แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 696

ข้อความต่อไปใน สุภาษิตชยสูตรที่ ๕ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ผู้ตัดสินทั้งของพวกเทวดาและพวกอสูรได้กล่าวคำนี้ว่า ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล แต่คาถาเหล่านั้นมีความเกี่ยวเกาะด้วยอาชญา มีความเกี่ยวเกาะด้วยศาสตรา เพราะเหตุเช่นนี้จึงมีความหมายมั่น ความแก่งแย่ง ความทะเลาะวิวาท

ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาทั้งหลายแล้วแล ก็คาถาเหล่านั้นไม่เกี่ยวเกาะด้วยอาชญา ไม่เกี่ยวเกาะด้วยศาสตรา เพราะเหตุเช่นนี้ จึงมีความไม่หมายมั่น ความไม่แก่งแย่ง ความไม่ทะเลาะวิวาท ท้าวสักกะจอมเทวดาชนะ เพราะได้ตรัสคำสุภาษิต ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชัยชนะด้วยการกล่าวคำสุภาษิตได้เป็นของท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

จริงไหมที่ท้าวสักกะตรัส

เรื่องในสวรรค์ก็มีมากในวันหนึ่งๆ ที่ผ่านไป เหตุการณ์ในโลกมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง แต่ว่าในสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็ย่อมจะมีสภาพธรรมที่เป็นบุคคลต่างๆ ตามการสะสม

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสังยุต เวปจิตติสูตรที่ ๔ มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ฯลฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสกะพวกอสูรว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกอสูรพึงชนะ พวกเทวดาพึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวสักกะจอมเทวดา ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังอสูรบุรี ในสำนักของเรา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ท้าวสักกะจอมเทวดา ก็บัญชากะเทวดาชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเมื่อสงครามระหว่างเทวดากับอสูรประชิดกัน พวกเทวดาพึงชนะ พวกอสูรถึงปราชัยไซร้ ท่านทั้งหลายพึงมัดท้าวเวปจิตติจอมอสูร ด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วพึงนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของเรา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ในสงครามครั้งนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรปราชัย ครั้งนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้จับท้าวเวปจิตติจอมอสูร มัดด้วยการมัดห้าแห่ง อันมีคอเป็นที่ ๕ แล้วนำมายังสุธรรมาสภา ในสำนักของท้าวสักกะจอมเทวดา ฯ

ถ. อสูรนี่แท้ที่จริงเป็นภูมิอะไรกันแน่ รบกับเทวดาก็ได้ โต้ธรรมกับเทวดาก็ได้ คุยกับเทวดาก็ได้ อสูรนี้เป็นสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ

สุ. ไม่ใช่พวกอสุรกายที่เป็นการปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่หมายความถึงเทวดาพวกหนึ่งในชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งต่ำกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ถ. ถ้าเช่นนั้น เทวดาชั้นจาตุมหาราชิการจะรบกับชั้นดาวดึงส์ได้อย่างไร

สุ. เขตใกล้กัน แต่แทนที่จะสงสัยในภพภูมิต่างๆ ก็ควรที่จะได้ศึกษาถึงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งสามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นไป เป็นกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้างประการต่างๆ ในภพภูมิอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ถ. บางครั้งที่สติไม่เกิด ก็ทำให้คิด ในพระสูตรหนึ่งกล่าวว่า อสูรอยู่ในทะเล ในมหาสมุทร

สุ. ถ้าไม่เห็น ก็ไม่ต้องสนใจ ควรสนใจในธรรม ในข้อความที่เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เข้าใจในลักษณะของสภาพจิตที่ต่างๆ กัน

ถ. ที่พระผู้มีพระภาคเคยแสดงไว้ คือ จอมอสูรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทะเลนี้มีอะไรเป็นที่น่ารื่นเริง จอมอสูรก็อธิบายว่ามี ๘ อย่าง อะไรบ้างก็ว่าไป พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ธรรมของภิกษุในธรรมวินัยนี้ก็มีธรรม ๘ อย่างเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นำเอาสูตรนี้มายืนยัน อสูรอยู่ในทะเล มหาสมุทร ส่วนเทวดาอยู่บนสวรรค์ คนหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร อีกคนหนึ่งอยู่บนสวรรค์ จะรบกันท่าไหนก็ไม่รู้

สุ. เพราะไม่เห็น แต่เข้าใจลักษณะสภาพธรรมได้ว่า ตราบใดที่จิตยังมีอกุศลอยู่ ต้องอยากรบกันแน่ ใช่ไหม เพราะถ้าเทวดาทั้งหลายที่เคยรบกันบนสวรรค์ กลับมาเกิดในมนุษย์ และเป็นเด็ก เด็กๆ นี้ต้องเล่นรบกันอยู่เรื่อยใช่ไหม ตีกัน รบกัน ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ใครจะเป็นฝ่ายแพ้ จะรบกันในเชิงพนัน หรือในเชิงเล่น หรือในการแข่งขัน ในการศึกษา ในการอาชีพ ก็เป็นรูปลักษณะต่างๆ ของการรบ ซึ่งเป็นสภาพที่มีความพอใจ มีความสนุกในการที่จะเป็นผู้ชนะ แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่า จะชนะกิเลสของตนเองได้เมื่อไร

ถ. ถ้ามนุษย์กับมนุษย์ต่อยกัน ก็ไม่แปลก เทวดากับเทวดารบกันมัน ก็ไม่แปลก แต่คนหนึ่งอยู่ทะเล อีกคนอยู่บนสวรรค์มารบกัน และเวลาแพ้ อสูรวิ่งหนีลงในบ่อ จะไปในทะเลได้อย่างไร ก็ไม่รู้เหมือนกัน

สุ. ถ้าเป็นจริง ก็เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่คิดถึงสถานที่ แต่คิดถึงสภาพของอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าจะเกิดเป็นอสูร หรือจะเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มีการสะสมที่ต่างกัน มีการกระทำที่ต่างกัน แต่ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ศึกษา ก็โดยการพิจารณาว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศลที่ควรจะน้อมนำประพฤติปฏิบัติตาม แม้ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้โดยสมบูรณ์ทันที แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ และสิ่งใดเป็นโทษ เช่น ถ้อยคำของเทวดาและอสูร เป็นต้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ได้ทราบว่า ในครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรถูกมัดด้วยการมัดห้าแห่งอันมีคอเป็นที่ ๕ ได้ด่าบริภาษท้าวสักกะจอมเทวดา ซึ่งกำลังเสด็จเข้าและออกยังสุธรรมาสภา ด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

เป็นไปได้ไหม บนสวรรค์ กิเลสอกุศลธรรมสะสมมา และถ้าโกรธ เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นปัจจัยให้ใช้วาจาที่หยาบคาย ซึ่งไม่ใช่ของสัตบุรุษ

ถ้าในโลกนี้ยังใช้วาจาหยาบคายอยู่เรื่อยๆ ถึงจะไปปฏิสนธิในสวรรค์ก็มีอุปนิสัยที่จะใช้วาจาที่หยาบคายได้ อย่าคิดว่า เมื่อย้ายไปอยู่ภูมิอื่นที่อื่นแล้ว จะทิ้งนิสัยหรืออุปนิสัยที่เคยสะสมมาได้

ถ. ขณะที่เราอยู่ในโลกนี้ ก็ได้เจริญสติตามความเป็นจริงอย่างนี้ ถ้าหากเราจุติจากโลกนี้ อาจจะไปเป็นเทวดาหรืออะไรก็ตาม ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ความรู้ที่เคยเจริญสติอยู่ จะติดตามเราไปเป็นเหตุให้ได้มีการระลึกรู้ต่อไปไหม

สุ. ติดตามไปเหมือนกับที่ได้ติดตามมาในชาตินี้ ที่สวรรค์มีท่านผู้มีความรู้สูงมากซึ่งเป็นพระอริยเจ้ามากมาย ไม่น่าเป็นห่วงเลย ถ้าได้เกิดในสวรรค์

ผู้ฟัง เมื่อครั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา ก็มีคนที่ได้สำเร็จมรรคผลหลายชั้นด้วยกัน เป็นจำนวนมากมาย แต่ถ้าหากเป็นระยะเวลาที่ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดเอง ก็มีธรรมสภา มีอาจารย์ที่สอนเหมือนในโลกนี้ เหมือนกัน ดิฉันแก่แล้วจึงได้มาพบอาจารย์ ความเห็นถูกนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย ถ้าหากว่าเป็นคนตายเร็ว ก็เสียเวลาไปเปล่าๆ

สุ. ถ้าบุญที่ได้กระทำมาดี ก็ไปเกิดในสุคติภูมิ ได้พบท่านผู้อื่นซึ่งท่านเป็น ผู้ที่มีความรู้มากและเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติดี เป็นพระอริยเจ้ามากมายในสวรรค์

ผู้ฟัง ขอบคุณท่านอาจารย์

สุ. พระอินทร์จะทำอย่างไร เวลาที่ท้าวเวปจิตติโกรธ และด่าบริภาษด้วยวาจาอันหยาบคาย ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีเทพบุตร ผู้สงเคราะห์ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยคาถาว่า

ข้าแต่ท้าวสักกะมฆวาฬ พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำอันหยาบคายเฉพาะหน้า ของท้าวเวปจิตติจอมอสูร ยังทรงอดทนได้ เพราะความกลัว หรือเพราะไม่มีกำลัง พระเจ้าข้า ฯ

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

เราอดทนถ้อยคำอันหยาบคายของท้าวเวปจิตติได้ เพราะความกลัวหรือเพราะไม่มีกำลัง ก็หาไม่ วิญญูชนผู้เช่นเราไฉนจะพึงโต้ตอบกับคนพาลเล่า ฯ

มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่า

คนพาลพึงทำลายได้อย่างยิ่ง ถ้าไม่พึงเกียดกันเสียก่อน เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงเกียดกันคนพาลด้วยอาชญาอย่างรุนแรง ฯ

ก็ยังมีความเห็นว่า ควรที่จะทำการรุนแรงเพื่อที่จะปราบคนพาล เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้คนพาลทำร้ายได้มากขึ้น

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบระงับได้ เราเห็นว่าการสงบระงับได้ของผู้นั้นแล เป็นการเกียดกันคนพาลละ ฯ

วิธีที่ดีที่สุด คือ เป็นผู้มีสติ สงบระงับได้

มาตลีเทพบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่ท้าววาสวะ ข้าพระองค์เห็นโทษในความอดทนนี้แล เมื่อใดคนพาลย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้นคนมีปัญญาทรามยิ่งข่มขี่ผู้นั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวที่แพ้หนีไป ฉะนั้น ฯ

มาตลีเทพบุตรเห็นโทษของความอดทน แทนที่จะเห็นว่าความอดทนนั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งท้าวสักกะได้ตรัสตอบ ข้อความเหมือนในสุภาษิตชยสูตรที่ ๕ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว

พระผู้มีพระภาคทรงยกตัวอย่างพระอินทร์ เพื่อชี้ให้พระภิกษุทั้งหลายเห็นคุณธรรมของพระอินทร์ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างว่า แม้แต่ผู้ที่ได้รับผลของคุณธรรมอย่างใหญ่เช่นพระอินทร์ ก็ยังเป็นผู้ที่พรรณนาคุณของขันติและโสรัจจะ คือ คุณของความเป็นผู้อดทนและความสงบเสงี่ยม เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ควรเป็นผู้อดทนและสงบเสงี่ยมด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น พุทธบริษัททั้งหมดเมื่อได้พิจารณาพระธรรม และเห็นคุณของกุศลธรรมทั้งหลาย ก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล จึงจะเป็นผู้ที่ประพฤติตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

ท่านที่ยังอดกลั้นไม่ได้ ก็ควรที่จะฝึกหัดอบรมเสียแต่เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่อบรมก็ไม่มีทางที่จะอดทนและอดกลั้นได้ เพราะว่าไม่เคยฝึกหัด ไม่เคยอบรม แต่ถ้าเริ่มฝึกหัดอบรมเสีย เป็นผู้ที่มีสติ

ผู้ฟัง เรื่องจริงๆ ตัวผมเองก็เจอลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้ เราเห็นเขาเป็นคนพาล ไม่เห็นจะได้ประโยชน์ ก็อดทนไว้ เขายิ่งข่ม ยิ่งฮึกเหิมขึ้นไปๆ เราก็อดทนไว้ ปล่อยไป ผมรู้สึกว่าอดทนอย่างมาก เพื่อจะให้พ้นวิบากกรรม

สุ. แล้วทนได้ใช่ไหม

ผู้ฟัง ใช่

สุ. น่าอนุโมทนา

ผู้ฟัง นายผมกับคนที่ทำงานร่วมกับเขา เห็นว่าผมเป็นคนแปลก เขาหาเรื่องหาราวอยู่นั่นแหละ เขาชักชวนไปในทางอกุศล ไปทางต่ำ เราก็งดเสีย แต่เขาไม่ยอม หาเรื่อง เราก็ทน ยิ่งได้ที ยิ่งข่มขี่ใหญ่เลย

สุ. เวลาที่อดทนได้ เป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้

ผู้ฟัง ขณะนั้นรู้สึกว่า เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ้าง ศึกษาบ้าง ปัญญาบ้าง ประกอบกันหลายอย่าง ที่จริงผมทนไม่ได้ แต่อาศัยธรรมที่ผมได้ศึกษา สติปัฏฐานต่างๆ คือ เขาดึงเราให้ทำตามเขา ไม่ไปตามเขาไม่ได้ ผมคิดว่า คงเป็นวิบากกรรมอะไรของเรา ทนมาตั้งปีกว่า กว่าจะพ้นผลกรรมที่ไม่ดีนี้

สุ. ระหว่างที่กำลังทน เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้

ผู้ฟัง เป็นผู้ชนะ ขณะที่ทนได้รู้สึกว่า เป็นความสุขใจ สบายใจในขณะนั้น

สุ. เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ทนไม่ได้ขึ้นมา ให้ทราบว่า แพ้ทันที คือ แพ้กิเลสของตัวเอง ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน กับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ใครจะอดทนได้มากกว่ากัน

ผู้ฟัง คุณลองคิดดู ๑๐ กว่าคนรุมเราคนเดียว เขาเห็นเราอดทน ยิ่งคิดว่า เราหลุดมาจากโรงพยาบาลศรีธัญญาหรืออย่างไร แปลก เขาเลยด่าผมมากขึ้น ผมก็อดทน ความจริงผมจะไปจากสถานที่นั้นก็ได้ แต่ถ้าเราไป เราก็แพ้ จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อ ไม่ใช่เราจะอวดความสามารถหรืออะไร วิชาเรามีพอ ผมทำได้ทุกที่ ไม่มีความหวั่นไหว แต่ยังไปไม่ได้ ต้องให้เรื่องถึงที่สุดเสียก่อน อดทนไปอย่างนั้น ปีกว่า

เปิด  252
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566