แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 726
สุ. ยังมีท่านที่คิดจะไปทำสมาธิอะไรอีกไหม จะไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใด ทำสมาธิ หรือว่าจะฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ปรากฏทุกวัน ตามปกติ
ถ. ในลักขณาทิจตุกะของปัญญา มีกล่าวว่า ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาจะไม่เกิด ใช่ไหม
สุ. สมาธิที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
ถ. สมาธิมีหลายอย่างหรือ
สุ. มีมิจฉาสมาธิ และมีสัมมาสมาธิ
ถ. สมาธิที่จะเกิดปัญญา เช่น ขณิกสมาธิ
สุ. เวลานี้สมาธิเกิดอยู่แล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง
ถ. ตามลักขณาทิจตุกะของปัญญา ถ้าสมาธิเป็นขณิกะ ผมว่าเป็นบาท
สุ. เวลานี้มีสมาธิแล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง
ถ. ที่ว่า เป็นอัปปนา แนบแน่นจวนจะถึงฌานแล้ว ผมว่าไม่ทำให้เกิดปัญญา
สุ. ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่เกิดกับจิตที่สงบเป็นสมถภาวนา ต่างกับปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น อย่าปนปัญญาของสมถะกับปัญญาของวิปัสสนา
อย่างเช่น การที่จะระลึกถึงปฐวีเพื่อที่จะให้จิตสงบ ขณะนั้นเป็นโดยนัยของสมถะ แต่ว่าขณะที่กระทบสัมผัสทางกาย และระลึกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นวิปัสสนา ซึ่งมีสมาธิทั้งสอง เพราะว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมกับสมาธินั้นต่างกัน
โดยนัยของสมถภาวนา เพียงสามารถที่จะสงบ พร้อมปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงในความที่ไม่มีสาระแก่นสารของปฐวี ของสภาพของรูปทั้งหลาย
ถ. แต่ที่ผมเรียนถาม หมายถึงสมาธิทำให้เกิดปัญญา
สุ. ปัญญารู้อะไร มีปัญญาหลายขั้น สมาธิมีหลายอย่าง ปัญญามีหลายอย่าง สมาธิอะไรทำให้เกิดปัญญาอะไร ปัญญาอะไรทำให้เกิดสมาธิอะไร
ถ. ผมว่าขณิกสมาธิทำให้เกิดปัญญา
สุ. ขณิกเป็นคำธรรมดา หมายความถึง สมาธิชั่วขณะๆ ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลาในขณะนี้
สภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริง ขณะนี้มีสมาธิเกิดกับจิต เป็นเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง ในขณะนี้จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล เอกัคคตานั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในทาน เป็นขณิกสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในศีล เป็นสัมมาสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ เวลานี้กำลังเข้าใจในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ได้ศึกษาในปรมัตถธรรม
ในปรมัตถธรรมปริจเฉทที่ ๑ เป็นเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย ในขณะที่กำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นกุศลจิตกำลังรู้เรื่อง กำลังเข้าใจในธรรม แม้แต่ในบัญญัติ คือ คำที่หมายถึงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นกุศลจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่า ปัญญาอะไร สมาธิอะไร อย่าปนกัน ถ้าปนกันก็ยุ่งเหยิงไปหมด และไม่สามารถจะเจริญกุศลขั้น ต่อๆ ไปด้วย
ถ. จำได้อย่างย่อๆ ว่า ต้องมีกัมมัสสกตาปัญญา
สุ. เวลานี้ ถ้ากำลังเข้าใจเรื่องเหตุเรื่องผล คือ กรรมเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจเป็นผล นี่คือปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วย เป็นขณิกสมาธิ
ถ. ปัญญาที่รู้รูปนาม เป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา ใช่ไหม
สุ. รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ. ส่วนโลกุตตรปัญญา หมายถึงรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ รู้แจ้งในนิพพาน
สุ. ปัญญามีมาก สมาธิก็ต้องมีมากตามลำดับ เพราะฉะนั้น อย่าพิจารณาเพียงชื่อ แต่พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ให้สอดคล้องกับ พระธรรมที่ได้ศึกษาและเข้าใจแล้ว ถ้าศึกษาเรื่องมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ต้องรู้ด้วยว่าขณะไหน ขณะที่ฟังและเกิดความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตอะไร ที่ได้ศึกษาแล้ว เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และถ้าสติเกิด วิตกเจตสิกจรดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ไม่ได้มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์
ถ. ผมอ่านในพระไตรปิฎก พบบ่อยๆ ว่า ผู้ที่มีความเพียรอันตนส่งไปแล้ว เจริญสติปัฏฐาน คือ เพียรเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนจนบรรลุมรรคผล ผมไม่ทราบว่าปัญญาเขาอยู่ในขั้นไหน อย่างเราๆ เพียรอย่างนี้ไม่ได้ตลอด มีอีกพระสูตรหนึ่งที่กล่าวว่า ไม่ให้กินอาหารด้วยความยินดี แต่ให้กินเหมือนกินเนื้อบุตรที่เพียงเพื่อให้พ้นจากทางกันดาร เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่อย่างเราปฏิบัติได้ชั่วขณะ เดี๋ยวก็หลงลืมสติไปตั้งนาน กว่าจะระลึกขึ้นมาได้ ทำไมจึงปฏิบัติอย่างเขาไม่ได้
สุ. แสดงไว้ว่า ท่านผู้นั้นบรรลุมรรคผลนิพพานด้วย ใช่ไหม
ถ. ใช่
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ต่างกับท่านที่ยังไม่บรรลุ บุคคลต่างกัน การสะสมก็ต่างกัน จะให้เหมือนกันได้อย่างไร
ถ. ผมคิดว่าจะบวช แต่ในปัจจุบันนี้ ชีวิตของบรรพชิตและฆราวาสก็ไม่ต่างกัน หลงลืมสติบ้าง มีสติบ้างอย่างนี้ จึงท้อถอยที่จะบวช
สุ. เป็นอกุศลที่ท้อถอย เพราะฉะนั้น ต้องอย่าลืม ปัญญาต้องเห็นอกุศลเป็นอกุศล กุศลจึงจะเจริญ แทนที่จะท้อถอย ก็ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นเป็นกุศล ทำไมจึงได้เกิดอกุศลอย่างนั้น รู้เท่าทันตัณหาไหม โลภะ ความปรารถนา
ความต้องการ มาในรูปลักษณะต่างๆ เดี๋ยวก็เกิดๆ อยากจะได้ผล พอไม่ได้ผล ก็ท้อถอย
ถ. ขณะที่เราอยากจะบรรลุ หรืออยากให้จิตสงบ อย่างนี้เป็นโลภะไหม
สุ. แน่นอน ก็ยังไม่รู้นี่ว่า จิตสงบเป็นอย่างไร บรรลุเป็นอย่างไร เหตุที่จะให้บรรลุเป็นอย่างไร
ถ. ถ้าเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่ศึกษา ใช่ไหม
สุ. ถ้ามีความอยาก ก็ไปเที่ยว
ถ. หมายความว่า ต้องโลภมาก่อน ใช่ไหม
สุ. ไม่จำเป็น การที่ต้องการฟังธรรมไม่ใช่เป็นโลภะ แต่เป็นกุศล ถ้าปรารถนาอย่างอื่น ต้องการอย่างอื่นที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเป็นอกุศล
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนทุกคนมีกรรมเป็นที่พึ่ง และได้รับผลของกรรม
สุ. แต่ไม่ได้บอกว่า มีตัวตนเป็นที่พึ่ง ใช่ไหม กรรมก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม และก็ดับไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำจิตเกิดขึ้นรับผลของกรรม เป็นวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะที่กำลังเห็นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะที่กำลังได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ทั้งเหตุและผล กรรมซึ่งเป็นเหตุก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วิบากจิตทั้งหลายซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เกิดขึ้นและก็ดับไป
ถ. ดิฉันเคยนั่งสมาธิ มีอานาปาเป็นอารมณ์บ้าง ใช้คำว่าพุทโธบ้าง ทำไปด้วยความไม่รู้ ท่านบอกว่า สมาธิเป็นบาทของปัญญา ซึ่งผู้ปฏิบัติส่วนมากก็คงไม่มีความเข้าใจเหมือนกัน แต่บางครั้งนั่งแล้วจิตสงบมากทีเดียว รู้สึกว่าสบาย
สุ. โดยมากหลายท่านหรือว่าส่วนมาก ท่านถือความสบายเป็นความสงบ แต่ขอให้คิดว่า ความสบาย เป็นความพอใจ เป็นโลภะอย่างละเอียด หรือว่าเป็นความสงบ แต่สงบต้องหมายความถึงเป็นกุศลที่ปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะ
ถ. ตอนนั้นเข้าใจว่าใช่ นี่คือความสุขที่ได้รับจากการปฏิบัติ และติดใจในอารมณ์นั้นมาก
สุ. กำลังติดใจ ก็เป็นลักษณะของโลภะแล้ว
ถ. ภายหลังคิดถึงอารมณ์ครั้งนั้น ที่เคยนั่งแล้วได้รับความสงบอย่างนั้น พอนั่งอีกครั้งไม่เป็นอย่างครั้งก่อน ก็ไม่พอใจ โทสะเกิด ก็ไม่รู้อีก
สุ. ถ้ายังไม่รู้ว่า ทั้งหมดที่เคยปฏิบัติมาแล้ว แท้ที่จริงเป็นความสบาย เป็นความพอใจ เป็นความชอบ เป็นความต้องการจึงนั่ง และอยากให้เป็นอย่างนั้นอีก จะเป็นความสงบได้อย่างไร
ความสงบเกิดได้ด้วยปัญญา แม้ในขณะนี้ จึงจะเป็นความสงบจริงๆ สามารถที่จะสงบได้โดยปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และรู้ด้วยว่าจิตสงบเพราะอะไร จะต้องมีสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยของความสงบที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าอยากจะสงบเลยไปนั่ง เพราะต้องการความสบายอย่างนั้น และถือว่าความสบายอย่างนั้นเป็นความสงบ นั่นไม่ใช่ความสงบ ที่อยากจะไปนั่ง ต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่ความสงบเลย
ถ. ตอนนั้นดิฉันยังไม่ได้เจริญสติ ดิฉันก็ไม่รู้จะเชื่ออย่างไร เพราะดิฉันเป็นคนที่จะเชื่อก็ต่อเมื่อต้องฟังกันให้รู้เรื่องจริงๆ
สุ. หลายท่านจะไม่เชื่อ ถ้าบอกว่า ที่กำลังจดจ้องเป็นสมาธินั่นไม่ใช่สงบ มีหลายท่านทีเดียว ในตอนแรกที่ไม่เชื่อ
ถ. ถ้ายังไม่ได้เจริญสติ ไม่เชื่อจริงๆ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบเคียง แต่เมื่อเจริญสติตามที่อาจารย์บรรยายมา ๔ – ๕ ปี เดี๋ยวนี้ดิฉันขอรับรองด้วยความจริงว่า ความสงบขณะที่เจริญสตินี้ จิตสงบจริง ประกอบด้วยความเข้าใจถูก และรู้ด้วยว่า ขณะใดที่จิตมีเมตตาเกิดขึ้น ความสงบนั้นก็เพิ่มมากทีเดียว ลักษณะของเมตตามีจริง
สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องแยกกันระหว่าง สมาธิ สมถะ และวิปัสสนา ในบางครั้งในพระไตรปิฎกใช้คำว่าสมาธิเท่านั้น แต่ทรงมุ่งหมายสัมมาสมาธิซึ่งเป็นไปพร้อมกับความสงบและปัญญา แม้ว่าจะเป็นปัญญาต่างขั้น เวลาที่ทรงแสดงธรรมถึงฌานขั้นต่างๆ ก็จะทรงใช้คำว่าสมาธิ แต่อย่าเข้าใจผิดว่า ทรงมุ่งหมายมิจฉาสมาธิในที่นั้น เพราะถึงแม้จะใช้คำกลางว่าสมาธิ แต่ถ้าเป็นเรื่องของกุศลฌาน ย่อมหมายความถึงสัมมาสมาธิที่ต้องเกิดพร้อมกับความสงบ อย่าทิ้งคำว่า ความสงบ และบางแห่งก็ใช้คำอธิบายลักษณะของสมาธิทีเป็นกุศลชัดเจนทีเดียวว่า สัมมาสมาธิ ซึ่งมุ่งหมายสมาธิที่เกิดพร้อมกับความมั่นคงของความสงบ ต้องมีความสงบอยู่ด้วยถ้าเป็นกุศล แต่ว่าไม่ใช่ความสบาย และก็ไปถือเอาความสบายเป็นความสงบ โดยปัญญาไม่ได้รู้เลยในสิ่งที่ปรากฏว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร
ขอกล่าวถึงอารมณ์ของสมถภาวนาให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า ท่านจะเจริญสมถภาวนาโดยอารมณ์ไหน และจะเป็นไปได้ไหมสำหรับท่าน
สำหรับสมถกัมมัฏฐานซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถภาวนานั้นมี ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ ซึ่งได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ คือ ธาตุดิน ธาติน้ำ ธาติไฟ ธาติลมนั่นเอง และเหตุผลของการที่อาศัยกสิณที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เพื่อให้จิตระลึกถึงความไม่มีสาระของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมซึ่งเป็นรูป ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานปรากฏอยู่โดยทั่วไป
อย่างดินนี้ ก็มีการแตกย่อยได้ แม้แต่ภูเขาซึ่งใหญ่มหาศาล ก็สามารถที่จะทำลายย่อยยับลงไปได้ นั่นก็เป็นความไม่เที่ยงของธาตุดิน หรือแม้แต่ธาตุน้ำ ในบางครั้งก็มากมายไหลหลั่งท่วมท้นล้นฝั่ง และบางครั้งก็ขอดแห้งหายจนกระทั่งดินแตกระแหงไปหมด นั่นก็เป็นความไม่เที่ยงของธาติน้ำ ถึงแม้ธาตุลมก็เช่นเดียวกัน เท่าที่จะระลึกให้เห็นได้ตามความเป็นจริง ลมพายุอย่างแรงก็มี แต่เวลาที่อากาศ อบอ้าว ลมสักเล็กน้อยก็ไม่มี ต้องไปเอาพัดมาโบกให้เกิดลมขึ้น
ถ. ที่อาจารย์กล่าวถึงธาตุน้ำ จะเอาบัญญัติทางโลกหรือทางธรรม
สุ. นี่เป็นนัยของสมถภาวนา นัยของสมถภาวนาก็ขั้นหนึ่ง นัยของวิปัสสนาภาวนาก็อีกขั้นหนึ่ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีความแปรปรวน ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม โดยเฉพาะในสมัยที่ยังไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการแสดงให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งท่านผู้ฟังก็เคยสงสัยว่า ทำไมในอดีตพระสาวกท่านช่างตรัสรู้ง่ายเหลือเกิน เพียงแต่พระผู้มีพระภาคหรือพระสาวกแสดงธรรมกับบุคคลนั้นโดยย่อ เล็กน้อย บุคคลนั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องมีเหตุ คือ บารมีที่ได้สะสมมาแล้ว ซึ่งถ้ายังไม่มีการฟังธรรม ก็ไม่มีการน้อมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
บารมีจะเห็นได้ในขณะนี้ ท่านกำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมบารมีมาพร้อมแล้ว ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็แทงตลอดทันทีในอริยสัจธรรม แต่เพราะบารมียังไม่เต็ม แม้ว่ากำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสภาพธรรมก็กำลังปรากฏจริงๆ ก็ยังไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมบำเพ็ญภาวนาเจริญต่อไป จนกว่าบารมีจะเต็มพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีมาก และทรงเกื้อกูลกุศลทุกขั้น ทั้งในเรื่องของทาน ศีล สมถะ และวิปัสสนา แต่มิได้ทรงมุ่งหมายที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่สามารถทีจะบรรลุถึงฌานไปเจริญฌาน
เรื่องของฌานมีมากในพระไตรปิฎก สำหรับใคร แม้ในยุคโน้นสมัยโน้น ผู้ที่ได้บรรลุอริยสัจธรรมพร้อมฌานจิตด้วย ก็มีน้อย และคนในยุคนี้สมัยนี้ ท่านสามารถที่จะถึงฌานได้ไหม ถ้าไม่สามารถ ก็อบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานเพื่อจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นไปได้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่บรรลุฌาน เพราะเป็นบุคคลที่มีกำลังน้อย ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีกำลังใหญ่ คือ สามารถที่จะสำเร็จทั้ง ๒ ประการ