แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 727

สำหรับกสิณ ๑๐ ก็มี ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ อาโปกสิณ วาโยกสิณ ถ้ารู้จุดประสงค์และความมุ่งหมายของการใช้กสิณเป็นอารมณ์ที่จะให้สงบ ย่อมเข้าใจตลอดไปถึงกสิณอื่นด้วย คือ วัณณกสิณ ได้แก่ สีต่างๆ มีสีแดง สีขาว สีเหลือง สีนิล สิ่งที่ปรากฏทางตา สีที่เป็นใหญ่ สีแดง สีขาว สีเหลือง สีนิล ใช่ไหม ใส่เสื้อสีอะไร สีขาว หรือสีแดง หรือสีเขียว หรือสีเหลือง

การติด ยินดีพอใจในสีที่ปรากฏ ก็เพราะลืมว่า เป็นเพียงสีที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ถ้ารู้การติดจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าติดสี การใช้สีที่เป็นสีล้วน จะทำให้ไม่น้อมไปสู่การตรึกนึกถึงเรื่องราวของสีว่า เป็นสีคน เป็นสีวัตถุสิ่งต่างๆ ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ เพราะว่าโดยลักษณะของสภาพที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสีเท่านั้นเอง เป็นสีต่างๆ สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง เท่านั้นเองจริงๆ

ที่กล่าวมานี่ไม่ใช่โดยนัยของวิปัสสนา แต่โดยนัยของสมถะ ซึ่งเป็นบัญญัติ ไม่ใช่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ความหมายที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่เป็นการจดจำเป็นสีต่างๆ แต่เป็นการรู้ว่า นี่คือสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น แม้แต่อรรถของคำว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตานี้ ฟังเผินๆ ดูเหมือนจะไม่น่าสงสัยเลย เข้าใจแล้ว แต่ขณะนี้ทุกอย่างกำลังปรากฏทางตา ก็จะมีการเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เพราะเวลาที่ลืมตาดู ก็เสมือนว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างปรากฏ แต่พอหลับตาลง ไม่มีอะไรเหลือเลย และถ้าจะมีการตรึกนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยขณะนั้นหลับตา จะไม่มีสิ่งอื่นปรากฏพร้อมเหมือนขณะที่ลืมตาอย่างนี้ ใช่ไหม

กำลังลืมตาพร้อมหมดทุกสิ่ง โต๊ะ เก้าอี้ พื้น ไฟ พัดลม ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมหมด จะนึกหรือไม่นึกก็ตาม แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยนึกเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ปรากฏพร้อมกันขณะที่ลืมตา แต่พอหลับตาลง จะนึก ก็ต้องนึกถึงสัณฐานหนึ่งสัณฐานใด รูปร่างหนึ่งรูปร่างใด เพียงรูปร่างหนึ่งสัณฐานหนึ่งเท่านั้น และอย่างอื่นทำไมไม่ปรากฏพร้อมกันรวมกันเหมือนขณะที่ลืมตา

เพราะฉะนั้น ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือวัณณะ หรือรูปารมณ์นั้น ต้องเข้าใจว่าต่างกับขณะที่หลับตา นั่นเป็นการที่จะรู้โดยนัยของวิปัสสนา คือ เห็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่การนึกถึงสี เป็นสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว หรือสีนิล

แต่สมถภาวนารู้ว่า จิตติดในสีต่างๆ จึงอาศัยสีซึ่งจะไม่น้อมนำให้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานที่เคยพอใจว่า เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ เป็นดอกไม้ เป็นรูปร่างของบุคคลหรือว่าวัตถุ เตือนให้ระลึกแต่เพียงว่า เป็นเพียงสีเท่านั้น โดยอาศัยสีเป็นบัญญัติให้นึกถึง ให้สงบ เพราะฉะนั้น สำหรับกสิณอีก ๔ คือ วัณณกสิณ ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว หรือสีนิล

กสิณ ๑๐ ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ สีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว หรือสีนิล เป็น ๘ กสิณ อีก ๒ คือ อาโลกกสิณ แสงสว่าง และ อากาศกสิณอีกหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดเพราะสัญญา

การน้อมระลึกถึงกสิณต่างๆ โดยอาศัยรูปกสิณนั้น ไม่ใช่การรู้ปรมัตถธรรมของดิน น้ำ ไฟ ลม โดยนัยของวิปัสสนา

ถ้านึกถึงอากาศ จะเกิดโลภะ โทสะไหม เป็นแต่เพียงอากาศ ความว่างเปล่า ไม่มีอะไร เพราะฉะนั้น ถ้ามนสิการโดยถูกต้องในความเป็นอากาศซึ่งมีอยู่ แทรกอยู่ในวัตถุทั้งหลาย ในตัวก็มีอากาศอยู่มากมาย และก็มีปัจจัยที่ทำให้ธาตุทั้งหลายเกิดขึ้น คือ ปฐวี เตโช อาโป วาโย พร้อมทั้งรูปอื่นๆ เกิด จากความว่างเปล่านั่นเอง

โดยแท้จริงแล้ว เมื่อรูปทั้งหลายเหล่านั้นดับไป ก็หมด ไม่มีอะไรนอกจากความว่างเปล่า เพราะฉะนั้น จะมาติดในความว่างเปล่ากระนั้นหรือ ถ้าจิตน้อมระลึกถึงอากาศ คือ ความว่างเปล่าแล้วสงบ ก็เป็นอากาศกสิณ

แต่การที่จะให้จิตสงบนี้ แสนยาก ไม่ใช่จะสามารถสงบและมั่นคงดื่มด่ำแนบแน่นในความสงบประกอบพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคงยิ่งขึ้นตามขั้น พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งทุกท่านจะทดลองพิสูจน์ได้ว่า สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ไหม รู้ลักษณะของจิตที่สงบไหม และถ้าจิตสงบขึ้นอีกนิดหน่อย ท่านรู้ไหม ถ้าไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะเจริญความสงบให้ขึ้นไปอีกได้ เพราะการที่จะให้ความสงบถึงขั้น อุปจารสมาธิก็ดี อัปปนาสมาธิก็ดี ต้องประกอบพร้อมด้วยสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ที่จะรู้ว่าขณะนั้นสงบเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งแล้วๆ จนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ ความรู้สึกตัวบริบูรณ์ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนั้น เมื่อเป็นความสงบ ก็เป็นความสงบ ไม่ใช่โลภะ

เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องสามารถที่จะแยกโลภะกับความสงบออกได้ จึงจะเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไปนั่งรวมๆ กัน และจดจ้องที่หนึ่งที่ใด ซึ่งก็มีแต่ความไม่รู้ทั้งหมด ทุกคนไม่รู้อะไรเลย ไปถึงก็ไปนั่งๆ และก็บอกว่าสงบแล้วๆ เป็น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุผล

ความสงบของจิต ต้องหมายความถึงขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงว่า ขณะใดเป็นขณะที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และขณะใดเป็นขณะที่มีโลภะ โทสะ โมหะ

เรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรู้ได้โดยง่าย แม้ว่าสภาพธรรมมีจริง ขณะนี้จิตอยู่ไม่ไกลเลย แต่ว่าลักษณะของจิตขณะนี้เป็นอย่างไร ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วจิตเกิดดับรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ยากเหลือเกินที่จะทราบได้จริงๆ ว่า ขณะไหนจิตเป็นกุศล หรือขณะไหนจิตเป็นอกุศลประเภทใด

ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็ทราบว่า กุศลจิตเกิดน้อยกว่าอกุศลจิตมากมายนัก คงจะไม่มีใครบอกว่า ท่านมีกุศลจิตมากกว่าอกุศลจิต ถ้ากล่าวอย่างนั้น ก็หมายความว่า ไม่ได้รู้ลักษณะสภาพของอกุศลธรรมโดยละเอียด เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ขณะใดที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่การอบรมเจริญภาวนาเพื่อขัดเกลากิเลส ซึ่งเป็นความสงบของจิต หรือไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจิตย่อมเป็นอกุศล

และท่านที่ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ ย่อมมีอกุศลจิตมากกว่ากุศลจิต แต่ว่าท่านรู้ลักษณะของอกุศลธรรมประเภทใดบ้าง ปกติธรรมดาทุกท่านก็จะรู้ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโทสะซึ่งเป็นโทสมูลจิต ขณะใดที่เกิดความไม่แช่มชื่น ขุ่นใจ ขัดเคืองใจ รำคาญใจ ไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นท่านรู้ใช่ไหมว่า ไม่สุข ไม่สงบ ในความรู้สึกของท่าน ท่านกล่าวว่า ขณะนั้นไม่สุข ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ท่านก็สามารถรู้ลักษณะของโทสเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งจิตในขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต

แต่ถ้าขณะใดที่จิตไม่ใช่โทสมูลจิต จะทราบลักษณะของอกุศลจิตที่เป็น โลภมูลจิตไหม ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นย่อมเป็นอกุศล และถ้าขณะใดไม่ใช่ โทสมูลจิต ขณะนั้นย่อมเป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต เพราะฉะนั้น ท่านรู้จักลักษณะของโทสมูลจิต เพราะว่าเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง และก็ไม่เกิดบ่อย และ เวลาที่เกิด ความรู้สึกขุ่นเคืองบ้าง รำคาญบ้าง ขัดเคืองบ้าง ไม่พอใจบ้าง ท่านก็รู้ในลักษณะอาการนั้น แต่ในวันหนึ่งๆ ถ้าเอาโทสมูลจิตออกไป พอที่จะบอกได้ไหมว่า ขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตและโมหมูลจิต

ถ้าเป็นโทสะ เราก็ทราบโดยเวทนา ว่าไม่ยินดี ไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นอุเบกเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนา ยากแก่การที่จะรู้ได้ และสำหรับโลภมูลจิตก็เกิดบ่อย เกิดมากเหลือเกินทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แผ่ซ่านไปในอารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะ คือความยินดีพอใจได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะสังวรระวังอย่างยิ่ง สิ่งที่ท่านเคยพอใจ เข้าใจว่าสงบ ควรที่จะได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นความสงบจริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภมูลจิต

ถ้าจะพิจารณาลักษณะของโลภะตามที่ได้ศึกษาก็ทราบว่า เป็นสภาพขณะที่กำลังพอใจ กำลังเพลิดเพลิน กำลังยินดี กำลังต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งใน วันหนึ่งๆ มีเป็นปกติ ขณะที่กำลังจะอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นถ้าสติเกิดจะรู้ว่า เป็นจิตอะไร มีความต้องการเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่ขณะที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ก็ตาม จะพูด จะคิด จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ย่อมไม่พ้นไปจากความปรารถนา ความต้องการ คือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภะนี้ถ้าสังเกตพิจารณาจริงๆ ก็ยังรู้สึกตัวว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ

แต่ว่าสำหรับโมหเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้ หลงไป ไม่สามารถที่จะเป็นกุศลในขณะนั้นได้ เป็นสภาพธรรมที่ยิ่งละเอียดกว่าโลภะและโทสะ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่จิตเป็นโทสะหรือเป็นโลภะ ขณะนั้นต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรู้สึกของท่านเป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็ควรที่จะได้สังวรพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะนั้นสงบ เป็นกุศล หรือว่า เป็นอกุศล ซึ่งเป็นโมหมูลจิต

เรื่องของการอบรมเจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ซึ่งท่านควรจะพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาลักษณะสภาพของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจนเป็นปัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จึงจะเจริญความสงบได้

เพราะฉะนั้น ท่านที่ใคร่จะอบรมเจริญกุศลขั้นต่อไป คือ ไม่ใช่เพียงขั้นทานและขั้นศีล แต่ต้องการที่จะขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญกุศลที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญารู้ในลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น จึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นภาวนา คือ สมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาได้

ไม่ใช่ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่รู้เรื่องความละเอียดของจิต และไม่รู้ลักษณะของจิตซึ่งต่างกันเป็นกุศลและอกุศล จะเจริญความสงบของจิตได้

ถ้ามีใครบอกให้ท่านนั่งจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ในขณะนั้น ท่านคิดว่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้จิตสงบไหม หรือว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์นั้นเป็นสมาธิได้ไหม แต่นั่นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะว่าขณะนั้นจิตไม่ใช่ กุศลจิตที่เป็นความสงบ

ความสงบที่จะมีได้ ที่จะเป็นสมถภาวนานั้น ต้องเกิดเพราะปัญญารู้ในลักษณะของความสงบ ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นอกุศล

มีหลายท่านซึ่งคงจะได้เจริญสมาธิมาแล้ว และคิดว่าขณะนั้นเป็นสมถภาวนา แต่ว่าปัญญารู้อะไรในขณะนั้นจึงจะสงบ จึงจะเป็นสมถภาวนา ถ้าขณะนั้นไม่ได้รู้อะไรเลย จะเป็นความสงบไม่ได้ และการที่จะรู้ ต้องรู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริงของท่าน ไม่ใช่ของบุคคลอื่น

เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ว่าอ่านวิสุทธิมรรค หรือพระไตรปิฎกและก็รู้ว่า อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมถภาวนานั้นมีอะไรบ้าง เพียงอ่านและก็ไปใช้อารมณ์นั้น เช่น รู้ว่าอารมณ์ของสมถภาวนานั้น ได้แก่ กสิณ ๑๐ ท่านก็จะไปดู ไปจ้องที่กสิณ และคิดว่าจิตจะสงบขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จิตอาจจะเป็นสมาธิ แต่ไม่ใช่กุศลจิตซึ่งเป็นความสงบ เพราะฉะนั้น ความสงบไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์ คือ ไม่ใช่อยู่ที่กสิณ ไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะไปดู ไปจ้องที่กสิณและจะสงบทุกคน ไม่ใช่อย่างนั้น

แต่ว่าบุคคลใด มีปัญญารู้เหตุที่จิตสงบ เพราะระลึกอยู่ที่กสิณซึ่งเป็นอารมณ์ในขณะนั้นด้วยปัญญา และรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบจริงๆ ในขณะนั้น ที่เป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล ก็รู้ในลักษณะที่สงบของจิตซึ่งเป็นกุศล และความสงบนี่เพิ่มขึ้น เพราะระลึกรู้อยู่ที่อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบได้นาน

เพราะฉะนั้น ความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่ตั้งมั่น เพิ่มขึ้น และปรากฏ ด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามปกติ และก็มีความรู้ชัดพร้อมกับความสงบยิ่งขึ้นในอารมณ์นั้น จึงจะเป็นการเจริญสมถภาวนา

การอบรมเจริญภาวนา ต้องเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา ซึ่งระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ที่เป็นสมถกัมมัฏฐานอารมณ์ใดๆ ก็ตาม ลักษณะของจิตที่สงบที่เป็นกุศล ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อย่างใน ขณะนี้ ตามธรรมดา

ขณะนี้ จิตของผู้ที่ได้ฟังธรรม และไม่ได้รู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ย่อมมีปัจจัยที่จะเป็นอกุศลเรื่อยๆ ตามปกติ แต่ผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้ แทนที่จะเป็นอกุศลจิต เพราะปัญญาที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตและมีปัญญารู้เหตุที่จิตจะสงบเป็นปัจจัย ทำให้จิตในขณะนี้สงบเป็นกุศล เป็นสมถะ แทนที่จะเป็นอกุศล ตามปกติอย่างนี้ทีเดียว

ถึงแม้ว่าท่านผู้นั้นจะมีเวลาว่าง และก็มีสถานที่ที่เหมาะสมแก่การที่จะเจริญความสงบยิ่งขึ้น เช่น ในสถานที่ที่สงบเงียบ เช่น เรือนว่าง หรือว่าในป่าเขาลำเนาไพรใดๆ ก็ตาม ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาในขณะนั้น ก็พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างในขณะนี้ ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่มีอาการที่จะมีปรากฏการณ์แปลกๆ เกิดขึ้น และก็มีความสงสัย มีความไม่เข้าใจ มีความไม่รู้ว่า ขณะนั้นสภาพนั้นเกิดปรากฏขึ้นได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะนั้นแล้ว ไม่สงบแน่นอน และไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา

เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนา คือ การอบรมเจริญกุศลซึ่งเป็นความสงบในขณะที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามปกติ และต้องมีปัญญาที่รู้ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบเป็นกุศล

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565