แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 715

ถ. ทาน ๕ อย่าง คือ ๑.ให้ของที่เลวกว่าที่ตนกินตนใช้ ๒.ไม่ได้ให้ทานด้วยตนเอง สั่งให้คนอื่นให้ ๓.ให้ทานโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ ให้ๆ ไปอย่างนั้นเอง ๔.ให้ของที่ทิ้งเป็นทาน ๕.ให้ทานโดยไม่ได้หวังผลภายหน้า ทาน ๕ อย่างนี้ เป็นกุศลหรืออกุศล

สุ. ขึ้นอยู่กับเจตนา บุคคล ๒ คนกระทำสิ่งเดียวกัน ดูภายนอกเหมือนเป็นอาการเดียวกัน แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วต่างกันมากโดยสภาพของจิต สำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งที่ดีจะให้ จำเป็นต้องให้สิ่งที่มีซึ่งใช้อยู่ ก็ให้ในสิ่งนั้น แต่การให้ในขณะนั้นประกอบด้วยความผ่องใสของจิต ความยินดีในการให้ ต่างกับบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่มีมาก แต่เวลาที่จะให้คนอื่น ก็ให้สิ่งที่เสมอกัน หรือว่าเลวกว่า และปราศจากความผ่องใสของจิตใจ เพราะฉะนั้น อาการภายนอกไม่สามารถที่จะบอกได้

ถ. เด็กผู้หญิงที่บ้าน เขาทำงานมีเงินเดือนแล้ว เสื้อผ้าก็มีหลายชุด ตัดมาใหม่เรื่อยๆ พ่อแม่เขาก็เอาเสื้อผ้าที่เขาไม่ใช้แล้วไปให้ขอทานที่มาขอเสื้อผ้าโดยไม่ได้บอกเขาก่อน แต่ภายหลังเมื่อเขารู้ เขาก็เฉยๆ การที่เอาของไม่ใช้แล้วไปให้ เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล

สุ. ตราบใดที่ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล แต่ว่ากุศลของใคร

ถ. เป็นของเจ้าของ

สุ. เจ้าของมีเจตนาที่จะให้หรือเปล่า

ถ. แต่ภายหลังเขาก็ยินดีเหมือนกัน

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แล้วแต่สภาพของจิต ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้นก็เป็นกุศล ขณะนั้นจะเป็นอกุศลไม่ได้ ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้นก็ต้องเป็นอกุศล และจิตก็เกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วเหลือเกิน ยากที่ใครจะไปจับจิตของใครมารู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น ตนเองเท่านั้นที่จะทราบตามความเป็นจริง

ถ. มีคนมาขอสตางค์ขณะที่นั่งรับประทานอาหารในร้าน ก็ให้ไปเพราะรำคาญ จะเป็นบุญหรือไม่ใช่บุญ

สุ. ซั่วขณะที่ให้ จิตที่ให้มี ไม่ใช่จิตที่ไม่ให้ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะนั้นเป็นกุศล จะเล็ก จะน้อย จะนาน จะมากอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขณะที่ให้ ขณะนั้นเป็นกุศลชั่วขณะเล็กน้อย

ถ. แต่ให้ด้วยความรำคาญ

สุ. ความรำคาญเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ต้องตรงต่อสภาพธรรม ถ้าเป็นอกุศลตลอด ก็ไม่มีขณะจิตที่จะให้ แต่ขณะใดที่ให้ แม้ว่าจะมีความรำคาญ ก็แสดงว่า ขณะที่ให้นั้นเล็กน้อยกว่าขณะที่รำคาญ ขณะที่รำคาญมีมากกว่าจึงปรากฏลักษณะของการให้ด้วยความรำคาญ

ขณะที่ให้เป็นกุศล ขณะที่รำคาญเป็นอกุศล เกิดดับสลับกันเร็วมาก มีใครบ้างที่จะมีกุศลโดยตลอด โดยที่ไม่มีอกุศลเกิดคั่นเลย ในการทำบุญเลี้ยงพระแต่ละครั้งๆ ในการทำกุศลแต่ละครั้ง มีใครบ้างที่มีกุศลจิตเกิดโดยตลอดโดยไม่มีอกุศลเกิดคั่นเลย

ถ. ให้ทานโดยของที่อยากจะเททิ้งเสีย มีทั้งกุศลและอกุศลใช่ไหม

สุ. มีประโยชน์สำหรับผู้รับไหม เป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าให้สิ่งที่เป็นประโยชน์จึงเป็นทาน ถ้าให้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็น ของเน่า ของเสีย เขาได้ไปก็เอาไปทิ้ง จะชื่อว่าเราได้กุศล หรือจิตเป็นกุศลได้อย่างไร ไปทำให้คนอื่นเขามีภาระเดือดร้อนรำคาญต่างหาก ถ้าของนั้นยังเป็นประโยชน์อยู่ ควรให้ อย่าทิ้ง กรุณาอย่าทิ้งสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น

ถ. ให้ทานโดยไม่ได้หวังผลภายหน้าเป็นอย่างไร

สุ. คือ ไม่ใช่เพื่อต้องการจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือว่าไม่ใช่เพื่อที่เราให้เขาวันนี้ เราจะได้วันหน้า หรือให้เขาไปหน่อยหนึ่ง เราก็คงจะได้ลาภมากๆ อะไรอย่างนั้น

สำหรับวิริยบารมี ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นธรรมที่เกื้อกูลกุศลประการต่างๆ อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านที่ยังเป็นคนย่อหย่อนเกียจคร้านในการกุศล ลำบากจัง เหนื่อยนัก หรือว่าเสียเวลามาก หรือว่าลำบากนิดหน่อย ก็แล้วแต่ ในความรู้สึกของท่าน ขณะนั้นเป็นอกุศล ถูกครอบงำแล้วด้วยอกุศล กุศลจึงเกิดไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เป็นบารมี กระทำทันที หรือถ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่กระทำกุศลยากเพราะเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในการกุศล ก็ต้องเป็นผู้ที่ขยันเดี๋ยวนั้นทันที เพราะชีวิตแต่ละขณะไม่ใช่ยืนยาวเลย ชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ขึ้นอยู่แต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะทอดธุระ หรือว่าเป็นผู้ที่ยังคง ย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้วก็จะขาดวิริยบารมี ซึ่งจะไม่ทำให้อกุศลเบาบางเลย ทางเดียวที่จะทำให้อกุศลเบาบางได้ คือ เป็นผู้ที่ขยันไม่เกียจคร้านในการกุศลทั้งปวงที่สามารถจะกระทำได้

บางท่าน เมื่อเวลาผ่านไป ท่านก็เกิดเสียดายโอกาสของกุศลที่ควรจะได้กระทำ แต่ไม่ได้กระทำ เพราะว่าขณะนั้นเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในกุศล เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกถึงวิริยบารมี และสร้างวิริยบารมี เพื่อที่จะละคลายอกุศล

บารมีต่อไป คือ ขันติบารมี ความอดทน ซึ่งมีความหมายกว้างขวางมาก เพราะไม่ใช่อดทนต่อเฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แม้สิ่งที่น่าพอใจ ก็อดทนที่จะไม่เกิดโลภะ ความยินดี ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏด้วย

ขันติเป็นกุศลธรรม เป็นโสภณธรรม เพราะฉะนั้น จะไม่เกิดกับอกุศล จะไม่เกิดกับโลภมูลจิต ต้องเกิดกับโสภณจิต ความอดทนที่เป็นอกุศลมีได้มากมายใช่ไหม ด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ ท่านทนทุกอย่างเพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะค่ำคืนดึกดื่นก็ทนได้ เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าเป็นค่ำคืนดึกดื่นเพื่อที่จะเจริญกุศล กระทำกุศล ทนได้ไหม ถ้าทนได้ ก็เป็นขันติบารมี และอย่าลืมว่า ความอดทนนั้นไม่ใช่อดทนเฉพาะสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ แม้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็ย่อมสามารถที่จะอดทน คือ มีขันติได้

ทุกท่านย่อมรู้จักตัวเองว่า ความอดทนของท่านมีมากหรือมีน้อย หนาว อดทนได้ไหม ร้อน อดทนได้ไหม อดทนที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะต้องทนหนาว แต่หมายความว่า ไม่เกิดอกุศล ไม่เกิดความรำคาญ ไม่เกิดความเดือดร้อน อากาศร้อนทนได้ไหม ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ท่านทนร้อนจนกระทั่งไม่แก้ไขให้ร่างกายสบายขึ้น แต่ทนที่จะไม่เดือดร้อนได้ไหมในขณะนั้น ท่านจะทำสิ่งใดก็ได้ แต่ต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าเป็นความไม่แช่มชื่นของจิตในขณะที่หนาว ในขณะที่ร้อน ในขณะที่รสอาหารไม่น่าพอใจ หรือในขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่น่าพอใจ ในขณะนั้นต้องรู้ว่าสภาพของจิตเป็นอย่างไร หนาว จิตเป็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ ซึ่งควรจะต้องไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง เพราะว่าถ้าพอใจก็เป็นโลภะ ถ้าไม่พอใจก็เป็นโทสะ จะเป็นบารมีได้ไหมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ความอดทนนี้ คือ อดทนที่จะเป็นผู้สงบในขณะนั้น ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ

ถ. ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่ทราบสภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดว่าเป็นขันติบารมี คือ เขาต่อสู้กับความง่วง ความเจ็บ ความปวด บางคนนั่งสมาธิตลอดคืน หรือเป็นชั่วโมงๆ บางคนก็ดูรูปดูนามตลอดคืนในสำนักปฏิบัติ เขาก็คิดว่า เขามีวิริยะด้วย มีความอดทนด้วย แต่ว่าจะเป็นขันติ หรือเป็นวิริยะจริงหรือไม่จริง เขาก็ไม่รู้ ที่ว่าขันติบารมีที่แท้จริงในการปฏิบัติธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายโดยละเอียด

สุ. เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ความอดทนที่เป็นกุศล จะให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ให้อกุศลจิตเกิด

ถ. ถ้าเป็นกุศลจิต เป็นความอดทน แต่ขณะที่ดูรูปดูนาม ขณะนั้นอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แต่ผู้ปฏิบัตินั้นไม่เข้าใจ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็คิดว่า เป็นขันติ เป็นความอดทน อย่างนี้เป็นต้น

สุ. แต่ไม่ใช่บารมี เพราะว่าบารมีต้องเป็นสภาพธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ถ้าข้อปฏิบัติผิดจะไม่มีวันถึงฝั่ง คือ พระนิพพานได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่บารมี

บารมี สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าใครจะเป็นกุศล แต่ไม่ต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ไม่ใช่บารมี

ผู้ฟัง ในโอวาทปาติโมกข์ บาลีท่านว่าอย่างนี้ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน และท่านขยายว่า ตีติกฺขา คือ ความอดกลั้นเป็นตบะอันสูงสุด คือ อดทนมีความอดกลั้นด้วย

สุ. ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะคำว่า ตปะ หมายความถึงธรรมที่เผากิเลส ขันติ คือ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความอดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้จะถึงฝั่งไหม รูปารมณ์กำลังปรากฏ จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่อดทนที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน ได้ไหม

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. อดกลั้นต่อโลภะ โทสะ มิฉะนั้นแล้วจะเผากิเลสได้อย่างไร จะเอาโลภะไปเผากิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะเอาโทสะไปเผากิเลส ก็เป็นไปไม่ได้

ท่านที่ขาดความอดทน ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ถึงฝั่ง ไม่ถึงนิพพาน ไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น บารมีทั้ง ๑๐ เป็นเครื่องสำรวจ เพื่อที่ท่านจะสร้างบารมี ที่ท่านยังย่อหย่อนให้เพิ่มพูนขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจท่านผิด ว่าร้ายท่านต่างๆ ขันติ ความอดทน มีไหมที่จะไม่โกรธ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่มีคน ไม่มีตัวตน ไม่มีใครที่กำลังว่า เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่รู้เสียง และต่อจากนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่รู้ความหมายของเสียงสูงเสียงต่ำนั้นๆ ซึ่งแล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ

ถ. รู้สึกว่า จะต้องใช้ความอดทนตั้งแต่ขั้นการฟังทีเดียว คือ ขณะที่ฟังคำบรรยาย ก็รับฟังด้วยความอดทน บางครั้งขณะที่ฟังอาจจะเกิดอกุศลจิตคิดว่า อาจารย์ผู้นี้บรรยายไม่ได้ความ ต้องอาจารย์โน้น โดยไม่ได้พิจารณาธรรมว่า ธรรมที่บรรยายนี้ตรงตามพระพุทธพจน์หรือไม่ ถ้าเข้าใจผิดไขว้เขวไป ความอดทนที่จะพิจารณาก็ไม่มี อย่างนี้จะถูกไหม

สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความอดทนควรจะมีในที่ทั้งปวง แม้แต่ในขณะที่ฟังธรรม ถ้าเป็นธรรมที่ยาก ลึกซึ้ง ก็อดทนที่จะต้องติดตามฟังต่อไป แม้ว่าในตอนตั้งต้นอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก หรือว่าเข้าใจได้น้อย ถ้าเป็นธรรมที่ผิดคลาดเคลื่อน ก็จะต้องอดทนฟังที่จะรู้ว่าผิดตรงไหน คลาดเคลื่อนตรงไหน เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ถูกตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดคลาดเคลื่อน สิ่งใดไม่จริง

ถ. จากขั้นการฟัง เมื่อฟังเข้าใจแล้ว ก็ยังเหลือขั้นการคิด ขั้นการคิดนี้ต้องใช้ความอดทนพากเพียรพิจารณาถ้อยคำ และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้ฟังมาให้เข้าใจถ่องแท้ นี่ก็ต้องอดทนเหมือนกัน

สุ. ถ้าท่านใจร้อน ท่านก็จะรีบไปปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ได้รู้ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจธรรมได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทนในการพิจารณา ไตร่ตรอง เทียบเคียง เพื่อให้เป็นความเข้าใจถูกจริงๆ เพื่อการปฏิบัติจะได้ไม่ผิดไป

ถ. เมื่อเข้าใจขั้นไตร่ตรอง จนเป็นที่พอใจว่าเข้าใจถ่องแท้แล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ คือ ถ้าฟังยังไม่เข้าใจแล้วไปปฏิบัติ ก็ไม่ถูก ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย

สุ. เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. มีผู้ที่มาฟังธรรมท่านหนึ่ง มาจากต่างจังหวัด เขาฟังมานาน ๓ ปีแล้ว ดิฉันก็นึกอนุโมทนาในการที่เขาพากเพียรฟัง เขาบอกว่ายังไม่เข้าใจ แต่ก็ชอบฟังที่อาจารย์บรรยาย เขาถามดิฉันว่า เริ่มต้นที่ตรงไหน ดิฉันก็บอกว่า ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ๖ ทวารนี้มีธรรมอะไรที่ปรากฏ ก็ระลึกรู้ทันทีตามความเป็นจริง เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ทันที ตาก็มีเห็น หูก็มีเสียง จมูกก็มีกลิ่น ลิ้นก็มีรส กายก็สัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ขณะใดที่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ระลึกทันที ซึ่งอาจารย์ก็ย้ำเสมอว่า เป็นผู้ขยัน บ่อยๆ เนืองๆ ที่จะระลึกรู้

สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า บารมีนี้แสนไกล กว่าจะอบรมจากการไม่รู้ ฟังไปแล้วตั้งนาน ก็ยังต้องอดทน และมีความเพียรที่จะฟังต่อไปที่จะให้เข้าใจขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกและให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565