แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 728

สุ. ใคร่ที่จะเรียนถามท่านผู้ฟัง ซึ่งส่วนมากอาจจะเคยเจริญสมาธิโดยระลึกรู้ลมหายใจ เพราะดูเหมือนว่าอานาปานสติสมาธิจะแพร่หลายมาก กว้างขวางมาก เป็นอารมณ์ที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไป แต่ตามความเป็นจริงแล้ว อานาปานสติเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งบุคคลในยุคนี้สมัยนี้มีปัญญาเทียบไม่ได้เลยกับบุคคลในสมัยก่อน แต่ดูเสมือนว่าใครๆ ก็ไปให้จิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ และก็เป็นอานาปานสติสมาธิกันได้ทั้งหมด จะเป็นความจริงได้อย่างไร ในเมื่ออานาปาน คือ ลมหายใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก สุขุม ประณีต

โดยสภาพตามความเป็นจริง ลมหายใจ คือ โผฏฐัพพารมณ์ คือ สภาพธรรมที่กระทบสัมผัสทางกาย แต่ว่าละเอียดประณีต เพราะเป็นลมที่เกิดจากจิต ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ท่านจะไม่ทราบเลยว่า ในขณะที่ต้องการจดจ้องที่ลมหายใจนั้น เป็นจิตประเภทใด

ขอให้เทียบเคียงว่า ตามธรรมดาของโผฏฐัพพะ คือ รูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่กระทบกาย เป็นที่ตั้งของความยินดีหรือไม่ อารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี เป็นที่พอใจ ปรารถนาเพลิดเพลิน ยินดี ต้องการหรือไม่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีใครบ้างที่ไม่ต้องการ ตามธรรมดา และลมหายใจก็คือโผฏฐัพพะชนิดหนึ่งเท่านั้น ในเมื่อใจของ ทุกคนปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่แล้ว เวลาที่ลมหายใจปรากฏ ซึ่งลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะที่กระทบกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว จิตในขณะนั้นจะไม่พอใจ จะไม่ยินดีในโผฏฐัพพะที่เป็น อานาปานะตามปกติตามธรรมดาหรือ เพราะว่าลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะ

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านต้องการจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ เป็นความต้องการเหมือนกับที่ท่านต้องการโผฏฐัพพะที่กระทบกาย เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวอื่นๆ หรือไม่ ลักษณะของความต้องการละเอียดมาก แทบจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความต้องการแล้ว ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ในขณะนั้นว่า ต่างกันหรือเหมือนกันกับความต้องการในโผฏฐัพพะที่กำลังกระทบที่กาย

การอบรมเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ว่ามีลมหายใจ อ่านเรื่องลมหายใจ อานาปานะ และก็จะไปเจริญสมถภาวนาเกิดความสงบเวลาที่จดจ้องที่ลมหายใจได้

สภาพของจิตขณะที่ต้องการจดจ้องที่ลมหายใจและขณะที่กำลังรู้ที่ลมหายใจ กับขณะที่กำลังจดจ้องหรือว่ารู้ที่โผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏที่หนึ่งที่ใดในขณะนี้ เหมือนกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร

ถ้าปัญญาไม่รู้ จะเจริญความสงบได้อย่างไร เพราะปกติก็มีความต้องการในโผฏฐัพพะอยู่แล้ว และลมหายใจก็เป็นโผฏฐัพพะชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะสงบหรือ ที่ว่าจดจ้องแล้วสบาย

ถ. ขณะนั้นไม่รู้ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จริงๆ รู้อย่างเดียวว่า เมื่ออ่านในหนังสือแล้วก็นำไปปฏิบัติ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ และระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ซึ่งบางครั้งก็บังเอิญจิตสงบได้

สุ. ไม่อยากให้ใช้คำว่า สงบ สมาธิกับสงบนี่ต่างกัน สงบต้องเป็นขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และปัญญารู้ในสภาพความสงบของจิต ต้องมีปัญญาเกิดในขณะนั้น ซึ่งเป็นความรู้ชัดพร้อมสัมปชัญญะสมบูรณ์ว่า จิตในขณะนั้นสงบเพราะอะไร สำคัญที่สุด คือ รู้เหตุว่าขณะนั้นสงบเพราะอะไร

ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดกระทบสัมผัสโผฏฐัพพะ ซึ่งไม่ใช่ลมหายใจที่หนึ่งที่ใดก็ได้ จะรู้ได้ไหมว่า จิตสงบหรือไม่สงบ ถ้าไม่รู้ เจริญสมถภาวนาไม่ได้ ถ้าจิตจะเป็นกุศลแทนโลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลตามปกติ จะต้องมีปัญญาที่รู้ว่า เหตุอะไรเป็นปัจจัยให้จิตสงบในขณะที่กำลังระลึกรู้โผฏฐัพพะ

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ท่านไปทำสมาธิ และเข้าใจว่า เจริญสมถภาวนา ใช้คำว่าสมถภาวนา ซึ่งไม่ถูก เพราะขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ เมื่อจิตไม่สงบจะรู้ลักษณะของจิตที่สงบได้อย่างไร

ถ้าขณะนี้จิตเป็นโลภะ จะไปรู้ลักษณะที่สงบไม่ได้ เพราะจิตที่สงบไม่ได้เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ในลักษณะอาการของความสงบของจิต เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องศึกษาก่อนว่า จิตที่สงบเป็นกุศลขณะใด และจิตที่ไม่สงบเป็นอกุศลขณะใด

ขณะใดที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่ภาวนา ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่พูดถึงวิบากจิต ซึ่งเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่โดยทั่วไป เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็จะเกิดโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล คือ ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่การอบรมภาวนา ซึ่งจะต้องเป็นไปได้ด้วยปัญญาเท่านั้น สำหรับการอบรมเจริญภาวนา

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่มีการศึกษาให้เข้าใจ ก็ไม่สามารถจะเจริญภาวนาทั้งที่เป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาได้

ถ. การเจริญสมาธิทั่วๆ ไป บางคนก็ใช้คำว่า พุทโธ เป็นอารมณ์ หรือใช้ คำว่า สัมมาอรหัง

สุ. ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า ความสงบอยู่ที่อารมณ์ หรือว่าความสงบอยู่ที่ปัญญาที่รู้สภาพของจิต เช่น คำว่า พุทโธ คนที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็กล่าวคำนี้ได้ เด็กตัวเล็กๆ ชาติไหน ภาษาไหน ก็เอ่ยคำนี้ได้ทั้งนั้น แต่จิตของผู้ที่กล่าวคำนั้นสงบหรือไม่ เพราะฉะนั้น ความสงบของจิตไม่ได้อยู่ที่อารมณ์ แต่อยู่ที่ปัญญาที่รู้วิธีที่จิตจะสงบในขณะนั้นว่า เพราะอะไรจึงสงบ

อย่างที่ท่านกราบพระสวดมนต์เมื่อสักครู่นี้ มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดศึกษาลักษณะของจิตในขณะนั้นบ้างหรือไม่ว่า สงบหรือไม่สงบ หรือว่าเหมือนเดิม เพียงแต่กล่าวคำซึ่งเป็นบทสวดมนต์เท่านั้น ลักษณะของจิตนี่ต่างกัน ขอให้ศึกษาจริงๆ แล้วจะทราบว่า ขณะนั้น บางท่านหวั่นไหวไปก็ได้ ไม่สงบ เพราะว่าบางทีเสียงของท่านอาจจะไม่เหมือนเสียงของคนอื่น เพราะขาดการอบรมที่จะกล่าวให้ถูกต้องตามวิธีนั้น จิตของท่านก็หวั่นไหวไปแล้ว หรือว่าอาจจะมีอกุศลจิตเกิดแทนที่จะเป็นกุศลจิตก็ได้

ลักษณะของจิตที่สงบ ถ้าไม่มั่นคง ก็ยากที่จะปรากฏให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นสงบ เช่น ในขณะที่ให้ทาน มีกุศลเจตนาที่ให้ ในขณะนั้นต้องสงบ เพราะว่าเป็นกุศล แต่ว่ามีกี่ท่านที่จะสังเกตรู้ลักษณะความสงบของกุศลจิตในขณะที่ให้ เพราะถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้กุศลเจตนาจะเกิดขึ้น ก็เพียงเล็กน้อย และอกุศลก็ครอบงำอย่างรวดเร็ว มีเจตนาให้เพียงนิดเดียว ซึ่งบางท่านก็สงสัยว่าเป็นกุศลหรือเปล่าด้วยซ้ำ ไม่แน่ใจว่าขณะที่ให้นั้นเป็นกุศล เพราะให้เนื่องจากรำคาญบ้าง หรือให้เพราะเหตุอื่นๆ บ้าง แต่ถึงจะรำคาญแล้วไม่ให้ก็มี แต่เมื่อใดที่รำคาญแล้วให้ ขณะที่ให้ก็ยังเป็นกุศลเจตนา แต่ก็น้อยมากจนไม่ปรากฏลักษณะของความสงบให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ

แต่ถ้าท่านผู้ใดมีปัญญา สังเกตรู้ลักษณะของกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปทางกาย ทางวาจา เป็นการอ่อนน้อม เป็นการเคารพผู้ที่ควรเคารพ เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้ลักษณะของความสงบของจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกุศลทางกายทางวาจาได้ ก็สามารถจะอบรมเจริญกุศลพร้อมด้วยความสงบยิ่งขึ้น

ถ. ขณะที่ปฏิบัติตามตำราไปตามลำพัง บางครั้งจิตเป็นสมาธิ ก็รู้สึกเป็นสุข ชอบใจ มีโลภะ แต่เมื่อมาเจริญสติปัฏฐานอย่างที่อาจารย์สอน จิตสงบได้โดยไม่ต้องไปนั่งสมาธิ คือ ขณะที่มีสติระลึกรู้มากๆ จิตก็ได้รับความร่มเย็นเพิ่มขึ้นตามลำดับ นี่ก็เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญา จิตก็สะอาด เบา ไม่ต้องไปนั่งนานๆ เหมือนกับที่เคยจดจ้องอยู่โดยปราศจากปัญญา

สุ. เพราะฉะนั้น ความมุ่งหมาย ไม่ควรจะเป็นสมาธิ แต่ควรจะเป็นความสงบของจิต และเมื่อความสงบเพิ่มขึ้น ถ้ามีปัจจัยที่จะให้ความสงบนั้นตั้งมั่นอยู่ได้นาน ประกอบด้วยสมาธิพร้อมด้วยสัมปชัญญะบริบูรณ์ ผู้นั้นจะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ความสงบนี้เพิ่มขึ้น และเป็นความสงบจริงๆ

สภาพที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสภาพที่ผ่องใส ซึ่งเป็นความสงบ ปราศจากอกุศล และประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่จำเป็นที่ท่านจะไปต้องการสมาธิ โดยที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ใช่ความสงบ

ถ. คนที่ยังไม่ได้เจริญสติ และจะปฏิบัติเจริญสมถภาวนา มีหนทางใด อุบายแยบคายอย่างไหนบ้าง

สุ. ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งความรู้ขั้นนี้ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือวิปัสสนาภาวนา เพราะว่ายังเป็นเรา ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบ เพราะเป็นผู้ที่เห็นอกุศลตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศล แต่ไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล คือ รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดจิตเป็นกุศลหรือจิตเป็นอกุศล แต่ยังยึดมั่นในกุศลจิตและอกุศลจิตนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในองค์ของฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ผู้นั้นมีปัญญารู้ว่า ฌานจิตประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วิตกเจตสิกเป็นวิตกเจตสิก แต่ยึดถือว่าเป็นเรา ยังไม่เข้าถึงสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าปัญญารู้ชัดในลักษณะของวิตก ของวิจาร ของปีติ ของสุข ของเอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ของปฐมฌาน จนกระทั่งเห็นโทษของวิตก จึงอบรมความสงบให้ยิ่งขึ้นที่จะละวิตกให้เหลือแต่เพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

แต่ว่าลักษณะของวิตกและวิจารนี้ใกล้ชิดใกล้เคียงกันมาก เพราะฉะนั้น ก็ละพร้อมกันทั้งวิตกและวิจารสำหรับทุติยฌาน โดยนัยของจตุกกนัย คือ ฌาน ๔ เพราะฉะนั้น ฌานที่ ๒ ก็ปราศจากทั้งวิตกและวิจาร มีแต่เพียงปีติ สุข เอกัคคตา

แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านเหล่านั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ แต่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เพราะว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน ท่านรู้ลักษณะของอกุศลจิตที่เป็น โทสมูลจิต รู้ลักษณะของโลภมูลจิต รู้ลักษณะของอกุศลธรรม แต่ว่ายังยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ เป็นเราตราบใดที่ยังไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะเป็นการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่หยิบหนังสือมาอ่าน และไม่รู้อะไร ก็จะไปจดจ้องที่อารมณ์ของสมถะและเข้าใจว่าเป็นความสงบ แต่จิตที่สงบไม่ได้อยู่ในหนังสือ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ปัญญาต้องสามารถที่จะรู้ได้ว่าสงบหรือไม่สงบ และเพราะอะไรด้วย ถ้าไม่มีเหตุผล จะอาศัยอะไรเป็นเหตุให้ความสงบมั่นคงขึ้น เพราะไม่รู้เหตุของความสงบนั้นว่า สงบเพราะอะไร แต่ถ้ารู้เหตุว่าจิตสงบเพราะอะไร เป็นปัญญาที่รู้ จึงเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นได้

การเจริญสมถภาวนานั้นเป็นปัญญาขั้นที่รู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต จึงสามารถที่จะเจริญกุศลซึ่งเป็นความสงบของจิตได้ แต่ไม่สามารถที่จะละความยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ถ. เมื่อก่อนผมก็เข้าใจว่า การเจริญกสิณเป็นการเจริญสมถะที่ถูกต้อง อาศัยเพ่งเทียน และก็หลับตา เมื่อเพ่งจนชำนาญๆ เข้า จิตก็ไปจดจ้องอยู่ที่แสงนั้น อาการภายนอกเป็นต้นว่า ยุงกัด มดกัด เมื่อยขบ จะไม่มีความรู้สึกเลย จิตไปสงบนิ่งอยู่ที่แสงอย่างนั้นแหละ ความเข้าใจเดิมผมเข้าใจว่า สำเร็จแล้วกระมัง เพราะบางทีนั่งได้ทั้งคืนไม่รู้สึกเมื่อย แม้ยุงจะกัด หรืออะไรก็ไม่มีความรู้สึกเลย คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ แต่เมื่อเราออกมาแล้วก็รู้สึกเมื่อย เป็นทุกข์ มีความปวด ความไม่สบายใจเกิดขึ้น ซ้ำออกมาข้างนอก เจรจาพาทีก็ยังมีโกรธ มีโลภ ต่อเมื่อมาฟังอาจารย์แล้ว ตรงกันข้ามเลย คนละอย่าง คนละทาง

สุ. ขอให้ย้อนมาเป็นปกติ อย่างขณะนี้ ตามธรรมดา ตามปกติอย่างนี้ อย่างพิเศษทั้งหลายทิ้งไปให้หมด ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามธรรมดา ตามปกติ ก็จงอบรมเจริญปัญญา และจะรู้ว่าปัญญานั้นสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้ เป็นปัญญาจริงๆ ที่จะละความต้องการอื่น เพราะถ้ามีอะไรที่ผิดปกติ ดูเหมือนพิเศษ ก็จะเป็นที่ตั้งของความพอใจทันที และก็มีความต้องการที่จะให้เป็นอย่างนี้อีก ใช่ไหม และจะละได้อย่างไร

ถ. มีความต้องการอยู่อย่างนี้

สุ. ก็ล่อต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อารมณ์ของตัณหาหรือโลภะนั้นมีมาก ตัณหาหรือโลภะจะปราศไปได้ก็ต่อเมื่อปัญญาเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด ให้ทราบว่า นายช่างเรือนก็ยังคงแสวงหาอารมณ์ที่ต้องการ ที่พอใจอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องถามว่า นั่นสงบหรือเปล่า เป็นอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นลักษณะของความไม่รู้ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565