แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 734

สุ. การระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางทีไม่ต้องใช้คำว่า พุทโธ อย่างเวลาที่ท่านอ่านพระธรรมในพระไตรปิฎก เห็นพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ และจิตของท่านก็สงบ เพราะระลึกถึงคุณของพระองค์ ขณะนั้นมีลักษณะความสงบของจิตปรากฏ โดยที่ท่านไม่ได้ใช้คำว่า พุทโธ แต่ว่าสภาพของจิตสงบ แต่เวลาที่ใช้คำว่า พุทโธ โดยจิตไม่สงบก็มี ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะใช้กัมมัฏฐาน คือ คำว่าพุทโธ เพราะอาจจะกระทำด้วยจิตที่ไม่สงบก็ได้ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เวลาที่เข้าใจ พระธรรม เวลาที่ศึกษาพระธรรม อ่านพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม และเกิดความเข้าใจขึ้น ระลึกถึงพระคุณของพระองค์ ขณะนั้นเป็นพุทธานุสสติ ถ้าขณะนั้นมีความสงบของจิตปรากฏ ก็สามารถอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงพร้อมกับกำลังของสมาธิเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ไปท่องพุทโธ

การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง แต่ว่าต่างขั้นกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงของสมถะ คือ รู้ในสภาพที่สงบ กำลังสงบพร้อมสัมปชัญญะบริบูรณ์ และก็สงบขึ้นๆ ด้วย แต่ว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงโดยลักษณะของธรรมเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังสงบ สติปัฏฐานรู้ในอาการที่สงบว่า เป็นเพียงความสงบ ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของอกุศลจิต สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณเจตสิกที่ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจความหมายของพุทโธ พูดคำว่า พุทโธ ก็ได้ แต่จิตของ ผู้นั้นเป็นจะกุศลหรืออกุศลในขณะที่กล่าวคำว่าพุทโธ

เรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคำ แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรืออกุศล อาการที่สงบปรากฏให้รู้ในขณะนั้น หรือว่าไม่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏ ก็เป็นเพียงขั้นศีลทางกาย ทางวาจาเท่านั้น เวลาที่สวดมนต์ก็ดี กราบพระก็ดี เป็นขั้นศีลเพราะอะไร เพราะว่าขณะนั้นสภาพของจิตไม่ได้เจริญความสงบขึ้น

ถ. เจริญสติระลึกรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตามปกติอย่างนี้ เรียกว่า มีสติประกอบด้วยปัญญาใช่ไหม

สุ. ปัญญาต้องรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง โดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง นี่คือความละเอียดของสภาพธรรมแม้แต่ปัญญา ปัญญาขั้นประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ

แต่ว่าขณะที่กำลังระลึกรู้สภาพที่แข็งที่ปรากฏที่กาย เหตุใดจึงไม่ใช่สมถภาวนา ก็เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เกิดเพราะเข้าใจว่า สติคือสภาพที่ระลึกและศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเคยได้ยินได้ฟังว่า สภาพธรรมที่อ่อนที่แข็งเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งขณะที่แข็งปรากฏจะมีอย่างอื่นปรากฏด้วยไม่ได้ นั่นคือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ถ้าเป็นสมถภาวนา จะเป็นจตุธาตุววัฏฐาน ซึ่งได้แก่การระลึกถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ไม่ใช่ด้วยการรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ยังละเอียดต่างกันไปเป็นขั้นๆ แม้แต่ในขั้นที่เป็น สติปัฏฐานที่ใช้คำว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง ซึ่งขั้นประจักษ์แจ้งจะต้องเกิดขึ้นภายหลัง เมื่อได้อบรมความเข้าใจพร้อมการรู้ชัดในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้นอีก

ท่านผู้ฟังเอง เป็นผู้ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลจิตของท่านเป็นขั้นของสมถะหรือว่าเป็นขั้นของสติปัฏฐาน ซึ่งความเข้าใจก็ผิดกัน สภาพของการระลึกรู้ในขณะนั้นก็ต่างกัน ระลึกแล้วสงบ ระลึกแล้วศึกษา และรู้ในอาการที่อ่อน และภายหลังก็เพิ่มการรู้ขึ้นในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน นั่นก็โดยนัยของสติปัฏฐาน

ถ. ในพระอภิธรรมพูดถึงมหากุศลจิตมี ๘ ดวง ๔ ดวงประกอบด้วยปัญญา อีก ๔ ดวงไม่ประกอบด้วยปัญญา ใช่ไหม

สุ. เวลาที่จิตสงบ ก็รู้ในอาการที่สงบ ใครรู้ ปัญญารู้ และที่จะรู้ว่า มีปัญญาร่วมด้วยกับกุศลจิตนั้นหรือไม่ ก็คือว่า ขณะนี้หรือขณะนั้นมีความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรือไม่ เช่น ในขณะที่กำลังพูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อเข้าใจแล้วเป็นปัญญาไหม เป็น แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่กำลังระลึกลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏ เป็นแต่เพียงขั้นต้น คือ ปัญญาที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และภายหลังเวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นไหม ถ้ามี ขณะนั้นก็เป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น กุศลญาณสัมปยุตต์มีหลายระดับ หลายขั้น ซึ่งผู้นั้นเองทราบว่า ขณะนี้เป็นญาณสัมปยุตต์ไหม คือ เข้าใจไหม เวลาพูดถึงเรื่องการอบรมเจริญ สมถภาวนาเข้าใจไหม ถ้าเข้าใจ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอะไร เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

ถ. ถ้าอย่างนั้น ขณะฟังอาจารย์บรรยายและก็ตรึกตามไป ฟังแล้วก็เข้าใจ การปฏิบัติว่า จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นๆ ความเข้าใจนี้ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

สุ. แน่นอน ไม่มีตัวตนเลย ที่ศึกษาเรื่องมหากุศล ๘ ดวง ญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวง ญาณสัมปยุตต์ ๔ ดวง ก็เป็นลักษณะสภาพของกุศลจิตในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่ประพฤติเป็นไปในทาน ในศีล โดยที่ไม่มีความเข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็น มหากุศลญาณวิปปยุตต์ ขณะใดที่เป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบของจิต ที่ประกอบด้วยความเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นคำที่อยู่ในหนังสือ แต่เป็นลักษณะสภาพของจิต

ถ. ขณะที่ฟังอาจารย์บรรยายธรรมเข้าใจรู้เรื่อง ขณะนั้นยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญา เป็นแค่จินตามยปัญญา อย่างนี้ถูกไหม

สุ. ถูก

ในคราวก่อนได้พูดถึงเรื่องพุทธานุสสติ ซึ่งเป็นจิตที่สงบในขณะที่ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และในชีวิตประจำวันนี้ วันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังเคยสงบ เพราะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างไหม

อย่างเช่น ในขณะที่เห็นพระพุทธรูป จิตขณะนั้นสงบไหม ถ้าไม่ศึกษา ไม่สังเกตจริงๆ จะไม่ทราบขณะที่เป็นอกุศลและขณะที่เป็นกุศล ขณะที่เป็นอกุศล ก็ย่อมมีความยินดีพอใจ ต้องการ แต่ว่าขณะที่เป็นกุศล ก็น้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่กราบพระ สวดมนต์ แม้ในขณะที่สวดมนต์สรรเสริญพระพุทธคุณ สงบ หรือไม่สงบ

เมื่อครู่นี้ที่ผ่านไปแล้ว พอที่จะระลึกได้ไหมว่า ขณะที่กำลังสวดมนต์ไหว้พระ สงบไหม แต่ต้องเป็นสติที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจึงจะรู้ตามความเป็นจริง

ขณะก่อนก็ผ่านไปแล้ว แต่ว่าต่อไปก็จะสวดมนต์อีก จะไหว้พระอีก เพราะฉะนั้น ก็เริ่มสังเกตว่า ขณะนั้นจิตสงบไหม แต่ท่านผู้ฟังจะต้องทราบว่า ที่จิตจะสงบนั้นเพราะเหตุใด ถ้าเพียงแต่เห็นพระพุทธรูป ซึ่งในบางแห่งก็มีมาก ที่พุทธศาสนิกชนไปเช่า ไปแสวงหา ขณะที่เห็นพระพุทธรูปในลักษณะอย่างนั้น จิตสงบ หรือไม่สงบ

แต่เวลาที่ศึกษาพระธรรม ฟังธรรม และเกิดความเข้าใจ มีสภาพของจิตที่ผ่องใสเป็นกุศล เพราะขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น เข้าใจในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ในขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่สงบ เพราะเข้าใจในพระธรรม จึงเห็นพระคุณของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเพียงแต่เห็นพระพุทธรูป แต่ไม่เข้าใจในพระธรรม จิตย่อมสงบไม่ได้ เป็นกุศลได้เล็กน้อยในขณะที่เกิดศรัทธา ความเชื่อในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ มีกุศลเพียงนิดเดียว เหมือนกับในขณะที่ท่านให้ทาน มีได้ แต่ในขณะนั้นจิตไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา และอกุศลก็ติดตามมามากมายเหลือเกินหลังจากที่กุศลเจตนาดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ลักษณะของความสงบย่อมไม่ปรากฏ

เวลาที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม หรือว่าไม่ได้เข้าใจพระธรรม ไม่ปฏิบัติตาม พระธรรม ย่อมไม่เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาค แต่ขณะใดที่ได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจ จิตย่อมน้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น การที่ได้เข้าใจพระธรรมมากขึ้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบในขณะที่ได้ฟัง และในขณะที่ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งข้อความใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ข้อ ๕๕ มีข้อความตอนท้ายว่า

ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้ว คืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใด ผู้หนึ่งในโลกไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่ พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี ว่าพรหมกายก็ดี ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังเข้าใจในพระธรรมมากขึ้น ย่อมเห็นพระธรรมกาย คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมทั้งหมดหลั่งไหลจากพระผู้มีพระภาค โดยทรงแสดงแก่พุทธบริษัทตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนกระทั่งถึงปรินิพพาน เพราะฉะนั้น เวลาที่เข้าใจพระธรรมก็รู้ว่า พระธรรมนั้นมาจากไหน ที่ใดเป็นกายของพระธรรม คือ ที่ประชุมของพระธรรม ก็ต้องเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรม ประโยชน์ที่ได้รับก็คือ ความเข้าใจในพระธรรมเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดบังพระธรรม

บางท่านมีความเลื่อมใสในบุคคล ไม่ได้พิจารณาพระธรรมเลย ไม่ได้ไตร่ตรองแม้เหตุที่ท่านเลื่อมใสบุคคลนั้นว่าเพราะอะไร ซึ่งบางครั้งบุคคลนั้นก็ไม่ได้แสดงธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง แต่เพราะความเลื่อมใสของท่านในบุคคลนั้น ทำให้ท่านไม่เกิดปัญญาที่จะเข้าใจในพระธรรม เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงบังพระธรรม และบังพระผู้มีพระภาค มิให้ท่านผู้ฟังได้เห็นในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังได้ฟังพระธรรมจริงๆ ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคย่อมเพิ่มขึ้น และไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบังไม่ให้ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคและพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว

สำหรับความเข้าใจและศรัทธาในพระธรรมที่จะเพิ่มขึ้นได้นั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงฟังพระธรรม แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วย และเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น มีศรัทธามั่นคงขึ้น การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมก็จะมั่นคงขึ้นด้วย

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ข้อ ๖๒๗ มีคำอธิบายว่า

คำว่า นมัสการอยู่ ในอุเทศว่า นมสฺสมาโน วิวสามิ รตฺตึ ดังนี้ ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน

ขณะใดที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะนั้นเป็นการนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ทรงแสดง

ขณะที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดความปีติ ผ่องใสน้อมมนัสการพระผู้มีพระภาคได้ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสมถะ เป็นพุทธานุสสติ และสติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะสภาพความผ่องใสของจิต เป็นลักษณะสภาพความสงบของจิต ปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นความสงบ ที่เป็นความผ่องใส และเข้าใจว่า สมถะคือความสงบนั้น คือ ขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่าสงบเพราะอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มมีความสงบเกิดขึ้น และสติระลึกรู้ในลักษณะของความสงบนั้น ความสงบอาจจะมีกำลังเพิ่มขึ้นก็ได้ แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ต่างกับขณะที่ไปจดจ้องท่องบ่นด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ

เรื่องของการอบรมเจริญสมาธิ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา แม้ในคำสอนอื่น ในข้อปฏิบัติอื่นก็มี ท่านผู้ฟังก็คงเคยได้ยินเรื่องโยคะ ก็เป็นเรื่องของสมาธิ ซึ่งคนที่กำลังปฏิบัติอาจจะคิด อาจจะเข้าใจว่า เป็นความสงบ เพราะในขณะนั้นไม่ได้มีจิตที่วุ่นวายกระสับกระส่าย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความสบายของกายและใจในขณะนั้นไม่ใช่สมถะ คือ ไม่ใช่ความสงบ เป็นแต่เพียงความยินดี ความพอใจ ในขณะที่สบายกายสบายใจเท่านั้น

บางแห่งก็ไม่ได้ใช้คำว่า พุทโธ แต่ใช้อักขระ หรือว่าใช้เสียงเป็นคำ พยางค์หนึ่งบ้าง สองพยางค์บ้าง ตามสำนักปฏิบัติบางแห่งซึ่งสอนโดยชาวต่างประเทศ จะมีการเจริญภาวนาซึ่งผู้สอนบอกว่า จะทำให้บรรลุนิพพานได้ โดยการนึกถึงเสียง นึกถึงพยางค์ อาจจะเป็นพยางค์หนึ่งบ้าง หรือว่าสองพยางค์บ้าง และก็มีคำสอนที่ทำให้จิตตรึกนึกถึงพยางค์นั้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติมาแล้วก็บอกว่า สงบมาก แต่ตามความเป็นจริง ขณะนั้นสบายมาก เกิดความยินดี เกิดความพอใจในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความสงบของจิต

เพราะฉะนั้น ถ้าลักษณะของความสงบไม่เกิดขึ้นปรากฏให้ศึกษา ให้เข้าใจ ให้เห็นความต่างกันของสมถะกับสมาธิ ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เพราะขณะที่ต้องการให้จดจ้องเป็นสมาธินั้น มีความต้องการ เริ่มด้วยความต้องการ ไม่ใช่เริ่มด้วยปัญญาและความสงบ

ในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ ถ้าระลึกถึงพระคุณจริงๆ หรือแม้ว่าจะไม่ใช่ในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ ในขณะที่ฟังธรรม และระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สภาพความผ่องใส ความสงบของจิตนั้น จะต่างกับในขณะที่กำลังจดจ้อง ต้องการ ท่องบ่นเพื่อที่จะให้เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นได้ว่า ลักษณะของความสงบนั้นมีในขณะที่จิตเป็นกุศล แต่ปัญญาต้องเริ่มสังเกตที่จะรู้ในสภาพของความสงบ ความสงบจึงจะเจริญยิ่งขึ้นได้

. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. สมาธิเป็นได้ทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสมาธินั้นเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้ามีความต้องการจดจ้องที่หนึ่งที่ใด เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ใช่ความสงบ

เห็นรูปวิวธรรมชาติสวยๆ บางคนบอกว่า ดูแล้วสงบ จริงไหม หรือว่าดูแล้วชอบ และเวลาที่อยู่ในป่า ไม่ใช่เพียงรูปวิวรูปเดียว แต่ล้อมรอบตัวทั้งหมดเป็นภาพธรรมชาติทั้งนั้น ลองคิดดูว่า ในขณะที่เพียงเห็นรูปวิวธรรมชาติรูปเดียวยังชอบ ถ้าธรรมชาติล้อมรอบตัวเองทั้งหมด ในขณะนั้นจะเป็นความชอบ หรือว่าจะเป็นสมถะ คือ ความสงบ

เปิด  255
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566