แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 730

ผู้ฟัง (ต่อ) ตามที่ผมรู้ ทั่วๆ ไป คนที่จะเจริญวิปัสสนาก็ดี หรือจะเจริญสมถภาวนาก็ดี มักจะคิดว่า ไม่จำเป็นจะต้องรู้อะไรมาก่อนทั้งนั้น

ผมขอนำคำสอนของสำนักหนึ่งในกรุงเทพมาเล่าให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา คือใครก็แล้วแต่ถ้ามีศรัทธาที่จะปฏิบัติ ปฏิบัติได้ทันที โดยไม่ต้องมีความเข้าใจมาก่อนเลย ซึ่งท่านใช้วิธีนี้ คือ ก่อนอื่นท่านบอกให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนั่งสมาธิ และกล่าวตามท่านว่า

ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาล ให้ใจของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ

เมื่อกล่าวจบแล้ว ก็ให้ผู้ปฏิบัติท่องพุทโธในใจ ท่องไปเรื่อยๆ ผู้สอนก็แสดงธรรมต่อไป ให้ผู้ปฏิบัตินั่งตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเงี่ยหูมาฟัง หรือตั้งใจมาฟังเสียง แต่ให้คำเทศนานั้นเข้าทางหูรู้ถึงใจเอง และให้ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ

ท่านก็เทศน์ไปเรื่อยๆ และให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นปฏิกูล โดยอสุภะ พิจารณาไปจนกระทั่งจิตมีกำลังเกิดแสงสว่าง และนำ แสงสว่างนั้นไปพิจารณากาย พิจารณาไปจนกระทั่งทวนกระแสจิตถึงที่ตั้งของจิต เมื่อทวนกระแสจิตถึงที่ตั้งของจิตแล้ว จะเห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ท่านอุปมาว่า เหมือนกับโพกผ้าไว้บนศีรษะ ไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่เจอ เมื่อเอามือคลำศีรษะก็จะร้องว่า อ้อ อยู่ที่นี่เอง ฉะนั้น เมื่อทวนกระแสจิตถึงที่ตั้งของจิตแล้วก็จะร้องว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอย่างนี้เอง และท่านก็มีคำเทศนาต่างๆ เทศน์ไปเรื่อยๆ ไปถึงอริยสัจ บางทีก็เป็นรอบ ๓ โดยอาการ ๑๒ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ คำเทศน์ของท่านก็มีมากมาย ผมจำได้ไม่หมด

นี่เป็นข้อปฏิบัติของสำนักหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งต่างกับที่อาจารย์กล่าวว่า ก่อนที่จะปฏิบัติ ต้องรู้ลักษณะของสติ ของความสงบ แต่สำนักนี้ไม่ต้อง ถ้าใครมีศรัทธาที่จะปฏิบัติ ก็ปฏิบัติได้ทันที

สุ. ส่วนมากท่านที่ต้องการผลเร็ว และต้องการที่จะได้ทุกอย่างมาโดยง่าย ก็มักจะพอใจในข้อปฏิบัติที่ไม่ต้องรู้อะไร ใช่ไหม จะให้ทำอย่างไร ก็ทำกันไป แต่ว่า ไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพของจิตและความสงบ

เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่จะอบรมจิต ถ้าปัญญาไม่เกิดรู้ว่าจิตขณะนี้เป็นอย่างไร เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร ก็อบรมจิตไม่ได้ มีแต่ความต้องการ เช่น เข้าใจว่าจะเจริญสมถะโดยการกราบพระ และกล่าวคาถาเป็นภาษาบาลี แต่ขณะนั้นปัญญาอยู่ที่ไหน ปัญญารู้อะไร

ขณะที่กำลังกล่าวอย่างนั้นก็ตาม หรือกำลังนั่งในลักษณะสบายๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ขณะนั้นปัญญาอยู่ที่ไหน ที่จะรู้สภาพของจิตที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้นว่าสงบหรือไม่สงบ และเพราะอะไร อย่างไร

ธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุมีปัจจัย ที่จิตจะสงบได้ต้องมีเหตุ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็สงบ เวลาที่จิตสงบ ในขณะนั้นปราศจากความต้องการ โลภะ โทสะ โมหะ และปัญญาก็จะต้องรู้ในลักษณะของจิตในขณะนั้นจริงๆ ว่า เป็นสภาพที่ผ่องใส สะอาด ปราศจากอกุศลในขณะนั้นเพราะอะไร เหตุสำคัญที่สุดที่ผลจะเป็นไปอย่างที่ต้องการได้ ไม่ใช่ว่าการเจริญสมถะนั้นจะกระทำได้ด้วยการท่องภาษาบาลี และจิตจะสงบ นั่นเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าปัญญาไม่เกิดรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้จิตจะอยู่กับท่านทุกขณะ แต่ก็แสนยากที่จะรู้สภาพความจริงของจิต เมื่อมีความยากอย่างนี้ ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจะสามารถกระทำได้อย่างไรถ้าไม่รู้ลักษณะความสงบของจิตของตนเสียก่อนว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบ เพราะว่าจิตรู้ยากจริงๆ

กำลังเห็น ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ กำลังได้ยิน ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังไม่พอใจ ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง หรือว่ากำลังไม่มีโลภะ โทสะ แต่เมื่อมีความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้น ที่จะว่างๆ และเฉยๆ โดยไม่ประกอบด้วยปัญญาจะมีประโยชน์อะไร เพราะว่าขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แม้ว่าจะไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แต่ก็เป็นโมหมูลจิต ลักษณะของสภาพจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ความรู้ ต่างกันมากกับขณะที่เฉยๆ และไม่รู้อะไร

ขณะที่กำลังรู้สึกเฉยๆ และไม่รู้อะไร จะถือว่าดีไม่ได้ เพราะว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญสมถะหรือวิปัสสนา

ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎก จะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมมากมายเพื่ออนุเคราะห์ให้กุศลจิตเกิดและเจริญ เช่น ทรงแสดงธรรมให้พระภิกษุทั้งหลายเจริญเมตตา กายกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา นี่คือการอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศลที่เป็นสมถภาวนา แต่อย่าลืมว่า ทุกข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ทรงมุ่งที่จะให้พุทธบริษัทอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะฉะนั้น แม้จะทรงแสดงเรื่องของ ผู้ที่มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ก็มิได้หมายความว่า ให้เป็น ผู้หลงลืมสติในขณะนั้นๆ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ จุดประสงค์ที่สูงสุด คือ ให้ทุกท่านเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานสูตร จะแทรกอยู่ทุกบรรทัด หรือว่าทุกพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน หรือศีล หรือสมถะก็ตาม ซึ่งหลายท่านจะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎกนั้นเต็มไปด้วยการให้อบรมเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือว่าความเป็นผู้สม่ำเสมอ ไม่เดือดร้อนใจ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจในคำชมและในคำติ ในคำสรรเสริญ ในคำนินทาต่างๆ ความเป็นผู้มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในความสงบ หรือว่าเป็นไปใน สติปัฏฐาน แต่ว่าทั้งหมดนี้เป็นกุศลที่ควรเจริญ

ทานควรเจริญฉันใด ศีลควรเจริญฉันใด สมถะ คือ ความสงบของจิตก็ควรอบรมเจริญฉันนั้น แต่ว่าไม่ใช่ให้เป็นผู้ที่ปราศจากการเจริญสติปัฏฐาน แต่แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่สามารถที่จะอนุเคราะห์ให้สติปัฏฐานของทุกคนเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตลอดเวลา ไม่มีใครที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ตลอดเวลา บางครั้งขณะให้ทาน สติอาจจะไม่ระลึกรู้ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น สติปัฏฐานเลยในขณะนั้น แต่ว่าการให้ก็มีหลายครั้ง เพราะฉะนั้น บางครั้งสติก็เกิดระลึกบ้าง บางครั้งสติอาจจะไม่ระลึกเลย และบางครั้งสติปัฏฐานอาจจะมีมาก บางครั้งสติปัฏฐานอาจจะมีน้อย

เมื่อสภาพของจิตเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ บางขณะแทนที่จิตจะเป็นอกุศล ปัญญาสามารถที่จะรู้ในสภาพของอกุศล และเห็นโทษ จิตก็สงบได้ เพราะระลึกถึงอารมณ์ของสมถะอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ และ ในขณะนั้น สติปัฏฐานจะระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วยได้ เพราะเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่รู้หนทางว่า สติปัฏฐานนั้นอบรมเจริญอย่างไร สำหรับสมถภาวนาก็เป็นกุศลขั้นหนึ่ง ที่ควรจะอบรมเจริญให้มากด้วย แต่จุดประสงค์ คือ สติปัฎฐาน ควรระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต แม้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงความสงบขั้นสมถะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นเรื่องที่ละเอียด

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า สภาพรู้นี้เป็นอย่างไร ที่ว่าเป็นสภาพรู้ ขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีสภาพรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏไม่ได้ นี่คือ ความหมายของสภาพรู้ คือ กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ทางตา กำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ยังไม่ใช่นึก ยังไม่ใช่ตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน หรือยังไม่ได้คิดถึงคำสมมติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการรู้ คือ มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ สภาพรู้ก็ได้แก่ ขณะที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏ เช่น กำลังเห็น จะใช้คำว่า สีสันวัณณะต่างๆ หรืออะไรก็แล้ว แต่ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นคือปรากฏแก่สภาพรู้

สภาพรู้นั้นมีจริง ขณะที่กำลังเห็น ยังไม่เคยทราบ ยังไม่เคยคิด ยังไม่เคยพิจารณารู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง แต่เมื่อได้ฟังแล้ว สภาพรู้ไม่เคยอยู่ห่างเลย ขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะที่กำลังคิดนึก ทั้งหมดนี้เป็นสภาพรู้แต่ละขณะ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่แยกจากขณะที่กำลังฟังเรื่องของธรรม

เมื่อฟังเรื่องของธรรมใดเกิดความเข้าใจแล้ว ระลึกศึกษาเพื่อที่จะรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เช่น ในขณะนี้กำลังเห็น ก็ระลึกศึกษารู้ว่าเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่คือการเริ่มเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ใน ๔ อสงไขยแสนกัป หรือ ๒ อสงไขยแสนกัป หรือ ๑ อสงไขยแสนกัป หรือจะเป็นแสนกัป หมื่นกัป พันกัป ร้อยกัป หนึ่งกัปก็ตาม การศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นทางที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ในขณะอื่นเลย เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ระลึก ไม่ศึกษาจนเพิ่มความเข้าใจขึ้น ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่นามธรรมอื่นๆ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ความริษยา ความตระหนี่ ความฉลาด การที่จะสามารถเข้าใจ สิ่งหนึ่งสิ่งใด การคิดตรึกไปต่างๆ แต่ละขณะวิจิตรมาก แต่สภาพธรรมเหล่านั้นทั้งหมด สติจะต้องระลึกรู้จนประจักษ์ชัดในความเกิดดับและความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า เหตุใดจึงต้องเป็น ๔ อสงไขยแสนกัป หรือ ๒ อสงไขยแสนกัป หรือ ๑ อสงไขยแสนกัป เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้โดยง่าย แต่ก็เพราะสภาพธรรมนั้นมีจริง จึงสามารถที่จะศึกษาและประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ โดยเพิ่มความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ อย่าลืม เพียงระลึกแล้ว แต่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และธรรมก็วิจิตรมาก สะสมมาจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นานาในแต่ละขณะ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจอรรถ คือ ความหมายของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก

เย็นปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพรู้ คือ รู้เย็นนั่นเอง เย็นก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น เย็นปรากฏขณะใด ใส่ใจ ศึกษา สังเกตสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกำลังรู้เย็นในขณะนั้นเย็นจึงปรากฏได้ จึงจะสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ได้

มีท่านผู้ฟังใหม่หลายท่านซึ่งอาจจะสับสนเรื่องของการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงการเจริญกุศลซึ่งมีต่างกันเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นภาวนา

สำหรับทาน การให้ ก็เป็นกุศลที่เจริญกันอยู่ทั่วๆ ไป และศีลก็ได้กล่าวถึงแล้ว แต่คำว่า ภาวนา การอบรมเจริญภาวนานั้น คือ การอบรมเจริญสมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาอีกอย่างหนึ่ง

เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว เช่นในขณะนี้ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่า จิตเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร เวลาที่ใช้คำว่า ปัญญา ส่วนมากท่านผู้ฟังที่ฟังเรื่องการเจริญวิปัสสนา จะคิดถึงเฉพาะปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลโดยนัยของวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และคำว่า ตามความเป็นจริงนี้ ก็ต้องมีขั้นที่ต่างกันอีก

ตามความเป็นจริงของขั้นสมถะนั้น คือ เวลาที่จิตเป็นอกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นอกุศล รู้ในลักษณะของอกุศลจิต แต่ยังไม่เห็นความเป็นอนัตตาของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

เวลาที่ท่านผู้ฟังเกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นทุกคนก็รู้ว่า เป็นสภาพที่สบายใจ เพลิดเพลิน ยินดีพอใจ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ท่านก็รู้อาการของจิตขณะที่เพลิดเพลินยินดีพอใจว่า เป็นสภาพของจิตขณะหนึ่ง ซึ่งกำลังสบายใจ พอใจ สนุก เพลิดเพลินยินดี เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นอกุศลที่เป็นโลภะ ผู้ที่มีปัญญาก็สามารถที่จะรู้ในลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโลภะนั้นว่า เป็นจิตประเภทนั้น และเวลาที่จิตเป็นโลภะเกิดขึ้น ก็ย่อมมีความมากน้อยต่างกัน ถ้าเป็นโลภะที่มีกำลังมาก ตื่นเต้นดีใจ เป็นสุข ทุกท่านทราบในอาการของสภาพธรรมของโลภะขณะนั้น แต่เวลานี้ ปกติธรรมดา ชั่วขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง และไม่เกิดโทมนัส ไม่เกิดความไม่แช่มชื่น ขณะนั้นจะทราบไหมว่า เป็นโลภะ

การอบรมเจริญความสงบของจิต จะต้องเป็นผู้มีปัญญาจริงๆ ที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต จึงอบรมเจริญกุศล เพราะมีปัญญาที่รู้ว่าสติระลึกอย่างไร รู้อย่างไรจึงจะสงบ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าขณะนั้น เช่น ขณะที่กำลังมีเมตตาแทนโทสะ ยังไม่รู้ว่า แม้เมตตาก็ไม่ใช่ตัวตน โทสะก็ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นสมถะ มีความรู้จริงตามขั้นของสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล หรือขณะนั้นเป็นกุศลเพราะเหตุใด แต่ไม่สามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เปิด  248
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565