แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 724
บางท่านกล่าวว่า ไปแสวงหาอาจารย์เถอะ อาจารย์จะสอนเองว่า ความสงบขั้นสูงจะต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างไร ก็เป็นการพึ่งบุคคลอื่นโดยคิดว่า ไปเสียก่อนแล้วท่านจะสอนให้ว่าปฏิบัติอย่างไรความสงบจึงจะเกิดได้
แต่ขอให้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า ความสงบของใคร ความสงบของท่าน ต้องเกิดจากปัญญาของท่านที่เข้าใจเรื่องความสงบว่า ความสงบนั้นคือจิตที่เป็นกุศล ที่สงบจากอกุศล ในขณะที่ให้ทานก็เป็นความสงบของจิต แต่ว่าเป็นไปในการให้ ในขณะที่วิรัติทุจริตก็เป็นความสงบของจิต ซึ่งเป็นไปกับการงดเว้นทุจริต แต่ในชีวิตประจำวัน ท่านไม่ได้ให้ทานตลอดเวลา ท่านไม่ได้วิรัติทุจริตตลอดเวลา เพราะว่าไม่มีวัตถุที่จะให้วิรัติ เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่รู้สภาพของจิตจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศล และเจริญอบรมกุศล จึงจะเป็นการภาวนา ไม่ใช่ขั้นของทานหรือศีล แต่เป็นขั้นที่จะให้จิตสงบในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นบาทเป็นปัจจัยให้ท่านเป็นบุคคลที่สงบขึ้นโดยที่ไม่ได้หวังว่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรอย่างนี้ ไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด และอาจารย์จะทำให้ท่านปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดจนกระทั่งท่านสามารถสงบขึ้นได้ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าปกติประจำวันไม่สงบ และหวังว่าไปที่หนึ่งที่ใดแล้วจะสงบ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อปกติประจำวันไม่มีปัจจัยของความสงบเลย
เพียงท่านมีชีวิตปกติประจำวันอย่างนี้ ถ้าปัญญาเข้าใจขณะของจิตที่มีลักษณะสงบ ย่อมสามารถที่จะระลึกและเจริญความสงบของจิต ซึ่งท่านรู้ว่าขณะนั้นสงบ ให้สงบยิ่งขึ้น เพิ่มความสงบในชีวิตประจำวันได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของจิตที่สงบก่อน จึงจะเจริญ สมถภาวนาได้
ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้น ท่านที่ยังสงสัยว่า จะไม่ใช่ตัวตนได้อย่างไร ไม่สามารถที่จะหมดความสงสัยได้โดยเร็วหรือว่าโดยง่าย ต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลเป็นเบื้องต้น และก็ยังไม่พอ ต้องปฏิบัติ คือ อบรมเจริญปัญญาขั้นที่สามารถประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมโดยปรากฏในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ซึ่งผู้ที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมที่เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย คือ พระโสดาบันบุคคล
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น เพียงคิด คือ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมด้วย เมื่อมีการฟังธรรมแล้ว จะต้องคิดพิจารณาในเหตุในผล ในขั้นต้นเพียงคิดก่อนว่า การที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน กับการที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน อย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน
การไม่ยึดถือดีกว่า และก็เป็นความจริงด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องติดตามศึกษาค้นคว้าพิจารณาต่อไปจนกระทั่งสามารถเพิ่มความรู้ในธรรม และก็เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แต่ต้องเริ่มจากการเห็นประโยชน์ว่า ถ้าไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ย่อมเป็นประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น มากขึ้นด้วย
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ฟังธรรมมา ๗ ปี ในปีแรกท่านท่านเคยพูดว่า ท่านเข้าใจธรรมที่ได้ฟังอย่างดีทีเดียว แต่ว่าเมื่อฟังไปอีกๆ จนถึงขณะนี้ ปีนี้ ปีที่ ๗ ท่านก็บอกว่า ความเข้าใจที่ผ่านมา ที่เข้าใจว่าเข้าใจดี ก็ยังเทียบไม่ได้กับการที่เมื่อฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรองให้ทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น มากขึ้น และก็ทราบว่า ความเข้าใจในขณะนี้เพิ่มขึ้น ผิดกับในครั้งแรกในปีแรกที่ได้ฟัง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พระธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยรวดเร็ว เพราะว่าความลึกซึ้งของธรรมที่ปรากฏ ยิ่งฟังมาก ยิ่งเข้าใจมาก ก็ยิ่งรู้ความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่ปรากฏมาก และเป็นการเพิ่มพูนปัญญาที่สามารถจะทำให้ประจักษ์ในความลึกซึ้งของธรรมในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน โดยต้องอาศัยการฟัง เพราะฉะนั้น ธรรมที่ได้ฟัง ที่รู้สึกว่าได้ฟังมามากแล้ว ยังมีอีกมากมายนักที่ควรจะฟังต่อไป หรือว่าควรจะศึกษาต่อไป
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สีสปาสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒ - ๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒ - ๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒ - ๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วย ฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า.
ที่พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบใบประดู่ลาย ๒ – ๓ ใบที่พระองค์ทรงถือด้วยพระหัตถ์กับใบที่บนต้นว่า ไหนจะมากกว่ากันนั้น หมายความว่า พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโดยที่มิได้ทรงบอกภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีมากกว่าที่ได้ทรงบอก โดยเหตุผลว่า เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ส่วนที่บอก ที่มีปรากฏมากมายในพระไตรปิฎกทั้งหมด ก็เพื่อเกื้อกูลต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าเป็นธรรมที่ประกอบด้วยประโยชน์
เพราะฉะนั้น เพียงได้ฟังยังไม่หมด ยังมีอีกมากมายนัก และเป็นพระธรรมที่มีประโยชน์ที่จะทำให้น้อมไปเพื่อความรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่รู้อื่น นอกจากรู้สภาพที่ลึกซึ้งของธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะพิจารณาได้ว่า ตลอดชีวิตธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น ธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ และก็ดับไป หมดสิ้นไป อยู่กับธรรมมาตลอดตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย แต่ว่าปัญญาที่จะรู้จริง รู้ชัด รู้ความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การฟัง การพิจารณา และเริ่มเข้าใจเรื่องของธรรม จนกระทั่งเป็นปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง แต่ว่าไม่พอ เพียงขั้นการฟังเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีอีกมากนักที่เมื่อฟังแล้วจะเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้น้อมไปสู่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ขอให้ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ และเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น ลึกซึ้งขึ้นด้วย โดยเฉพาะจะต้องเป็นไปในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง นี่คือธรรม
อย่าคิดว่า ฟังมากแล้ว พอแล้ว เลิกฟังได้ ยังมีอีกมากมายนักที่ควรจะได้ฟัง ควรจะได้ศึกษา แม้แต่ในเรื่องความสงบของจิต ซึ่งหลายท่านใคร่ที่จะได้เจริญ บางท่านก็มีข้อปฏิบัติซึ่งเป็นการทำให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิ แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้ลักษณะของความสงบ เพียงแต่ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด หรือสำนักหนึ่งสำนักใด ไม่ว่าเด็กเล็กผู้ใหญ่ ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าหรือคำสั่งให้จดจ้องอยู่ที่ธรรมหนึ่งธรรมใดแล้วจิตจะสงบ นั่นเป็นคำบอกเล่า เพราะฉะนั้น โดยมากก็มักจะไปทำสมาธิโดยไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ซึ่งการที่จะรู้ได้ว่าจิตที่สงบเป็นอย่างไร ต้องเป็นปัญญา ซึ่งทุกท่านจะพิสูจน์ได้ในขณะนี้ ธรรมทั้งหลายพิสูจน์ได้ทุกขณะ แม้ในขณะนี้เอง
มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดทราบลักษณะของจิตไหมว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยขั้นคิด ท่านก็คิดว่าท่านกำลังฟังธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศลจิต คิดอย่างนั้น ใช่ไหม รู้จักชื่อของกุศลจิต กำลังฟังธรรมไม่ใช่ไปดูมหรสพต่างๆ แต่นั่นเป็นชื่อ จิตอยู่ที่ไหนขณะนี้ จิตเป็นกุศลอย่างไรขณะนี้ รู้ได้ไหม เพราะฉะนั้น จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าขณะนี้จิตไม่ใส ไม่สะอาด ไม่ผ่องแผ้ว ไม่ผ่องใส จะบอกไม่ได้เลยใช่ไหมว่าเป็นกุศล ลักษณะอาการก็เหมือนเดิม ที่เป็นอกุศลอยู่ ไม่ต่างกัน แต่ถ้าขณะใดมีสภาพที่ปราศจากความหนักของอกุศลทั้งหลาย และก็มีความเบาใจ ความผ่องใสผ่องแผ้ว ความสะอาดของจิตปรากฏ ก็รู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล ถ้าใครมุ่งที่จะไปจดจ้องเป็นสมาธิโดยไม่รู้ว่า ลักษณะจิตของท่านที่สงบเป็นอย่างไร ต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไร ผู้นั้นไม่สามารถจะเจริญกุศลที่เป็นไปทางใจ คือ เป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาได้
ในขณะที่ให้ทาน ต้องมีเรื่องที่จะต้องกระทำมากมายหลายเรื่อง ความผ่องใสซึ่งปรากฏเป็นความสงบนี้น้อยมาก เพราะแม้กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถที่จะกระทำทานกุศลได้ ด้วยจิตที่เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย เพราะยังไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ ที่ปราศจากอกุศล แต่ถ้ามีการศึกษาพระธรรม และมีการสังเกต รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลซึ่งต่างกับจิตที่เป็นอกุศลแล้ว แม้ในขณะที่กระทำทานกุศล หรือการวิรัติทุจริต ก็จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น คือ กระทำด้วยความสงบ หรือว่ากระทำด้วยสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นสงบ แต่ว่าความสงบก็มีหลายลักษณะ ซึ่งไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือว่าไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ ถ้าขณะนี้เท่าที่ได้ฟังและก็เข้าใจว่า สภาพธรรมปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย เป็นธรรมแต่ละลักษณะ จะเห็นได้ว่าธรรมมีมากจริง แต่ว่ารู้ธรรมอะไรบ้างแล้ว จิตกำลังมี สงบไหม ถ้าจิตไม่สงบ เพียงแต่จะไปจดจ้องทำสมาธิ ท่องบ่นภาวนาด้วยประการใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นจิตจะไม่สงบ ไม่ใช่เป็นการเจริญ สมถภาวนาด้วย
เป็นการยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมไหม ถ้ามีการนึกเกิดขึ้น ก็คือ วิตกเจตสิก ตรึกถึงสิ่งต่างๆ ประกอบกับจิตในขณะนั้น พอจะบอกได้ใช่ไหมว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เช่น ถ้านึกถึงทาน การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นกุศลวิตก คือ ตรึกไปในเรื่องกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตตรึกนึกถึงกุศล ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้สภาพของจิตได้ว่าเป็นกุศลจิต ขณะใดที่ตรึกนึกถึงด้วยความโกรธ ด้วยความผูกโกรธ หรือว่าด้วยความต้องการ ด้วยความติดข้อง ด้วยความอยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ลักษณะของจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องระลึก สังเกต สำเหนียก และพิจารณาจริงๆ จึงสามารถเจริญกุศลขั้นที่เป็นภาวนา คือ สมถภาวนาหรือสติปัฏฐานได้
ที่เคยเข้าใจธรรม เป็นการเข้าใจเรื่องของธรรม แต่ยังไม่ใช่ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนี้เอง ถ้าเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นว่า เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่เป็นการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง แต่ถ้าลักษณะของสภาพธรรม อาการลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ ก็รู้ไม่ได้ แต่ว่าทั้งๆ ที่มีลักษณะสภาพธรรมปรากฏ แต่ด้วยความลึกซึ้งของสภาพธรรมนั้นมี ก็ยากต่อการที่จะรู้ จึงต้องอาศัยการอบรมเจริญระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ จึงจะสามารถรู้ได้
ไม่ต้องมีความต้องการที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดโดยเฉพาะ ไม่ต้องคิดว่า จะไปรู้เจตนาเจตสิกได้อย่างไร จะไปรู้ผัสสเจตสิกได้อย่างไร จะไปรู้มนสิการเจตสิกได้อย่างไร แต่ไม่ว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ ขอให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อนตามความเป็นจริงแต่ละขณะ และปัญญาก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ละเอียด ที่ปรากฏในขณะนั้น เช่น ในขณะที่เห็น ยังไม่ได้ตรึกไปในเรื่องกุศล หรืออกุศลอะไรเลย ความรู้สึกมีไหม ตามที่ได้ศึกษา เวทนาเจตสิกจะต้องเกิดกับจิตทุกดวง คือ ทุกขณะ แต่ว่าความรู้สึก คือ เวทนา ในขณะนี้เป็นอะไรรู้ไหม เวทนาเจตสิกจะต้องเกิดทุกขณะ มีสภาพธรรมที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ก็ยากที่จะรู้ว่าเป็นเวทนาอะไร โดยชื่อทราบว่า มีเวทนาเจตสิกกำลังเกิด แต่ขณะนี้จริงๆ เวทนาอะไร
เพราะฉะนั้น เวลาปกติธรรมดาที่ไม่รู้สึกดีใจ ไม่รู้สึกเสียใจ ต้องเป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นลักษณะของความรู้สึกซึ่งเป็นอทุกขมสุข คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์
ถ. ตามปกติแล้วจะต้องมีเวทนา ๓ อย่างนี้เป็นประจำ ซึ่งเราก็ไม่รู้ตัว ใช่ไหม
สุ. ถึงรู้ ก็ยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเรา ขณะดีใจต่างกับขณะที่เสียใจ ทุกคนบอกได้ เวลาเสียใจ ลักษณะสภาพธรรมก็เป็นอย่างหนึ่งจริงๆ เวลาดีใจลักษณะสภาพธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ความไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นทำให้ยึดถือสภาพธรรมนั้นเป็นเราดีใจ เราเสียใจ มีความเป็นตัวตนไปผูกพัน ไปพัวพันกับลักษณะอาการของธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ
ถ. นอกจากดีใจและเสียใจแล้ว ส่วนมากก็เป็นความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยโมหะด้วย
สุ. แล้วแต่ว่าจะเป็นโมหะหรือโลภะ และในขณะใดที่เป็นโลภะ ต้องมีโมหะ ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเกิดร่วมด้วย
ถ. ส่วนมากขณะที่หลงลืมสติ จะไม่รู้เลยว่า ได้หลงใหลไปกับอารมณ์อะไรบ้าง ทั้งโทสะ ทั้งโลภะ ปะปนกัน
สุ. เป็นลักษณะที่ต่างกับสภาพของปัญญา เวลาที่ปัญญารู้ชัด ลักษณะสภาพของเวทนาก็เป็นเวทนา ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนาทั้งๆ ที่ยากที่จะรู้ แต่ปัญญาที่รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริงตรงลักษณะของเวทนาว่าเป็นเวทนา ตรงลักษณะของโลภะว่าเป็นโลภะ ตรงลักษณะของศรัทธาว่าเป็นศรัทธา ตรงลักษณะของสัญญาว่าเป็นสัญญา ตรงลักษณะของปัญญาว่าเป็นปัญญา นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่อยากจะเจริญสมถภาวนา ขอให้คิดว่า ท่านจะให้จิตสงบโดยที่ประกอบกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าต้องการให้จิตสงบ โดยไม่ประกอบกับปัญญาขั้นที่รู้ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่ปรากฏ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นจะต้องมีความสงบแล้วทีละเล็กทีละน้อย เช่นเดียวกับขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่สงบ ไม่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ การให้ทานก็มีไม่ได้ เพราะว่าคนที่ไม่รู้และหลงไปแล้ว จะมีเจตนาที่เป็นกุศลในการให้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เจตนาซึ่งเป็นกุศลที่จะให้ทานก็ไม่เกิดกับบุคคลนั้น