แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 736

พระมารดาผู้ชนนีของดาบสผู้นี้ จักทรงพระนามว่ามายา พระบิดาจักทรง พระนามว่าสุทโธทนะ ดาบสนี้จักเป็นพระโคตมะ

พระเถระ ๒ รูป คือ โกลิตะและอุปติสสะผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจากราคะ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น จักเป็นอัครสาวก ภิกษุพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าอานนท์ จักอุปัฏฐาก พระชินเจ้านั้น

นางเขมาและนางอุบลวรรณาผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจากราคะ มีจิตสงบ มีจิต ตั้งมั่น จักเป็นอัครสาวิกา ไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าอัสสัตถะ

พวกมนุษย์และเทวดาได้ยินพระดำรัสของพระทศพลทีปังกร ผู้ซึ่งไม่มีใครเสมอเหมือนนี้ว่า ผู้นี้จะเป็นหน่อพุทธางกูลผู้รู้แจ้งดังนี้แล้ว ก็พากันชื่นชมทุกทั่วหน้า เสียงโห่ร้องก็บันลือลั่น พวกมนุษย์และพวกเทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุก็ปรบมือ กระพุ่มหัตถ์นมัสการ ตั้งความปรารถนาไว้ว่า แม้ถ้าว่าพวกเราจักพลาดจากศาสนาของ พระโลกนาถนั้น ต่อไปในอนาคตกาลพวกเราก็จักพบกันกับดาบสนี้เฉพาะพระพักตร์ ถ้าหากว่าพวกเราทุกคนพลาดจากพระชินเจ้าพระองค์นี้เสีย ต่อไปในอนาคตกาล พวกเราก็จะพบกันกับดาบสนี้เฉพาะพระพักตร์ อุปมาเหมือนพวกมนุษย์จะข้ามนทีธาร พลาดจากท่าตรงข้าม ครั้นมายึดท่าตอนล่างได้แล้ว ก็ข้ามมหานทีได้ ฉะนั้น

ต้องคอยนานไหม เนื่องจากว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสไม่ใช่รวดเร็ว เพราะฉะนั้น มนุษย์ในครั้งพระทีปังกร เมื่อได้ฟังคำพยากรณ์ของพระทีปังกรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังคิดว่า ถ้าพวกท่านเหล่านั้นพลาดจากศาสนาของ พระทีปังกรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีโอกาสได้พบกับดาบสนี้เฉพาะ พระพักตร์ใน ๔ อสงไขยแสนกัป

บุคคลในครั้งนั้น ไม่ได้ประมาทในธรรมเลย ไม่คิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยง่าย เพราะกว่าที่สุเมธดาบสจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องบำเพ็ญบารมี และได้รับคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกถึง ๒๔ พระองค์รวมทั้งพระทีปังกรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ซึ่งคนในครั้งนั้นไม่ได้ท้อถอย แต่กลับปรบมือยินดีว่า ถึงแม้ว่าจะพลาดจากพระศาสนาของพระทีปังกร ก็ยังมีโอกาสที่จะได้พบกับสุเมธดาบสเฉพาะพระพักตร์เมื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พอที่จะซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณไหม

ผู้ฟัง ซาบซึ้ง

ข้อความต่อไปมีว่า

พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องสักการะที่เขานำมาบูชา ทรงประกาศกรรมของเราแล้ว ได้ทรงยกพระบาทเบื้องขวาขึ้น เหล่าชินบุตรผู้ซีงอยู่ในนั้นทั้งหมดก็ได้ทำประทักษิณเรา พวกมนุษย์ พวกนาค และพวกคนธรรพ์ก็พากันอภิวาทแล้วก็หลีกไป เมื่อพระโลกนาถและพระสงฆ์เสด็จล่วงสายตาเราไปแล้ว เรามีจิตยินดีร่าเริง ลุกขึ้นจากอาสนะ ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประสบสุขด้วยสุข บันเทิงด้วยปราโมทย์ และดื่มด่ำด้วยปีติ นั่งคู้บัลลังก์ในกาลนั้น

ในกาลนั้น เรานั่งคู้บัลลังก์แล้วคิดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในฌานถึงความเต็มเปี่ยมในอภิญญาแล้ว

ซึ่งในขณะนั้น มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความชื่นชมยินดีในการที่ สุเมธดาบสได้รับพยากรณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าต่อไปว่า

เราได้สดับถ้อยคำของพระพุทธเจ้าและทวยเทพในหมู่จักรวาลทั้งสองฝ่าย ได้เป็นผู้มีความปรีดาปราโมทย์ ดำริในเวลานั้นอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เป็นสอง พระชินเจ้าทั้งหลายมีถ้อยคำไม่เปล่าประโยชน์ ถ้อยคำที่ไม่จริงย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เราต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่

ก้อนดินที่โยนไปในอากาศ ต้องตกลงในภาคพื้นเป็นแน่แท้ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น

มรณะต้องเป็นของแน่นอนของสรรพสัตว์ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น

เมื่อราตรีสิ้นไป ดวงตะวันต้องขึ้นเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น

สีหะออกจากที่นอนแล้วต้องบันลือเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้สูงสุดต้องเป็นถ้อยคำแน่นอนเหมือนฉะนั้น

ผู้แบกของหนักเมื่อถึงจุดหมายแล้ว ย่อมปลงภาระลงเป็นแน่ ฉันใด ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดต้องเป็นคำแน่นอนเหมือนฉะนั้นแล

ผิฉะนั้น เราจะเลือกเฟ้นธรรมอันกระทำความเป็นพระพุทธเจ้า ทางโน้นและทางนี้ ทั้งเบื้องบนและเบื้องต่ำ ทั่วไปในทิศทั้ง ๑๐ ตลอดถึงธรรมธาตุ

เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบทานบารมี ซึ่งเป็นมหาวิถีที่พระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ในครั้งก่อนๆ ทรงประพฤติเป็นลำดับมา เป็นพุทธการกธรรมข้อต้น สอนตนว่าดังนี้

เธอจงบำเพ็ญทานบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อต้นดังนี้ สมาทานทำให้มั่นไว้ก่อน ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ หม้อน้ำที่เต็มอันผู้หนึ่งผู้ใดคว่ำลง ย่อมคายน้ำจนไม่เหลือ ย่อมรักษาน้ำไว้ในนั้นไม่ได้ ฉันใด เธอเห็นพวกยาจก เป็นคนชั้นต่ำ หรือชั้นสูง หรือชั้นกลางก็ตาม จงให้ทานจนไม่เหลือ ดุจหม้อน้ำที่เขาคว่ำ ฉะนั้นแล

สำหรับท่านที่ต้องการจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีบารมีไม่ได้ ทานก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าท่านไม่สามารถที่จะมีจิตตั้งมั่นอย่างสุเมธดาบส แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เพียงตั้งใจที่จะไม่ละเลยโอกาสที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่นเมื่อสามารถที่จะกระทำได้ นั่นก็เป็นความตั้งใจมั่น สมควรแก่ฐานะของผู้ที่ไม่ได้ต้องการที่จะอบรมปัญญาถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดตั้งใจที่จะให้ทาน หรือว่าสงเคราะห์คนอื่นเมื่อท่านสามารถที่จะกระทำได้ นั่นเป็นบารมีหนึ่งที่จะทำให้ค่อยๆ ละคลายการติดในวัตถุ และในนามธรรมรูปธรรมได้

สำหรับบารมีที่ ๒

ข้อความต่อไปมีว่า

อันพุทธการกธรรมนั้น จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบศีลบารมี ที่พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่แต่ครั้งก่อนได้บำเพ็ญอบรมกันมา เป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๒ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงบำเพ็ญศีลบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๒ สมาทานไว้ให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ อันจามรีเมื่อขนข้องอยู่ในที่ไหนๆ ย่อมยอมตายในที่นั้นๆ ย่อมไม่ยอมเสียหาง ฉันใด เธอก็จงเป็นเหมือนฉะนั้น จงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ทั้ง ๔ ภูมิ จงรักษาศีลให้มั่นทุกเมื่อ ดุจจามรีรักษาหาง ฉะนั้นแล

ท่านผู้ฟังเคยคิดถึงเรื่องที่จะบำเพ็ญศีลบารมีบ้างไหม คือ มีความตั้งใจมั่นที่จะละเว้นทุจริต รักษาแม้ศีล ๕ ให้มั่นคง ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ที่เด็ดเดี่ยว อาจหาญ ร่าเริง ในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่จะให้เป็นผู้รักษาศีล เพราะแม้แต่จามรี เมื่อขนข้องอยู่ในที่ไหนๆ ย่อมยอมตายในที่นั้นๆ ย่อมไม่ยอมเสียหาง ฉันใด เธอก็จงเป็นเหมือนฉะนั้น

ไม่ว่าจะเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็อย่าเสียศีล มีความตั้งมั่นคงที่จะเห็นคุณค่าว่า ศีลประเสริฐกว่าลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขทั้งหลาย

ถ. คนที่มีปัญญาขนาดเราๆ ท่านๆ กว่าจะไปถึงจิตอันสงบ หรือพยายามไปถึงขั้นนิพพาน คงจะยากมาก

สุ. ยาก แต่หนทางมี ถ้าหนทางมี แต่ไม่ไป ไม่ใช่ความผิดของคนอื่น เป็นความผิดของเราเองซึ่งท้อถอย เพราะเห็นว่ายาก

ถ. ถ้าเปรียบเทียบสมัยของพระพุทธเจ้ากับสมัยนี้ ผิดกันมาก สมัยนี้มีสิ่งล่อใจ โดยเฉพาะเด็ก หรือเยาวชนรุ่นใหม่ คิดว่าคงจะลำบาก

สุ. สมัยโน้นไม่มีสิ่งล่อใจหรือ

ถ. สมัยโน้นคงจะไม่มี คนก็ยังน้อย หลายๆ อย่างก็ยังสงบ ดูจากวัดวาอารามตามประวัติของพระพุทธเจ้าที่เขาวาดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่สงบมาก ไม่ได้จุ้นจ้าน จอแจเหมือนสมัยนี้

สุ. แต่ถ้าพิจารณาดูให้ละเอียด ในยุคไหนๆ ก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลสทั้งหลาย

ถ. ถ้าเราพยายามมุ่งในทางธรรม มีวิธีใดบ้างที่จะให้เด็กๆ หรือเยาวชนสมัยนี้ได้มีโอกาสได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ในความรู้สึกของดิฉัน รู้สึกว่าแย่ลงไปทุกวัน

สุ. แสดงเหตุผลในธรรมตามความเป็นจริงให้เขาเข้าใจ ตามความสนใจของเขา ทุกอย่างเป็นธรรม ชีวิตของทุกคนเป็นธรรม มีสุข มีทุกข์ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความต้องการอย่างเดียวกัน คือ ต้องการสุข ต้องการสิ่งที่ประณีตทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าชีวิตของใครจะเป็นอย่างไร ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงถึงธรรมและเหตุผลตามความเป็นจริงของธรรมในขณะนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ หรือใช้คำที่จะให้เขาหมดความสนใจ

ถ้าเขากำลังมีความทุกข์ ก็เข้าใจสภาพจิตใจของเขาในขณะนั้นว่า ความทุกข์ของเขาเกิดจากอะไร และอธิบายให้เขาฟังในเหตุในผล เหตุผลสำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้เชื่อ แต่ว่าให้เข้าใจในเหตุผล

ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เป็นการยาก ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล แต่ถ้าได้เจริญแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ผิดกัน ไม่ต่างกัน

สุ. เรื่องของศีลเป็นบารมี ขณะใดที่คิดว่าทำไม่ได้ ท่านขาดการเห็นคุณของศีล ซึ่งความจริงแล้วทำได้ เว้นเสียแต่ว่าอกุศลธรรมเกิดขึ้นและมีกำลัง จึงทำให้ล่วงศีล

ถ. อาจารย์ว่า ทำได้ ก็ทำได้ จริง แต่บางครั้งขัดกับเรื่องปากเรื่องท้อง จึงทำยาก ทั้งที่สติก็เกิด รู้ก็รู้อยู่ ไม่รู้จะเลี่ยงอย่างไร บอกว่าจะไม่พูดเท็จ จะไม่พูดก็ไม่ได้ ทำไปแล้วก็ผิดศีล แต่เรื่องปากท้องบังคับ สำหรับคนที่มีฐานะดีก็ไม่มีอะไรต้องเดือดร้อน แต่สำหรับคนที่ฐานะยังไม่ดีก็เดือดร้อนอยู่ ลำบากอยู่สักหน่อย

สุ. ขอประทานโทษ เหตุกับผลยังไม่ตรงกัน อกุศลธรรมไม่เป็นเหตุให้เกิดสุข แต่กุศลธรรมจะเป็นเหตุให้ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี ที่น่าปรารถนา

ถ. ผมเข้าใจ การสร้างกุศลเป็นเหตุให้ได้รับรูป รส กลิ่น เสียงที่เป็นสุข แต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า

สุ. เพราะฉะนั้น เฉพาะหน้าก็ลืมไปแล้วในเหตุผล คิดว่าต้องทำอกุศล

ถ. เรื่องนี้พูดยาก ทั้งที่รู้อย่างนั้น อานิสงส์ก็เห็น ผลก็เห็น โดยการศึกษาก็เข้าใจดี แต่ว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า ก็ทำไม่ได้

สุ. เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องมั่นคงจริงๆ ในเหตุในผล อย่าเห็นว่าอกุศลดี

สำหรับบารมีข้อต่อไป สุเมธดาบสก็ได้เลือกเฟ้นว่า บารมีใดจะเป็นบารมีต่อไป ข้อความใน อรรถสาลินี มีว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบเนกขัมมบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ในกาลก่อนได้บำเพ็ญอบรมมา อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๓ นี้ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ คนได้รับความลำบากอยู่นานในเรือนจำ ย่อมไม่ชอบอยู่ในเรือนจำเป็นอย่างยิ่ง แสวงหาแต่การพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด เธอก็จงเป็นเหมือนฉะนั้น จงเห็นภพทั้งปวงดุจเรือนจำ มุ่งแต่เนกขัมมะเพื่อรอดพ้นจากภพอยู่เถิด

ยากใช่ไหม เนกขัมมะจริงๆ คือ การที่จะพ้นไปจากเรือนจำ คือ ภพ ไม่ใช่เรือนจำเล็กๆ กว้างใหญ่เหลือเกิน ทุกแห่งที่มีการเกิด เป็นภพ พ้นยาก แต่ว่าการที่จะพ้นได้จริงๆ ต้องค่อยๆ พ้นทีละเล็กทีละน้อย จากขณะที่จิตเป็นทาสของความยินดี ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจนเกินสมควร มากเกินไป ลองพิจารณาดูว่า เป็นอย่างนั้นไหม พอที่จะเริ่มรู้จักพอ และละคลายการติดในวัตถุทั้งหลายลงบ้างได้ไหม ค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะเป็นเนกขัมมะได้จริงๆ คือ สามารถที่จะพ้นไปได้โดยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่พิจารณา ไม่คิด และไม่สังเกต ก็ย่อมจะไม่ทราบว่า ขณะนี้พ้นได้ไหม หรือว่าขณะนี้พ้นไม่ได้ แต่บางขณะพ้นได้เป็นครั้งๆ คราวๆ เพราะยังไม่มั่นคง แต่ก็ยังดีที่เริ่มพิจารณาแล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบปัญญาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๔ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงบำเพ็ญปัญญาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๔ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ภิกษุผู้ที่ขอภิกษาไม่เว้นตระกูลทั้งชั้นต่ำ ชั้นสูง และชั้นกลางอย่างนี้ ย่อมได้อาหารพอเลี้ยงชีวิต ฉันใด เธอก็เหมือนกัน เที่ยวถามท่านผู้รู้อยู่ทุกเมื่อ บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณ

ปัญญาเสมือนอาหารที่เลี้ยงชีวิต ที่จะให้เจริญเติบโตในทางธรรม เพราะถ้าปราศจากปัญญา ย่อมไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และการแสวงหาปัญญานี้ก็ไม่ควรพอใจว่า พอแล้ว หรือว่าเข้าใจแล้ว เพราะว่ายิ่งแสวงหามากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยให้ปัญญาคมกล้า สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

บารมีข้อต่อไปมีข้อความว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เธอจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมในกาลนั้น ได้พบวิริยบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๕ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงบำเพ็ญวิริยบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๕ นี้ สมาทานให้มั่นต่อไป ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ราชสีห์ย่อมมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีใจอันความเพียรประคองไว้ทุกเมื่อในการนั่ง การยืน และการเดิน ฉันใด เธอก็เหมือนฉะนั้น จงประคองความเพียรให้มั่นทุกภพ บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณแล

ทุกภพ ทุกชาติที่เกิด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ไม่ท้อถอย ไม่คิดว่ายากเกินไปเมื่อไรจะบรรลุสักที หรืออะไรอย่างนั้น แต่รู้ว่าสภาพธรรมที่จะรู้แจ้ง คือ ขณะนี้ที่กำลังปรากฏความเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีวิริยะ คือ มีความเพียร ระลึกศึกษาที่จะเข้าใจรู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้นทุกชาติทุกภพไป นั่นจึงจะเป็นวิริยบารมี ไม่ใช่เพียรสักหน่อยหนึ่ง เดือนหนึ่ง สองเดือน สามเดือน หรือปีหนึ่ง แต่ว่าทุกภพทุกชาติ

ข้อความต่อไปมีว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมในกาลนั้น ได้พบขันติบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งแสวงหาซึ่งคุณใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๖ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ ให้มั่นคงต่อไป เธอมีใจไม่เป็นสองในบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณ อันธรรมดาแผ่นดินย่อมอดทนสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาดทุกชนิดที่เขาทิ้งลง ย่อมไม่ทำความยินดียินร้าย ฉันใด แม้เธอก็เช่นกัน เป็นผู้อดทนต่อความนับถือและความดูหมิ่นของคนทุกประเภท บำเพ็ญขันติบารมีแล้ว จักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล

เปิด  223
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566