แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 698

พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมให้บุคคลใดขยันในการเจริญอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความขยัน ความเพียร ความหมั่นจริงๆ แล้ว ต้องเป็นไปในเรื่องของการขัดเกลากิเลส และพระผู้มีพระภาคทรงยกตัวอย่างพระอินทร์ ซึ่งได้เสวยความยิ่งใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยความหมั่น ความพากเพียร ซึ่งเป็นกุศล

แต่ละท่านที่จะได้ผลของบุญ ที่จะเกิดในสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ นั้น ต้องเป็นผู้ขยันที่จะทำกุศล ซึ่งปกติมักจะไม่ขยัน หรือว่าขยันน้อยในการกุศล แต่ว่าขยันมากเหลือเกินในอกุศลด้วยโลภะ ด้วยความต้องการต่างๆ กัน แต่เมื่อเปรียบเทียบความขยันของท่าน ท่านขยันในทางอกุศลมาก หรือว่าท่านขยันในทางกุศลมาก ผลก็ต้องต่างกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อพระอินทร์ได้รับผลของกุศล พระอินทร์จึงเป็นผู้ที่เห็นคุณของความเพียร คือ ความหมั่นในกุศลธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบว่า แม้พระอินทร์ก็ยังเห็นผลของความหมั่น โดยการที่ทรงถึงความเป็นผู้ใหญ่ยิ่งในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะฉะนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ก็ควรที่จะขยันหมั่นเพียรเจริญกุศลธรรม เพื่อให้บรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุ เพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยด้วยความขยัน ด้วยความหมั่น ด้วยความเพียรจริงๆ ย่อมไม่สามารถที่จะได้ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่นเดียวกับทางโลก ถ้าไม่ขยันในการที่จะกระทำบุญ ก็ไม่ได้รับผลของบุญ

ผู้ฟัง ความขยันนี้ พูดที่ไหนๆ ใครๆ ก็ว่าดี แต่พูดง่ายกว่าทำ จะขยัน จริงๆ อย่างจะไปทำงานตอนเช้าๆ ของวันจันทร์ นี่ก็ยังลำบาก

สุ. แม้แต่ในทางอกุศล ก็ยังไม่ขยัน เพราะฉะนั้น ในทางกุศลจะยิ่งยากกว่านั้นสักเท่าไร ถ้าไม่อบรม เพราะฉะนั้น การสะสมแต่ละขณะมีผล ถ้าเริ่มขยันที่จะเจริญทางฝ่ายกุศลแม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย ในภายหลังจะเป็นผู้ที่ไม่เกียจคร้านเลย ในการที่จะเจริญกุศล แม้ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เช่นเดียวกัน ขยันเดี๋ยวนี้ ระลึกทันที ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต่อไปก็จะเป็นอุปนิสัย จะมีการระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จนกระทั่งเป็นอุปนิสัยจริงๆ ซึ่งอบรมได้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างละเอียด ให้เห็นลักษณะของความขยันต่างๆ กัน ซึ่งพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ความขยันที่ประเสริฐที่สุด คือ ขยันที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเลย ในขณะที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าเป็นผู้ที่ขยันระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว ก็คงจะไม่มีปัญหา ไม่เป็นผู้ลำบากในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้ายัง ก็อบรมจนกว่าจะเป็นผู้ที่ขยันแล้ว

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นทุพภิยสูตรที่ ๗ มีว่า

สาวัตถีนิทาน ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทวดาผู้หลีกเร้นออกอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความตรึกนึกคิดขึ้นว่า เราไม่ควรประทุษร้ายแม้แก่ผู้ที่เป็นข้าศึกต่อเรา

นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าในโลกมนุษย์ หรือที่ไหนก็ตาม ท่านผู้ฟังเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม เราไม่ควรประทุษร้ายแม้แก่ผู้ที่เป็นข้าศึกต่อเรา

ท่านต้องรู้แน่ว่า มีใครบ้างที่ไม่ชอบท่าน ท่านจะเป็นที่รักของทุกคนเป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่ชอบท่านต้องมีบ้าง จะมากหรือจะน้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านอาจเป็นบุคคลที่ดีจริงๆ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลอื่น ไม่หวังร้ายประทุษร้ายต่อบุคคลอื่นเลย แต่ความดีของท่านถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถที่จะป้องกันอกุศลจิตของคนอื่นไม่ให้คิดร้ายหรือว่าโกรธเคืองท่านได้ เพราะถึงแม้ว่าท่านจะเป็นคนดีสักเท่าไรก็ตาม คนที่ไม่ชอบท่านหรืออาจจะริษยาท่านเพียงเล็กน้อยนิดหน่อยก็ต้องมี เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลจิตเกิดเหมือนอย่างพระอินทร์ ก็ย่อมจะมีความคิดว่า เราไม่ควรประทุษร้ายแม้แต่กับผู้ที่เป็นข้าศึกต่อเรา

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ถ้าท่านพิจารณาและน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า ถ้าปฏิบัติตามได้ คิดอย่างนี้บ่อยๆ เป็นกุศลจิตของท่าน แต่สำหรับผู้ที่หวังร้ายต่อท่าน ก็เป็นอกุศลจิตของเขา

ถ. พระอินทร์ท่านคิดว่า จะไม่ประทุษร้ายแม้กระทั่งผู้ที่เป็นอริ แต่ทำไมรบกับอสูรอยู่เรื่อย

สุ. คนที่ยังมีกิเลสอยู่ จะดีอยู่ตลอดไปทุกขณะได้ไหม ตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ คิดดี คิดได้ อาจจะคิดบ่อยๆ แต่เวลาที่ความคิดนั้นดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ปัจจัยของอกุศลธรรมมี ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นของธรรมดา เหตุการณ์เฉพาะหน้าแต่ละครั้งๆ

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงความดีของคนอื่น ก็ควรที่จะอนุโมทนาในความดีในขณะนั้น เฉพาะกาล เพราะว่าหลังจากนั้น ได้ยินได้ฟังเรื่องไม่ดีของคนนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่อนุโมทนาในอกุศลธรรม จะอนุโมทนาในกุศลธรรมตลอดไปไม่ได้ เฉพาะกาลจริงๆ คือ เฉพาะสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมในขณะนั้นเท่านั้น

ผู้ฟัง เรื่องพระอินทร์ออกรบกับอสูรนั้น จะว่ารุกรานไม่ได้ เป็นการป้องกันตัว อสูรจะไปแย่งวิมานของท่าน ท่านก็ต้องป้องกันตัว การป้องกันตัวแม้แต่ในกฎหมายก็ไม่เอาโทษ

สุ. คนในวงธรรมเคยรบกันบ้างไหม เพราะฉะนั้น หลีกเลี่ยงการรบไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นการรบในลักษณะใด เพราะว่าท่านที่มีฉันทะต่างกัน ก็มุ่งหวังที่จะให้บุคคลอื่นมีความเห็นคล้อยตามความคิดเห็นของตน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ยังมีอกุศลธรรมแรงกล้า ก็อาจจะถึงกับส่งบุคคลอื่นมารุกราน หรือว่ามากระทำการใดๆ เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นขาดความสนใจที่จะศึกษา สักการะในผู้ที่แสดงธรรมที่ท่านไม่เลื่อมใส โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกความผิดในข้อธรรมเลยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ตามความเป็นจริง ให้เห็นชีวิตจริงๆ ให้เห็นสภาพธรรมแต่ละขณะ เพราะว่าการเจริญปัญญาที่จะละกิเลส จะต้องรู้สภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปทำให้ผิดปกติขึ้นมารู้

ขณะนี้ใจกำลังเป็นอย่างไร ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือ สติเกิดขึ้น ระลึก ศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปอย่างนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นลักษณะหนึ่งของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลยจริงๆ แม้แต่ความคิดของแต่ละคน ซึ่งเปลี่ยนไป ก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูร ได้ทราบความดำริของท้าวสักกะจอมเทวดาด้วยใจของตนแล้ว เข้าไปหาท้าวสักกะจอมเทวดาจนถึงที่ประทับ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ทอดพระเนตรเห็นท้าวเวปจิตติจอมอสูรผู้มาแต่ไกลทีเดียว ครั้นแล้วจึงตรัสกะท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า หยุดเถอะ ท่านท้าวเวปจิตติ ท่านถูกจับเสียแล้ว ฯ

เห็นไหม เมื่อครู่นี้คิดอย่างนั้น พอท้าวเวปจิตติไป ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ พระอินทร์ตรัสกับท้าวเวปจิตติอย่างนี้ เฉพาะกาลจริงๆ ชั่วขณะจริงๆ ตามความเป็นจริง พระอินทร์ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นพระอริยะ ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่า แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ท้าวเวปจิตติซึ่งเคยเป็นข้าศึกนี้มาทำไม

ข้อความต่อไป

ท้าวเวปจิตติตรัสถามว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละทิ้งความคิดเมื่อก่อนของท่านเสียแล้วหรือ ฯ

ท้าวสักกะตรัสว่า ท้าวเวปจิตติ ก็ท่านจงสาบานเพื่อที่จะไม่ประทุษร้ายต่อเรา ฯ

ท้าวเวปจิตติตรัสคาถาว่า

แน่ะท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ บาปของคนผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร และบาปของคนอกตัญญู จงถูกต้องผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน ฯ

นี่เป็นคำสาบานของท้าวเวปจิตติ เป็นเรื่องของอกุศล ซึ่งต่างก็ยังมีอยู่ จะให้เป็นคนดีตลอดกาล ไม่ใช่เฉพาะกาลๆ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าอกุศลธรรมยังไม่ได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เป็นชีวิตจริงของแต่ละท่านด้วย เรื่องราวของท่านจะซ้ำกับพระอินทร์หรือว่าไม่ซ้ำ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานมาก แต่ให้ทราบว่า เฉพาะกาลจริงๆ ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล จนกว่าอกุศลธรรมจะดับหมดเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกรู้สภาพธรรมซึ่งแต่ละท่านสะสมมาตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ไม่ประมาท เพราะบางท่านอาจคิดว่า ท่านดีมากแล้ว ดีมากจนกระทั่งคิดว่าดีที่สุดแล้ว ดีกว่านี้อีกไม่ได้แล้ว แต่นั่นไม่ถูก เวลาที่อกุศลธรรมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ก็จะเกิดขึ้นปรากฏให้เห็นจริงๆ ว่า ยังดีไม่พอ จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่พระอินทร์ ก็ยังไม่ได้ดับอกุศลธรรมหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะว่าพระอินทร์เป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมจึงยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้

ที่ท้าวเวปจิตติตรัสคาถาว่า แน่ะท้าวสุชัมบดี บาปของคนพูดเท็จ บาปของคนผู้ติเตียนพระอริยเจ้า บาปของคนผู้ประทุษร้ายต่อมิตร และบาปของคนอกตัญญู จงถูกต้องผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน นั้น หมายความว่า ใครประทุษร้ายต่อผู้ที่ทรงคุณความดีย่อมได้รับผลร้าย

ความโกรธนี้เกิดง่ายหรือยาก สำหรับทุกท่านตามความเป็นจริง ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ต่อให้มีความรู้ คือ มีตาทิพย์ มีหูทิพย์อย่างไร ก็ไม่ใช่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เวลาที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว ก็ยังมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะประมาทอกุศลธรรมเลย ใครที่เป็นคนดี จะดีไปได้นานเท่าไร ก็เฉพาะตราบที่อกุศลยังไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่อกุศลทั้งหลายที่จะดับไปได้ ก็ด้วยการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติด้วย และที่ว่าปัญญาคมกล้านี้ ไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาที่น้อมมารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ทุกลักษณะ ในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

คงจำกันได้ที่ว่า ในครั้งหนึ่ง มียักษ์ตนหนึ่งที่มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ และพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ก็ตำหนิติเตียนด้วยประการต่างๆ ซึ่งยักษ์นั้นก็ยิ่งเป็นผู้ที่มีรูปงาม น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใสยิ่งขึ้น พวกเทวดาก็สงสัย พากันไปเฝ้าพระอินทร์จนถึงที่ประทับ และได้กราบทูลให้ทรงทราบ ซึ่งพระอินทร์ไม่ได้โกรธ และไม่ได้ยกโทษตำหนิติเตียนยักษ์ตนนั้นเลย แต่ได้เสด็จเข้าไปหายักษ์ผู้มีความโกรธเป็นอาหารนั้นจนถึงที่อยู่

ครั้นแล้ว ทรงห่มผ้าเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงคุกพระชานุมณฑลเบื้องขวาลง ณ พื้นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางที่ยักษ์ตนนั้นอยู่ แล้วประกาศพระนาม ๓ ครั้ง ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระนามด้วยประการใดๆ ยักษ์ตนนั้นยิ่งมีผิวพรรณทราม และต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิม ยักษ์นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิมแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว เมื่อจะทรงยังพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้ยินดี จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ไว้ในเวลานั้นว่า

เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง เป็นผู้อันความหมุน (มาร) นำไปไม่ได้ง่าย เราไม่โกรธมานานแล ความโกรธย่อมไม่ตั้งอยู่ในเรา ถึงเราโกรธ ก็ไม่กล่าวคำหยาบ และไม่กล่าวคำไม่ชอบธรรม เราเห็นประโยชน์ของตน จึงข่มตนไว้ ฯ

พระอินทร์เป็นอย่างนั้น ท่านผู้ฟังเป็นอย่างไหน โกรธง่ายหรือโกรธยาก โกรธง่ายมากใช่ไหม ทางตาเห็นนิดเดียวที่ไม่ถูกใจ ก็โกรธแล้ว ทางหู ผิดคำไปนิดเดียว ผิดเสียงไปนิดเดียว ก็โกรธแล้ว ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่โกรธง่าย ซึ่งความโกรธนั้นไม่เป็นภัยกับคนอื่น นอกจากตัวท่านผู้โกรธเอง

เมื่อพระอินทร์เห็นโทษของอกุศลธรรม คือ ความโกรธ แม้ว่าพระอินทร์ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เพราะผู้ที่จะดับความโกรธเป็นสมุจเฉท ไม่มีความโกรธเกิดขึ้นอีกเลยต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่แม้กระนั้น ผู้ที่เห็นโทษของความโกรธ ก็อบรมการที่จะไม่เป็นผู้ที่โกรธง่าย และก็ไม่ผูกโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่อดทน และระงับความโกรธไว้บ่อยๆ ด้วยการมีสติ มีเมตตาต่อผู้ที่ประทุษร้ายหรือว่าล่วงเกินต่อท่าน ในภายหลังก็จะเป็นผู้ที่โกรธไม่ง่ายอย่างบุคคลอื่น

จะเห็นได้ว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์อื่นๆ โกรธง่าย เวลาที่ยักษ์ตนนี้นั่งบนอาสนะของพระอินทร์ ก็โกรธแล้ว แต่ว่าพระอินทร์ อาสนะเป็นของพระอินทร์เอง แต่ไม่โกรธ แม้ว่ายักษ์ตนนั้นจะนั่งที่อาสนะของพระองค์

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม ที่จะต้องเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่ในเรื่องของความโกรธ ก็ไม่ควรจะเป็นผู้ที่โกรธง่าย เพราะว่าขณะนั้นหวั่นไหวไปแล้วด้วยกำลังของโทสะ

พระผู้มีพระภาคจะทรงปฏิบัติอย่างไรกับผู้ที่ไม่นอบน้อมต่อพระองค์ และมาเฝ้าพระองค์ด้วยความโกรธ มีไหม ผู้ที่ไม่นอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคและไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับด้วยความโกรธ และพระผู้มีพระภาคจะทรงปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นอย่างไร ทราบไหมว่าทรงปฏิบัติอย่างไร ก็คือ ทรงแสดงธรรม เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้ที่พระองค์จะทรงเกื้อกูลได้

ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อรหันตวรรค ที่ ๑ ธนัญชานีสูตรที่ มีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์

ก็โดยสมัยนั้นแล นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตร คนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ฯ

ครั้งนั้นแล นางธนัญชานีพราหมณี กำลังนำภัตเข้าไปเพื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตร ก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ... ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ

เมื่อนางธนัญชานีพราหมณีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กล่าวกะนางธนัญชานีพราหมณีว่า

ก็หญิงถ่อยนี้กล่าวคุณของสมณะโล้นอย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะ หญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า ฯ

คนที่จะโกรธง่ายๆ ไม่ได้คิดถึงเหตุผลเลยใช่ไหม เพียงบุคคลอื่นระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านี้ก็โกรธ ไม่ใช่บุคคลที่ใคร่จะฟังเหตุผลว่า เพราะเหตุใดบุคคลนั้นจึงเลื่อมใสยิ่งนักในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเพียงเห็นความเลื่อมใสของคนอื่นซึ่งมีต่อพระผู้มีพระภาคก็โกรธ โดยไม่มีเหตุผลเลย

แม้ในสมัยนี้ ถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีศรัทธาต่อท่านผู้หนึ่งผู้ใด และได้ยินว่า บุคคลอื่นศรัทธาต่อท่านผู้อื่น เท่านี้ก็โกรธ ก็มีมาก โดยที่ไม่ได้พิจารณาในเหตุผลเลยว่า เลื่อมใสศรัทธาในเหตุผลในธรรมอย่างไร ไม่ฟังเหตุผลในธรรม เพราะว่าสะสมมาเพื่อที่จะโกรธง่ายๆ และเห็นคนที่กระทำสิ่งที่ไม่พอใจด้วยประการหนึ่งประการใด ก็โกรธ

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566