แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 716

สุ. สำหรับบารมีต่อไป คือ สัจจบารมี ความจริง กายจริง วาจาจริง ใจจริง เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตนเอง คือ ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้ อกุศลเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นของท่านเอง หรือของใครก็ตาม เป็นกุศลไม่ได้

สัจจบารมี พูดจริง ทำจริง และจริงใจ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านสำรวจตัวของท่านเองได้ว่า เคยหลอกตัวเองบ้างไหม และหลอกคนอื่นด้วยหรือเปล่า บ่อยๆ ไหม ขณะใดที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล หาใช่กุศลไม่ สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่จริงใจ ไม่จริง ไม่ตรง ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย หรือว่าด้วยวาจา ด้วยใจก็ตาม ต้องเป็นอกุศล ในเมื่อทุกท่านยังมีอกุศลอยู่ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะให้ไม่จริงใจ หรือว่ากายไม่จริงบ้าง วาจาไม่จริงบ้าง มากหรือน้อยตามการสะสม

เมื่อเห็นโทษของความไม่จริง ก็ต้องอบรมบารมี ซึ่งเป็นความจริงให้ยิ่งขึ้น พูดจริงเสมอหรือเปล่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความเกี่ยวกับคำพูดสำหรับคำพูดที่ไม่จริงว่า อุปมาเหมือนแกงถั่ว เพราะว่าถั่วนี้เวลาต้มย่อมมีสุกบ้าง ไม่สุกบ้าง เวลารับประทานไป บางครั้งก็เจอเม็ดแข็งๆ ที่ไม่สุก ก็เหมือนกับคำพูด พูดกันมาก จะมีส่วนที่ไม่จริงแทรกขึ้นมาบ้างไหมในคำพูดนั้น หรือว่าจริงหมดโดยตลอดตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ใครจะรู้ นอกจากตัวท่านเอง เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดเกิดคำไม่จริงขึ้น ก็รู้ว่าตัวท่านนี้มีไม่จริงมาก หรือจริงมาก

อกุศลทั้งหลายจะละหมดได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้อกุศลนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นปัญญา ซึ่งย่อมจะเห็นว่า น่ารังเกียจ เป็นโทษ และปัญญาขั้นต่อไป ก็คิดที่จะละคลายอกุศลที่น่ารังเกียจนั้นให้เบาบาง

ถ้าเป็นอกุศลธรรม จะไม่เห็นโทษของอกุศลเลย แต่จะเป็นไปกับอกุศลด้วยความยินดี ด้วยความพอใจในอกุศลธรรมนั้นๆ เมื่อไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นภัย ก็ย่อมเพิ่มอกุศลนั้นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่จริงทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจด้วย

ถ้าท่านผู้ใดพิจารณาตนเองและเห็นว่า บารมีข้อนี้ยังย่อหย่อน สติก็จะทำให้รังเกียจในอกุศลธรรมในขณะนั้น ซึ่งถ้าไม่ละเว้นในขณะนั้น ยังคงไม่จริงต่อไป ก็ย่อมจะไม่ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ต้องอาศัยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพของอกุศลธรรมในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงต่อสภาพธรรมนั้น เมื่อเป็นอกุศลก็ละเสีย อย่ารอว่าวันหลังจะละ เพราะว่าเมื่อเพิ่มพูนขึ้นจนถึงวันหลัง ย่อมยากแก่การที่จะละได้

สัจจบารมี บอกว่าจะทำอะไร ก็ทำให้จริงตามความคิด ตามคำพูด เป็นผู้ที่จริงทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

สำหรับบารมีต่อไป คือ อธิษฐานบารมี มีความตั้งใจมั่นในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ไกลมาก นานมาก แต่ถ้ามีความตั้งใจมั่น วันหนึ่งย่อมจะถึงได้ เพราะฉะนั้น การตั้งใจมั่นในชาตินี้ ก็ควรจะเป็นความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่เปลี่ยนความปรารถนา หรือความตั้งใจมั่นไปเป็นอื่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่านั่นเป็นการติดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการสละ ไม่ใช่เป็นการละ

บารมีต่อไป คือ เมตตาบารมี ในชีวิตประจำวัน

ชีวิตแต่ละขณะที่ท่านเห็นว่าเป็นตัวท่าน ยึดถือว่าเป็นตัวท่านก็ดี หรือว่าเป็นชีวิตของท่านก็ดี ความจริงแล้วก็คือสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้น และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าท่านสำรวจพิจารณาบารมีประการต้นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว เช่น ทานก็ดี ท่านก็รู้ว่าตัวท่านก็มี ศีลตัวท่านก็มี เนกขัมมะ ความรู้สึกพอ ตัวท่านก็มี เพราะบางท่านเป็นผู้ที่สันโดษ มักน้อย ไม่ปรารถนามากในสิ่งต่างๆ ในวัตถุต่างๆ สำหรับวิริยะ ท่านก็เป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการงาน คนอื่นก็ยังเป็นผู้ที่ท้อถอย แต่ท่านเป็นผู้ที่ขยันในการประกอบการงานในกิจการงานต่างๆ ขันติ ท่านก็เป็นผู้ที่อดทนได้น่าชมทีเดียว สัจจะ ท่านก็เป็นผู้ที่พูดจริง ทำจริง อธิษฐาน ท่านก็เป็นผู้ที่ตั้งใจมั่น แต่ว่าเมตตาบารมี มีหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น เพียงบารมีต้นๆ ยังไม่พอในการที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น บางท่านอาจจะพอใจแล้วในความดีของท่าน ในทาน ในศีล ในเนกขัมมะ ความรู้จักพอ ในปัญญา ในวิริยะ ในขันติ ในสัจจะ ในอธิษฐาน แต่ว่าท่านเคยคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ยิ่งขึ้นไหม เพราะบางท่านอาจจะพอใจในความดีของตนเอง และคิดว่าพอแล้ว ลืมที่จะเจริญความดีให้ยิ่งขึ้นไปอีก ให้ถึงกับมีเมตตาที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น ทั้งเป็นผู้ที่คุ้นเคย หรือว่าเป็นผู้ที่แปลกหน้า เป็นผู้ที่ไม่รู้จักกันเลยก็ตาม ซึ่งในชีวิตประจำวันท่านจะทราบได้ว่า ท่านยังขาดบารมีข้อใด หรือว่าบารมีข้อใดของท่านยังยิ่งหย่อน

บางท่านเป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นมาก ก็ควรที่จะคิดทบทวนถึงบารมีข้ออื่นๆ ว่า ยิ่งหย่อน หรือว่าเท่ากับการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นซึ่งท่านมีมาก และถ้าท่านเป็นผู้มีบารมีข้ออื่น แต่ว่าการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นนั้นยังน้อย ก็ขอให้คิดพิจารณาว่า เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะว่าท่านพอใจในความดีของท่านแล้ว หรือว่าเป็นเพราะกิเลสอื่น เช่น มานะ ความสำคัญตน คิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น หรือคิดว่าถ้าสงเคราะห์คนอื่นแล้ว คนนั้นจะคิดอย่างไรกับท่าน จะคิดมาก คิดน้อยอย่างไร ซึ่งขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แทนที่ท่านจะสงเคราะห์โดยที่ไม่คำนึงถึงคนอื่นว่าจะคิดถึงท่านอย่างไร จะ ชื่นชมโสมนัส หรือจะติเตียนนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็เป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวท่าน แต่เรื่องของตัวท่านที่จะต้องระลึกถึง คือ ความดีเท่าไรที่ท่านคิดว่าพอแล้วนั้น ไม่พอ การเจริญกุศลไม่มีวันที่จะพอ ถึงแม้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันแล้ว ก็ยังไม่พอในการที่จะขัดเกลากิเลสให้ถึงความเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชน ซึ่งยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล อย่าประมาทในกุศลที่ท่านคิดว่าท่านมีและพอแล้ว เพราะว่ากุศลทั้งหลายนั้นไม่พอเลย ไม่ว่าท่านจะกระทำความดีมากสักเท่าไรก็ยังไม่พอ และถ้าสติเกิดจะรู้ได้ในขณะนั้นว่า ที่ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นนั้น เป็นเพราะอกุศลอะไร

เพราะว่าเห็นแก่ตัว หรือเพราะว่ามีมานะ ถือตน หรือเห็นว่าเป็นการเสียเวลา หรือเห็นว่าประโยชน์ของท่านจะเสียไป หรือบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ตัวท่านมีกุศลมากแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่คบใคร กุศลหรืออกุศลที่คิดอย่างนี้ การคบเพื่อสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือ เป็นกุศลไหม ถ้าเป็น ทำไมจึงไม่คบกับคนอื่นเพื่อที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นให้กว้างยิ่งขึ้นเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้

เมตตาของท่านไม่ควรจะจำกัด เพราะถ้าจำกัดแล้ว อาจจะไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ คือ เป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะถ้าดูเพียงภายนอก ลักษณะคล้ายคลึงกัน การที่ท่านทำความดีกับบุคคลที่ใกล้ชิด บุคคลที่ท่านเคารพนับถือรักใคร่ ดูเสมือนว่าเป็นกุศล แต่ทำไมกับบุคคลอื่นทำไม่ได้ ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ไม่เหมือนกันหรือ ไม่ว่าใคร ผู้ที่ท่านไม่สนิทสนมไม่คุ้นเคย กับผู้ที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคย ก็เสมอกัน ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ เพราะฉะนั้น ท่านที่ต้องการจะเจริญเมตตาบารมี อย่าจำกัด เพราะถ้าจำกัดแล้ว ควรพิจารณาลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า การกระทำด้วยเมตตา เสมือนการกระทำของมารดาต่อบุตร ดูภายนอกคิดว่า มารดาเมตตาบุตร หรือว่ารักบุตร จึงยอมสละ กระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้บุตรได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถจะกระทำต่อบุตรได้เลย ต้องเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบุตรก็จะต้องสกปรกเปรอะเปื้อน ไม่น่าที่จะแตะต้อง น่ารังเกียจหลายประการ แต่ว่ามารดาก็กระทำสิ่งนั้นได้ ซึ่งยากที่บุคคลอื่นจะกระทำให้ได้ ควรพิจารณาว่า ขณะนั้นมารดาเมตตาบุตร หรือรักบุตร ผู้ที่เป็นมารดาทราบใจจริงของท่าน ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาย่อมเสมอเหมือนกับการกระทำของมารดาที่มีต่อบุตรนั้น ไม่ผิด แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ต้องเอาโลภะออก เอาความรักใคร่ของมารดาที่มีต่อบุตรออกไป เหลือแต่การกระทำที่เสมือนการกระทำของมารดาที่มีต่อบุตร ถ้าท่านสามารถกระทำต่อบุคคลอื่นได้ในลักษณะเดียวกัน และไม่ใช่ด้วยโลภะ นั่นจึงจะเป็นเมตตา

ถ. คำว่า เมตตานี้ เมื่อก่อนดิฉันยังไม่ได้เจริญสติ ดิฉันเคยเห็นผู้ใหญ่บางคนเป็นคนมีเมตตา และดิฉันก็เลื่อมใสมาก ดิฉันนึกว่า ทำอย่างไรใจเราจะมีความอ่อนโยนและมีเมตตาต่อคนอย่างกว้างขวางเหมือนท่านผู้นี้บ้าง ดิฉันไม่มีหนทางจริงๆ แต่ขณะที่ดิฉันได้มาศึกษาการเจริญสติปัฏฐานที่อาจารย์บรรยาย ดิฉันก็ระลึกรู้สภาพของโทสะบ่อย ตั้งแต่โทสะมากๆ จนกระทั่งโทสะเล็กๆ น้อยๆ หรือว่ามีความขุ่นใจนิดๆ ซึ่งก็นานเป็นปีๆ สภาพจิตขณะที่เกิดเมตตาก็ไม่เคยปรากฏ แต่ขณะที่ระลึกรู้โทสะบ่อยๆ เจริญสติด้วยประการทั้งปวง ดิฉันก็เห็นสภาพจิตขณะที่เกิดเมตตา ขณะที่จะหยิบอะไรส่งให้ใครๆ เพียงนิดหน่อย สภาพจิตนี้เต็มไปด้วยความอ่อนโยน และผ่องใส แม้แต่สัตว์ เมื่อก่อนดิฉันไม่ชอบสุนัข ดิฉันรำคาญ เขาสกปรก เมื่อดิฉันเจริญสติแล้ว ความรำคาญนั้นก็ค่อยยังชั่ว การเจริญเมตตาซึ่งดิฉันไม่เคยหวังว่าดิฉันจะมีได้ เพราะดิฉันไม่รู้จักลักษณะของเมตตา แต่ดิฉันก็ไม่ใช่คนใจร้าย สงสารอยู่ แต่ไม่เคยเห็นลักษณะสภาพของเมตตาที่ปรากฏที่จิตของตัวเอง และตั้งแต่นั้นมา ดิฉันก็รู้ว่า การเจริญเมตตานี้ คือ เจริญสติด้วยประการทั้งปวง และสัตว์ทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายก็ตาม จะเป็นผู้ต่ำต้อย หรือจะสูงศักดิ์ ก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน ดิฉันก็เลยรู้จักเจริญเมตตา

สุ. ในขณะที่เมตตา จิตก็สงบ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ และในขณะนั้นรู้สภาพของจิตด้วยว่า เป็นลักษณะของเมตตา เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่โมหะ นี่คือ การเจริญสมถะในชีวิตประจำวัน

อย่าหวังถึงฌานจิตเลย แสนยาก ในเมื่อยังไม่รู้ลักษณะของความสงบของจิต และจะเจริญความสงบให้มั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การเจริญภาวนาไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ถ้าขาดปัญญาแล้ว อบรมเจริญไม่ได้ เช่นตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึง ถ้ายังไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ว่า ลักษณะของเมตตาเป็นอย่างไร เมตตาก็ย่อมไม่เจริญขึ้น แต่เมื่อรู้ลักษณะของเมตตาแล้วว่า ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ เป็นความสงบ เมื่อนั้นความสงบก็จะเกิดบ่อยขึ้น

คำว่า ภาวนา ไม่ได้หมายความว่า ไปนั่งจ้อง จดจ้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่หมายความถึงการอบรมจนกระทั่งเป็นนิสัย

สมถภาวนา คือ การอบรมความสงบ เพราะรู้ลักษณะของความสงบ เพราะรู้ลักษณะขณะที่มีเมตตา เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามที่หวังจะทำสมาธิ และจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยปัญญาไม่รู้ลักษณะความสงบของจิต เป็นไปได้ไหมที่จิตจะสงบขึ้นๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยเมตตา จิตที่สงบจึงเกิดขึ้นอีก บ่อยๆ เนืองๆ

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มีข้อความที่กล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด คือ สมถะก่อน วิปัสสนาทีหลัง หรือว่าวิปัสสนาก่อนสมถะทีหลัง หรือว่าสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เพราะฉะนั้น ตัวอย่างของท่านผู้ฟังก็แสดงให้เห็นว่า เพราะสติปัฏฐานเป็นปัจจัย จึงมีความสงบเกิดขึ้นภายหลังได้

สำหรับบางท่านที่เจริญความสงบ และภายหลังเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน นั่นก็เป็นผู้ที่เจริญความสงบก่อน และสติปัฏฐานจึงเกิดขึ้น

หรือว่าสำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แต่ว่าบางขณะท่านจะรู้ได้เลยว่า จิตที่สงบ ที่เป็นเพียงสมถะ ที่ไม่รู้ลักษณะของความสงบนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ และรู้ลักษณะของเมตตาหรือกรุณาตามความเป็นจริง และก็ภายหลังสติจึงจะระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยลักษณะนั้น สมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดภายหลัง

แต่ว่าเรื่องของภาวนาทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามขั้นของความรู้ที่เป็นสมถะ หรือว่าความรู้ที่เป็นวิปัสสนา

ถ้าท่านเห็นผู้ใดผู้หนึ่งแสดงไมตรีจิตกับคนแปลกหน้า หรือคนซึ่งไม่ใช่คนสนิท ก็อย่าคิดว่า ทำไมจะต้องไปแสดงอย่างนั้นกับคนนั้น ลักษณะของเมตตา ไม่จำกัดบุคคล ทั่วไปกับทุกท่าน เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิด หรือว่าเป็นผู้ที่ห่างไกล หรือแม้ผู้ที่ไม่รู้จักเลยก็ตาม

ผู้ฟัง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในนวโกวาทแปลไว้อย่างนี้ เมตตา ท่านแปลว่า ความสงสาร อยากจะให้พ้นทุกข์ กรุณา ความหวั่นใจ คิดจะให้เป็นสุข มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้รับความสุข อุเบกขา ความไม่เสียใจความไม่ดีใจ เมื่อผู้อื่นได้รับทุกข์ ท่านว่าอย่างนี้

สุ. ไม่ทราบว่า ความจำคลาดเคลื่อนหรือเปล่า หรือว่าพยัญชนะอาจไม่ชัดเจน แต่ว่าลักษณะของเมตตานั้น เป็นความหวังดี เป็นความปรารถนาดี เป็นความต้องการให้คนอื่นมีความสุข

ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นบ้างไหม ในขณะนั้นมีความหวังดีที่จะให้เขาเป็นสุข เขายังไม่ได้มีความทุกข์อะไร แต่ท่านก็มีจิตเมตตาอนุเคราะห์ที่จะให้เขามีความสุข ขณะนั้นเป็นเมตตา มีความหวังดีต่อคนอื่น แต่ถ้าขณะใดบุคคลใดกำลังทุกข์ร้อน เดือดร้อน ท่านเกิดความกรุณาใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ มีการช่วยเหลือบุคคลที่ป่วยไข้ได้เจ็บ มีการรักษาพยาบาลบุคคลที่กำลังเจ็บป่วย นั่นคือ ความกรุณา ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นทุกข์

เปิด  231
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566