แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 700

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อักโกสกสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

นี่สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อมีปัจจัยของความโกรธอย่างแรงเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้กระทำกายวาจาต่างๆ ได้ในทางที่ไม่ควร และไม่ใช่มีแต่ในครั้งนั้น แม้ในครั้งนี้ มองเห็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมชัดเจนในแต่ละเหตุการณ์ ในแต่ละเรื่อง ซึ่งท่านได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้ฟังบ้าง เพราะฉะนั้น ก็มองหรือเห็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเห็นการด่า การบริภาษ ก็ไม่ใช่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ แต่เห็นลักษณะของความโกรธอย่างแรงซึ่งเป็นปัจจัยให้กายวาจากระทำในสิ่งที่ไม่ควรในขณะนั้น

บางครั้งคงจะสังเกตเห็นลักษณะของมานะ ซึ่งเป็นการกระทำให้กายวาจา หวั่นไหวไปในทางที่ยกตนและข่มผู้อื่น เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ควรที่จะเห็นเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้เลย เมื่อสภาพธรรมใดสะสมมามากในทางใด ก็จะมีปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกายและวาจาอย่างนั้น แม้แต่กับบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สมควรแก่การที่จะด่าบริภาษเลย เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า

ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า

พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่ ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า

ดูกร พราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญจึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ

เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคยังโกรธ แม้ว่าจะไม่ด่าตอบ ก็ยังคงจะมีความขุ่นใจ หรือความไม่พอใจอยู่บ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคล ผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านอักโกสกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ

ผู้ที่ได้เห็นพระคุณของพระธรรมจริงๆ ก็คงจะเป็นผู้ที่ได้เจริญบารมีมาแล้ว พร้อมที่จะสามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้โดยไม่นาน เพราะฉะนั้น อบรมในขณะนี้ทันที ไม่เพ็งเล็งถึงบุคคลอื่นที่จะทำให้จิตของท่านไม่แช่มชื่น

ไม่ว่าจะฟังพระธรรมใดๆ ขอให้ระลึกถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ได้ทรงแสดง อกุศลธรรมของใครก็เป็นของคนนั้น เมื่อบุคคลอื่นไม่รับ อกุศลธรรมของบุคคลนั้นก็ไม่เกิด พร้อมกันนั้นก็จะเป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว เพราะสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดตามความเป็นจริง

เมื่อเห็นว่าเป็นอกุศล ก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ รังเกียจทันทีในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นโทษ เป็นภัย เมื่อเป็นอกุศลธรรม

แต่หิริโอตตัปปะก็มีหลายขั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า มีหิริโอตตัปปะเป็นครั้งคราว ในขณะที่กุศลธรรมเกิด ในขณะที่วิรัติมุสาวาท นั่นเพราะหิริโอตตัปปะเกิดขึ้น ละอาย รังเกียจในการที่จะพูดสิ่งที่ไม่จริง แต่ว่าขณะใดที่เผลอพูดออกไป ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ ความไม่ละอาย ซึ่งมีเป็นประจำ และมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กล่าววาจาที่ไม่จริงในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนนี้มีอกุศลธรรมหนาแน่นเหลือเกิน และก็มีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ ซึ่งถ้าสะสมการที่จะเป็นผู้ล่วงศีลประการต่างๆ ก็จะมีลักษณะของอหิริกะ อโนตตัปปะ ที่ไม่ละอาย ไม่รังเกียจในอกุศลธรรมนั้นๆ จึงเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ ทางกาย ทางวาจาอยู่

ถ. ที่อาจารย์บรรยายว่า พระอรหันต์เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ แต่พระโสดาบันยังเป็นผู้ไม่มีสติทุกเมื่อ ขอถามว่า ขณะที่พระโสดาบันหลงลืมสติ จะยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนเหมือนกับปุถุชนยึดถือหรือไม่

สุ. ไม่เหมือนแน่นอน

ถ. แต่ยังหลงลืมสติใช่ไหม

สุ. หลงลืมสติมีแน่ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดจะต้องมีโมหเจตสิกเกิดด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่ทำให้หลงลืมสติ

ผู้ที่ขัดเกลากิเลสในทุกทาง จะเป็นผู้ที่อ่อนน้อมด้วยกุศลจิตที่อ่อนโยน ไม่กระทำสิ่งที่รุนแรงทางกาย ทางวาจา แต่ว่าไม่สามารถที่จะดับอกุศลธรรมเป็นสมุจเฉท ถ้าโสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต อรหัตตมรรคจิตยังไม่เกิดขึ้น

แต่สติก็ควรที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนมีอกุศลอย่างไรเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่าเว้นที่จะให้สติระลึกรู้ เพราะถ้าไม่ระลึก ก็ยังคงยึดถือสภาพของอกุศลนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่

อีกท่านหนึ่ง ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พิลังคิกสูตรที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

... พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

บุคคลนี้โกรธแล้วไม่พูด แต่ขณะนั้นอกุศลธรรมเกิดแล้ว เป็นความไม่แช่มชื่น เป็นความโกรธ เป็นความขัดใจถึงกับไปเฝ้า แต่ว่าไม่พูด

ข้อความต่อไป

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วย พระคาถาว่า

ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้นผู้เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้มีความเลื่อมใสอย่างยิ่ง และได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และไม่นานเท่าไรนัก ท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

เป็นเรื่องธรรมดา เป็นชีวิตตามปกติประจำวัน ซึ่งไม่ว่าจะในสมัยนั้นหรือสมัยนี้ก็เหมือนกัน เปลี่ยนแต่ชื่อ ในสมัยโน้น ชื่อภารทวาชะบ้าง ชื่ออะไรบ้าง สมัยนี้ก็มีชื่อต่างกันออกไป แต่ว่าอกุศลธรรมที่เป็นความโกรธที่สะสมมา เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้กระทำทางกาย ทางวาจา ที่คล้ายๆ กันตามลักษณะของอกุศลธรรมนั้นๆ

ท่านผู้ฟังเคยคิดว่า การนอบน้อม หรือการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนี้ ควรจะทำอย่างไรบ้างไหม ในระหว่างพุทธบริษัทด้วยกัน ซึ่งใน ปรมัตถโชติกา อรรถกา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มุนิสูตร มีข้อความว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ การสนทนาได้บังเกิดขึ้นแก่พวกเจ้าศากยะทั้งหลายว่า ท่านผู้บรรลุพระโสดาบันก่อน เป็นผู้แก่กว่าท่านผู้บรรลุพระโสดาบันทีหลังโดยทางธรรม ฉะนั้น ภิกษุที่บรรลุพระโสดาบันทีหลังจึงควรทำความเคารพ มีการกราบไหว้ เป็นต้น ต่อคฤหัสถ์ผู้บรรลุพระโสดาบันก่อน ดังนี้

นี่เป็นข้อสงสัยในสมัยโน้น แต่คงจะไม่เป็นข้อสงสัยในสมัยนี้ ซึ่งพุทธบริษัทก็ทราบว่า จะต้องกระทำการนอบน้อมสักการะต่อพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าของ พุทธบริษัท แต่ก็เป็นการดีที่ในครั้งนั้นเป็นที่สงสัย เพื่อที่ว่า ถ้าในครั้งนี้มีท่านผู้ใดมีข้อข้องใจ หรือเกิดสงสัยขึ้น ก็จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่าอย่างไร

ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง ได้ฟังการสนทนาเรื่องนั้นแล้ว ก็ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่าพระอนาคามีเป็นคฤหัสถ์ พระอนาคามีนั้น ก็ควรทำความเคารพ มีการไหว้ เป็นต้น แด่สามเณรแม้ผู้บวชในวันนั้น ดังนี้ ทรงหมายเอาว่า ก็ชาตินี้เป็นอย่างอื่นทีเดียว (ชาติหมายความถึงเพศบรรพชิต) เพศต่างหากเป็นที่ตั้งแห่งปูชนียวัตถุแห่งการบูชา เมื่อทรงแสดงความพิเศษของเพศ แม้ที่บรรลุ พระโสดาบันในภายหลังว่า ใหญ่ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ผู้บรรลุพระโสดาบันก่อน จึงได้ตรัสคาถานี้ เพื่อแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมานกยูงว่า แม้ว่าจะมีขนคอสีเขียวเช่นกับแก้วมณี แต่ก็ย่อมไม่เข้าถึงส่วนที่ ๑๖ด้วยความเร็วของหงส์ทอง คือ นกยูงเปรียบกับหงส์ทองไม่ได้ แม้ว่าขนที่คอจะเป็นสีเขียวดังแก้วมณี

หงส์ทองย่อมบินไปครู่เดียวก็ได้ถึงพันโยชน์ ส่วนนกยูงไม่ปรากฏว่าบินได้แม้ถึง ๑ โยชน์ แต่สัตว์แม้ทั้งสองนั้นก็น่าดู เพราะเป็นสัตว์ที่ควรทัศนา ฉันใด คฤหัสถ์แม้จะบรรลุพระโสดาบันมาก่อน เป็นผู้ควรดู เพราะเป็นมรรคก็จริง ถึงกระนั้น คฤหัสถ์นั้นย่อมทำตามความเร็วของภิกษุ แม้ที่บรรลุพระโสดาบันในภายหลังไม่ได้

ถามว่า ด้วยความไวอะไร

ตอบว่า ด้วยความไวแห่งวิปัสสนาญาณของมรรคในเบื้องบน ด้วยว่าญาณนั้นของคฤหัสถ์เป็นญาณที่ช้า เพราะถูกร้อยรัดไว้ด้วยเครื่องร้อยรัด มีบุตรและภรรยา เป็นต้น ส่วนญาณของภิกษุเป็นสภาพเฉียบแหลม เพราะเครื่องร้อยรัดนั้นร้อยรัดไว้ไม่ได้ ด้วยว่าภิกษุผู้เป็นเสขมุนีนี้ เป็นผู้สงัดแล้วด้วยกายวิเวกและจิตวิเวก และเพ่งพินิจอยู่ในป่าเป็นนิตย์ด้วยลักขณารัมมณูปนิชฌาน วิเวกและฌานเห็นปานนี้จะมีแก่คฤหัสถ์ได้แต่ที่ไหน

ลักขณารัมมณูปนิชฌาน คือ ลักขณูปนิชฌานกับอารัมมณูปนิชฌาน ซึ่ง ลักขณูปนิชฌาน เป็นการเจริญวิปัสสนา และอารัมมณูปนิชฌาน เป็นการเจริญ สมถภาวนา

นี่เป็นความต่างกันของความเร็ว ของการที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ อย่างวิสาขามิคารมารดา ท่านก็เป็นพระโสดาบันอยู่นานจนตลอดชีวิต โดยที่ไม่ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ความต่างกันของความเร็วของญาณขั้นต่อไป คือ ญาณขั้นสูงของผู้ที่เป็นบรรพชิตย่อมเร็วกว่าในการที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ส่วนผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่สละอาคารบ้านเรือนสู่เพศของบรรพชิต

ถ. ถ้าปุถุชนต่อปุถุชน ในเพศบรรพชิตกับคฤหัสถ์ บรรพชิตจะบรรลุ พระโสดาบันเร็วกว่าคฤหัสถ์หรือไม่

สุ. แล้วแต่การสะสม สำหรับญาณขั้นต้น

ถ. ขั้นต้นก็แล้วแต่การสะสม แต่ขั้นสูงไม่ใช่แล้วแต่การสะสมหรือ

สุ. แล้วแต่การสะสม เพราะว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์มีการสะสมที่ยังคงเป็นคฤหัสถ์อยู่ เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วถึงการที่ไม่สามารถละอาคารบ้านเรือนสู่เพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นภาวะที่ต่างกันแล้ว

ถ. คนที่เจริญสติปัฏฐานอยู่ในเพศบรรพชิต ภายหลังลาสิกขาบทมาเป็นเพศคฤหัสถ์ และมีการเจริญสติปัฏฐานในเพศคฤหัสถ์ จะมีการบรรลุได้ไหม

สุ. บรรลุได้

ถ. โดยไม่ต้องหวนกลับไปเป็นเพศบรรพชิต

สุ. ไม่ต้อง

เปิด  248
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566