แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 687
ถ. ตามที่ได้ศึกษามาก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจริง แยกไม่ออกว่าเป็นสัญญาหรือเป็นสติ
สุ. ความรู้ขั้นการศึกษาและพิจารณา ทำให้เข้าใจได้ว่า สภาพธรรมแต่ละลักษณะกระทำกิจของตนๆ ถูกต้องโดยการศึกษาใช่ไหม เมื่อมีความรู้ที่ถูกต้องในการศึกษาแล้ว ความรู้ที่รู้จากการศึกษาก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอดตรงกับที่ได้ศึกษา ถ้าได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ศึกษาแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่ได้อบรมปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เข้าใจจากการศึกษา การประจักษ์หรือการแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็มีไม่ได้ แต่วันหนึ่งจะประจักษ์ได้ เมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาเพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่แสดงไว้ให้ศึกษา ไม่ใช่ให้ศึกษาเพียงขั้นเข้าใจ แต่ให้ศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ
ถ. เวลาที่ศึกษานั่นอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาปฏิบัติ สังเกต พิจารณา ก็แยกกันไม่ออก เมื่อแยกกันไม่ออก ก็อยากจะแยกให้ออก ก็เลยวุ่น
สุ. นี่ไม่ใช่หนทาง ด้วยความอยากแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าค่อยๆ อบรมไป และเริ่มรู้ลักษณะของความอยากว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อความรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นเพิ่มขึ้น มากขึ้น จะทำให้เห็นว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างต่างกันจริงๆ แต่จะให้ได้อย่างใจ คือ เมื่อศึกษาเรื่องของเจตนา ก็อยากจะรู้ลักษณะของเจตนาในขณะนี้ เมื่อศึกษาเรื่องของมนสิการ ก็อยากจะรู้ลักษณะของมนสิการในขณะนี้ ตั้งอกตั้งใจพากเพียรจดจ้องอยากจะรู้เสียจริงๆ ด้วยประการอย่างนั้น ไม่สามารถจะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมได้เลย แต่กลับเป็นเครื่องกั้น ด้วยความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้
ถ. ถ้าว่าเป็นเครื่องกั้น ลำบากแน่ เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ยังมีความต้องการผลอยู่ ในเมื่อรู้ว่ามีสภาพธรรมต่างๆ ความอยากรู้ก็เกิดขึ้น คือ อยากรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นโลภะก็จริงอยู่ แต่ว่าความอยากรู้ก็ทำให้เกิดความเพียรเพื่อจะไปรู้ ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้วก็น่าจะรู้ได้ แต่ทำไมกลับเป็นเครื่องกั้น
สุ. ความอยาก เป็นเครื่องกั้นแน่นอน ถ้าปัญญายังไม่เห็นเครื่องกั้นนี้ จะไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงที่ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้นั้น เพราะเครื่องกั้นนี้เอง คือ ความอยาก เพราะฉะนั้น ความอยาก หรือโลภะเป็นสมุทัย เป็นเครื่องกั้นที่ต้องเห็น
ปัญญาต้องเห็นชัดในเครื่องกั้น ในสภาพของโลภะที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล และละคลายเครื่องกั้นนี้ ละคลายความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ จึงทำให้เครื่องกั้นนี้หมดไปได้ มิฉะนั้นแล้ว โลภะนี้แหละจะเป็นเครื่องกั้นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัว
ถ. เมื่อโลภะเกิดขึ้นก็ไม่นาน ขณะที่สังเกต พิจารณา ใช้ความเพียร พยายามสังเกตสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ความเพียรอาจจะเกิดจากโลภะที่อยากจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โลภะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้ว แต่ขณะที่ความเพียรเกิดขึ้น โลภะไม่น่าจะกั้นได้เลย
สุ. ความเพียรเกิดกับโลภะได้ง่าย ไม่ยากเลย ใครต้องการอะไร เพียรแล้ว ใครอยากจะได้อะไรก็มีความเพียรไปซื้อไปหา เพราะฉะนั้น ความเพียรเกิดกับโลภะง่ายมาก มีโลภะที่ใด ความเพียรก็มีที่นั่น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว วิริยเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตเกือบทุกประเภทเมื่อมีเหตุปัจจัย
ถ. สติกับสัญญา มีหน้าที่ของเขาโดยเฉพาะ ตัวอย่างไปทอดกฐิน สติ ระลึกว่า เราไปทอดกฐิน สติอยู่แค่นั้นเอง ส่วนทอดกฐินมีอะไรบ้าง เป็นเรื่องของสัญญา แยกกันได้ คุณว่าแยกไม่ได้ แต่ผมแยกได้
สุ. โดยขั้นของการศึกษา เข้าใจได้ แต่ขณะนี้สภาพธรรมหลายอย่างเกิดดับพร้อมกัน ใครแยกได้ ในลักษณะของสติ ในลักษณะของสัญญา ในลักษณะของวิตก ในลักษณะของวิจาร ในลักษณะของเจตนา ในลักษณะของมนสิการ
ถ. เขาถามว่า สติหน้าตาเป็นอย่างไร ผมบอกว่าเป็นนามธรรม ไม่มีหน้าไม่มีมีตา
สุ. หน้าตาในที่นี้ อาจจะหมายความถึง ความปรากฏแปลกๆ กันไป ตามเหตุตามปัจจัย โลภะนี้มีมากทีเดียว
ถ. สัญญากับสติ พัวพันกัน แยกกันไม่ออก ถ้าเราจะนำลักขณาทิจตุกะของสัญญากับสติมาพิจารณาดู ลักขณาทิจตุกะ แปลว่า ลักษณะ ๔
ลักขณาทิจตุกะของสติ คือ
อปิลาปนลกฺขณา มีการระลึกได้ซึ่งอารมณ์เนืองๆ เป็นลักษณะ อารมณ์ที่ระลึกได้นั้นเป็นอารมณ์ที่เป็นกุศล
อสมฺโมหรสา มีความไม่หลงลืมเป็นกิจ
อารกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีการรักษาอารมณ์เป็นผล
ถิรสญฺญาปทฏฺฐานา มีการจำได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้
สำหรับลักขณาทิจตุกะของสัญญา คือ
สญฺชานนลกฺขณา มีความจำเป็นลักษณะ
ปุนสญฺชานน ปจฺจยนิมิตฺตกรณรสา มีการหมายไว้และจำได้เป็นกิจ
ยถาคหิต นิมิตฺตวเสน อภินิเวสกรณ ปจฺจุปฏฺฐานา มีความจำได้ในสิ่งที่หมายไว้เป็นผล
ยถาอุปฏฺฐิตวิสยปทฏฺฐานา มีอารมณ์ที่ปรากฏเป็นเหตุใกล้
ถ้านำลักขณาทิจตุกะของสัญญากับสติมาเปรียบเทียบ เราจะเห็นได้ว่า สติระลึกได้ในกุศล ส่วนสัญญาจำได้ทั้งนั้น กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้
สุ. ทั้งหมดที่ได้ฟังมา จะเกื้อกูลเวลาที่สติเกิดขึ้น ศึกษาเดี๋ยวนี้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้กล่าวถึงเมื่อครู่นี้ ถ้าเป็นสติปัฏฐานแล้ว อาศัยสัญญา คือความจำที่มั่นคงในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ทำให้สามารถที่จะระลึก ที่จะรู้ความต่างกันของลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง สติจะระลึกรู้ลักษณะของสัญญาก็ได้ ของวิตกเจตสิกก็ได้ หรือของสภาพธรรมอื่นที่ปรากฏเฉพาะหน้า ชั่วขณะนั้นที่กำลังปรากฏ แต่ถ้ายังไม่ปรากฏ อย่าอยาก เครื่องกั้นอันใหญ่หลวงซึ่งไม่เห็น จึงไม่รู้
เพราะฉะนั้น ถ้าจะอาศัยความอยากนำไป ก็จะไปถึงความไม่รู้ ไม่ใช่ถึงความรู้ แต่ถ้าทิ้งความอยาก เพราะปัญญาเห็นความอยากว่าเป็นเครื่องกั้น ก็จะไม่มีเครื่องกั้นเลย สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มีความอยากที่จะดิ้นรนไปถึงสภาพธรรมที่ยังไม่ปรากฏในขณะนั้น แต่แล้วแต่อะไรจะปรากฏ
ทางตา รู้แล้วหรือยัง กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งไม่ปรากฏ แต่เริ่มศึกษาที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และความรู้จะเพิ่มขึ้น ความรู้จะละเอียดขึ้น จนสามารถที่จะรู้ลักษณะอื่นซึ่งต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้
ถ. อาจารย์กล่าวว่า โลภะเกิดขึ้นแล้วเป็นเครื่องกั้น กระผมจำได้ว่า อาจารย์เคยพูดถึงเรื่องของท่านพระอานนท์ที่ได้แสดงธรรมกับภิกษุณี ซึ่งภิกษุณีทำมารยาให้อุบาสกไปนิมนต์ท่านพระอานนท์ไปเยี่ยมไข้ และท่านพระอานนท์ได้แสดงธรรมกับภิกษุณีว่า อาศัยตัณหาละตัณหา อาศัยอาหารละอาหาร อาศัยมานะ ละมานะ เพราะฉะนั้น การที่ต้องการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และความเพียรเกิดขึ้น พยายามสังเกต พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง กระผมเข้าใจว่า อาศัยตัณหาละตัณหา จะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม
สุ. อย่าลืมว่า ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานต้องมี มิฉะนั้นแล้ว จะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะได้ฟังข้อความนี้ อาศัยตัณหา ขณะไหน ก็ต้องขณะที่ตัณหากำลังปรากฏให้รู้ ถ้าตัณหาในขณะนั้นไม่ปรากฏให้รู้ ปัญญาจะรู้ลักษณะของตัณหาในขณะนั้นได้ไหม ลักษณะของตัณหาจะเป็นสิ่งอาศัยให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ไหม
ถ. ข้อนี้แน่นอน แต่ผมหมายถึงผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ผู้ที่ไม่เข้าใจนั้น ไม่พูดถึงหรอก เพราะว่าไม่มีทาง แต่ผู้ที่เข้าใจในเรื่องการเจริญ สติปัฏฐานแล้ว ถ้ามีความต้องการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีความต้องการเกิดขึ้น หลังจากความต้องการดับไปแล้ว เขาก็มีความเพียรไปพิจารณาสภาพธรรมทั้งหลาย ที่ว่ามีความบากบั่น มีกำลังอะไรที่อาจารย์พูดเมื่อครู่นี้ ผมคิดว่า ไม่เป็นเครื่องกั้นสำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติแล้ว
สุ. ต้องอารมณ์เฉพาะหน้า ภิกษุณีในขณะนั้นมีตัณหาในท่านพระอานนท์ปรากฏเฉพาะหน้าให้ระลึกรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุณีรูปนั้นเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จึงรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ตัณหาไม่เป็นเครื่องกั้นสำหรับผู้รู้หนทาง และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้หนทาง ก็เข้าใจว่าต้องอาศัยตัณหา คือ ความอยาก ไปเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ต้องอาศัยตัณหา ตัณหาก็เกิดเป็นไปในสารพัดสิ่ง ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ รูปทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เรื่องราวที่นึกคิดต่างๆ ทางใจ เป็นอารมณ์หรือเป็นที่ตั้งของตัณหาอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น จะอาศัยตัณหา ความพอใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไปอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นไม่ได้ และที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อตัณหาดับแล้ว นั่นเพราะความเข้าใจในหนทางเจริญปัญญา ไม่ใช่เพราะตัณหา ต้องแยกกัน
ขณะใดที่สัมมาสติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะหลังหรือก่อนตัณหาก็ตาม ให้ทราบว่า ที่สัมมาสติจะเกิดขึ้นได้นั้น เพราะมีความเข้าใจถูกในหนทางข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ถ. อาจารย์แยกอย่างนี้ ก็พอเข้าใจบ้าง หมายความว่า ตัณหาจะเป็นเครื่องกั้นกับผู้ที่ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติเท่านั้น แต่จะไม่เป็นเครื่องกั้นต่อผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติ
สุ. และการที่เป็นผู้เข้าใจข้อปฏิบัติ เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพราะตัณหาเป็นปัจจัย แต่เพราะความเข้าใจในข้อปฏิบัติที่ถูกเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละเอียดมากที่จะต้องรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นยังคงมีแววของตัณหาหลงเหลือเป็นปัจจัยอยู่ในขณะนั้นหรือเปล่า เพราะว่าตัณหามีหลายรูปลักษณะที่จะปรากฏ ที่ปรากฏพร้อมความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่ชัดๆ ก็มี ที่ไม่ชัดก็มี เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องรู้เท่าทัน เพื่อที่ตัณหาจะได้ไม่เป็นเครื่องกั้นการอบรมเจริญปัญญาได้ ต้องรู้ ต้องเห็นสมุทัยสัจ ถ้ายังไม่เห็น สมุทัยสัจ ก็ไม่สามารถที่จะถึงพระนิพพานได้
ถ. ขณะที่มีความอยาก รู้สึกว่าอยาก มีความต้องการเกิดขึ้น มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นสติจะต้องระลึกได้ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทันที
สุ. และละความอยาก นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ขณะนั้นสติเกิดขึ้น ดับไป ความอยากรู้เกิดต่อ ดับไป ถ้าความอยากรู้ยังเกิดต่อไปอีก นั่นเป็นเครื่องกั้น แต่แทนที่จะอยากรู้ ปัญญาเกิด ปัญญารู้ลักษณะของความอยาก ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา
ถ. สภาพธรรมต่างๆ นี้ เราไม่เคยรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรม จำได้เป็นตัวเป็นตน เป็นเรื่องเป็นราว ขณะที่มีสัญญาเกิดขึ้น เหมือนเมื่อปีก่อนเราเคยไปที่โน่น ขณะที่ระลึกได้ มีสัญญาเกิดขึ้น และก็มีสติระลึกได้ว่า นั่นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง สติระลึกได้ว่า นั่นเป็นสัญญา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี้จะเป็นสติกับสัญญาแยกกันไหม
สุ. สภาพธรรมเป็นลักษณะที่ต่างกันอยู่แล้ว ซึ่งความรู้ชัดในความต่างกันของสภาพธรรม ต้องเกิดพร้อมสติในขณะนั้น
ถ. สมมติว่า เราจำอะไรได้สักอย่างหนึ่ง ขณะนั้นมีสติระลึกได้ว่า นั่นเป็นเพียงสัญญา
สุ. ควรจะเป็นในขณะนี้ สัญญาอยู่ที่ไหน กำลังจำ นี่คือสัญญา
ถ. คือ เจริญสติตามความเป็นจริง
สุ. และรู้ละเอียดขึ้นด้วย รู้ชัดขึ้นด้วย มิฉะนั้นแล้ว ถ้าสภาพธรรมที่เกิดดับรวมกัน ยังคงไม่ปรากฏลักษณะของแต่ละสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่มีความเห็นถูกจึงรู้ว่ายังไม่พอ ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะ จะยับยั้งอะไรก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมอะไรปรากฏในขณะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา รู้ชัด และประจักษ์แจ้ง
นาถกรณธรรม ประการที่ ๑๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ
ประการสุดท้าย ที่พึ่งสูงสุด คือ ปัญญา เหนือกุศลอื่นๆ เพราะว่าปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถคมกล้าถึงขั้นดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าปัญญายังไม่มีกำลัง เป็นเพียงปัญญาขั้นการศึกษา ขั้นเข้าใจ และขั้นพิจารณา ก็ยังไม่ทราบว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร กำลังเห็น ก็รู้ว่าต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แต่สภาพธรรมของธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้เท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะของตัวตนเลยนั้นเป็นอย่างไร ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เพราะว่ายังไม่ได้อบรมปัญญาจนกระทั่งมีปัจจัยที่ปัญญาขั้นแทงตลอด ขั้นชำแรกกิเลส ขั้นประจักษ์แจ้งจะเกิดขึ้นได้
ถ้าตราบใดที่ปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด อกุศลธรรมทั้งหลายก็ยังมีปัจจัยให้เกิดอยู่เนืองๆ บ่อยๆ เพราะว่าอกุศลธรรมที่เกิดบ่อย ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมต่อไปเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ
เพราะฉะนั้น ที่พึ่งสูงสุดคือ ปัญญา ซึ่งคนส่วนมากอาจจะเห็นว่า การที่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจนั้น เป็นความหวังในชีวิต
ในวันหนึ่งๆ หวังอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ได้หวังปัญญาใช่ไหม แต่หวังที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่พอใจ นี่เป็นความหวังประจำวัน แทนที่จะให้ความหวังประจำวันเป็นการเพิ่มปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเจริญกุศลเพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้าขึ้นถึงขั้นที่จะแทงตลอดในสภาพธรรม ประจักษ์แจ้งในความเกิดดับ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้พิจารณา ก็ยังคงไม่เปลี่ยนความหวัง ยังคงหวังที่จะได้เพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ที่น่าพอใจในวันหนึ่งๆ