แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 681

จะเห็นได้ว่า ถ้าท่านผู้ใดมีความเลื่อมใสในทางที่ถูกแล้ว แต่ผลยังไม่เกิด ก็ให้พยายามรักษาความเลื่อมใสนั้นไว้ อย่าให้เปลี่ยนเป็นความต้องการผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดมีความเห็นผิดขึ้น เพราะฉันทะอย่างแรงกล้า คือ ไม่เลิกความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้เอง ไม่เปลี่ยน โดยการลับปัญญาให้คมกล้าด้วยการศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าวันหนึ่งจะประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ที่จะกระจัดกระจายสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดดับพร้อมกันอย่างรวดเร็วให้เห็นว่าเป็นแต่ละลักษณะ จึงไม่ใช่ตัวตน

ถ้าจิตเจตสิกมากมายดับไปแล้วเมื่อครู่นี้โดยที่ไม่รู้ ก็ต้องเป็นตัวตนอยู่ มีการยึดถือสภาพของจิตเจตสิกเหล่านั้นที่ดับไปด้วยความไม่รู้นั้นว่าคือเรา แต่ถ้าขณะใดที่ระลึกรู้ และแยกลักษณะแต่ละลักษณะให้เป็นแต่ละลักษณะจริงๆ ไม่รวมกัน ไม่ปนกัน กระจัดกระจายสภาพธรรมที่เคยเกิดรวมกันอยู่ออกเป็นแต่ละลักษณะได้ จะเห็นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่กำลังปรากฏเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้ และเพิ่มความรู้ขึ้นด้วย ควรที่จะระลึกรู้แม้แต่ลักษณะของความตั้งใจ ความเพียร หรือว่าลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ

. คำว่า มีความเพียรพยายามระลึกรู้ ความเพียรพยายามระลึกรู้มีอยู่ แต่เมื่อมีความเพียรระลึกรู้แล้ว ตัวตนก็ยังคงเดิม ทำงานเราใช้ความเพียร งานชิ้นนี้เราจะทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน เราก็ใช้ความเพียรจนสำเร็จได้ แต่เรื่องระลึกรู้นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยากเหลือเกิน สำหรับรูปยืน เดิน นั่ง นอน ที่เขาสอนกันอยู่ ลักษณะเช่นนี้ เพราะว่าเขาไม่ประจักษ์ความเป็นอนัตตาจริงๆ เขาจึงมีรูปพวกนี้อยู่ ถ้าเขาประจักษ์จริงๆ รูปพวกนี้จะมีมาได้อย่างไร ย่อมไม่มีแน่ๆ

สุ. เพราะฉะนั้น ก็รักษาความเลื่อมใสในเหตุในผล ในสภาพธรรมที่ได้ฟังและพิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ และมีความเพียรที่จะระลึกรู้ จนกว่าจะละความยึดถือในตัวตนออกได้

ความเห็นผิดต้องออกได้แน่ แต่จะออกได้เพราะปัญญาเกิดขึ้นรู้ในลักษณะสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ มีอะไรปรากฏ ศึกษาทันที รู้ทันที เพิ่มความรู้ยิ่งขึ้น

. ยาก จะศึกษาอย่างไรแล้วแต่คนฟัง ใครจะมีสติปัญญา มีอุบายพิจารณา อย่างอาจารย์บอกว่า มีสติปัญญารู้ความเป็นอนัตตา อาจารย์ใช้คำว่า สภาวะลักษณะที่กำลังปรากฏแต่ละรูปไม่เหมือนกัน ผมก็สังเกตอย่างที่อาจารย์พูด สังเกต สำเหนียกให้รู้สภาวะลักษณะแต่ละลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ ซึ่งนั่นทำให้ผมประจักษ์ความเป็นอนัตตา ความเป็นอัตตาถูกทำลายโดยสิ้นเชิง

สุ. โดยสิ้นเชิงเลยหรือ

. ขณะที่รู้ขณะนั้น อัตตาที่เคยยึดถือขณะนั้นไม่มีจริงๆ พ้นจากขณะนั้นแล้วก็เป็นอัตตาไปตามเดิมอย่างเก่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สุ. การเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า เท่าไรก็ไม่พอ แต่ความชำนาญเพิ่มขึ้น ความรู้ชัดเพิ่มขึ้น ที่ชัดหมายความว่า รู้โดยที่ไม่ต้องสังเกตสำเหนียกนาน เหมือนตอนที่เริ่มพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คือ มีความเคยชิน มีความคุ้นเคย มีความชำนาญ มีความรู้เพิ่มขึ้น

การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ จะทำให้ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ อย่าให้ผิดปกติ

. เจริญพร คุณโยม คำว่า กายในกาย หมายความว่าอย่างไร

สุ. หมายความว่า เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่มีตัวตนในกาย

. กายนอกกับกายในต่างกันอย่างไร

สุ. กายที่ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของเรา เช่น กายคนอื่นๆ เป็นภายนอก กายของเราเป็นภายใน

. แล้วเวทนา

สุ. ก็เหมือนกัน โดยนัยเดียวกัน

. วิธีเจริญสติสติ ระลึกรู้กายในกายนั้น ระลึกรู้ไปทั้งกายเลยหรือ

สุ. ไม่ต้องห่วงว่า กายในหรือกายนอก เวทนาในหรือเวทนานอก อะไรกำลังปรากฏ ไม่ลืม คือ ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น

. ระลึกรู้เฉพาะกายอย่างเดียว

สุ. ไม่ได้เจ้าค่ะ ไม่มีการบังคับจำกัดว่าเฉพาะอย่างนั้นเฉพาะอย่างนี้ แล้วแต่อะไรกำลังปรากฏทางไหน ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

. เวทนาเกิดขึ้นก็ระลึกรู้ จิตเกิดขึ้นก็ระลึกรู้ ธรรมเกิดขึ้น ...

สุ. ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ระลึกจะรู้ได้อย่างไรว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่ใช่เรา ความสุขเมื่อครู่นี้ก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์เมื่อครู่นี้ก็ไม่ใช่เรา แม้ความสุขเดี๋ยวนี้ ความทุกข์เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่เราเช่นเดียวกัน

. ข้อนี้เข้าใจ เมื่อคืนอาตมาฟังเทปอาจารย์ มีโยมคนหนึ่งถามว่า เวลาเห็น แต่เห็นเป็นสีสันวัณณะต่างๆ อาจารย์ก็บอกว่า มีสติระลึกรู้ได้ขณะที่เห็นนั้น จะเห็นเป็นอะไรก็แล้วแต่

สุ. ปกติเจ้าค่ะ

. ระลึกได้ใช่ไหม

สุ. แน่นอนเจ้าค่ะ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะต่างกัน ถ้ากำลังนึกถึงสัณฐานรูปร่างก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอาการลักษณะของวิตกเจตสิก เป็นสภาพตรึกนึกถึง ซึ่งไม่ใช่สภาพเห็น

. ไม่ใช่จะเจาะจงเฉพาะแต่รู้สีอย่างเดียว

สุ. บังคับไม่ได้ แต่ต้องเจริญความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันว่าไม่ใช่ธรรมอย่างเดียวกัน จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปเฉพาะอย่างๆ ได้

. ระลึกรู้นี่ ระลึกรู้อะไร ระลึกรู้สี รู้สีอะไร สีมีมากมายหลายอย่าง คำว่า สติระลึกรู้ คือ ระลึกตรงสภาวะของรูปทางตาใช่ไหม ไม่ใช่ระลึกรู้สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีดำ ระลึกรู้สภาวะของลักษณะของรูปใช่หรือไม่

สุ. รู้ในสภาพที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ต้องไปตรึกนึกถึงอะไรเลย มีสภาพธรรมปรากฏทางตา เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ความหลง ความไม่รู้ ทำให้ไประลึกถึงรูปร่าง

ถ. ถ้าตรงต่อลักษณะทางตา ที่จะรู้ต่อไป อะไรจะปรากฏ

สุ. สภาพธรรมปรากฏแล้ว อย่างอื่นก็มี

. ผมไม่ได้หมายความอย่างนี้ ผมหมายความว่า ความเป็นอนัตตาจะปรากฏใช่ไหม

สุ. ยังไม่ทันทีทันใด อย่าคิดว่าจะทันทีทันใดได้ ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เริ่ม รู้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาไม่ห่วงว่าอะไรจะปรากฏ แต่รู้ว่าความรู้เพิ่มขึ้นหรือเปล่า จุดสำคัญ คือ ความรู้ที่เพิ่มขึ้น สภาพธรรมไม่เปลี่ยนแปลง ทางตาก็ปรากฏอย่างนี้ แต่ปัญญารู้หรือเปล่าในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ

เสียงกับการคิดถึงความหมายของเสียง คือ คำต่างๆ ปัญญารู้หรือเปล่าในลักษณะของเสียงซึ่งต่างกับขณะที่กำลังนึกถึงคำ นึกถึงความหมาย เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมให้รู้ในสิ่งที่ปรากฏตามปกติ

. รู้สึกว่า ทวารตาเป็นปัญหามากเหลือเกินสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ขณะที่เห็นนี้รู้สึกว่า เห็นสีแดง สีเขียว หรือเห็นเป็นโต๊ะเก้าอี้ไปเลย คำว่า เห็นเฉยๆ มีการเห็นเกิดขึ้นกับสิ่งที่ปรากฏ เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา พอเห็นแล้ว ก็เห็นภูเขาก่อนทุกทีเลย ใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ ต้องใช้เวลา และต้องพยายามเจริญสติมากจริงๆ บ่อยจริงๆ

สุ. ในขั้นต้น ลองพิจารณาถึงความต่างกันของขณะที่เห็นแล้วไม่สนใจ มีไหมขณะที่เห็นก็เห็น แต่ไม่สนใจ มีไหมในวันหนึ่งๆ

. ไม่สนใจ ก็มี แต่เป็นโมหะ

สุ. ต่างกันที่ว่า เห็นแล้วไม่สนใจด้วยโมหะ กับเห็นแล้วไม่สนใจเพราะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

อีกอย่างหนึ่ง ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ถ้ามีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมทางทวารอื่น จะทำให้สามารถแยกการที่จะรู้ว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาต่างกับขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานด้วยความทรงจำ ในความอ่อนหรือความแข็ง ในความเป็นกลุ่มก้อน ในความเป็นตัวตน เพราะรู้ว่าการตรึกนึกถึงรูปร่างมีได้

อย่างเวลาที่กระทบสัมผัส คนที่ชำนาญมากสามารถที่จะรู้นิมิตอนุพยัญชนะของสิ่งที่กระทบว่าเป็นหยกชนิดใด โดยเพียงการกระทบสัมผัสจากลักษณะของความเย็น ของธาตุซึ่งมีส่วนผสมต่างกัน เพราะฉะนั้น นิมิตอนุพยัญชนะของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มี แต่เวลาที่จะเป็นความรู้ชัดว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น คือ ไม่สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ สนใจในสภาวะลักษณะ คือ สภาพที่อ่อนว่าเป็นอ่อน สภาพที่แข็งว่าเป็นแข็ง และก็มีสติเฉพาะหน้า ไม่ไปเกี่ยวโยงกับทวารอื่นด้วย ทีละทวาร ตัดขาดไปเป็นทวารๆ

. หมายความว่า การเจริญสตินี้ คือ เจริญอยู่ในทวารทั้ง ๖

สุ. ทีละทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

. อาจารย์กล่าวว่า เห็นแล้วก็ไม่สนใจ คือ เกิดความรู้แต่ไม่สนใจ ไม่ใช่โมหะ ผมนึกถึงที่อาจารย์เคยสอนไว้ในเรื่องโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่ว่า จิตรู้ว่าเป็นสี แต่ก็ยังโลภอยู่ ยังคงชอบได้ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นแค่สี จะต่างกันอย่างไร

สุ. เพราะว่าลักษณะของโลภะ เป็นสภาพที่ยินดีพอใจติดข้อง ไม่ใช่ความเห็นผิด ความเห็นนั้นเป็นตัวความเห็น ส่วนความพอใจก็เป็นเรื่องของความพอใจ สภาพธรรมต่างชนิด เกิดขึ้นทำกิจต่างกัน โลภะขณะใดที่เกิดขึ้นก็ทำกิจพอใจติดข้อง ยึดมั่นทันทีด้วยความยินดี ด้วยความชอบใจ ไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นใดๆ เลย มีแต่ลักษณะที่เพลิดเพลินยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แต่ความเห็นก็เป็นความเห็น ที่ยึดมั่นถือทีเดียวว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

. ผมมีความรู้สึกว่า โลภะจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเห็นรูปทางตาก็ดี ได้ยินเสียงทางหูก็ดี ได้กลิ่นทางจมูกก็ดี ลิ้มรสทางลิ้นก็ดี สัมผัสทางกายก็ดี เมื่อรู้บัญญัติ โลภะจึงจะเกิด

สุ. ก่อนบัญญัติโลภะก็เกิดแล้ว นั่งเฉยๆ ยังไม่ต้องคิดเลย ถ้าไม่การเห็น หายไปเลย เสียดายไหม โลกที่เคยเป็นโลก ที่เคยเป็นตัวเราของเรา ไม่มีอะไรเหลือเลยสักอย่างเดียว เห็นก็ไม่เห็นอีกต่อไป ได้ยินก็ไม่มี ได้กลิ่นก็ไม่มี สีสันวัณณะทั้งหลายก็หมด เสียงก็หมด รสก็หมด กลิ่นก็หมด ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว จะประหวั่นพรั่นพรึงไหมว่า เป็นการสูญเสียที่ใหญ่ที่สุด

นี่คือการยึดมั่นในตัวตน และความพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

โดยมากทุกคนพอที่จะมองเห็นลักษณะของโลภะอย่างแรง เป็นต้นว่า เดินไปเห็นของตั้งหลายอย่าง ยังไม่อยากจะซื้อ ยังไม่อยากได้ แต่บางอันชักสนใจ อยากจะซื้อ อยากจะได้ ในขณะนั้นเห็นโลภะที่มีกำลังถึงขั้นต้องการที่อยากจะซื้อ อยากจะได้ แต่ว่าก่อนนั้นมีโลภะหรือเปล่า หรือว่าไม่มีเลย มี ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่อย่างที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะที่ว่า เป็นความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นสภาพของกิเลสต่างๆ ขั้น เวลาที่เกิดปรากฏแรง ก็เป็นสภาพกิเลสชนิดหนึ่ง เวลาที่ไม่แรงอย่างนั้น ก็ยังเป็นลักษณะของโลภะได้ เป็นลักษณะของความยินดีพอใจที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา เป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่รุนแรงถึงกับทำให้ปรากฏเป็นสภาพของความพอใจ หรือความยินดีอย่างมาก นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ต้องรู้ทั่วจริงๆ

. คำว่า อุเบกขา ในที่นี้หมายความว่า พอใจนิดเดียวหรือ

สุ. เป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นความรู้สึก ไม่ใช่โสมนัส ไม่ประกอบด้วยความปีติ

. เป็นอุเบกขา

สุ. เฉยๆ เรื่อยๆ

. ก็เมื่อครู่อาจารย์กล่าวว่า พอใจนิดหน่อย ไม่ถึงกับปรากฏออกมา

สุ. ความพอใจมี แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกับความรู้สึกโสมนัสยินดี ความพอใจนั้นมีแน่นอน มีความพอใจอยู่

. ความพอใจนั้น ไม่ใช่โสมนัสหรือ

สุ. ไม่ใช่ เป็นโลภะ นี่เป็นความละเอียดของธรรมซึ่งแยกได้จริงๆ และผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม อุชุปฏิปันโน เป็น ผู้ปฏิบัติตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล เวลาที่เพื่อนฝูงได้ดีมีสุข ผู้ตรงต้องระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลที่มุทิตายินดีด้วย หรือว่าเป็นโลภะ ชอบใจที่เป็นเพื่อนของเราที่ได้ดี เพราะฉะนั้น โลภะกับเมตตาต่างกันที่ว่า สภาพของเมตตาเป็นกุศล แต่สภาพของโลภะเป็นอกุศล

. อาจารย์แนะนำให้ไม่ใส่ใจ แต่ไม่ได้อธิบายโดยละเอียดว่า การไม่ใส่ใจนั้นคืออย่างไร การไม่ใส่ใจนี้ ผมคิดเองว่า เป็นการไม่ได้โยนิโสมนสิการ เมื่อไม่ได้โยนิโสมนสิการ ก็ควรจะโยนิโสในอะไร และควรจะไม่ใส่ใจในอะไร ขอให้อาจารย์อธิบายโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

สุ. ไม่ใช่ไม่ใส่ใจเฉยๆ แต่ไม่ใส่ใจ เพราะขณะนั้นรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อาจจะคิดว่า ทำเป็นไม่ใส่ใจคงจะได้ แต่ถ้าทำเป็นไม่ใส่ใจ ก็ปรากฏว่า ไม่ใช่ความรู้อะไร เพราะว่าเป็นลักษณะของตัวตนที่ทำเป็นไม่สนใจ หรือว่าทำเป็นไม่ใส่ใจ แต่ว่าขณะที่จะเป็นการเจริญปัญญาจริงๆ ไม่สนใจ และไม่ใส่ใจได้ เพราะว่าเริ่มรู้ เริ่มระลึกได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งแน่นอน หลับตาแล้วไม่ปรากฏ

. คำว่า ไม่ใส่ใจ ผมคิดว่าคงจะไม่ใส่ใจในบัญญัติธรรมมากกว่า คงจะไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสติระลึกรู้สภาพสภาวธรรมนามและรูป

สุ. การตรึก หรือคิดนึกมีหลายขั้น ยังไม่ทันที่จะคิดเป็นคำเป็นเรื่อง คิดถึงรูปร่างลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงมีการเห็น เป็นสภาพธรรมขณะหนึ่งซึ่งเพียงเห็นจริงๆ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งที่เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกเห็นในขณะนั้นเท่านั้น ไม่เกินกว่านั้น หลังจากนั้นแล้ว จะมีการตรึก วิตกเจตสิกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่ายังไม่นึกถึงคำ

. คำว่า นึกถึงรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏ โดยปกติแล้วไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องจงใจ ไม่ต้องทำอะไร เป็นปกติ เป็นชีวิตประจำวัน เป็นอยู่อย่างนี้ คือ รู้บัญญัติ พอเห็นปั๊บ อะไรเป็นอะไร รู้เรื่องหมด ชำนาญมากที่สุดไม่มีอะไรชำนาญเท่า

สุ. ถ้ายังคงแยกไม่ออก การที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็มีไม่ได้

เปิด  236
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565