แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 718
สุ. แต่ส่วนมากท่านผู้ฟังอาจจะบอกว่า ทนไม่ได้ ในเมื่อสิ่งแวดล้อมและบุคคลที่ใกล้ชิดท่านเป็นผู้ที่มีบาปธรรม ท่านก็ย่อมพลอยเป็นอกุศลไปด้วย ที่จะไม่ให้เกิดโลภะ จะไม่ให้เกิดโทสะนั้นยาก เพราะฉะนั้น ต้องเห็นตามความเป็นจริงอีกเหมือนกันว่า โลภะเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง โทสะที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้สภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย โดยไม่ให้เลือกว่าสภาพธรรมที่ไม่ดีอย่างนี้จะไม่ระลึกรู้ จะขอคอยเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอื่นที่ดีกว่านี้ และจะเจริญปัญญา ถ้าโดยความเข้าใจอย่างนั้น ปัญญาจะไม่เจริญขึ้น เพราะว่าลักษณะของปัญญาที่คมกล้าจริง ต้องหมายความถึงปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ก็ได้ที่ปรากฏ ไม่เลือก
อย่างในขณะนี้ สภาพธรรมเกิดปรากฏ ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ได้เมื่อเป็นปัญญา แต่ถ้าปัญญาขั้นนี้ยังไม่เกิด ก็จะต้องอบรม คือ ระลึกและศึกษาเพื่อความรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในเหตุการณ์นั้นๆ จะเป็นสภาพธรรมที่ดีหรือไม่ดีประการใดๆ ก็ตาม
บางท่านยังเข้าใจเรื่องความสงบของจิตไม่ถูกต้อง จึงพยายามที่จะเจริญสมาธิ และเข้าใจว่า ขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนั้นเป็นความสงบ แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลยว่า ลักษณะความสงบของจิต ต้องเป็นขณะที่ปราศจากความยินดียินร้าย และต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะสภาพของความสงบที่กำลังสงบในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ความติด ไม่ใช่ความพอใจในสมาธิที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด
บางท่านเข้าใจว่า เมื่อไปสู่สถานที่ที่สงบเงียบ ความสงบจะมั่นคงขึ้น มีแต่ความหวังว่า เมื่อไปแล้วจะสงบมั่นคงขึ้น แต่ลืมคิดว่า ความสงบจะมั่นคงขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของความสงบเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน เพื่อที่จะเปรียบเทียบลักษณะของกุศลธรรมและอกุศลธรรมว่าต่างกัน ถ้าขณะนี้อกุศลจิตเกิดจะทำอย่างไร จะให้สงบ หรือว่าจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. ขณะที่อกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นสมัยที่ยังไม่ได้เจริญสติ ก็เพียรที่จะนึกถึงความดีของคนที่ทำให้เราเดือดร้อน แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นแบบนั้นอีก ก็โกรธอีก และยังนำเอาความโกรธเก่าๆ มาบวกเข้าอีกด้วย เหมือนกับคนที่ว่ายน้ำยังไม่แข็ง พอโดนกระแสน้ำก็ทนไม่ไหว จะจมมิจมแหล่ แต่ขณะที่เจริญสติ พอสติเกิด ก็ระลึกรู้สภาพความเร่าร้อนที่เกิดขึ้น
คำพูดบางคำ เคยได้ยินแต่คำพูดแต่ตัวหนังสือ อย่างคำว่า วิหารธรรม คือ มีธรรมเป็นที่อาศัยของจิตใจ ดิฉันเข้าใจถูกไหม
สุ. พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม ในชีวิตประจำวันนี้ เวลาที่ยุงกัด เคยคิดอยากจะฆ่าบ้างไหม ถ้าคิด ขณะนั้นสงบไหม
ท่านที่ต้องการเจริญความสงบ อย่ารีบร้อนที่จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด จดจ้องทำสมาธิ และก็เข้าใจว่าเป็นความสงบ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน ขณะที่นึกอยากจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย บางท่านไม่ฆ่ายุง ก็อาจจะฆ่ามด ขณะที่กำลังจะฆ่า สงบไหมในขณะนั้น นี่คือตามความเป็นจริง
ถ้าท่านต้องการเจริญความสงบ ขอให้ระลึกถึงความสงบตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีได้ก่อนที่จะไปถึงความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคง จนกระทั่งสภาพของจิตในขณะนั้นประกอบด้วยความสงบและสมาธิที่มั่นคงจริงๆ แต่ว่าชั่วขณะเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะของความสงบ
เวลาที่ท่านได้ยินได้ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง และก็เล่าสู่มิตรสหายฟัง ขณะนั้นสงบไหม ขอให้คิดถึงสภาพของจิต ถ้าจะเล่าเรื่องร้าย ขณะที่กำลังเล่าจิตสงบไหม ถ้าจะเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจในทางอกุศลธรรม ในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ในขณะนั้นสงบไหม
ท่านที่ต้องการเจริญกุศล ไม่เพียงขั้นทานและขั้นศีล แต่ต้องการถึงกับขั้นความสงบของจิตด้วย ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบในชีวิตประจำวัน ถ้าในชีวิตประจำวันท่านเพิ่มความสงบขึ้น ก็จะมีหวังที่ว่าเมื่อท่านระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบและอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบบ่อยๆ สมาธิก็จะประกอบกับความสงบนั้นอย่างมั่นคง หยั่งลงลึก และดื่มด่ำในความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิได้
แต่ว่าลักษณะของสมาธิขั้นอุปจาระและขั้นอัปปนาต้องต่างกับขณะที่เป็นขณิกะ คือ สมาธิในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านสามารถที่จะรู้ได้ แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้นและประกอบด้วยสมาธิขั้นใด ท่านก็สามารถที่จะรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้ว
ถ. ผมสงสัยว่า ควรเจริญอานาปานสติในกาลใดที่เหมาะสม ที่ต่อจากการเจริญสมาธิที่เป็นชีวิตประจำวัน
สุ. ทำไมเจาะจงที่จะเจริญอานาปานสติ
ถ. เพราะว่าในพระสูตรก็กล่าวถึง ในพระอภิธรรมก็มีกล่าว แต่ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ควรเจริญเมื่อไร ในกาลไหนที่เหมาะที่ควร
สุ. ขณะนี้มีลมหายใจไหม
ถ. มี
สุ. สงบไหม แค่นี้ก่อน อย่าเพิ่งไปถึงอุปจารสมาธิ หรือว่าอัปปนาสมาธิ หรือว่าฌานจิต คำถามของท่านผู้ฟัง ท่านต้องการให้ความสงบของท่านขึ้นถึงระดับนั้น แต่ว่าก่อนที่ความสงบจะขึ้นถึงระดับนั้นได้ ขณะนี้ลมหายใจมี จิตสงบไหม เท่านี้ก่อน
ถ. ผมยังไม่เข้าใจ
สุ. ถ้าไม่เข้าใจ จะไปจดจ้องที่ลมหายใจ และจะให้เป็นความสงบถึงขั้นสมาธิที่สูงขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้
ถ. ความสงบ ปัจจุบันที่มีลมหายใจอยู่นี้ อาจารย์จะให้กำหนดรู้ลมหายใจ หรือว่าจะให้ระลึกรู้ลมหายใจเท่านั้น
สุ. ลมหายใจมี ไม่ใช่นึกถึงชื่อลมหายใจ อย่าลืม ต้องมีสภาพของลมหายใจปรากฏ และขณะที่สภาพของลมหายใจปรากฏ จิตสงบไหม นี่คือขั้นต้นของการที่จะเจริญอานาปานสติ
ถ. เป็นการเจริญสติปัฏฐานไปในตัวด้วยใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ คนละขั้น เพราะว่าการเจริญสมถภาวนาเป็นความรู้ขั้นที่รู้ความต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิต ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนานั้น เห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แต่ไม่ใช่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพียงแต่รู้หนทางหรือวิธีว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมในขณะนั้น มีความรู้เพียงขั้นนั้น มีความรู้เพียงว่า จิตจะสงบได้อย่างไร นี่เป็นความต่างกันของปัญญาที่เป็นขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
ถ. ตามความเข้าใจของผม มีจิตหรือสติอยู่ที่ลมหายใจกระทบเข้าออกเท่านั้น รู้สึกว่าเกิดความสงบได้เช่นกัน ความฟุ้งซ่านหรือวุ่นวายต่างๆ ที่จิตไม่สงบ ก็สามารถยับยั้งลงไปได้บ้าง อยู่ในลักษณะที่ว่าใช้การได้ ผมมีความรู้สึกอย่างนี้
สุ. มีความพอใจในความสงบ หรือว่าในลมหายใจไหม
ถ. ไม่ ในขณะที่กำหนดรู้ที่ลมหายใจ หรือระลึกรู้ลมหายใจได้ ขณะนั้นรู้สึกว่า จิตเกิดมีความสงบ
สุ. สงบหมายความว่าอย่างไร
ถ. ในขณะนั้นจิตไม่เป็นโลภะ โทสะ คือ ขณะที่ไม่เจริญสติปัฏฐานจะไม่รู้ จะรู้แต่ว่าจิตขณะนั้นสงบจากความฟุ้งซ่าน จากความวุ่นวายต่างๆ แต่ผมไม่มีความรู้พอว่า ขั้นนี้จะถูกต้องหรือไม่
สุ. พอไหม เวลาที่สงบแล้วพอไหม ถ้าพอแล้ว คือ สงบ ถ้ายังไม่พอ คือยังไม่สงบ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เพราะฉะนั้น ปฏิบัติด้วยความต้องการ และไม่พอ จึงไม่ใช่ความสงบ
ถ. ความต้องการชนิดไหนจึงจะถูกทาง
สุ. ต้องการให้สงบขึ้นจึงมาถาม ถ้ารู้ลักษณะของความสงบแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความสงบ เกิดขึ้นอีกก็สงบ และจะสงบมั่นคงขึ้น ถ้าปราศจากความต้องการ แต่เพราะมีความต้องการ มีความสงสัย ซึ่งขณะนั้นไม่สงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของความไม่สงบในขณะนั้น
ถ. ขณะที่ปฏิบัติก็มีความรู้สึกว่า จิตนี้จับอยู่ที่ลมหายใจ
สุ. พอไหม
ถ. ขณะนั้นรู้สึกว่า จะช่วยให้สงบจากความฟุ้งซ่าน จากเรื่องราวต่างๆ
สุ. พอไหม ขณะนั้นรู้สึกพอไหม หรือว่าต้องการ ขวนขวาย ดิ้นรน เดือดร้อน กระสับกระส่ายแล้ว
ถ. ตามพระสูตรหรือพระอภิธรรมกล่าวไว้ว่า ให้เจริญถึงขั้นสูงขึ้นไปอีก เจริญกุศลให้มากขึ้นไปอีก
สุ. เพราะฉะนั้น มีความต้องการเกิดแล้ว เพราะไม่รู้ลักษณะของความสงบจริงๆ เพราะไม่รู้ว่ามนสิการ พิจารณาอย่างไรจิตจึงสงบ การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านที่จดจ้องที่ลมหายใจจิตจะสงบ ถ้าขณะนั้นเป็น โลภมูลจิต มีความต้องการที่จะจดจ้องที่ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ความสงบเลย
ถ. ข้อนี้จริง ความสงบจริงๆ ต้องกุศลจิตเกิด
สุ. ระลึกอย่างไร จิตจึงจะสงบ
ถ. ก็สติปัฏฐาน
สุ. เป็นคนละเรื่อง ถ้าสติปัฏฐานจะต้องละความยึดถือลมหายใจว่า เป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แล้วแต่อารมณ์อะไรจะปรากฏ นั่นเป็นสติปัฏฐาน อย่าปนกัน
ความสงบของสติปัฏฐานต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ส่วนความสงบที่ลมหายใจที่เป็นสมถภาวนา ต้องมีปัญญาที่รู้วิธีที่จะสงบในขณะที่รู้ลมหายใจ เพราะฉะนั้น พิจารณาอย่าไร ระลึกอย่างไร จึงสงบ
ถ. ผมประกอบธุรกิจ มีเรื่องราวต่างๆ ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เวลาจะพักผ่อนหลับนอนก็เกิดความฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น
สุ. ไม่ชอบ เป็นโทสะ ไปหาอารมณ์ที่ชอบด้วยโลภะ
ถ. อย่างนั้นก็ถูก ตามที่ศึกษามาแล้ว ผมก็ปฏิบัติอย่างนี้ และอาจารย์ก็ไม่ได้อธิบายบ่อย
สุ. เพราะฉะนั้น อย่าใจร้อน เรื่องสมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ อย่าเพิ่งไปถึงไหนๆ ที่จะให้เป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
ถ้าจะเจริญความสงบ ขณะที่รู้ลมหายใจ ระลึกอย่างไรจึงสงบ นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะพิจารณาว่าเป็นความสงบจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าไม่ใช่ความสงบแต่เข้าใจว่า เป็นความสงบ
ถ. การปฏิบัติ ให้จิตจับอยู่ที่ลมหายใจ ไม่ไปที่อื่น
สุ. ถ้าไม่มีปัญญา จะกล่าวว่าเป็นความสงบได้ไหม เพราะไม่ว่าการอบรมเจริญสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี จะต้องเป็นไปพร้อมกับปัญญา อย่าลืมข้อนี้ที่จะรู้ว่า ตัวท่านเจริญสมถภาวนา หรือว่าไปเจริญความต้องการ ความยินดี พอใจ จดจ้องที่ลมหายใจด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น ขาดปัญญาไม่ได้ในการเจริญภาวนาทั้งปวง
ถ. จริง ผมยอมรับ
สุ. เพราะฉะนั้น ขณะนั้นปัญญาอยู่ที่ไหน ขณะที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่ใช่สมถภาวนา และไม่ใช่สติปัฏฐาน
ถ. แต่ทำไมช่วยทำให้จิตสงบลงได้บ้าง
สุ. คิดว่าสงบ แต่มีความพอใจแล้วโดยไม่รู้ตัว
ถ. จิตสงบมีชั่วประเดี๋ยวเดียว และจิตประเภทต่างๆ ก็เกิดขึ้นอีกมากมาย
สุ. แต่พอใจที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจนั้นแน่นอน โดยปราศจากปัญญาด้วย
ถ. แต่ขณะนั้นก็รู้สึกว่าจิตสงบ
สุ. เวลาอยู่ในป่า ไม่ใช่ในโรงหนังโรงละคร มีดอกไม้สวยๆ มีลมพัดเย็นๆ มีแม่น้ำลำธาร มีนกร้อง รู้สึกสงบไหม
ถ. ยินดี
สุ. รู้สึกสงบ เข้าใจว่าสงบ พอใจแล้ว ไม่เหมือนเวลาที่ยุ่งแล้วคิดมากฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ เข้าใจว่าเวลานั้นสงบ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่สงบเลย ตราบใดที่มีความพอใจ จะชื่อว่าสงบไม่ได้
ถ. เหมือนกับที่ผมไปเจริญอานาปานสติใช่ไหม
สุ. หลักที่จะรู้ว่าเป็นสมถภาวนาหรือไม่ใช่สมถภาวนา คือ ขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นสมถภาวนาแน่นอน
ถ. แต่ผมรู้หลักอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเป็นกุศลสงบจริง
สุ. เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งใช้คำว่า สงบ เพราะว่าบางทีนั่งอยู่ในป่าดู พระอาทิตย์ตก ตื่นมาตอนเช้า ทุกอย่างเงียบสงบ ก็เข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นโลภะก็ได้ในขณะนั้น เพราะว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าเพิ่งรวบรัดว่าเป็นความสงบ และก็ไปเจริญ เจริญไปๆ ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้นเลย และถ้าเป็นอย่างนั้นความสงบจะเพิ่มกำลังขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าความสงบจะสงบขึ้น มั่นคงขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะเพิ่มความสงบขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ไปนั่งจดจ้องอยู่เท่าไรก็หาสงบไม่ แต่ก็เข้าใจว่าสงบ วิธีที่จะรู้ว่าสงบหรือไม่สงบ คือ ขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา และปัญญาในขณะนั้นรู้อะไร
ถ. ช่วงนั้นบางทีก็สงบบ้าง บางทีก็ไม่สงบบ้าง
สุ. สงบต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ขอให้พูดเรื่องช่วงที่สงบว่า
ประกอบด้วยปัญญาอะไร
ถ. ช่วงที่สงบนั้น คือ มีจิตจับอยู่ที่ลมหายใจ
สุ. ปัญญารู้อะไร สำคัญที่สุด คือ ปัญญารู้อะไร
ถ. รู้ว่าขณะนั้นจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ดิ้นรน ไม่วุ่นวาย ในขณะนั้นไม่ครุ่นคิด
สุ. พอไหม และเวลาที่เกิดความต้องการก็ไม่รู้ใช่ไหมว่า มีความต้องการเกิดแล้วที่จะปฏิบัติให้เพิ่มขึ้น
ถ. ขณะที่จิตครุ่นคิดถึงการงานอะไรต่างๆ มากมาย ประเดี๋ยวมาจับที่ลมหายใจ ก็ให้ความสงบ บ่อยๆ เข้า ความสงบเช่นนั้นก็เกิดขึ้นมากเหมือนกัน สามารถยับยั้งความฟุ้งซ่านต่างๆ ได้
สุ. โลภะอย่างละเอียดเคยเห็นไหมว่า อยู่ที่ไหน ขณะไหน
ถ. โลภะอย่างละเอียด เวลาเจริญสติปัฏฐานเคยเห็น
สุ. ธรรมดาขณะนี้
ถ. เคย ความพอใจนิดเดียวเท่านั้นเอง
สุ. ขณะที่กำลังมีลมหายใจเป็นอารมณ์ ขณะนั้นพอใจไหม
ถ. คนละขณะ
สุ. พอใจไหม ถ้าเจริญความสงบ ความสงบก็สงบขึ้นเท่านั้นเอง แต่เมื่อไม่สงบขึ้น และมีความพอใจเกิดขึ้น มีความต้องการเกิดขึ้น มีความไม่รู้หนทาง มีความต้องการที่จะให้สงบขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ และไม่ใช่หนทางที่จะสงบขึ้น เพราะว่าไม่ได้เริ่มจากความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา