แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 665

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น จะละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะจะปรากฏแต่เพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่แม้กระนั้นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีมากมายเหลือเกิน ถ้ายังไม่ถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล ก็ย่อมมีความยินดีพอใจแม้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

นี่เป็นความซับซ้อนหนาแน่นของอกุศลธรรมมากมายเหลือเกิน ซึ่งเริ่มจากความไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ทั้งๆ ที่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงและรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดี ยินร้ายได้

ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้ารู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ท่านเป็นพระอริยเจ้าขั้นใด ท่านไม่เข้าใจผิด พระโสดาบันไม่คิดผิดว่าท่านเป็นพระสกทาคามี หรือ พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ เพราะว่าท่านอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมเหล่านั้นชัดเจนตามความเป็นจริง จึงดับความเห็นผิดซึ่งเหนียวแน่นเหลือเกิน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะไม่มีการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ถ. การเจริญสติให้เฉียบพลัน หรือมีปฏิภาณที่ว่าไหวพริบทันทีทันใดนั้น เราควรจะมีปัจจัยอะไรที่สะสมให้เกิดปฏิภาณอย่างนั้นขึ้นมา

สุ. มีความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นในสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง อย่างที่ได้ยินว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าสติซึ่งเป็นสัมมาสติยังไม่ระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏทางตาเพราะว่ายังไม่มีปัจจัยเพียงพอ ก็จะต้องอบรมปัจจัย คือ การไม่ลืมที่จะเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาว่า ตามความเป็นจริง จริงๆ นั้น ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ และการระลึกนึกถึงสภาพความจริงนี้บ่อยๆ ความจำ สัญญาอันมั่นคงในความรู้ในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดระลึกและก็ศึกษา

คำว่า ศึกษา คือ รู้ และเมื่อยังไม่ใช่ปัญญาที่ถึงขั้นคมกล้าที่สภาพธรรมจะปรากฏโดยความไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นเพียงการเริ่มรู้ เป็นขั้นต้นที่จะเริ่มรู้นิดเดียวเท่านั้นเอง และก็หลงลืมไปอีก ซึ่งจะนานหรือไม่นานก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ความจำอย่างมั่นคงจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ก็จะทำให้มีการระลึกและก็รู้ คือ เริ่มรู้ ไม่ใช่ว่าประจักษ์แจ้งทีเดียว แต่ทีละเล็กทีละน้อย

ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า เพราะการเริ่มรู้เป็นขณะๆ ทำให้มีความชำนาญที่จะสังเกตและรู้เร็วขึ้นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และก็จะต้องศึกษา หรือว่าพิจารณาทุกทวารด้วย อย่างเช่น ทางตา สภาพธรรมที่ปรากฏมีลักษณะจริงๆ คือ เพียงปรากฏ และต้องเข้าใจถึงขณะที่กำลังนึกถึงรูปร่างสัณฐานด้วย เพราะถ้าในขณะนี้ไม่มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานอะไรเลย จะมีเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ โดยห้ามไม่ให้ปรากฏก็ไม่ได้ในขณะที่ลืมตา ปรากฏแล้วในขณะนี้ และจะปราศจากการตรึกนึกถึงรูปร่างก็ไม่ได้

อย่างในขณะนี้ เห็นสมุด รู้ว่าเป็นสมุด ก็หมายความว่ามีการตรึกนึกถึงรูปร่างสมุด ซึ่งถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างของสมุด แต่นึกถึงพัดลม นึกถึงรูปร่างสัณฐานของพัดลม ที่จะรู้ว่าเป็นพัดลม ก็หมายความว่า มีการตรึกนึกถึงรูปร่างของพัดลมแล้ว ถ้าจะนึกถึงเก้าอี้ รู้ว่าเป็นเก้าอี้ มีสัณฐานของเก้าอี้ในความคิดนึก จึงได้รู้ว่าเป็นเก้าอี้

ถ. ถ้าเราไม่ตรึก ไม่นึกถึงสิ่งนั้น เพราะเราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีสิ่งนั้นเป็นปัจจัยอยู่แล้ว ถ้าเราไม่นึกถึงจะเป็นไปได้ไหม

สุ. ปกติธรรมดา สภาพธรรมเกิดขึ้นสืบต่อกัน หลังจากที่มีการเห็นแล้ว จะมีวิตกเจตสิก วิตกเจตสิกจะเกิดขึ้นตรึกนึกถึงสิ่งที่เห็นทันทีโดยไม่มีการยับยั้ง เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกจึงเป็นสัมมาสังกัปปะเมื่อเกิดพร้อมสติ คือ แทนที่จะตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน และทำให้เกิดการยึดถือว่าเป็นตัวตน วิตกเจตสิกจรดถึงลักษณะของสภาพธรรมแท้ๆ เช่น เสียง ไม่ใช่การนึกถึงคำ สัมมาสังกัปปะที่เกิดพร้อมสติจะระลึกถึงเสียงที่ปรากฏ หรือว่าจะจรดที่สภาพธรรมที่คิดถึงคำก็ได้

ถ. ต้องแยกแยะใช่ไหม

สุ. ต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญวิปัสสนาซึ่งเป็นปัญญาขั้นที่ประจักษ์แจ้ง จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการเจริญความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏเสียก่อน เช่น ทางหูในขณะที่ได้ยิน ต้องมีการศึกษา มีความเข้าใจในขั้นต้นว่า การได้ยินเสียงไม่ใช่การนึกถึงคำ ต้องเข้าใจจริงๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็รู้ว่า สภาพธรรมมีหลายอย่างและเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วด้วย ถึงแม้ว่าไม่ได้ยินเสียงการนึกถึงคำก็มีได้ เพราะฉะนั้น การนึกถึงคำ ต้องไม่ใช่การได้ยินเสียง แต่ในขณะที่ได้ยินเสียงก็มีการนึกถึงคำ เพราะว่าเกิดติดต่อกันเร็วจนกระทั่งปรากฏเสมือนว่าได้ยินคำ ไม่ใช่ได้ยินแต่เสียง ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริง ต้องเข้าใจให้ตรงจริงๆ ว่า ขณะที่ได้ยินเสียงไม่ใช่ขณะที่นึกถึงคำ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะเกิดการระลึกได้ในขณะที่ได้ยิน ซึ่งก็แล้วแต่สติว่า จะระลึกถึงเสียงหรือสภาพที่นึกถึงคำ และก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น ที่กำลังนึกถึงคำนี้ไม่ใช่เห็น

สัมมาสติจะระลึกรู้การคิดนึกถึงคำว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และก็ดับไป ทางตาก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง และถ้าได้ยินเสียง ก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น สติจึงระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏ พร้อมกับสัมมาสังกัปปะที่จรดตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถที่จะละหรือดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

แต่ถึงแม้ว่าจะละเอียดหรือว่ายากสักเพียงไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ควรจะอบรมเจริญทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังอ่านประวัติของพระสาวกทั้งหลายที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะเห็นได้ว่า ท่านต้องบำเพ็ญอบรมเจริญปัญญาเป็นกัปๆ ทีเดียว แล้วแต่ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากี่พระองค์ แต่ว่าไม่ใช่เพียงพระองค์เดียวเลย

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา กว่าปัญญาจะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องเริ่มจากการไม่รู้ และเป็นการรู้ขึ้น จะช้าหรือจะเร็ว จะมากหรือจะน้อย ก็เป็นปัญญาจริงๆ ที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่หลีกเลี่ยง และก็คิดว่ายากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็จะไปทำอย่างอื่นเสียก่อน

ถ้ายากเหลือเกิน ก็จงเริ่มบำเพ็ญเสียในขณะนี้ เพื่อที่ว่าสิ่งที่ยากเหลือเกินนั้น จะได้ง่ายขึ้น และท่านจะเป็นผู้ที่มีความชำนาญมากขึ้น มีปัจจัยที่ปัญญาจะคมกล้าในขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ แต่อย่าหวังลอยๆ ว่า ปัญญาจะคมกล้าโดยไม่มีการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ เพราะที่จะเป็นปัญญาที่คมกล้าจริงๆ ได้ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ขอเล่าเรื่องไปสัมมนาพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งได้รับเชิญจากสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกา ให้ไปร่วมสัมมนาธรรมเป็นเวลา ๕ อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๐ จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๐

คนไทยโดยสารเครื่องบินสายการบินไทย ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพไปโคลัมโบอาทิตย์ละครั้งเดียวเท่านั้น คือ วันพุธ เพราะฉะนั้น ต้องไปวันพุธ และก็ต้องกลับวันพุธ ในวันพุธที่ ๓๐ มีนาคม เครื่องบินออกจากสนามบินตรงเวลา ถึงสนามบินโคลัมโบประมาณ ๑๑ นาฬิกา

ท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะเคยได้อ่านหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเป็นผู้เขียน เรื่องธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน และเรื่องธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งตามปกติคุณนีน่าจะเดินทางมาที่ประเทศอินเดียบ้าง หรือมาที่เมืองไทยบ้าง ๒ ปี ต่อ ๑ ครั้ง หลังจากที่ออกจากเมืองไทยแล้ว เมื่อ ๒ ปีก่อนได้พบกันที่ประเทศอินเดีย ได้นมัสการสังเวชนียสถาน และตั้งใจว่าอีก ๒ ปีจะพบกันอีกครั้งหนึ่ง จะได้สนทนาธรรมกันที่ประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากได้ไปประเทศศรีลังกา และเห็นว่าประเทศศรีลังกาเป็นประเทศที่น่าจะได้ไปนมัสการสถานที่ที่สำคัญต่างๆ เพราะว่าประเทศศรีลังการับพระพุทธศาสนาโดยตรงจากประเทศอินเดีย และมีพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมาก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คุณนีน่ามาที่ประเทศศรีลังกาแทนประเทศอินเดีย ซึ่งเครื่องบินของคุณนีน่าก็ถึงในวันเดียวกัน คือ วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม แต่ว่าถึงก่อน คุณนีน่าก็รออยู่ที่สนามบิน

ทางศรีลังกาได้จัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรก ไม่เคยมีมาก่อน เพราะว่าเป็นเรื่องของธรรมจริงๆ ซึ่งก่อนนั้นก็อาจจะมีชาวต่างประเทศที่ไปพบปะ หรือไปนมัสการสถานที่สำคัญในประเทศ แต่ยังไม่เคยมีการจัดสัมมนาในเรื่องของธรรมะ

เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้จัดคือ Capt. Siva Perera เพิ่งเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาได้ประมาณ ๑๒ – ๑๓ ปี และสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ตั้งขึ้นนี้ก็เพิ่งตั้งขึ้นประมาณ ๕ ปีเท่านั้น นับว่าตั้งขึ้นอายุไม่นานเท่ากับสมาคมพุทธศาสนาอื่นๆ แต่ก็สามารถที่จะจัดการเชิญในการสัมมนาครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยอย่างดียิ่ง ด้วยความร่วมมือของพุทธสมาคมต่างๆ ของประเทศศรีลังกา

ความตั้งใจเดิมของ Capt. Siva Perera ของสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ขอเชิญนี้ ตั้งใจที่จะเชิญถึง ๒ เดือน แต่เห็นว่าเวลา ๒ เดือนเป็นเวลาที่นานมาก ก็เลยตอบรับว่า ขอไปเพียง ๓ อาทิตย์ ซึ่งทางโน้นก็ต่อรองมาเป็น ๕ อาทิตย์ ก็เป็นที่ตกลงว่า ใน ๕ อาทิตย์นี้จะไปที่โคลัมโบ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศศรีลังกา และไปที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเมืองแรกของศรีลังกา และเป็นเมืองที่พระมหินทร์ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อบวชเป็นพระมหินทรเถระแล้ว ได้มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกาที่เมืองอนุราธปุระนี้ อีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองแคนดี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงสุดท้ายก่อนจะเสียประเทศแก่รัฐบาลอังกฤษ

เพราะฉะนั้น การไปคราวนี้ ก็ไปที่เมืองโคลัมโบ อนุราธปุระ และแคนดี้ ซึ่งทางสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ Capt. Perera เป็นผู้จัด ก็ได้ให้ช่างภาพมาถ่ายรูป ที่สนามบิน ความจริงวันนี้ตั้งใจจะเอารูปมาให้ดูด้วย แต่ก็ลืม แต่ก็คงไม่สำคัญ

การสัมมนาคราวนี้นับว่าเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของประเทศศรีลังกา เพราะว่าในวันแรกที่ไปมีนักข่าวหนังสือพิมพ์มาถ่ายรูปและลงเรื่อง ซึ่งทุกวันก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าคณะสัมมนาไปทำอะไร ที่ไหน

ในการไปครั้งนี้ได้พักกับครอบครัวของชาวศรีลังกาที่โคลัมโบ เป็นบ้านของ มิสซิสพุชชา เทวาดิกาเร ชื่อของชาวศรีลังกาจะต้องเป็น เอ อา เสมอ

สำหรับมิสซิสพุชชา เทวาดิกาเร แต่งงานกับหลานของท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ซึ่งทุกท่านก็คงจะชินหู เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ต่อสู้อย่างมากเพื่อที่จะให้มีพุทธสถานที่ประเทศอินเดีย เพื่อที่จะให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นคง

มิสซิสพุชชาเป็นผู้หญิงที่จิตใจโอบอ้อมอารี และมีความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา เมื่อได้ทราบข่าวว่าจะมีพวกเราเป็นผู้หญิงไปเผยแพร่ธรรม ก็ติดต่อขอให้สำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาจัดให้เราได้พักที่บ้าน ซึ่งเขาต้อนรับอย่างดีเป็นเวลาถึง ๑๖ วัน ตั้งแต่วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม จนถึงวันที่ออกเดินทางไปอนุราธปุระ ในวันที่ ๑๖ เมษายน ทั้งอาหารเช้าและอาหารค่ำ

ด้วยน้ำใจไมตรีอย่างดียิ่งของคุณพุชชา ก็ได้รับประทานอาหารเช้าของศรีลังกา ซึ่งเปลี่ยนรายการอาหารทุกวัน หรือเกือบจะทุกวัน หมายความว่าเปลี่ยนไปๆ แล้วก็หมุนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็มีอาหารที่คงจะเป็นอาหารดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งโน้นจนกระทั่งถึงในครั้งนี้ เช่น อาหารเช้าก็เป็นถีรภัต หรือจีรบัด ถีร แปลว่าน้ำนม บัดหรือภัต แปลว่าข้าว หมายความถึงข้าวที่หุงกับน้ำนม ทำเป็นรูปร่างลักษณะของข้าวหลาม เป็นท่อนยาวๆ รับประทานกับพวกแกงโบ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำพริกของชาวศรีลังกา และมีวิธีทำหลายอย่าง แต่ว่าไม่เหมือนน้ำพริกของเราเลย เพียงแต่ว่ามีพริกแน่นอน ซึ่งทางศรีลังกาก็รับประทานพริกมาก และใช้มะพร้าวมากเหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนน้ำพริกเผา ไม่เหมือนน้ำพริกหนุ่ม ไม่เหมือนน้ำพริกอะไรทั้งนั้นสักอย่างเดียว แต่คณะของเราก็กินง่ายอยู่ง่าย รับประทานอาหารของเขาได้ทุกอย่าง ไม่เป็นที่ลำบากใจกับเจ้าของบ้านเลย

คุณนีน่าก็พักที่บ้านนี้ด้วย เพื่อความสะดวกเลยเรียกคุณพุชชาเป็นคุณบุษบา ซึ่งแปลว่าดอกไม้ ผู้ที่พักบ้านคุณบุษบามี ๓ คน คือ ดิฉัน คุณดวงเดือน และคุณ นีน่า วัน กอร์คอม จัดห้องนอนเป็น ๒ ห้อง ดิฉันนอนกับคุณนีน่า และคุณดวงเดือนเป็นห้องต่างหาก ซึ่งมีโต๊ะเขียนหนังสือ มีโต๊ะเครื่องแป้ง สะดวกสบายมากสำหรับ คุณดวงเดือน ซึ่งคุณดวงเดือนได้ช่วยทำประโยชน์มากทีเดียวที่ประเทศศรีลังกา

ตอนเย็นได้ไปนมัสการพระมหานายกมาดิเร ปัญจสิงหะ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาในการจัดรายการครั้งนี้ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ชาวศรีลังกานิยมเคารพนับถือมาก เพราะฉะนั้น ท่านก็ติดต่อตามพุทธสมาคมต่างๆ ทั้งที่อนุราธปุระ และที่แคนดี้ ให้ได้รับความสะดวกสบายทุกประการ นับได้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการจัดรายการสัมมนาคราวนี้

นอกจากจะได้นมัสการท่านพระมหานายกที่ B.I.C. คือที่ Buddhist Information Center หรือสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนา ก็ยังได้พบกับคณะกรรมการทั้งหมดของ B.I.C. (Buddhist Information Center) เพื่อที่จะจัดเตรียมหัวข้อสัมมนาว่าจะทำในรูปไหน ซึ่งในที่สุดก็เสนอให้ทางฝ่ายศรีลังกาเห็นประโยชน์ว่า ถ้าจัดไปในเรื่องคำถามคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการปฏิบัติ หรือในหัวข้อธรรมจะมีประโยชน์กว่า เพราะว่าเป็นแนวใหม่ ซึ่งในครั้งก่อนๆ โดยมากการศึกษาธรรมก็มักจะทำแบบปาฐกถา ซึ่งคนฟังไม่มีโอกาสจะร่วมซักถามเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นประโยชน์ก็น้อย และเนื่องจากมีเวลาอยู่น้อยมาก ก็ควรจะเป็นในเรื่องของการตอบปัญหาธรรม หรือการซักถามในข้อธรรม ซึ่งทางฝ่ายกรรมการของ B.I.C. ก็เห็นด้วย และก็ตกลงให้เป็นเรื่องของธรรมและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. คุณนีน่า วัน กอร์คอมมาจากประเทศฮอลันดา จากเมืองไทยที่เป็นฆราวาสมี ๒ ท่าน คือ ดิฉันกับคุณดวงเดือน และก็มีคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่งนิมนต์สามเณรสุนทโร ชาวนิวซีแลนด์ไปด้วย

ทุกครั้งที่ไปประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็มีความรู้สึกว่า พระภิกษุเองท่านก็คงต้องการไปทำประโยชน์ และได้ไปนมัสการที่ประเทศนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ในการไปครั้งที่ ๑ นักศึกษาธรรมในคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่งก็ได้นิมนต์พระภิกษุธัมมธโร ชาวออสเตรเลียไปด้วย ซึ่งเมื่อท่านไปแล้ว ท่านก็ไม่กลับ ท่านก็ปฏิบัติศาสนกิจ ศึกษาและเผยแพร่ธรรมอยู่ที่โน่น ครั้งที่ ๒ ได้นิมนต์ท่านพระเจตนันทะ พระภิกษุชาวญี่ปุ่น ซึ่งทุกท่านจะต้องเคยเห็น เพราะว่ามาที่นี่ตั้งแต่เริ่มการบรรยายที่มหามกุฏ และในครั้งที่ ๒ ท่านพระภิกษุเจตนันทะก็ยังไม่กลับ ท่านก็อยู่ที่โน่น

ในครั้งที่ ๓ ก็มีนักศึกษาธรรมได้นิมนต์สามเณรสุนทโรไป ซึ่งท่านก็ไม่กลับเหมือนกัน ท่านก็อยู่ที่โน่น

ถ. เพราะอะไร

สุ. รู้สึกว่า ทุกท่านอยากจะอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และอยากฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นคงอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศศรีลังกา เพราะว่าตามความเป็นจริงที่ปรากฏในอรรถกถา ประเทศศรีลังกาเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งพระพุทธศาสนาทีเดียว

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565