แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 735

สุ. ถ้าแยกอกุศลจิตออกจากกุศลจิตไม่ได้ ก็เจริญความสงบไม่ได้ ก็ยังคงมีความสบายใจ ซึ่งเป็นลักษณะของความพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ โดยเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญด้วยปัญญาขั้นที่รู้ว่า ลักษณะสภาพความสงบของจิตนั้นเป็นอย่างไร ขณะนี้ก็ได้ กำลังฟังพระธรรม สงบไหม ขณะที่กำลังเข้าใจธรรม ขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ แต่ชั่วขณะเล็กน้อย

ขณะที่เป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในการฟังธรรมบ้าง ขณะนั้นสงบ แต่สภาพของความสงบยังไม่มากพอที่จะปรากฏให้รู้ให้สังเกตได้ว่า เป็นลักษณะความสงบของจิต

เพราะฉะนั้น ถ้ามีการระลึกถึงพระธรรมด้วยความรู้ความเข้าใจบ่อยๆ เนืองๆ ลักษณะของความสงบจะปรากฏได้ หรือระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อยๆ เนืองๆ แทนที่จะเพียงกราบพระอย่างรีบร้อน หรืออย่างที่ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณเลย ก็เป็นการระลึกถึงพระคุณ และจะสังเกตรู้สภาพความสงบของจิตซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้นอกจากตัวของท่านเอง เพราะฉะนั้น แต่ก่อนนี้เคยไหว้พระสวดมนต์โดยที่ไม่มีลักษณะของความสงบปรากฏให้รู้ ต่อไปนี้เริ่มสังเกต ก็จะได้รู้ว่า ลักษณะของความสงบปรากฏบ้างไหม และจะสงบขึ้นได้ถ้ารู้ในลักษณะที่สงบนั้น

ไม่ใช่เป็นความต้องการไปจดจ้อง ไปท่องบ่นอะไร แต่เป็นความผ่องใสของจิต เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่ฟังธรรม ลักษณะความสงบของจิตยังไม่ปรากฏ ก็ต้องฟังธรรมนัยอื่นๆ ถ้าได้ฟังอดีตประวัติของพระองค์ ความซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์ย่อมมีเพิ่มขึ้น และในขณะนั้นจะปรากฏลักษณะที่สงบขึ้น

เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงอดีตชาติเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเป็นสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระชาติที่ได้รับการพยากรณ์ว่า พระองค์จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องย้อนถอยไป ๔ อสงไขยแสนกัป ซาบซึ้งไหม บุคคลหนึ่งได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

แท้ที่จริงแล้ว เคยทรงปรารถนาก่อนนั้น แต่ความปรารถนานั้นยังไม่มั่นคง จึงยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด คือในบางกาลที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม พระองค์ก็เคยปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าความปรารถนาที่เริ่มเกิดนั้นยังไม่มีกำลัง ต้องเจริญกุศล ได้เฝ้า ได้ฟังธรรมอีก ได้เห็นประโยชน์อีก จนกระทั่งมีความปรารถนาที่มั่นคง และเมื่อได้สะสมบุญบารมีมากพอที่จะได้รับการพยากรณ์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็จะทรงพยากรณ์ว่า บุคคลนั้นจะมีบารมีพร้อมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า แต่ว่า ๔ อสงไขยแสนกัป

เริ่มซาบซึ้ง เริ่มสงบไหม เมื่อย้อนถอยไปถึง ๔ อสงไขย กับอีกแสนกัป

ข้อความใน นิทานกถา อรรถกถาธัมมสังคณี ชื่อ อรรถสาลินี มีว่า

ได้มีนครชื่อว่า อมรวดี พราหมณ์นามว่าสุเมธ ซึ่งเกิดบริสุทธิ์ดีทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายมารดา ๑ ฝ่ายบิดา ๑ ประสูติจากครรภ์อันบริสุทธิ์ ใครๆ กล่าวคัดค้านไม่ได้ ไม่มีใครรังเกียจด้วยชาติตระกูล กระทั่งถึงเครือตระกูลที่เจ็ด มีรูปงามน่าทัศนา น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความเป็นผู้มีรูปสมส่วนอย่างยิ่ง พราหมณ์นั้นไม่ทำการงานอย่างอื่น ได้แต่เรียนศิลปะสำหรับพราหมณ์อย่างเดียว ในกาลที่พราหมณ์นั้นยังเด็กอยู่นั่นแล มารดาบิดาก็ได้ทำกาลกิริยา ทีนั้นอำมาตย์ชื่อว่าราสิวัตทกนำบัญชีส่วยมาให้พราหมณ์นั้น แล้วเปิดคลังที่เต็มไปด้วยทอง เงิน แก้วมณี และมุกดา เป็นต้น แล้วบอกทรัพย์กระทั่งถึงเจ็ดชั่วตระกูลว่า ดูกร กุมาร ทรัพย์ของมารดาและบิดาของเธอเท่านี้ ของตาและยายเท่านี้ แล้วพูดว่า เธอจงคุ้มครองทรัพย์นี้

สุเมธผู้เป็นบัณฑิตคิดว่า บิดาและปู่เป็นต้นของเราอุตส่าห์รวบรวมทรัพย์นี้ไว้แล้ว เมื่อจะไปยังปรโลกก็ไม่ได้ถือเอาแม้กหาปณะหนึ่งไป แต่ว่าเราชอบที่จะกระทำเหตุแห่งการที่จะถือเอาไปได้ ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลแก่พระราชา ให้ตีกลองป่าวประกาศในนคร ให้ทานแก่มหาชน แล้วบวชเป็นดาบส

ทรัพย์ที่ทุกท่านมีอยู่ จะถือเอาไปโลกอื่นได้ไหม ถ้าไม่รู้วิธีก็เอาไปไม่ได้เลย แต่ว่าถ้ารู้วิธี ก็สามารถที่จะเอาไปด้วยได้ คือ ด้วยการบำเพ็ญบุญกุศล ข้อความโดยละเอียดมีใน อรรถสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ ซึ้งจะขอกล่าวถึงเพียงข้อความที่ทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติตามได้

ในพุทธวงศ์ได้กล่าวถึงพระดำริของพระผู้มีพระภาคในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบส ซึ่งได้มีความคิดว่า

การเกิดในภพใหม่เป็นทุกข์ ความที่สรีระร่างกายแตกทำลายไปก็เป็นทุกข์ ความหลงตายก็เป็นทุกข์ ความที่ชีวิตถูกชราย่ำยีก็เป็นทุกข์ ก็ในกาลนั้น เรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จักแสวงหา พระนิพพานซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย อันปลอดภัย ถ้ากระไรหนอเราไม่พึงห่วงใย ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติ ละทิ้งกายอันเปื่อยเน่านี้ซึ่งเต็มด้วยซากศพต่างๆ ไปเสียเถิด ทางนั้นไม่อาจจะไม่มีหามิได้ ทางนั้นมีอยู่ และจักมีแน่นอน เราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อความหลุดพ้นไปจากภพ

ทุกท่านทราบว่า ท่านต้องจากโลกนี้ไปแน่ แต่ท่านเห็นโทษของ ความหลงตายก็เป็นทุกข์ ไหม ท่านจากโลกนี้ไปด้วยความหลง หรือว่าด้วยความไม่หลง

ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้หลงไหม ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หลงยึดถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่าเป็นสาระ หลงยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นี่คือความหลง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส ก็ได้มีความคิดว่า ความหลงตายก็เป็นทุกข์ เพราะตายไปโดยที่ยังไม่ได้ตื่น ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หลงอย่างไรก็หลงอย่างนั้น และบางท่านก็หลงเพิ่มขึ้น ไม่ได้หลงน้อยลงเลย เพราะฉะนั้น ความหลงตายก็ย่อมเป็นทุกข์ เพราะย่อมจะต้องเกิด แก่ และก็มีความป่วยไข้อีกเป็นธรรมดา

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อมีความเจริญ แม้ความเสื่อมก็จำต้องปรารถนา อุปมาเหมือนเมื่อมีทุกข์ แม้ชื่อว่าสุขก็ย่อมมีได้ เมื่อมีไฟ ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ นิพพานธรรมที่ดับไปก็จำต้องปรารถนา อุปมาเหมือนเมื่อมีร้อนก็ย่อมมีเย็นแก้ เมื่อมีความเกิดก็จำต้องปรารถนาความไม่เกิด อุปมาเหมือนแม้เมื่อมีความชั่ว ถึงความดีก็ย่อมมีได้ เมื่อมีน้ำสำหรับล้างมลทินคือกิเลสอยู่ในสระคืออมตะ บุคคลไม่แสวงหาสระนั้นจะโทษสระ คืออมตะได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษผู้ตกหลุมคูถ เห็นสระซึ่งมีน้ำขังอยู่เต็ม แล้วไม่แสวงหาสระนั้น จะโทษสระได้ไฉน เมื่อหนทางอันปลอดโปร่งมีอยู่ บุคคลผู้ถูกกิเลสล้อมไว้ แล้วไม่แสวงหาหนทางนั้น จะโทษหนทางอันปลอดโปร่งได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษผู้ถูกพวกข้าศึกล้อมไว้รอบด้าน เมื่อหนทางสำหรับจะหนีไปได้มีอยู่ ย่อมไม่หนีเอาตัวรอด จะโทษหนทางได้ไฉน บุคคลผู้ระทมทุกข์ ถูกพยาธิ คือ กิเลส บีบคั้น ไม่แสวงหาอาจารย์ จะโทษอาจารย์ผู้แนะนำนั้นได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอผู้รักษามีอยู่ ไม่ให้หมอรักษาพยาธินั้น จะโทษหมอผู้เยียวยานั้นได้ไฉน

โทษใครไม่ได้เลย ถ้าท่านจะจากโลกนี้ไปด้วยความหลง ก็เป็นเพราะอกุศล กิเลส หรือความผิดของตนเองเท่านั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

เราไม่ควรห่วงใย ไม่ควรต้องการทรัพย์สมบัติ ทิ้งกายอันเปื่อยเน่านี้ซึ่งเป็นที่สั่งสมซากศพต่างๆ ไปเสียเถิด อุปมาเหมือนบุรุษแก้ซากศพที่น่าสะอิดสะเอียนซึ่งผูกไว้ที่คอได้แล้ว พึงไปอยู่เป็นสุขเสรีตามลำพังตน ฉะนั้น

เราจะทิ้งกายนี้ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย เหมือนถ่ายอุจจาระลงในส้วมเสร็จแล้วออกไป อุปมาเหมือนบุรุษและสตรีถ่ายอุจจาระลงในส้วมแล้วไม่ห่วงใย ไม่ต้องการ ไปเสียฉะนั้น เราจะทิ้งกายนี้ซึ่งมีช่อง ๙ ช่องอันไหลเยิ้มอยู่เป็นนิจไปเสีย ดุจเจ้าของทั้งหลายทิ้งเรือที่เก่าคร่ำคร่า ฉะนั้น ข้อนี้มีอุปมาเหมือนพวกเจ้าของเรือ ทิ้งเรือที่เก่าคร่ำคร่า ชำรุดทรุดโทรม ที่รั่ว ไม่มีความเยื่อใย ไม่ต้องการไปเสีย ฉะนั้น

เราจะละกายนี้ซึ่งเปรียบเหมือนมหาโจรไปเสีย เพราะกลัวจะชิงตัดกุศล อุปมาเหมือนบุรุษถือห่อสิ่งของเดินไปกับพวกโจร ทิ้งโจรไปเสีย เพราะเห็นภัย คือ โจรจะชิงสิ่งของ ฉะนั้น

ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์ตั้งหลายร้อยโกฏิแก่คนทั้งที่ไม่ใช่คนอนาถา ทั้งที่เป็นอนาถา แล้วเข้าไปยังป่าหิมวันต์

ถึงแม้ท่านผู้ฟังจะไม่คิดอย่างสุเมธดาบสที่มีความตั้งมั่นในการแสวงหา พระนิพพาน แต่ก็ควรจะระลึกบ้าง เพื่อที่จิตจะได้สงบ อย่างข้อความที่ว่า เราจะทิ้งกายนี้ซึ่งเต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย เหมือนถ่ายอุจจาระลงในส้วมเสร็จแล้วออกไป นี่เป็นกิจที่ทำกันอยู่ทุกวัน แต่ปัญญาไม่ได้นึกเปรียบเทียบเลยว่า ควรที่จะทิ้งนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่เกิดดับ ที่น่ารังเกียจอย่างนี้ ที่จะต้องแก่และตายอย่างนี้ ไปสู่สภาพที่ไม่มีการเกิดและการตายอีก

เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน สำหรับบุคคลที่ใคร่จะได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้ ย่อมน้อมเห็นสภาพธรรมแม้ปกติในชีวิตประจำวัน และก็มีความรู้สึกอย่างนั้น

ข้อความต่อไปใน อรรถสาลินี แสดงถึงที่จงกรมที่เหมาะสมในขณะที่ สุเมธดาบสได้ไปยังป่าหิมวันต์แล้ว และสุขของสมณะ ๘ ประการ โทษของผ้าสาฎก โทษของบรรณศาลา คุณของโคนไม้ และโทษของอาหารที่ดี ข้อความมีว่า

เมื่อเรา (คือสุเมธดาบส) ถึงความสำเร็จ เป็นผู้ชำนิชำนาญในศาสนาอย่างนี้แล้ว พระชินเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงเป็นนายกของโลกก็เสด็จอุบัติ เรามัวอิ่มเอิบอยู่ด้วยความยินดีในฌานจึงมิได้เห็นนิมิต ๔ คือ ๑. เมื่อพระองค์เสด็จอุบัติ ๒. ทรงประสูติ ๓. ตรัสรู้ ๔. ทรงแสดงธรรม

ซึ่งสมัยต่อมาพวกมนุษย์ก็มีใจยินดีนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้เสด็จไปในเขตประเทศปลายแดน แล้วได้พากันแผ้วถางทางที่พระองค์จะเสด็จมา

ในสมัยนั้น เราครองผ้าคากรองออกจากอาศรมของตนเหาะไปในท้องฟ้า ในกาลนั้น ได้เห็นชนเกิดความร่าเริงบันเทิงใจ แล้วลงจากท้องฟ้า จึงถามพวกมนุษย์ในขณะนั้นว่า มหาชนผู้เกิดความร่าเริงบันเทิงใจย่อมแผ้วถางทางเป็นที่มาเพื่อใคร พวกเขาถูกเราถามแล้วจึงตอบว่า พระชินเจ้าทรงพระนามทีปังกร เป็นพระพุทธเจ้าไม่มีใครจะเทียบถึง ทรงเป็นนายกของโลก เสด็จอุบัติมาในโลก มหาชนย่อมแผ้วถางทางเป็นที่เสด็จมาเพื่อพระองค์

เพราะได้ฟังชื่อว่า พุทโธ ก็เกิดปีติในทันทีทันใด เรากล่าวอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ ได้เสวยโสมนัสแล้ว เราทั้งๆ ที่ยินดียืนอยู่ ณ ที่นั้นก็สลดจิตคิดว่า เราจักปลูกพืชทั้งหลายไว้ในที่นี้ กาลเวลาอย่าได้ล่วงเลยไปเสีย ถ้าหากพวกท่านแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า ก็จงให้ทางส่วนหนึ่งแก่เราเถิด เพื่อเราก็จักแผ้วถางทางเป็นที่เสด็จดำเนินมา พวกเขาได้ให้ทางส่วนหนึ่งแก่เรา เพื่อจะแผ้วถางทางในกาลนั้น เราคิดว่า พุทโธ พุทโธ พลางแผ้วถางทางในกาลนั้น

เมื่อทางบางส่วนของเรายังไม่สำเร็จ พระชินเจ้าผู้มหามุนีทรงพระนามว่า ทีปังกรพร้อมด้วยพระขีณาสพผู้ทรงคุณจำนวนใหญ่ ก็เสด็จดำเนินมาตามหนทางนั้นส่วนเราสยายผมออก แล้วเปลื้องผ้าคากรอง แล้วลาดหนังเสือไว้บนเปือกตมนั้น แล้วนอนคว่ำอยู่ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าจงทรงเหยียบเราเสด็จไปพร้อมทั้งหมู่สาวก อย่าได้เหยียบเปือกตมเลย พระองค์จักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา

เรานอนบนแผ่นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

วันนี้เมื่อเราปรารถนาก็จักฆ่าเหล่ากิเลสได้ การกระทำธรรมให้แจ้งด้วยเพศที่คนเขาไม่รู้จักในที่นี้จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก

ความเป็นบุรุษผู้แสดงความสามารถข้ามพ้นได้คนเดียวจักมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักยังมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น

ความเป็นบุรุษผู้มีบุญญาธิการซึ่งแสดงความสามารถข้ามพ้นได้คนเดียวนี้จักมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักยังประชุมชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้น เราจักตัดกระแสแห่งสังสาระจักร กำจัดภพทั้ง ๓ แล้วขึ้นธรรมนาวาให้พวกมนุษย์และเทวดาข้ามพ้น

ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่า คิดที่จะอนุเคราะห์คนอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเฉพาะตนคนเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อคิดแล้ว ก็อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่นในขณะนี้ทุกทาง ที่ท่านสามารถจะกระทำได้ ไม่ว่าจะด้วยการสนทนาธรรม การเกื้อกูลให้หนังสือธรรมเพื่อบุคคลอื่นจะได้อ่าน ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านผู้ฟังอาจจะมีหนทาง แล้วแต่ความสามารถความชำนาญของท่าน ซึ่งจะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้ได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ในขณะนั้น แม้จะไม่เท่ากับความคิดของสุเมธดาบสที่คิดจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ในวันนั้น แต่ว่าต้องอีก ๔ อสงไขยแสนกัป ในการที่จะบำเพ็ญพระบารมีให้พร้อมถึงความที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง

ข้อความต่อไปมีว่า

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องสักการะที่เขานำมาถวาย ประทับยืนอยู่ที่ภาคพื้นเบื้องศีรษะของเรา ได้ตรัสคำนี้ว่า

พวกเธอท่านจงดูดาบสนี้ ผู้เป็นชฎิล มีตบะกล้า ในกัปนับไม่ถ้วนนับแต่กัปนี้ไป เธอจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก เธอจักเป็นพระตถาคต เสด็จออกจากนครอันมีนามว่ากบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ ทรงตั้งความเพียรทำทุกรกิริยา ประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้อชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาส ณ ที่นั้นแล้ว จักเข้าไปประทับ ณ ฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา พระชินเจ้าเสวยข้าวปายาสที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้ว จักเสด็จมาประทับ ณ โคนต้นโพธิ์ โดยหนทางที่เขาแต่งไว้เป็นอันดี

แต่นั้นจะทรงทำประทักษิณบัลลังก์อันเป็นที่ผ่องใสแห่งพระโพธิญาณ แล้วจักตรัสรู้ธรรมอันเยี่ยมยอด เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระยศอันยิ่งใหญ่ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์

เปิด  220
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566