แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 704

สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่มีโลภะเกิดขึ้น เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน ยินดีพอใจ ขณะนั้นไม่เบื่อหน่าย ด้วยกำลังของโลภะซึ่งเป็นอกุศล อกุศลที่สะสมมา มีกำลังมากทีเดียว บางท่านคิดว่าไม่มีแล้ว โลภะน้อยลงแล้ว แต่ขอให้ได้พบปัจจัยที่เหมาะสม จะเห็นเรี่ยวแรงกำลังมหาศาลของโลภะซึ่งยังมีกำลังอยู่มาก ยังไม่ได้ดับไปเป็นสมุจเฉทเลย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันโลภะเกิดมากเหลือเกิน ถ้าเป็นโลภะอย่างอ่อนก็ไม่รู้ จะรู้ก็ต่อเมื่อเป็นโลภะที่มีกำลังขึ้น ปรากฏอาการของความตื่นเต้นยินดีพอใจเพลิดเพลินแล้ว แต่ถ้าเป็นโลภะที่มีกำลังอ่อนกว่านั้น ก็ไม่รู้สึก ในขณะปกติประจำวัน เมื่อโลภะเกิดอยู่เรื่อยๆ แม้อย่างอ่อน ก็ครอบงำในขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมดาที่โลภะจะต้องมีเรี่ยวแรงมาก มีกำลังมาก ซึ่งขณะใดที่โลภะเกิดขึ้น จึงปรากฏว่ามีกำลัง ไม่ใช่มีความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ง่วงเหงาเหมือนอย่างเวลาที่เจริญกุศล โดยการอ่านพระไตรปิฎกตามที่ท่านผู้ฟังถาม

ถ. พูดถึงโลภะ โทสะ โมหะ ผมคิดถึงที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า การเกิดเป็นมนุษย์นี่ประเสริฐ ผมคิดว่า การเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ อารมณ์ต่างๆ นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ ทำให้โลภมูลจิตเกิดอย่างแรง เพราะฉะนั้น สติก็เกิดยาก ถ้าเกิดในอบายภูมิ อารมณ์ก็เป็นอนิฏฐารมณ์อย่างแรง ทำให้โทสมูลจิตเกิดอย่างแรงเหมือนกัน สติก็เกิดยาก

สุ. การเกิดเป็นมนุษย์ที่ว่าประเสริฐมาก เพราะว่าสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลได้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน ของศีล ของสมถภาวนาซึ่งเป็นการเจริญอบรมความสงบของจิต และในการเจริญวิปัสสนา ซึ่งเป็นการเจริญอบรมปัญญาที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ถ. มีเณรเดินผ่านหน้าบ้านผมหลายวันแล้ว เณรออกบิณฑบาต ท่านไม่สำรวม ผมก็คิดว่าจะตักเตือนเณรดี หรือว่าจะแนะนำท่านดี ก็คิดอยู่ในใจหลายวัน เมื่อวันก่อนท่านมา ขณะที่ผมจะเอาของใส่บาตร ท่านไม่เปิดฝาบาตร ท่านจะให้ผมวางบนฝาบาตร และให้ลูกศิษย์หยิบใส่ถัง ผมก็คิดว่าจะแนะนำท่าน แต่ว่าคำพูดของผมรุนแรงไป ผมพูดว่า เณร อุปัชฌาย์เคยบอกหรือเปล่าว่า การบิณฑบาตควรจะปฏิบัติอย่างไร ท่านไม่ตอบ ท่านไปเลย

สุ. ไม่ได้ใส่บาตรหรือ

ถ. ใส่

สุ. ใส่โดยวิธีอย่างไร

ถ. คือ ผมถามก่อนว่า เณรไม่เปิดบาตรหรือ ท่านก็เปิด เมื่อผมใส่บาตรแล้วก็ถามว่า อุปัชฌาย์เคยแนะนำหรือเปล่าว่า การออกบิณฑบาตนี้จะต้องปฏิบัติอย่างไร คือ ทุกวันที่ผมใส่บาตรนี้ เณรจะเหลียวไปดูข้างหลังว่า ลูกศิษย์ตามมาหรือยัง เหลียวไปดูทางโน้นทางนี้ ไม่ได้มองดูบาตร ผมก็อยากจะแนะนำท่านว่า ขณะที่รับบิณฑบาต ตาควรจะมองในบาตร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ แต่ท่านก็เดินไปเลย ผมจึงไม่มีโอกาสแนะนำท่าน

สุ. กายกรรมประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา เวลาที่คิดถึงบุคคลอื่น และการที่คิดถึงสภาพอกุศลธรรมของบุคคลอื่นเป็นปัจจัยให้กุศลจิตของท่านเกิด หรืออกุศลจิตของท่านเกิด ประโยชน์อยู่ตรงนี้

อกุศลธรรมของคนอื่น สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิต คือ เมตตาของท่านเกิดได้ เพราะว่ากุศลธรรมตั้งจิตไว้ชอบ ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเกิดโทสะ แต่ว่าถ้าเกิดเมตตา เวลาที่เห็นคนอื่นกระทำอกุศลกรรมก็ดี หรือว่าสภาพจิตใจของคนนั้นเป็นอกุศลก็ดี ควรที่จะมีเมตตาว่า บุคคลนั้นจะต้องสะสมอกุศลจิตและอกุศลกรรมไปอย่างมากมาย

ถ. คือ สลับกัน กุศลจิตก็เกิด อกุศลจิตก็เกิด

สุ. เพราะฉะนั้น สติต้องไว ที่จะระลึกรู้ลักษณะของธรรมในขณะนั้นว่า ขณะใดเป็นอกุศลแล้วละ ถ้าไม่ละในขณะนั้น ก็จะเป็นเพียงความหวังว่า วันหนึ่งอกุศลจิตของท่านจะเบาบาง อกุศลธรรมของท่านจะเบาบาง เป็นความหวังเท่านั้น แต่ว่าขณะที่อกุศลธรรมกำลังเกิดปรากฏนั้น ไม่เบาบาง ซึ่งถ้าขณะนั้นไม่เบาบาง คือไม่ละด้วยสติในขณะนั้น จะไปคอยวันหลัง ก็ย่อมจะสะสมอกุศลธรรมในขณะนั้นไปอย่างมากมาย และยากแก่การที่จะกระทำให้เบาบางลงด้วย

เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็นคุณของสติที่เกิดทันที และก็คมขึ้นที่จะรู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นอกุศลแล้วละ เพราะเหตุว่าในขั้นต้นๆ สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริงว่า อกุศลธรรมเป็นอย่างไร คือรู้ว่า เป็นสภาพที่เร่าร้อน สภาพที่หยาบกระด้าง แต่ว่าสติและปัญญายังไม่มีกำลังพอที่จะละ และเห็นโทษของอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ต่อเมื่อใดอบรมเจริญขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เป็นอกุศล เป็นโทสมูลจิต เป็นโทสเจตสิก หรือว่าเป็นมานะเจตสิกประการใดๆ ก็ตาม ซึ่งภายหลังจะเพิ่มความเห็นโทษ และหิริก็จะมีกำลัง คือ รังเกียจและละอายในอกุศลธรรมที่กำลังปรากฏทันที

การเจริญกุศล เจริญปัญญา ต้องอบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะละคลายอกุศลธรรมในขณะนั้นให้เบาบางลงได้ ถ้ายังก็หมายความว่า ยังไม่พอ ต้องอบรมต่อไปอีก จนกว่าสติและปัญญาจะมีกำลังพอ

ถ. ยังไม่ได้ละอกุศล คือ ผมใส่บาตรอย่างนี้ ๕ – ๖ วันแล้ว ใส่ไปอย่างนั้น ไม่ยอมไหว้ คิดว่า เณรอย่างนี้ไหว้ไม่ลงหรอก

สุ. อกุศลธรรมของตัวท่านเอง เห็นชัด อย่าไปดูอกุศลธรรมของคนอื่น ขณะนั้นจะเห็นอกุศลธรรมของท่านชัด ขณะที่ไม่ยอมไหว้

ถ. ไหว้ไม่ลงจริงๆ และพอใจในอกุศลด้วย

สุ. ฉันทเจตสิกสามารถที่จะพอใจในอกุศลก็ได้ ในกุศลก็ได้ ถ้าสติระลึก ขณะนั้นจะปรากฏลักษณะสภาพของความพอใจในอกุศล

ถ. ก็รู้ ระลึกด้วย และพอใจด้วยในอกุศล ก็พระหายาก ก็ใส่ไปอย่างนั้น ในพรรษาพระผ่านมา ๑๐ รูป อย่างมากก็ ๑๕ รูป ถ้านอกพรรษาบางทีก็เหลือ ๒ – ๓ รูป เพราะฉะนั้น ก็ใส่ไปตามนั้น

สุ. เป็นปัจจัยให้เกิดทานกุศลแล้ว ก็ควรจะเป็นปัจจัยให้เกิดเมตตาด้วย

ถ. เมตตาไม่ลง เพราะอย่างไรๆ ก็ยังยึดถือว่าเป็นเณร ยังยึดถือว่าเป็นเรา และยังรู้ว่าเณรนั้นไม่สำรวม ไทยธรรมที่เราใส่ไปนั้นอานิสงส์น้อยแน่ คิดอย่างนี้แล้วไหว้ไม่ลง

สุ. กุศลเกิดไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นธรรม ถ้ามองซึ้งถึงลักษณะของธรรม บุคคลอื่นเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง หมดแล้ว ดับไปแล้ว ผ่านไปแล้ว แต่เรื่องราวต่างๆ ไม่ยอมจบ เป็นของท่านเองที่คิดติดตามต่อไป ไม่ใช่ของบุคคลไหนเลย สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาหมดแล้ว หมดจริงๆ ผ่านไปแล้วจริงๆ ดับไปแล้วจริงๆ แต่อกุศลธรรมที่เคยสะสม ที่เคยยึดถือความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไว้ ไม่ยอมทิ้งเรื่องนั้นด้วย เวลาที่เกิดตรึกนึกขึ้นมาครั้งใด ควรที่สติจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพคิด

ความคิดทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะสัญญา ความจำ ถ้าไม่จำเรื่องนั้นไว้ก็ไม่คิดเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่คิดเรื่องใด ถ้าสติเกิดขึ้น สามารถที่จะระลึกรู้ความจริงว่า บุคคลทั้งหลายไม่มีจริงในขณะนั้น สัตว์ บุคคล ตัวตน จะหายไปหมดเลย เพราะเป็นแต่เพียงสภาพคิด มีแต่เพียงเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ของจิตที่คิด เป็นแต่เพียงเรื่องที่ทรงจำไว้ และเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิด

เพราะฉะนั้น ท่านอยู่บุคคลเดียวในขณะที่สติเกิดขึ้น ไม่มีคนอื่น ไม่มีใครอื่นเลย เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้น และรู้สภาพธรรมที่ปรากฏต่างๆ กัน เช่น ในขณะนี้ ท่านอยู่คนเดียวเวลาที่สติเกิด แต่ถ้าสติไม่เกิด อยู่หลายคนเหลือเกิน พอสติเกิดรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เหลือแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นในขณะนั้น ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีใครในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ และเมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น ท่านจะเข้าใจความหมายของการอยู่ผู้เดียวด้วยสติ ที่รู้ความจริงของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ

ในขณะที่กำลังเห็น จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อยู่ผู้เดียวจริงๆ กับสิ่งที่กำลังปรากฏ สภาพเห็น กำลังเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ยังไม่ต่อกับทางอื่นเลย ยังไม่ต่อกับความนึกคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ต่อกับทางหู ทางจมูก หรือเรื่องราวต่างๆ ทางใจ ในขณะนั้นอยู่ผู้เดียว

หรือในขณะที่กำลังคิดนึก ถ้าคิดนึกที่นี่ ยากที่จะเห็นว่าอยู่ผู้เดียว เวลาที่อยู่คนเดียวจริงๆ และคิด ระลึกได้ รู้ทันทีเลยว่า เป็นแต่เพียงสภาพที่คิดเรื่องเท่านั้นเอง จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่คิดเรื่องต่างๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่มีโลก ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในเรื่องที่กำลังคิด เป็นแต่เพียงสภาพจิตซึ่งเกิดขึ้นคิดเรื่องต่างๆ ด้วยสัญญา ความจำในเรื่องนั้นๆ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าสติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่ใส่บาตร มโนกรรมก็จะประกอบด้วยเมตตา กายกรรมก็จะประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมในขณะนั้น ก็จะประกอบด้วยเมตตา แม้ในอกุศลธรรมซึ่งเป็นอารมณ์ในขณะนั้น

ใครกระทำดีขณะนั้น ก็ชื่นชมอนุโมทนาเฉพาะกาล วันหลังบุคคลนั้นอาจจะกระทำอกุศลกรรม เป็นอกุศลธรรมเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลธรรมกำลังปรากฏแม้ในบุคคลซึ่งเป็นเพศบรรพชิต ซึ่งต่างขณะกันแล้ว และเวลาที่อกุศลธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เพศหนึ่งเพศใด แต่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ อกุศลธรรม ซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้น จิตก็สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะเกิดเมตตาแทนที่จะเป็นโทสะ เพราะว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ก็น่าสงสาร น่าเมตตา น่ากรุณา น่าที่จะช่วยอนุเคราะห์ สงเคราะห์ มากกว่าที่จะให้จิตใจของท่านเดือดร้อนด้วยอกุศลธรรม

ถ. ทั้งหมดที่อาจารย์พูดมานี้ ก็รู้หมด รู้ทั้งนั้น ซึ่งอกุศลและกุศลก็เกิดสลับกันไป แต่ว่าอกุศลนี่เกิดมากกว่ากุศลหลายเท่า

สุ. รู้ก่อน หรือรู้หลัง ก็ไม่มีประโยชน์เท่ากับรู้ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะต้องมีความทรงจำที่มั่นคงในลักษณะของสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานไม่ใช่นึกเป็นเรื่องราว สัตว์ บุคคลต่างๆ แต่สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกเป็นเรื่องของสัตว์ บุคคล สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และศึกษาทันที จะเป็นทางตาก็ได้ ทางกายก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏมาก ทางหูก็มี ทางใจที่กำลังคิดนึกในขณะนั้นก็มี ถ้าสติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่สามารถจะไปวิรัติได้ แต่สติเกิด กระทำกิจของสติ คือ วิรัติอกุศลธรรม และจะเห็นคุณของสติยิ่งขึ้นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดทุกขั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต หรือขั้นปัญญาที่สามารถจะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่จิตไม่สงบ ไม่มีสติเกิดเลยในขณะนั้น แต่ถ้าสติเกิด จะเป็นปัจจัยให้ความสงบเกิดขึ้นได้ ซึ่งความสงบนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นความสงบโดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าโดยนัยของวิปัสสนาภาวนาคือสติปัฏฐานก็ได้ ซึ่งความสงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล ที่ควรเจริญ

ถ. อสุภกัมมัฏฐาน เป็นการเจริญสมถะอย่างเดียว หรือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาด้วย

สุ. เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน โดยนัยของสมถภาวนา และเป็นอารมณ์ของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยนัยของวิปัสสนาภาวนา ซึ่งผลต่างกัน ข้อปฏิบัติต่างกัน

ถ. ในเรื่องสมถกัมมัฏฐาน ขณะเจริญอสุภะเป็นอารมณ์ หมายความว่า เห็นศพ ก็ให้น้อมมาสู่ตน และขณะที่เราไปรดน้ำศพ หรือว่าไปงานศพ ก็เกี่ยวข้องกับอสุภะ ซึ่งขณะนั้นจิตของเรามีความรู้สึกสลดใจ แต่ไม่กลัว เพราะอยู่ในที่แจ้งมีคนหลายคน และมีสติระลึกได้ในสภาพของความสลดใจนั้นว่า สักวันหนึ่งเราก็จะต้องมีสภาพอย่างนี้แน่นอน ไม่ล่วงพ้นจากความเป็นอย่างนี้ไปได้ ซึ่งถ้าหากระลึกได้ ก็ไม่ทราบว่าจะระลึกตรงไหน คำพูดแบบนี้

สุ. ถ้าเด็ดเดี่ยวจริงๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา จะดีกว่าไหม ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่น อสุภะ เวลาที่พูดถึงอสุภะ บางท่านอาจจะอ่านสมถกัมมัฏฐานหมวดของอสุภะ และก็อ่านพบในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่เป็นนวสีวถิกาบรรพ ซึ่งได้แก่อสุภะ ๙ ท่านก็อาจจะคิดว่า ซากศพอย่างนี้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เป็นอสุภะในลักษณะใดใน ๙ อย่าง หรือ ๑๐ อย่างนั่นหรือเปล่า คนที่สงสัย ก็สงสัยไปจนกระทั่งว่า อสุภะในขณะนั้น เป็นอสุภะอย่างไร เป็นกัมมัฏฐานอะไร ในหมวดไหน

แต่ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเสียเวลาอะไรเลย เป็นผู้ที่มั่นคง เด็ดเดี่ยวในการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่กว่าปัญญาจะถึงขั้นนั้นได้ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะเป็นอกุศลบ้าง จะเป็นกุศลบ้าง จะเป็นสมถะคือความสงบของจิตบ้าง จะเป็นการสะสมสติและการศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติ เป็นสติปัฏฐานบ้าง ก็โดยไม่เลือก และโดยไม่เจาะจงด้วย

เปิด  326
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565