แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 738

ข้อความต่อไปมีว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบเมตตาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๙ สอนตนว่าดังนี้

เธอจงสมาทานเมตตาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๙ นี้ ทำให้มั่นต่อไป เธอจงเป็นคนที่ไม่มีใครเสมอด้วยเมตตา ถ้าเธอปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ชื่อว่าน้ำย่อมแผ่ความเย็น ล้างมลทิน คือ ธุลี ในคนทั้งดีและชั่วสม่ำเสมอกัน ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเจริญเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งผู้ที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล เธอบำเพ็ญเมตตาบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล

ในขณะที่สุเมธดาบสคิดอย่างนี้ ถ้าท่านผู้ฟังจะตั้งใจอย่างนี้ด้วย ก็จะเป็นบารมีประการหนึ่ง เพราะว่า ชื่อว่าน้ำ ย่อมแผ่ความเย็น ล้างมลทิน คือ ธุลี ในคนทั้งดีและชั่วสม่ำเสมอกัน ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเจริญเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งผู้ที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ไม่เลือก เมตตาเป็นกุศลซึ่งทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดได้รับความผาสุกทั้งกายและใจ เพราะว่าเป็นเหตุให้มีความเกื้อกูลอนุเคราะห์สงเคราะห์กัน ซึ่งโลกจะผาสุกอยู่ได้ก็ด้วยเมตตา ในวันหนึ่งๆ ลองคิดดู ที่ได้รับความสุขนี้เป็นเพราะเมตตาซึ่งกันและกัน ใช่หรือมิใช่

เพราะฉะนั้น สำหรับบารมีข้อที่ ๙ ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกท่านได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกและเจริญขึ้นในกุศลด้วย

เคยคิดที่จะเมตตาสม่ำเสมอในคน ทั้งที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลไหม คือหมายถึง ทุกคน ไม่เลือก ถ้าเลือก ยังไม่ใช่เมตตาที่สม่ำเสมอ

ถ. สำหรับเรื่องเมตตา ถ้ายังไม่เคยเจริญสติ ก็ยากที่จะรู้จักจิตใจของตัวเอง เมื่อก่อนนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ประสงค์ดีต่อเรา เราก็เกลียดชังเขามาก แม้ไม่ได้คิดทำร้ายเขาเป็นการตอบแทน แต่จิตหม่นหมองเดือดร้อนจริงๆ ต่อเมื่อได้เจริญสติมาจนถึงเดี๋ยวนี้ รู้สึกว่า การผูกพันกับความโกรธเบาบางลง

สุ. ก็ได้ทราบจากท่านผู้ฟังท่านอื่นๆ ด้วยว่า เมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน และ ได้ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมมากขึ้น เมตตาของท่านก็เจริญขึ้นกว่าก่อนมาก

สำหรับประการต่อไป มีข้อความว่า

อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ก็ได้พบอุเบกขาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ครบ ๑๐ ได้สอนตนว่าดังนี้

ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑๐ นี้ให้มั่นคงต่อไป เธอเป็นผู้คงที่มั่นคง จักบรรลุสัมโพธิญาณ ชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมเว้นจากความยินดีและยินร้าย วางเฉย ในคนที่ทิ้งของที่ไม่สะอาดหรือสะอาดทั้งสองพวก ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเป็นผู้คงที่ในสุขและทุกข์ทุกเมื่อ เธอบำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้วจักบรรลุโพธิญาณได้แล

เวลาที่ท่านมีเมตตาใคร่ที่จะให้คนอื่นได้เป็นสุข แต่ถ้าไม่สามารถจะเป็นไปอย่างนั้นได้ ก็ไม่ควรจะให้เป็นอกุศลจิต คือ ความยินดียินร้าย หรือความโทมนัสเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลาที่ผู้ที่เป็นที่รักหรือว่าบุคคลทั้งหลาย เหตุการณ์ทั้งหลาย ไม่เป็นไปอย่างที่ท่านคิดว่าสมควร หรือว่าอย่างที่ท่านต้องการ

ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังใส่ใจพิจารณารู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นจะเป็นปัญญาที่ทำให้ไม่ยินดียินร้าย และเกื้อกูลต่อการที่จะเกิดอุเบกขาได้มากขึ้น เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

แต่ถ้าลืมไป คิดว่าสามารถบังคับบัญชาได้ จะอุเบกขาไหม ก็ย่อมต้องเดือดร้อนในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ หรือว่าบุคคลทั้งหลายไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา แต่เมื่อปัญญารู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ละความยินดียินร้าย สามารถที่จะวางเฉย มั่นคง เป็นผู้คงที่ในสุขและทุกข์ทุกเมื่อ

ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า บารมีทั้ง ๑๐ นี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและเกื้อกูลในการที่จะเจริญกุศล

ข้อความต่อไปมีว่า

ธรรมเครื่องบ่มโพธิญาณในโลกมีจำนวนเท่านี้แล นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรอีก เธอจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมเหล่านั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมอันมีสภาวะหน้าที่และลักษณะเหล่านี้อยู่ ด้วยเดชแห่งธรรม พสุธาได้หวั่นไหวทั่วไปทั้งหมื่นโลกธาตุ แผ่นดินไหวเสียงลั่นดุจเครื่องยนต์หีบอ้อยที่ถูกบีบฉะนั้น แผ่นดินย่อมหมุนอย่างเดียวกันกับจักรเครื่องยนต์น้ำมันหมุนฉะนั้นแล

บริษัทที่อยู่ในที่อังคาสพระพุทธเจ้านั้น ย่อมโงนเงนเป็นลมล้มนอนอยู่ ณ ภาคพื้นในที่นั้น หม้อน้ำหลายพัน และกระถางหลายร้อย ย่อมกระทบซึ่งกันและกันแตกละเอียดอยู่ในที่นั้น มหาชนสะดุ้งตกใจกลัว ตื่นเต้น มีใจอันหวาดหวั่น มาประชุมกันเฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า

ความร้ายหรือดีจักมีแก่โลก โลกย่อมปั่นป่วนทั่วกันทั้งหมด ขอพระองค์ผู้มี พระจักษุ จงได้โปรดบรรเทาความปั่นป่วนนั้น

พระมหามุนีทีปังกรพุทธเจ้าตรัสให้ชนเหล่านั้นทราบในเวลานั้นว่า

พวกท่านจงวางใจเถิด อย่ากลัวเลย เพราะเรื่องแผ่นดินไหวนี้ ดาบสที่เราทำนายไว้ในวันนี้ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกนั้น เธอเลือกเฟ้นธรรมที่พระชินเจ้าบำเพ็ญกันมาแต่ครั้งก่อนๆ เมื่อเธอเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นภูมิของพระพุทธเจ้าโดยหาส่วนเหลือมิได้แล้ว แผ่นดินที่ไหวทั่วหมื่นโลกธาตุรวมทั้งเทวโลกนี้ ย่อมเกิดด้วยเหตุนั้นแล

เพราะได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า ใจของเขาย่อมสงบลงทันที เขาทั้งหมดเข้าไปอภิวาทเราอีกครั้งหนึ่ง เราสมาทานพระพุทธคุณ ทำใจให้มั่น นมัสการพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะในเวลานั้นแล

นี่เมื่อครั้งเป็นสุเมธดาบส ซึ่งพระองค์จะต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า กว่าที่จะได้รับฟังจากพระโอษฐ์ มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีมากถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ซึ่งในระหว่างนั้น ข้อความต่อไปมีว่า

ก็เมื่อพระทีปังกรพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว ประมาณหนึ่งอสงไขย พระบรมศาสดาพระนามว่า โกณฑัญญะ ได้เสด็จอุบัติขึ้น ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราได้เสด็จอุบัติเป็นพระเจ้าวิชิตาวีบรมจักรพรรดิ ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนับได้แสนโกฏิ พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนา พระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นได้ทรงสดับธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วทรงมอบราชสมบัติ แล้วเสด็จออกทรงผนวช ทรงศึกษาพระไตรปิฎก ได้บรรลุสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ไม่เสื่อมจากฌาน แล้วเสด็จอุบัติ ณ พรหมโลก

นี่เป็นการได้รับคำพยากรณ์ครั้งที่ ๒ จากพระโกณฑัญญะสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมเทศนาเสด็จออกทรงผนวช ทรงศึกษาพระไตรปิฎก ได้บรรลุสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ ไม่เสื่อมจากฌาน แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอสงไขยแสนกัป เพราะว่าจะต้องทรงบำเพ็ญบารมีต่อไปถึง ๔ อสงไขยแสนกัป

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อพระโกณฑัญญพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปประมาณอสงไขยหนึ่ง ในกัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระมังคลพุทธเจ้า พระสุมนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า ในสมัยพระมังคลพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเป็นพราหมณ์นามว่า สุรุจิ ซึ่งท่านคิดว่าควรจักถวายทานแก่พระภิกษุสัก ๗ วัน และได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายทานข้าวควปานะ ประมาณ ๗ วัน

ซึ่งคำอธิบายมีว่า คำว่า ข้าวควปานะนั้น ท่านอธิบายว่า เขาเรียกชื่อโภชนะชนิดหนึ่งที่เขาเอาน้ำนมสดใส่ในหม้อใหญ่แล้วตั้งบนเตาไฟ เมื่อน้ำนมกลายเป็นเปรียงแล้ว ใส่ข้าวสารลงหน่อยหนึ่ง ผสมกับน้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด ขัณฑสกร และเนยใสที่เคี่ยวแล้ว

ในวันที่เสร็จจากการอังคาส พระโพธิสัตว์ให้ล้างบาตรของพระภิกษุทุกรูป ใส่เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเพื่อให้เป็นเภสัช แล้วถวายพร้อมกับไตรจีวร

พระบรมศาสดาเมื่อทรงทำอนุโมทนา ทรงใคร่ครวญดูว่า บุรุษนี้ถวายทานใหญ่ถึงเพียงนี้จักได้เป็นอะไรหนอ ทรงทราบว่า ในอนาคตกาลที่สุดสองอสงไขยแสนกัปจักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ แล้วโปรดให้พระมหาบุรุษเข้าเฝ้า ทรงพยากรณ์เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ล่วงกาลประมาณเท่านี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้านามว่า โคตมะ เมื่อพระมหาบุรุษสดับคำพยากรณ์จากพระมังคละพุทธเจ้าดังนั้นแล้ว ได้บรรพชาในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นบวชแล้ว ได้เล่าเรียนพระพุทธพจน์ ได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติ ดำรงชนม์ชีพอยู่ตลอดอายุขัย ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

เป็นสังสารวัฏฏ์ที่จะต้องสืบต่อไปเรื่อยๆ ในภพต่างๆ จนกว่าจะได้บรรลุเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อพระมังคลพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นเหตุให้หมื่นโลกธาตุเกิดความมืดมิดอย่างนี้

คือ ในสมัยใดที่ไม่มีคำสอน ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ปรากฏแต่ละทาง และก็ดับไป

ข้อความต่อไป

ต่อจากนั้นพระสุมนศาสดาได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในคราวนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญานาคนามว่า อตุละ พระบรมศาสดาได้ทรงพยากรณ์พญานาคแม้นั้นเป็นครั้งที่ ๔ ว่า พญานาคนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

ในกาลต่อจากพระศาสดาพระนามว่าสุมนพระองค์นั้นมา พระศาสดาพระนามว่า เรวตะ ได้ทรงอุบัติขึ้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์นามว่า อติเทพ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ ประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า กล่าวสรรเสริญคุณในการละกิเลสแห่งพระศาสดาพระองค์นั้น ได้ทำการบูชาด้วยผ้าห่ม แม้พระศาสดาพระองค์นั้นก็ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นเป็นครั้งที่ ๕ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า

ที่ได้กล่าวถึงอดีตชาติต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ในกาลก่อนที่จะได้ตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเองก็ได้ทรงเกิดเป็นบุคคลต่างๆ ในชาติต่างๆ ซึ่งเหมือนในขณะนี้ ทุกคนกำลังเป็นบุคคลหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ แต่ว่ายังไม่ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เมื่อได้อบรมคุณธรรมพร้อมที่จะบรรลุ ก็ย่อมบรรลุได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นในชาติที่เป็นบุคคลใด อาจจะเป็นในชาติที่เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ หรือว่ามีอาชีพใด เป็นบุคคลใด ก็ได้ทั้งสิ้น เป็นชีวิตธรรมดาปกติเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในสมัยโน้น หรือว่าในสมัยนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ในกาลต่อจากพระศาสดาพระนามว่าพระเรวตะพระองค์นั้นมา พระศาสดาพระนามว่า โสภิตะ ก็ทรงอุบัติขึ้น ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์นามว่า สุชาติ ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วดำรงอยู่ใน ไตรสรณคมน์ ได้ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้พระศาสดาพระองค์นั้นก็ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นเป็นครั้งที่ ๖ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า

ในกาลต่อจากพระศาสดาพระนามว่าโสภิตะพระองค์นั้นมา ล่วงไปหนึ่งอสงไขย ในกัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ๓ พระองค์ คือ พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ๑ พระปทุมพุทธเจ้า ๑ และพระนารทพุทธเจ้า ๑

ในสมัยแห่งพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเสนาบดียักษ์ตนหนึ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้พระศาสดาก็ได้ทรงพยากรณ์ พระโพธิสัตว์นั้นว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งเป็นการพยากรณ์ครั้งที่ ๗

ในกาลต่อจากพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีพระองค์นั้นมา พระศาสดาพระนามว่า ปทุมะ ก็ทรงอุบัติขึ้น ในกาลนั้น ครั้นเมื่อพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ ชัฏป่านั้นเอง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาราชสีห์ พระศาสดาทรงตรวจ ภูมิธรรมในใจของพญาราชสีห์นั้นแล้วได้ทรงพยากรณ์เป็นครั้งที่ ๘ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

สมัยนี้ในป่าจะมีพญาราชสีห์ไหม ซึ่งอาจจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต ไม่มีบุคคลใดสามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าพญาราชสีห์ที่มีภูมิธรรมในใจ ต้องแสดงถึงศรัทธาและกุศลจิตในขณะนั้นด้วย คือ ในครั้งนั้นเมื่อพญาราชสีห์ได้เห็นพระศาสดาเข้านิโรธสมาบัติ มีจิตเลื่อมใส หมอบลง กระทำประทักษิณ เกิดปีติโสมนัส บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง ไม่ละปีติซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เพราะความสุขที่เกิดจากปีตินั่นเองจึงไม่ยอมหลีกไปหากิน กระทำการสละชีวิต ได้ไปยืนเฝ้าอยู่ตลอด ๗ วัน นี่เป็นการได้รับพยากรณ์เป็นครั้งที่ ๘

ข้อความต่อไปมีว่า

ในกาลต่อจากพระศาสดาพระนามว่าปทุมะพระองค์นั้นมา พระศาสดา พระนามว่า นารทะ ก็ทรงอุบัติขึ้น ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ทรงผนวชเป็นฤๅษี ประพฤติเชี่ยวชาญในอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้กระทำการบูชาด้วยจันทน์แดง แม้พระศาสดาพระองค์นั้นก็ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นเป็นครั้งที่ ๙ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

ข้อความใน อรรถสาลินี มีละเอียดกว่านี้ แต่ที่กล่าวถึงโดยย่อ เพียงที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยเกิดเป็นบุคคลใด ในครั้งไหน ซึ่งใน อรรถกถา อรรถสาลินี จะมีข้อความโดยละเอียดถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ทรงอุบัติว่า แต่ละพระองค์นั้นมีใครเป็น พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา และมีการประชุมครั้งแรกเมื่อไร กี่ครั้ง หรือว่ามีสาวกที่ไปประชุมด้วยกันกี่ครั้ง

ข้อความต่อไปมีว่า

ในกาลต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ ล่วงไปได้อสงไขยหนึ่ง นับแต่กัปนี้ไปในที่สุดแสนกัป ในกัปหนึ่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นผู้ปกครองมหารัฐพระนามว่าชฏิล ได้ถวายทานพร้อมทั้งผ้าจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระพระองค์นั้น ก็ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นเป็นครั้งที่ ๑๐ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

ในกาลต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระพระองค์นั้นมา ล่วงไปสามหมื่นกัป ในกัปเดียวกันพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๒ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ๑ พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ ๑

ในกาลแห่งพระสุเมธพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมาณพนามว่า อุตตระ สละทรัพย์เฉพาะที่ฝังเก็บไว้ถึงแปดสิบโกฏิ ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ฟังพระธรรมแล้ว ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ แล้วออกบวช แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะพระองค์นั้นก็ได้ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นเป็นครั้งที่ ๑๑ ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

เปิด  236
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566