แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 712
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อานิสงส์ของกุศลที่ท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย เพียงชี้ทางให้พระปัจเจกพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่ร้านพ่อค้าน้ำผึ้งก็สามารถที่จะให้ผล คือ ให้ สมปรารถนาที่จะได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งเป็นพ่อค้าน้ำผึ้ง ผู้ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ส่วนนิโครธสามเณรเพียงแต่อกุศลจิตคิดว่า คงจะเป็นพวกจัณฑาลแน่เพราะพวกจัณฑาลชอบห่มผ้าสีอย่างนั้น ก็ต้องรับผลของกรรมด้วยการอยู่ร่วมกับพวกจัณฑาล แต่เพราะได้เคยตั้งความปรารถนาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้ได้รับการบำรุงอุปัฏฐากอย่างดีจากพวกจัณฑาล และได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ด้วย
ถ. ความคิดความคาดคะเนย่อมมีกันทุกคน ที่เขาคิดว่า อาจจะเป็นคนจัณฑาลมาหลอกลวง ก็เป็นความคิดซึ่งอาจจะเป็นไปได้ แต่เผอิญคิดผิด สมัยนี้ก็มีมาก พวกติดเฮโรอีนหรือพวกนักดื่ม พวกนี้มักจะไปหลอกลวงว่า อยู่ต่างจังหวัดและมาตกรถที่กรุงเทพ ฯ ขอค่ารถกลับบ้าน บางคนก็ให้ บางคนก็ไม่ให้ คนที่ให้ไปแล้วก็มาคิดภายหลังว่าจริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้น คนที่คิดอย่างนั้น ผลของกุศลจะลดลงหรือไม่
สุ. คิดอย่างนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ต้องยอมรับตามความเป็นจริง
ถ. ขณะที่ให้เป็นกุศล แต่หลังจากให้แล้วคิดว่า จะถูกต้มหรือไม่ เขาจะมาหลอกลวงหรือไม่ ถ้าเขามาหลอกลวงก็เป็นธรรมดาที่คนให้จะต้องมีความเสียดาย ถ้าไม่ได้ถูกหลอกลวง เขาก็ยินดี เพราะฉะนั้น ที่คิดอย่างนั้น บางครั้งก็คิดถูก บางครั้งคิดผิด เพราะฉะนั้น ผลกรรมนี้จะเป็นอย่างไร
สุ. ความคิดวิจิตรพิสดารมาก การกระทำทางกาย ทางวาจาดูเหมือนๆ กัน หรือว่าคล้ายคลึงกัน แต่ว่าความคิดที่เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจานั้นต่างกันมาก ถ้าจะเอาความคิดของทุกท่านมาเปิดเผย มาศึกษาแต่ละขณะจิต จะเห็นได้ว่า ช่างวิจิตรจริงๆ ทำไมบางคนถึงช่างคิดได้ถึงอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ตามการสะสม ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะคิดอย่างนั้นเลย
อกุศลจิตก็มีต่างๆ กันไป บางท่านทำไมจึงช่างคิดที่จะดูถูกดูหมิ่นคนอื่นง่ายเหลือเกิน เพียงฟังก็กล่าวว่าคงจะเป็นพวกจัณฑาล ถ้าใครหลายๆ คนจะพูดอย่างนี้ อกุศลธรรมที่ประกอบกับจิตในขณะนั้นก็ต่างกันไป บางท่านอาจจะเพียงคิดสงสัย แต่บางท่านอาจปนด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยาม ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้นอกจากจิตของบุคคลนั้นเองในขณะนั้นว่าเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร สติเท่านั้นที่จะศึกษารู้สภาพความจริงของลักษณะของจิตที่กำลังเป็นไปอย่างนั้นในขณะนั้นได้ถูกต้อง ซึ่งท่านเองก็ต้องคิดใช่ไหมว่า บางครั้งความคิดของท่านก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติ คิดอย่างนั้นก็ได้ คิดอย่างนี้ก็ได้ สงสัยก็ได้ ไม่เข้าใจก็ได้ แต่ว่าบางครั้งทำไมจึงปนด้วยอกุศลธรรมที่เป็นความดูหมิ่นเหยียดหยามในบุคคลอื่นด้วย
เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า อกุศลจิตย่อมต่างกันไปแล้วแต่การสะสม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะวัดหรือจำแนกได้ นอกจากจะเกิดระลึกรู้สึกตัวขึ้นในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น หรือไม่เป็นอย่างนั้น บางครั้งเป็นแต่เพียงสงสัยเท่านั้น แต่บางครั้งก็ดูหมิ่นเหยียดหยามด้วย
ถ. ผู้หญิงคนที่ชี้ทาง ตั้งความปรารถนาขอให้ได้เป็นพระมเหสี และ สมความปรารถนา ส่วนน้องชายผู้ให้น้ำผึ้งตั้งความปรารถนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในชมพูทวีป และก็สมความปรารถนา อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าอาจารย์ ได้เคยอธิบายว่า เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน กุศลย่อมส่งผลให้เป็นสุข อกุศลย่อมส่งผลให้เป็นทุกข์ จะอธิษฐานหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าไม่อธิษฐาน จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในชมพูทวีปหรือไม่ และผู้หญิงคนนั้น ถ้าไม่อธิษฐาน จะได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินนั้นหรือไม่
สุ. ถ้าไม่เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ก็เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินอื่น แต่เพราะตั้งความปรารถนาจะเป็นพระมเหสีของพ่อค้าน้ำผึ้งที่ถวายน้ำผึ้งแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาไว้อย่างนั้น ซึ่งจะสมความปรารถนาได้ด้วยกุศล ความปรารถนาทั้งหมด ไม่ว่าใครจะปรารถนาอย่างไรก็ตาม จะสำเร็จได้ก็ด้วยกุศลจิต ถ้าเพียงปรารถนา แต่ทำอกุศล ก็ไม่มีวันที่จะสำเร็จ แต่ถ้าไม่ปรารถนาที่จะเป็นมเหสี หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ดีใช่ไหม ยังอยากเป็นหรือเปล่า
ถ. คนทั่วๆ ไป ก็อยากเป็นกันทั้งนั้น
สุ. ถ้าอยากเป็น ก็ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะยังอยากเป็นนั้น อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี่
ถ. เรื่องนี้ คนทั่วๆ ไปมักจะเข้าใจว่า การทำบุญแต่ละครั้งควรจะอธิษฐาน ถ้าไม่อธิษฐานผลของบุญจะล่องลอย เกิดไปได้วิมานแต่อยู่ไม่ได้ ซึ่งอาจารย์ก็ได้อธิบายมามากว่า ขณะที่กุศลจิตเกิด ก็ปล่อยให้เกิดเรื่อยๆ ขณะใดอธิษฐานอยากได้โน่น ได้นี่ ขณะนั้นเป็นอกุศลมาคั่นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ขณะอธิษฐาน กุศลจะน้อยกว่าไม่อธิษฐาน แต่เรื่องนี้คนทั่วๆ ไปบอกว่า ต้องอธิษฐาน ไม่อธิษฐานไม่ได้ ซึ่งคนเข้าใจอย่างนี้มีมากด้วย
สุ. การอธิษฐาน คือ การตั้งใจมั่น เวลานี้ท่านผู้ฟังตั้งใจมั่นที่จะได้อะไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะอะไร ทำไมจึงตั้งใจมั่นที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าไม่แสดงถึงการติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เรื่องของการอธิษฐานขอผลของบุญให้เป็นตามปรารถนา เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจนมั่นคงจริงๆ ย่อมไม่สามารถที่จะกันความปรารถนา หรือความต้องการในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะได้
จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งอดีตแต่ละท่านที่ได้ทำกุศลแล้ว ก็มีความตั้งใจมั่นที่จะปรารถนาให้ได้รับสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ จนกว่าจะเป็นผู้ที่รู้ตามความจริงว่า ขณะที่ปรารถนาหรือต้องการอย่างนั้น เป็นกุศล หรือว่าอกุศล
ผู้ฟัง อธิษฐานเป็นบารมีหนึ่งในบารมี ๑๐ เพราะฉะนั้น ต้องอธิษฐาน
สุ. อธิษฐานที่เป็นบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น อธิษฐานอย่างไร คือ ความตั้งใจมั่นในการที่จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้น จะตามคำอธิษฐานของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม หรือว่าจะยังคงอธิษฐานที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส ได้โผฏฐัพพะ
แม้แต่อธิษฐานบารมีก็จะต้องรู้ว่า อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น คือ อธิษฐานอย่างไรจึงจะเป็นบารมี แต่บุคคลอื่นก็ยังอธิษฐานที่จะให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างนั้นจะเป็นบารมีหรือ
ผู้ฟัง พูดกันมานานเรื่องบารมี สมเด็จพระมหาวิชรญาณท่านแปลใน นักธรรมตรี บารมีมาจากศัพท์ว่า ปารมะ แปลว่าคุณสมบัติ หรือปฏิปทา
สุ. เรื่องบารมีนี้น่ากล่าวถึง เพราะว่าเป็นคุณธรรมที่ควรอบรมเจริญมากในการที่จะให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถ. เรื่องบารมี มีผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานคนหนึ่ง เขาเคยถามดิฉันว่า ขณะที่สวดมนต์ก็ตาม หรือทำกุศลใดๆ ก็ตาม และเขาก็เป็นผู้ที่เจริญสติด้วย เขาบอกว่าเขาตั้งความอธิษฐานไว้ว่า ขอให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ ถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุด การอธิษฐานอย่างนี้จะทำให้เขาถึงซึ่งความรู้แจ้งในวันข้างหน้าได้ไหม และเขาก็ปฏิบัติด้วย ไม่ใช่อธิษฐานเฉยๆ
สุ. ปฏิบัติถูกหรือผิด
ถ. ปฏิบัติเจริญสติตามปกติในชีวิตประจำวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระลึกรู้ โลภะเกิดก็รู้ โทสะเกิดก็รู้ บ่อยๆ เนืองๆ เจริญสติอย่างที่อาจารย์บรรยาย
สุ. ถ้าข้อปฏิบัติถูก หมายถึงเหตุถูก ผลก็ต้องถูก ขึ้นอยู่กับเหตุด้วย
ขอกล่าวถึงบารมี ๑๐ โดยย่อ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาว่า ท่านบำเพ็ญบารมีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือเปล่า หรือว่าท่านมีแต่ความปรารถนาที่อยากจะให้สติเกิด อยากจะให้ปัญญารู้ชัด ซึ่งเป็นเพียงความอยากโดยขาดการระลึกถึงบารมี ซึ่งจะเกื้อกูลในการที่จะขัดเกลากิเลส และในการเพิ่มกำลังที่จะทำให้สติและปัญญาสามารถที่จะละคลายดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
บารมี ๑๐
๑. ทานบารมี ข้อนี้ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านจะต้องระลึกศึกษาสภาพของจิตของตนเองว่า ท่านมีมากหรือมีน้อยประการใด และตราบใดที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ยังไม่สามารถที่จะสละหมดอย่างบรรพชิตได้
ชีวิตของคฤหัสถ์นั้นไม่มีใครบังคับว่า ให้สละหมด หรือว่าให้สละมาก แต่เมื่อถึงคราว ถึงกาลที่ควรสละ ท่านสละได้ไหมที่จะให้เป็นบารมี หรือว่าแม้ถึงคราวอย่างนั้นก็ยังสละไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น การที่จะสละความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล จะมีกำลังอะไรที่จะเกื้อหนุนให้สามารถที่จะคมกล้าที่จะละการติด การยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในเมื่อแม้วัตถุท่านยังไม่สามารถที่จะสละได้ตามกาลที่ควรสละ แต่ถ้าสละได้ในขณะนั้น จะเพิ่มทานบารมีที่จะทำให้สามารถสละการยึดถือ การติดในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ
๒. ศีลบารมี ผู้ที่ล่วงศีล ขอให้พิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า การฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ดูเหมือนว่า บางครั้งท่านมีโลภะ ท่านมีความต้องการ ท่านจึงกระทำอทินนาทาน แต่ว่าท่านจะไม่ทำอทินนาทาน ถือเอาสิ่งของจากบุคคลที่ท่านรัก หรือที่ท่านพอใจ ขณะใดก็ตามที่ท่านมีจิตที่สามารถกระทำทุจริต เอาของบุคคลอื่นมาเป็นของท่านได้ ขณะนั้น บุคคลนั้น ต้องเป็นผู้ที่ท่านไม่มีเมตตารักใคร่ต่อเขา ศีลจึงล่วงไปได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุจริตต่างๆ นี้ ถ้ายังคงกระทำอยู่สม่ำเสมอ ย่อมแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความเป็นตัวตน
ผู้ฟัง คนที่ขโมย เขาจะขโมยจากคนที่ไม่ใช่เป็นที่รัก แต่ความต้องการของเขา คือ พวกเฮโรอีนต่างๆ ต่อมาก็ต้องขโมยจากคนที่เขารักด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องขโมยนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของคนนั้นด้วย
สุ. รักใครจะเสมอเท่ากับรักตน และในขณะที่สามารถเอาของคนอื่นโดย เฉพาะที่เป็นที่รักของคนอื่นด้วย ในขณะนั้นจิตจะต้องปราศจากเมตตา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้ายังมีเมตตาต่อบุคคลนั้นตราบใด จิตอ่อนโยน ไม่สามารถที่จะถือเอาของบุคคลนั้นมาเป็นของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องขาดเมตตา ซึ่งขณะใดที่ขาดเมตตา ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต และแต่ละขณะ จะต้องพิจารณาว่า เป็นกุศลขณะใด เป็นอกุศลขณะใด ไม่ใช่ว่าเป็นกุศลตลอด หรือว่าเป็นอกุศลตลอด
ถ. ขณะใดที่ผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง จิตขณะนั้นต้องเป็นโทสะอย่างเดียวหรือ
สุ. เวลาที่อกุศลจิตเกิด จะต้องกระทำลงไปด้วยการขาดเมตตาในขณะที่ล่วงศีล
ถ. จะผิดศีลด้วยโลภะไม่ได้หรือ
สุ. โลภะ ความอยากได้ มีเป็นปกติ แต่ไม่ถึงกับกระทำทุจริตกรรมที่เป็นการล่วงศีลได้ เพียงกำลังของโลภะอย่างเดียว อยากได้ อาจจะขอ แต่ไม่ถึงกระทำทุจริต แต่เวลาที่ลืมคิดถึงจิตใจของผู้เป็นเจ้าของที่จะเกิดความเสียดาย ที่จะเกิดความทุกข์ ความลำบากเดือดร้อน ในขณะนั้นจะต้องขาดเมตตา
๓. เนกขัมมบารมี การสละความติดหรือกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งสละได้โดยเพศ คือ เป็นบรรพชิต หรือว่าโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ละกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตกในขณะใด ขณะนั้นเป็นเนกขัมมบารมี การไม่ตรึกเป็นไปในกาม ในความพยาบาท หรือว่าในการเบียดเบียนบุคคลอื่น
๔. ปัญญาบารมี ทุกท่านคงเห็นคุณประโยชน์ของปัญญาว่า ถึงแม้ว่าจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าปราศจากปัญญาย่อมเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเห็นคุณค่าของปัญญาจริงๆ ย่อมจะไม่ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเมื่อเจริญกุศล แต่ว่าปรารถนาที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงความสมบูรณ์ที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การอธิษฐานที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ก็ควรที่จะรู้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การปรารถนาซึ่งเป็นกุศล ไม่ใช่การปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ควรเป็นการปรารถนาที่จะเพิ่มพูนปัญญาให้สมบูรณ์ ให้ถึงความคมกล้าที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท