แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 685

. ผมเองก็รู้สึกเป็นห่วงพระพุทธศาสนาของเราเหลือเกิน ผมมาสะกิดใจว่า ศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ เราจะเห็นว่า พระธรรมหรือคัมภีร์ของศาสนาคริสต์แพร่หลายเหลือเกิน เขาศึกษากันจริงจังมาก แต่พระไตรปิฎกของเรานี่ จะเห็นว่า วัดที่มีพระไตรปิฎกน้อยเหลือเกิน มีแล้วได้ศึกษากันหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทั้งๆ ที่พระไตรปิฎกของเราได้แปลมาเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะพระสูตร อ่านไม่ค่อยจะยากนัก ซึ่งต่างกับพระอภิธรรมที่เราอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ พระสูตรนี้ผมรับรองว่าอ่านแล้วก็พอจะเข้าใจทีเดียว นี่เป็นข้อกังวลของผมเหมือนกัน

สุ. จะต้องศึกษา มีการสนทนาธรรม มีการส่งเสริมความรู้ซึ่งกันและกัน

. มีหนังสือเล่มหนึ่ง เขาแต่งขึ้นแบบอิงพุทธประวัติ มีเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอานนท์ที่ว่า มีผู้หญิงนางทาสคนหนึ่งรักท่าน และติดตามไปจนถึงวัด เรื่องก็ยาวเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องจริง

สุ. ชีวิตในอดีตกาล กับชีวิตในปัจจุบันกาล และชีวิตในอนาคตกาล จะต่างกัน หรือจะเหมือนกันในเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ

ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ เป็นที่ชื่นชมยินดีของบุคคลทั้งหลาย เป็นที่ชื่นชมยินดีของพุทธบริษัทอย่างยิ่ง พุทธบริษัทใดที่เห็นท่านพระอานนท์แล้ว ถึงคราวที่ท่านจะจากไป ก็ยังใคร่ที่จะเห็นท่านต่อไปอีก ขณะใดที่ท่านแสดงธรรม เมื่อถึงคราวที่ท่านจะต้องจากไปเพราะว่าแสดงธรรมจบแล้ว พุทธบริษัทก็ยังใคร่ที่จะได้ฟังธรรมของท่านต่อไปอีก ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ เพราะฉะนั้น จะไม่ให้มีใครหลงใหลในตัวท่าน พระอานนท์เป็นไปได้ไหม แม้จะไม่มีกล่าวไว้ว่ามีใครบ้างในครั้งนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกบางตอนก็ได้แสดงไว้ว่า แม้ภิกษุณีรูปหนึ่งก็ยังใคร่ที่จะให้ท่านพระอานนท์มาแสดงธรรมกับตนถึงสำนัก ด้วยความรักใคร่ในท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็รับนิมนต์ เวลาที่ภิกษุณีรูปนั้นให้อุบาสกท่านหนึ่งไปนิมนต์ท่านพระอานนท์มา และท่านพระอานนท์ก็ได้แสดงธรรม จนกระทั่งภิกษุณีรูปนั้นสำนึกในความผิดของตน และได้กราบขอให้ท่านพระอานนท์อดโทษ คือ ยกโทษให้กับตน

เพราะฉะนั้น ชีวิตตามความเป็นจริงก็เป็นจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อท่านเป็นท่านพระอานนท์แล้ว ประกอบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ ก็จะไม่เป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจของบุคคลอื่น

รูป คือ ขันธ์ หรือเป็นขันธ์สำหรับอุปาทาน การติด การยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นรูปของใคร แม้แต่รูปของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือรูปของท่านพระอานนท์ รูปในยุคนี้สมัยนี้ก็เป็นที่พอใจ เมื่อปรากฏทางตา ก็พอใจเหลือเกินในสีสันวัณณะต่างๆ ในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่กำลังปรากฏทางตา รูป คือ เสียง ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีพอใจเหลือเกินเมื่อปรากฏทางหู เป็นที่ตั้งของความยึดถือ

ความยึดมั่นในรูปทั้งหลายที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส แต่ถ้าผู้ใดไม่มีกิเลสแล้ว แม้จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความยึดมั่น หรือความติดข้องในรูปนั้นๆ ได้ แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ที่จะไม่ให้เกิดความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น เป็นไปไม่ได้

รูปเป็นรูป รูปไม่มีเจตนาที่จะให้ใครหลงใหล พอใจ ยึดมั่น แต่สภาพนามธรรม คือ โลภเจตสิก เป็นสภาพที่ติดข้อง ยินดีพอใจ ยึดมั่น ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตามที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และไม่ใช่แต่เฉพาะในรูปเท่านั้น ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เป็นที่ยึดมั่น ยินดีพอใจของโลภเจตสิกได้ทั้งสิ้น

นาถกรณธรรม ประการที่ ๗ มีข้อความว่า

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ตามมีตามได้

ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ตามมีตามได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม

ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณานาถกรณธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่ง ทั้งหมดทุกประการจะเห็นได้ว่า ธรรมที่เป็นที่พึ่งนั้นเป็นกุศล อกุศลพึ่งไม่ได้เลย ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้ จริงๆ นั้น ต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะว่าสะสมอกุศลไว้มาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็เข้าใจในคุณของธรรมนั้น คือ คุณของกุศล ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลทุกประการอย่างละเอียด เพราะเห็นโทษว่าอกุศลธรรมนั้นมีกำลังมากกว่า เพราะว่าสะสมมามากกว่า แม้ใน นาถกรณธรรมประการที่ ๗ ที่ว่า ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ตามมีตามได้

นี่เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส จะต้องเป็นผู้ที่อาศัยปัจจัยให้ดำเนินชีวิตไปได้ ซึ่งสำหรับพระภิกษุ ท่านก็ต้องเป็นผู้ที่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร และสำหรับฆราวาสก็เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ความสันโดษก็ไม่มี

ไม่พอ เท่าไรก็ไม่พอ โลภะนี่มีใครหยุดยั้งได้ว่า พอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เวลาที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ความยินดีพอใจเกิดแล้ว สันโดษไหม พอไหม หรือว่ายังปรารถนา ยังต้องการในสิ่งนั้นอยู่ และถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อยากได้มาก ก็ย่อมทำให้เกิดความกระวนกระวาย ความทุกข์ นั่นคือลักษณะของความไม่สันโดษ ความไม่พอ เพราะสติไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านย่อมจะเป็นผู้ที่รู้จักตนเองว่า ท่านเริ่มที่จะเป็นผู้พอบ้างหรือยัง เพิ่มขึ้นในการที่จะเป็นผู้พอ หรือว่ายังคงไม่พออยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในเสื้อผ้าสำหรับฆราวาส และจีวรสำหรับพระภิกษุ สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องใช้ เป็นสิ่งที่จะต้องมี แต่ว่าสิ่งที่เกินความจำเป็น และมีความยินดีพอใจเกิดขึ้น เป็นของธรรมดา แต่ว่าทำให้ถึงกับความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย เดือดร้อน ไม่พอบ้างไหม

แต่ถ้าเป็นผู้ที่พอ เพราะว่าสติเกิดขึ้น แม้ว่าอยากจะได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพียง ชั่วครู่และก็หมดไป ความกระวนกระวาย ความติดข้อง ความปรารถนาซึ่งเป็นความทุกข์ย่อมไม่เกิด เพราะสติระลึกรู้ได้ในขณะนั้น

แต่ละท่านจะได้สิ่งใดมา ไม่สามารถที่จะได้มาเท่าๆ กันได้ ใช่ไหม บางคนได้มาก บางคนได้น้อย บางคนได้สิ่งที่ประณีต บางคนได้สิ่งที่ไม่ประณีต และ แต่ละท่านมีความพอในสิ่งที่ได้ไหม

แต่ถ้าสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น อย่างทางตาที่กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาแก่สภาพที่กำลังเห็น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าท่านจะอยากได้สักเท่าไร ถ้าสติไม่เกิด ความทุกข์ก็เกิด แต่ถ้าปัญญาเกิดรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา จะอยากได้หรือไม่อยากได้ จะพอใจในสิ่งนั้นมากหรือน้อย วัตถุสิ่งนั้นที่ปรากฏทางตา ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ ผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ก็ไม่กระวนกระวาย เป็นเรื่องไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเริ่มมีความรู้สึกว่าพอ เนื่องจากได้ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเหล่านี้ย่อมปรากฏให้ เป็นที่ตั้งของความยินดีหรือความปรารถนาเกินพอ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงนาถกรณธรรมประการที่ ๗ ว่า ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร

แม้ว่าจะเป็นพระภิกษุแล้ว จะตัดความยินดีพอใจในจีวร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าต้องอาศัยเพียงจีวร ๓ ผืน แต่ก็ยังมีความยินดี มีโลภะ มีความต้องการในจีวรเนื้อละเอียด หรือว่าในสีสันต่างๆ และถ้าเป็นผู้มีความปรารถนาใหญ่ ไม่มีความพอในจีวรที่มีอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์สำหรับพระภิกษุ แต่ว่าสำหรับฆราวาสก็เป็นวิสัยที่จะเกิดความยินดีพอใจในเครื่องแต่งตัว ซึ่งมากกว่าจีวรเพียง ๓ ผืน เพราะฉะนั้น ก็จะได้ระลึกรู้ว่า เริ่มมีความพอหรือยัง ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นเครื่องใช้ เครื่องแต่งตัวต่างๆ

ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต ในเรื่องอาหาร การบริโภคก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังมีโลภะอยู่ก็ไม่พอ ปรารถนารสนั้น และก็ปรารถนารสอื่นอีก ด้วยเหตุนี้ในเรื่องการบริโภคอาหาร จึงต้องเป็นไปตามความปรารถนา แล้วแต่ว่าจะพอไหม เพราะว่าบางครั้งมีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งท่านไม่สามารถที่จะเลือกรสที่ต้องการได้ รสเท่าที่มีพอไหม รู้จักที่จะพอ ไม่ปรารถนาในรสอื่น นอกจากรสที่มี ที่จะต้องบริโภคในขณะนั้นไหม

จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหลายถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะเป็นผู้พอแม้ในเรื่องของอาหาร ซึ่งสำหรับพระภิกษุก็เป็นบิณฑบาต

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่อยู่ยาก รับประทานยาก ก็จะเริ่มสังเกตได้ว่า ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น ย่อมปรากฏเพราะเหตุปัจจัย อาหารจะดีหรือประณีตไม่ประณีตอย่างไร ในชีวิตนี้ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป แล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เกิดรสที่ประณีต หรือรสที่ไม่ประณีตในขณะนั้น ซึ่งถ้ารู้ซึ้งลึกถึงลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน ไม่กระวนกระวาย และสามารถที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ความรู้สึกต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแต่ละขณะจริงๆ และก็ดับไปหมด ไม่สำคัญอะไรเลย ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับไปหมด แต่ว่าจะต้องศึกษาให้รู้ชัดจริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ในสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นคุณของสติ และจะเห็นโทษของการหลงลืมสติได้ว่า เวลาที่สติเกิด ก็ศึกษาบ้าง รู้บ้างในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งย่อมดีกว่าขณะที่หลงลืมสติมาก เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปมากมาย ด้วยความหลงลืมสติ จึงไม่สามารถที่จะรู้ชัดในสภาพลักษณะของธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของความสันโดษ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ยากที่จะมีได้

นาถกรณธรรม ประการที่ ๘ มีข้อความว่า

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมอยู่ เป็นผู้มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล

ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม

ต้องเป็นกุศลทั้งหมด จึงจะเป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการที่จะให้กุศลเกิดขึ้นแทนอกุศล อกุศลไม่ต้องทำอะไรเลย เกิดได้บ่อยๆ เกิดเรื่อยๆ เกิดขึ้นขัดขวางการกระทำกุศลหลายประการ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะกระทำกุศลแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่า จะต้องมีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล

เปิด  230
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566