป ซึ่งก็ไม่ทราบว่า สัมมาสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์อะไรต่อไป แต่เพราะว่าการเริ่มระลึก และการศึกษาแม้เพียงเล็กน้อยในขณะหนึ่งทีละเล็ก ทีละน้อย จะทำให้ค่อยๆ เป็นความรู้ขึ้นอย่างละเอียดและอย่างบางเบาจนกระทั่งดูเหมือนไม่ปรากฏว่าเป็นความรู้ขั้นหนึ่งขั้นใด แต่ว่าวิปัสสนาญาณจริงๆ จะเกิดได้ก็ต้องเริ่มจากการระลึก และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็ก ทีละน้อยในขณะนี้เอง

เป็นไปไม่ได้เลย ที่ปัญญาจะเกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ขาดการศึกษา การระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ และปัญญาขั้นโน้นก็แสนไกล แต่ว่าเมื่อถึงแล้วจะรู้เหตุว่า เกิดจากแต่ละขณะที่กำลังระลึกและศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ปัญญาขั้นนั้นจึงจะเกิดได้

ถ. สติที่เกิดในขณะนี้ แต่ว่าเรายังไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่แท้จริงนั้น ถือว่าเป็นสัมมาสติหรือเปล่า

สุ. เป็นสัมมาสติถ้าระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ข้อสำคัญคือ ตรงลักษณะ สัมมาสังกัปปะต้องจรดตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

อย่างทางหู จรดที่เสียง หรือที่สภาพที่รู้เสียง ต้องตรง เมื่อตรงแล้ว ก็มีการศึกษาที่จะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนปรากฏ โดยความไม่ใช่ตัวตน คือ ทีละลักษณะ เมื่อปรากฏเพียงลักษณะเดียว ลักษณะอื่นไม่ปะปน จึงจะเป็นการไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่นึกคิด ขณะนั้นไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณา หรือใช้คำว่าไม่ได้ศึกษา ขณะที่นึกคิด ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นการนึกคิด แต่ขณะที่พิจารณา หรือไม่พิจารณานั้น ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ขออาจารย์ช่วยอธิบายขณะที่มีการพิจารณา กับขณะที่ไม่ได้มีการพิจารณาว่า ต่างกันอย่างไร

เช่น เมื่ออาจารย์กล่าวว่า “ขณะนี้” ได้ยินคำว่า “ขณะนี้” เมื่อรู้ความหมายของคำว่า “ขณะนี้” แล้ว สติไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู แต่เมื่อมีสติเกิดขึ้นรู้ความหมาย ขณะที่รู้ความหมายนั้น ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นมักจะตรึกในใจว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มักจะใช้คำพูดในใจ ซึ่งหมายความว่า ขณะที่ตรึกนั้นไม่ได้สังเกต แต่ถ้าขณะนั้นสังเกต จะเป็นอย่างไร ขออาจารย์ช่วยอธิบาย

สุ. ไม่คิด ขณะนั้นไม่คิด ขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเปลี่ยนสัญญา ความทรงจำเสียใหม่ เพราะว่าก่อนที่จะเป็นมรรคมีองค์ ๘ เวลาเห็นอะไรก็พิจารณาโดยรูปร่างสัณฐาน ใช่ไหม

ทุกครั้งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะดูอะไร ที่จะรู้ว่าเป็นอะไร ต้องมีการพิจารณารูปร่างสัณฐาน บางครั้งต้องพิจารณารูปร่างสัณฐานโดยละเอียดทีเดียวเพื่อจะเห็นความต่างกัน แต่เมื่อมีการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สัญญานี้ต้องเปลี่ยนจากที่เคยพิจารณาในรูปร่างสัณฐาน มาเป็นพิจารณาโดยสภาพที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่รูปร่างสัณฐาน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่พิจารณาโดยรูปร่างสัณฐาน แต่ระลึกรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือความหมายของไม่ใส่ใจในนิมิตและอนุพยัญชนะ ซึ่งทรงแสดงไว้มากในพระไตรปิฎก

ทุกขณะที่เห็น ไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ไม่ใช่ว่า ไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจ ไม่ดูเท่านั้น แต่หมายความว่า ระลึกรู้ว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา จึงไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะถ้าเป็นการใส่ใจขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่การเห็น แต่เป็นการตรึก เป็นการนึกถึง วิตกเจตสิกตรึก และสัญญาก็จำสืบๆ ต่อกันไปทุกขณะจิตทีเดียว

ถ. ขณะที่ใส่ใจ สังเกตลักษณะที่ต่างกัน เช่น เราเห็นถ้วยใบหนึ่งกับชามใบหนึ่งตั้งอยู่รวมกัน เราก็รู้ว่านี่เป็นถ้วย นี่เป็นชาม และก็รู้ต่อไปว่า ที่รู้ว่าเป็นถ้วย เป็นชามนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็มักจะตรึกในใจว่า เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็ตรึกต่อไปว่า ขณะที่ตรึกขณะนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน มักจะตรึกไปเรื่อยๆ อย่างนี้ และขณะที่ดูเฉยๆ สังเกตเฉยๆ โดยไม่ตรึก ขณะที่สังเกตเรื่อยๆ เฉยๆ โดยไม่ตรึก ขณะนั้นเป็นการพิจารณา หรือเป็นสังเกตใช่ไหม

สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะอะไรก่อนอะไรหลัง เพราะฉะนั้น ที่เคยเห็นเป็นจานใบหนึ่งกับถ้วยใบหนึ่ง จะเกิดก่อนก็ได้ เป็นชีวิตปกติประจำวันซึ่งมักจะหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ก็เห็นเป็นถ้วยใบหนึ่งจานใบหนึ่ง แต่เวลาที่สติเกิดระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ขอให้คิดถึงความหมายว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และเวลาที่กำลังมองถ้วย ที่จะรู้ว่าเป็นถ้วยใบหนึ่ง ก็มีการตรึกถึงรูปร่างถ้วยในสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่มองจาน ก็เป็นการตรึกนึกถึงรูปร่างจานในสิ่งที่ปรากฏทางตา นึกถึงรูปร่างสัณฐานในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่โดยตามความเป็นจริง สภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น คือ เมื่อหลับตาลงไม่ปรากฏ

จะนึกถึงถ้วยใบเก่าที่เห็นเมื่อตอนที่ลืมตาก็ได้ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ปรากฏในขณะที่หลับตา จะนึกถึงจานใบเก่าที่เห็นเมื่อตอนที่ลืมตา นึกถึงรูปร่างสัณฐานก็ได้ แต่เมื่อหลับตาแล้ว สีสันวัณณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มี จะมีได้ก็เพียงแต่การนึกถึงสัณฐานของจาน แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ปรากฏเลย

ท่านผู้ฟังที่นี่พิสูจน์ได้ ท่านเห็นอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง และก็หลับตาลง หมดเลย สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มีเลย แต่ถ้าท่านจะนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ท่านจะนึกได้แต่รูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้นสิ่งเดียว โดยสิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมดในขณะนี้ไม่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ว่างเปล่าจากตัวตน สัตว์ บุคคล นอกจากจะมีการตรึกนึกถึงรูปร่างเกิดขึ้นขณะใด ก็มีการทรงจำ จดจำในรูปร่างสัณฐานนั้น พร้อมทั้งการยึดถือว่า สิ่งที่เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ หรือวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ตามความเป็นจริงต้องแยกสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566