แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 690

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคมีพระมหากรุณาที่ทรงอนุเคราะห์โดยการทรงแสดงธรรมโดยละเอียด แม้แต่ในเรื่องของความอ่อนน้อม ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก ไม่สำคัญเลย จิตใจของใครจะอ่อนโยน อ่อนน้อม หรือ ไม่อ่อนโยน ก็ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยกว่าเรื่องอื่น เหมือนกับว่าไม่สำคัญ

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกขณะจิตสำคัญ เพราะถ้าเป็นอกุศลธรรม ก็ไม่ควรจะสั่งสมให้มากขึ้น ควรที่จะระลึกรู้ในสภาพความเป็นจริงของอกุศลว่า เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้ละคลายให้เบาบางจนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท แม้ในเรื่องที่เข้าใจว่าเล็กน้อยที่สุด คือ ในเรื่องสภาพจิตที่อ่อนโยน สภาพจิตที่อ่อนน้อม และที่ว่าเป็นเรื่องเล็ก เล็กจริงหรือเปล่า

ถ้ากำลังของอกุศลมีมาก แม้เพียงความอ่อนโยน หรือความอ่อนน้อม จะทำได้โดยง่าย หรือโดยยาก และท่านเป็นผู้ที่พร้อมที่จะยอมรับผิด ถ้าท่านผิด หรือว่าพร้อมที่จะขออภัยท่านผู้อื่นเวลาที่ท่านกระทำผิดไปแล้วหรือไม่ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็จะเห็นสภาพการสะสมของอกุศลธรรมได้ว่า ท่านกระทำได้โดยยาก หรือว่าโดยง่าย

ถ้าท่านเริ่มเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย และเจริญธรรมที่เป็นกุศลธรรม ก็จะเป็นผู้ที่อ่อนโยน เป็นผู้ที่ง่ายขึ้นในการที่จะให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล

ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างที่แสดงถึงคุณธรรม ซึ่งเป็นความอ่อนน้อม โดยเฉพาะความอ่อนน้อมของท่านผู้หนึ่ง คือ ท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ ผู้เป็น จอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แม้ว่าท่านจะเป็นถึงจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหนือมนุษย์ แต่ความอ่อนโยน ความอ่อนน้อมของพระอินทร์จะมีมากกว่าปุถุชน คนธรรมดาที่เป็นมนุษย์อยู่ในโลกนี้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้ทราบ เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบคุณธรรมของผู้ที่เป็นถึงจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงคุณธรรมของพระอินทร์หลายประการ เพื่อที่จะให้พระภิกษุทั้งหลายประพฤติตาม

เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวถึงท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ไม่ใช่เพื่อที่จะให้ติดในผลของกุศลที่เป็นความรื่นรมย์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เพื่อที่จะให้ระลึกถึงคุณธรรมของท่านผู้ที่ได้อบรมกุศล และจะได้เป็นตัวอย่างให้ผู้ที่ใคร่จะขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง ได้เห็นประโยชน์ของการที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในเรื่องของความอ่อนโยน หรือความอ่อนน้อม

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อารัญญกสูตรที่ ๙ มีว่า

สาวัตถีนิทาน ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ฤๅษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมมากรูปด้วยกัน อาศัยอยู่ในกุฎีที่มุงบังด้วยใบไม้ ในราวป่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดากับท้าวเวปจิตติจอมอสูร เข้าไปหาฤๅษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นถึงที่อยู่ ฯ

ท้าวเวปจิตติเป็นเทวดาผู้เป็นหัวหน้าในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน ๔ ท่าน ส่วนท้าวสักกะหรือพระอินทร์นั้นเป็นจอมเทพชั้นดาวดึงส์ ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เพราะฉะนั้น ความประพฤติของท่านทั้งสองนี้ก็ต่างกัน

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรสวมรองเท้าหนาหลายชั้น สะพายดาบ มีผู้กั้นร่มให้ เข้าไปสู่อาศรมทางทวารอันเลิศ เข้าไปใกล้ฤๅษีผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ห่างไม่ถึงวา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงถอดฉลองพระบาทประทานพระขรรค์ให้แก่ผู้อื่น รับสั่งให้ลดฉัตร เสด็จเข้าไปทางอาศรมโดยทางทวารเข้าออก ประทับประคองอัญชลีนมัสการฤๅษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น อยู่ใต้ลม ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล ฤๅษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นได้กล่าวกะท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยคาถาว่า

กลิ่นของพวกฤๅษีผู้ประพฤติพรตมานาน ย่อมจะฟุ้งจากกายไปตามลม ดูกร ท้าวสหัสนัยน์ พระองค์จงถอยไปเสียจากที่นี้ ดูกร ท้าวเทวราช กลิ่นของพวกฤๅษีไม่สะอาด ฯ

ถ้ายังเป็นมนุษย์อยู่ จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ต้องอาบน้ำชำระร่างกายบ่อยๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีกลิ่น แต่ว่าพระอินทร์ก็ยังประคับประคองอัญชลีนมัสการฤๅษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น อยู่ใต้ลม ด้วยความเคารพ ซึ่งพวกฤๅษีก็เห็นว่า พระอินทร์คงจะทนกลิ่นมนุษย์ไม่ได้ ก็ขอให้พระองค์จงถอยไปเสียจากที่นี้

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

กลิ่นของพวกฤๅษีผู้ประพฤตพรตมานาน ย่อมจะฟุ้งจากกายไปตามลม ท่านเจ้าข้า พวกข้าพเจ้าต่างก็มุ่งหวังกลิ่นนี้ เหมือนกับบุคคลมุ่งหวังระเบียบดอกไม้อันวิจิตรงดงามบนศีรษะ ฉะนั้น ก็พวกเทวดาหามีความสำคัญในกลิ่นของผู้มีศีลนี้ว่า เป็นกลิ่นปฏิกูลไม่ ฯ

เวลาที่ได้กลิ่นไม่สะอาด กลิ่นไม่หอม ท่านผู้ฟังมีปฏิกิริยา มีอาการอะไรบ้างหรือเปล่า ในขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ มีความอ่อนโยน มีความกรุณา มีความเมตตาบ้างไหม หรือว่ามีความรังเกียจ

สภาพของจิตทุกขณะละเอียดมาก ผู้ที่ไม่เจริญกุศลจริงๆ จะข้ามสภาพของจิตหลายอาการลักษณะ ซึ่งเป็นอาการลักษณะของอกุศลธรรมทั้งนั้น แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง และมีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดได้มากกว่าอกุศล เพราะว่าปัญญาสามารถเห็นชัดในสภาพธรรมที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล

. ฤๅษีที่เทวดามาหา คงจะเป็นผู้ที่มีศีลและมีปัญญา แต่ทำไมฤๅษีเหล่านั้นปล่อยให้กลิ่นตัวเหม็น ไม่ยอมอาบน้ำหรืออย่างไร

สุ. มนุษย์นี้กลิ่นเป็นอย่างไร ชินกับกลิ่นมนุษย์ แต่สำหรับเทวดาไม่มีมนุษย์ขึ้นไปอยู่บนนั้นพอที่จะให้ชินกับกลิ่นมนุษย์ได้ สำหรับมนุษย์ชินในกลิ่นมนุษย์ จนไม่เห็นว่าเป็นกลิ่นที่ไม่สะอาด เด็กเล็กๆ ที่เกิดมาก็มีกลิ่นแล้วใช่ไหม ถ้ามีรูปธรรม ที่ใดที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะปราศจากสี กลิ่น รส โอชะไม่ได้

. เป็นธรรมดา ถ้าได้อาบน้ำวันละครั้ง ก็เป็นกลิ่นที่ไม่ใช่กลิ่นเหม็นกว่ามนุษย์ธรรมดา ที่ว่ากลิ่นมนุษย์ในที่นี้ ก็ไม่ได้บอกว่า ฤๅษีนั้นไม่ได้อาบน้ำมากี่วันแล้ว จึงจะว่าเหม็น

สุ. ไม่ใช่สกปรกแน่ แต่สำหรับเทพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นทิพย์ น้ำหอมทั้งหลายในโลกนี้ที่ว่าหอมมาก สะอาด บริสุทธิ์ น่าพอใจ ก็ยังเทียบไม่ได้กับกลิ่นทิพย์ซึ่งสะอาดกว่า

. ความจริง คำว่า กลิ่น ตรงกับบาลีว่า คันธะ ก็มีทั้งนั้น แม้แต่ศีลยังมีกลิ่นเลย เรียกว่า ศีลคันโธ กลิ่นของศีล นับประสาอะไรกับคนธรรมดาหรือเทวดา ศีลซึ่งเป็นธรรมก็ยังมีกลิ่น ที่กล่าวว่า ศีลคันโธ อนุตตโร กลิ่นของศีลประเสริฐที่สุด

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ลักษณะของเทวดา หรือว่าบุคคลในเทวโลก ดูแล้วไม่ได้ต่างกับมนุษย์ เพียงแต่ว่าประณีตกว่า

ท้าวเวปจิตติจอมอสูรสวมรองเท้าหนาหลายชั้น สะพายดาบ มีผู้กั้นร่มให้

ถ้าไม่มีสิ่งที่คล้ายคลึงกับบุคคลในโลกมนุษย์ บนสวรรค์จะมีอะไร ก็ต้องไม่มีอะไรเลย ใช่ไหม แต่ว่ามีทุกอย่างตามฉันทะ ตามความพอใจ ตามอัธยาศัยที่สะสมมาที่จะต้องมีหลายๆ อย่างในโลกมนุษย์ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไปเกิดในสวรรค์แล้ว อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็ยังคงสมบูรณ์มากมาย แต่ว่าเป็นสิ่งที่ประณีตทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะปราศจากทุกสิ่งทุกอย่างหมด ไม่มีอะไรเลย เครื่องประดับเครื่องประกอบก็ต้องมากมายเพิ่มขึ้น และก็วิจิตรขึ้น

. คำว่า อสุระ อสุรกาย เป็นภพภูมิหนึ่งในอบายภูมิสี่ ทำไมในที่นี้ถึงกล่าวว่า เป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งเป็นสุคติภูมิ อสุรกายนี้ควรจะเป็นอบายภูมิ

สุ. มีศัพท์หลายศัพท์ ซึ่งหมายรวม มีความหมายหลายอย่าง อย่างคำว่า อสุระ หรือ อสูร เป็นเทพพวกหนึ่งก็ได้ หรือว่าเป็นการปฏิสนธิในชั้นอบายภูมิ เป็นพวกอสุรกายอีกพวกหนึ่งต่างหากก็ได้

เหมือนกับคำว่า ยักษ์ ฟังดูแล้วจะต้องกลัวใช่ไหม ไม่น่าจะเป็นเทพได้เลย แต่ก็เป็นเทวดาพวกหนึ่ง คือ เป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาพวกหนึ่ง ซึ่งต่ำกว่าชั้นดาวดึงส์

ถ. เทวดานี่แบ่งชั้นกันอย่างไร

สุ. โลกต่างกัน สถานที่ โอกาสซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิก็ใกล้ไกลต่างกัน สำหรับ ผู้ที่เกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ก็อาจจะเกิดใกล้เคียงกับโลกมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่น โอกาสหรือสถานที่เกิดของแต่ละบุคคลต่างกันไปตามภพภูมิ

ถ้าพูดถึงเรื่องบุคคลอื่น ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นๆ เพราะว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดท่าน ก็คงมีไม่มาก คือ ภายในครอบครัว และกว้างขวางออกไปถึงวงศาคณาญาติ เพื่อนฝูง แต่ยิ่งไกลออกไป ก็ยิ่งมีสัตว์ บุคคลต่างๆ มากมาย ซึ่งวิจิตรแปลกๆ ต่างๆ กันออกไปจนกระทั่งเมื่อยังไม่สามารถจะประจักษ์จริงๆ ได้ ก็ต้องอาศัยข้อความที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ อย่างเรื่องของสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือเรื่องกำเนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งท่านผู้ฟังก็ไม่สามารถที่จะคิดได้เลยว่า ในสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น มีเครื่องประดับอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร มีฉันทะ มีความพอใจอย่างไร แต่ว่าตราบใดที่กิเลสยังไม่ได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีการกระทำที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของบุคคลต่างๆ กัน เป็นเครื่องให้เทียบเคียงระหว่างกุศลธรรมและ อกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้ หรือแม้ในสวรรค์ ก็จะเห็นสภาพของกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้ในที่นั้นๆ ก็ยังไม่หมดกิเลส เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำที่ต่างกันไป

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต ตติยเทวสูตรที่ ๓ มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ฯ

ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

แม้แต่เจ้าลิจฉวีก็ยังสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคนั้นสามารถที่จะเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือไม่

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร มหาลี อาตมาเห็นท้าวสักกะจอมเทพ ถวายพระพร ฯ

เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผู้ที่พระองค์ทรงเห็นนั้น จักเป็นรูปเปรียบของท้าวสักกะเป็นแน่ เพราะว่าท้าวสักกะจอมเทพยากที่ใครๆ จะเห็นได้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

ยังไม่มั่นใจในพระปัญญา ในพระญาณของพระผู้มีพระภาคว่า สามารถที่จะเห็นท้าวสักกะจอมเทพได้จริงหรือเปล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร มหาลี อาตมารู้จักท้าวสักกะด้วย รู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะเพราะเป็นผู้สมาทานธรรมนั้นด้วย

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน เป็นมาณพชื่อว่ามฆะ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานมาก่อน เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ทานโดยเคารพ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้ให้ที่พักอาศัย เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีนางอสุรกัญญานามว่าสุชาเป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ ฯ

ท่านผู้ฟังมีชื่อเดียวหรือหลายชื่อ ตามคุณธรรมของท่าน บางท่านอาจจะมีหลายชื่อ แล้วแต่ว่าท่านประกอบคุณธรรมอย่างไรบ้าง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ วัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑ เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑

ใครทำได้บ้าง กุศลจิตที่จะเกิด ที่จะเป็นผู้อ่อนโยน วิรัติวจีทุจริตที่เป็นวาจาที่หยาบกระด้างทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ แต่ว่าท้าวสักกะได้ประพฤติวัตรบท ๗ ประการ ซึ่งข้อหนึ่งมีว่า เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑

ถ้าใครเป็นผู้ที่พูดวาจาไม่อ่อนหวาน ให้ทราบว่า นั่นเป็นอกุศลจิต เปลี่ยนได้ แก้ได้ อบรมใหม่ได้ ให้เกิดกุศลได้

ข้อความต่อไป

เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑ เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทินอยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑ เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑ เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว ๑

ดูกร มหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการนี้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการดังนี้ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ ดังนี้

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565