แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 741

สุ. ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงถึงพร้อมด้วยสัตตูปการสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัยและพระอุตสาหะที่จะอุปการะแก่สัตว์โลกเป็นนิตย์ ทรงอนุเคราะห์บุคคลทั้งหลายโดยไม่เลือก แม้ว่าจะเป็นสัตว์ผู้มีความเห็นผิด หรือบุคคลผู้มีความเห็นผิดเช่นพระเทวทัต ซึ่งพระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จากการที่ได้บำเพ็ญบารมีแต่ละพระชาติ จึงทรงสามารถที่จะรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด

สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถา ขัคควิสาณสุตตนิทเทส คาถาที่ ๑๑ แห่ง ขุททกนิกาย มีข้อความตอนหนึ่งว่า

มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุ หาได้ยาก มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

ถ้าไม่พิจารณา ก็คงไม่เห็นชีวิตประจำวันของการคบหาสมาคมกัน ขอให้ท่านลองพิจารณาดูชีวิตประจำวันซึ่งมีการคบหาสมาคมกันว่า มีเหตุอะไรบ้างไหมจึงได้ คบหาสมาคมกัน ประโยชน์บางครั้งอาจจะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังเป็นประโยชน์แม้เพียงการไปไหนด้วยกันเพื่อความสบายใจ หรือว่าเพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งในอรรกถามีคำอธิบายว่า

ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้

บทว่า ภชนฺติ ได้แก่ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ เกี่ยวข้องด้วยกาย

นี่คือการคบหาสมาคมกันในชีวิตประจำวัน

บทว่า เสเวนฺติ ได้แก่ ย่อมประพฤติด้วยกรรมทั้งหลายมีอัญชลีกรรม คือ การไหว้ เป็นต้น และความเป็นผู้ซ่องเสพ เหตุที่พึงจะกระทำประโยชน์เป็นเหตุของมิตรเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น มิตรเหล่านี้จึงชื่อว่า มีประโยชน์เป็นเหตุ อธิบายว่า เหตุแห่งการคบและการซ่องเสพหาเป็นอย่างอื่นไปไม่

มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสพซึ่งมิตรเหล่านี้เพราะเหตุ คือว่า เพราะเหตุแห่งตน

คือ ไม่พ้นความเป็นตน เพราะประโยชน์ของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคบเพื่ออนุเคราะห์ นี่เป็นความต่างกันของการคบ

บทพระคาถาว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา ความว่า มิตรทั้งหลายที่ไม่มีเหตุ เพราะเหตุแห่งการได้ประโยชน์อย่างนี้ว่า เราจักได้อะไรจากมิตรนี้ ดังนี้ ประกอบด้วยความเป็นมิตรอย่างประเสริฐ

ท่านแสดงถึงลักษณะของมิตรที่หายากว่า ไม่ได้หวังอะไรจากมิตรในการคบ

มิตรใดมีอุปการะ ๑ มิตรใดร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรใดใคร่ประโยชน์ ๑ มิตรใดมีความอนุเคราะห์ ๑ ดังนี้อย่างเดียว เป็นผู้หายาก ชื่อว่า มิตรในวันนี้ ปัญญาของมนุษย์เหล่านี้ที่สำเร็จแล้วด้วยการมุ่งประโยชน์ ย่อมแลดูตนเท่านั้น หาได้มองดูคนอื่นไม่ เพราะเหตุนั้นปัญญานั้นจึงชื่อว่า ปัญญามุ่งประโยชน์ตน.

นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงกันข้ามกับ สัตตูปการสัมปทา คือ การถึงพร้อมที่จะอุปการะแก่สัตว์ด้วยพระอัธยาศัยและ พระอุตสาหะ แม้แต่สัตว์ซึ่งอินทรีย์ คือ ปัญญา ยังไม่แก่กล้า

เมื่อได้พิจารณาถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ จะเห็นในความเป็นผู้ประเสริฐสุดของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก หลังจากที่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณจนกระทั่งก่อนดับขันธปรินิพพาน

ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต มุนิสูตร มีว่า

พระมหาบุรุษเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ได้บรรลุสัพพัญญุตญาณโดยลำดับแล้ว กำลังเสด็จไปยังเมืองพาราณสีเพื่อจะแสดงพระธรรมจักร ได้สวนทางกับอุปกาชีวกในระหว่างโพธิมณฑลและแม่น้ำคยา

นี่หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว กำลังจะเสด็จไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ แต่ในระหว่างทางได้สวนทางกับอุปกาชีวก ซึ่งในขณะนั้นไม่เลื่อมใส แต่พระผู้มีพระภาคทรงคบเพื่อทรงอนุเคราะห์เพราะเห็นอุปนิสัย คือ ปัญญาของท่านที่ยังไม่แก่กล้าในขณะที่ได้พบ แต่ว่าในภายหลังอุปกาชีวกนี้จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ เรื่องอุปกาชีวก มีข้อความว่า

อาชีวกชื่ออุปกะ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำ คยาและไม้โพธิพฤกษ์ ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

ดูกร อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกร อาวุโส ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร

ลองพิจารณาจิตใจของอุปกาชีวกในขณะนั้น ไม่ได้เลื่อมใสในบุคคลผู้มีอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่กลับถามถึงอาจารย์ว่า ท่านผู้นี้บวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบ อุปกาชีวกว่าดังนี้

เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองอมตในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ

อุปกาชีวกทูลว่า

ดูกร อาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้ โดยประการนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูกร อุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เป็นผู้ชนะ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิด พ่อ ดังนี้ แล้วสั่นศีรษะ ถือเอาทางผิดเดินหลีกไป

คามิกะ ไม่ใช่ค้านอาจารย์ แต่ที่เขาแปลมาว่า สั่นศีรษะ ขอให้นึกถึงภาษาบาลี สีสัง โอกัมเปตวา ที่แปลกันว่า สั่นศีรษะหรือกรอกศีรษะ นั่นไม่ตรง

กัมปะ แปลว่า ไหว โอ แปลว่า ลง คือ ยังศีรษะให้ไหวลง

สุ. ในอรรถกถาบางแห่งท่านแปลว่า ก้มศีรษะ

คามิกะ นั่นถูก

สุ. แต่สำหรับคนไทยเราถือว่า การก้มศีรษะเป็นการยอมรับ แต่ถ้าไปประเทศอินเดีย การยอมรับ ไม่ก้มศีรษะ แต่สะบัดหน้า ถ้าศรีลังกาก็สั่นหลายครั้งเลย ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เวลาที่รับ ไม่ปฏิเสธ เขาสั่นศีรษะ

คามิกะ ผมไม่ได้ว่าใคร แต่แปลตามศัพท์ สีสัง แปลว่า ศีรษะ โอ แปลว่า ลง กัมปะ แปลว่า ไหว ขอให้ท่านพิจารณา ยังศีรษะให้ไหวลงจะทำอย่างไร

สุ. ก็ทำอย่างที่ทำ คือ ยังศีรษะให้ไหว แต่จะในลักษณะใดแล้วแต่ ตามความรู้สึกของเราว่า สั่นศีรษะ ต้องเป็นลักษณะนั้นใช่ไหม แต่บุคคลอื่น ฟังพยัญชนะนี้แล้วเข้าใจว่า อาการนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งได้หรือไม่

คามิกะ ผมยึดตามตัวหนังสือ

สุ. ขอบพระคุณท่านที่กรุณาให้คำแปลภาษาบาลีที่ถูกต้อง

ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต มุนิสูตร ได้กล่าวถึงข้อความตอนนี้ว่า

ก็อุปกาชีวกนั้น ได้ไปถึงบ้านนายพรานเนื้อตำบลหนึ่งในวังคชนบทโดยลำดับ หัวหน้าพรานเนื้อเห็นอุปกาชีวกนั้นแล้วก็คิดว่า โอ สมณะผู้นี้เป็นผู้มักน้อย ไม่ปรารถนานุ่งแม้แต่ผ้า สมณะผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์ในโลก แล้วจึงนำไปสู่เรือน อังคาสด้วยเนื้ออันมีรส คือ ให้เนื้อรับประทาน ตนเองพร้อมกับบุตรภรรยาไหว้อาชีวกนั้นผู้บริโภคเสร็จแล้ว จึงนิมนต์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้ และข้าพเจ้าจะอุปัฏฐากด้วยปัจจัย ได้กระทำที่แห่งหนึ่งให้เป็นโอกาสที่อยู่ของอุปกาชีวกนั้นอยู่ในที่นั้น

นายพรานเนื้อ เมื่อพวกเนื้อทั้งหลายพากันหลีกไปในที่ไกล เพื่อที่จะเที่ยวไปในประเทศที่เย็น บริบูรณ์ด้วยน้ำในฤดูร้อน เมื่อจะไปที่นั้น จึงสั่งธิดาชื่อฉาวาว่า เจ้าจงอุปัฏฐากพระอรหันต์ของพวกเราโดยเคารพ แล้วได้ไปพร้อมกับบุตรและพี่น้องทั้งหลาย

ก็นางฉาวานั้น เป็นผู้มีรูปร่างสะสวยสมส่วน ในวันที่ ๒ อุปกาชีวกมาที่เรือน ได้เห็นหญิงสาวเข้ามาอังเพื่อคาสทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ใกล้ๆ ถูกราคะครอบงำ ไม่อาจบริโภคโภชนะได้ ถือเอาภัตด้วยภาชนะไปยังที่อยู่ วางภัตไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วตั้งใจว่า ถ้าหากข้าพเจ้าได้นางฉาวาแล้วก็จะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จักยอมตายในวันที่ ๗

พวกพรานเนื้อมาถามความเป็นไปของอาชีวกกับธิดา ธิดาก็ตอบว่า อาชีวกมาวันเดียวเท่านั้นแล้วไม่เคยมาอีก นายพรานเนื้อก็คิดว่า เราจักเข้าไปหาอาชีวกนั้น แล้วจักถามดังนี้ แล้วก็มาในขณะนั้นนั่นเอง ลูบเท้าทั้งสองข้างของอาชีวกถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่สบายหรือ อาชีวกถอนใจอยู่ พลิกกลับอยู่นั่นเทียว

พรานเนื้อกล่าวว่า จงพูดเถิดท่าน ข้าพเจ้าสามารถกระทำสิ่งใดให้ได้ ก็จะทำสิ่งนั้นทั้งหมดแก่ท่าน อุปกาชีวกกล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้าได้นางฉาวา ก็จะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่ได้ การที่ข้าพเจ้าตายในที่นี้แลประเสริฐกว่า

พรานเนื้อกล่าวว่า ท่านรู้ศิลปะบางอย่างหรือท่าน หมายความว่า สามารถทำอาชีพหรือการงานบ้างได้หรือไม่

อาชีวกตอบว่า ไม่รู้ เพราะไม่เคยศึกษา ไม่เคยเรียนมา เป็นแต่เพียงนักบวช

พรานเนื้อกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เมื่อท่านไม่รู้ศิลปะอันใด ก็ไม่สามารถจะครอบครองเรือนได้

อุปกาชีวกนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ศิลปะอะไร แต่ว่าข้าพเจ้าจักเป็นคนหาบเนื้อของท่านได้ และว่า ข้าพเจ้าจักขายเนื้อสำหรับท่านได้ แม้นายพรานก็กล่าวว่า ได้แค่นี้พวกเราก็พอใจแล้ว และก็ให้ผ้าห่ม พาไปสู่เรือน ได้ให้กับธิดา

อาศัยการอยู่ร่วมกันแห่งคนทั้งสองนั้น บุตรคนหนึ่งก็เกิดขึ้น ญาติทั้งหลายได้ให้ชื่อบุตรนั้นว่า สุภัททะ นางฉาวาได้หยอกล้ออุปกาชีวกด้วยเพลงกล่อมบุตร เขาทนไม่ได้ซึ่งคำเยาะเย้ยนั้น จึงกล่าวว่า แน่ะ แม่นาง ฉันจะไปยังสำนักของ อนันตชินะ ดังนี้ แล้วได้ออกเดินมุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ

ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำชับภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมาถามว่าอนันตชินะ ก็พึงแสดงเราแก่ผู้นั้น แม้อุปกะแลมาถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ ยืนอยู่ที่กลางวัด ถามว่า ในวัดนี้มีสหายของเรา ชื่ออนันตชินะ เขาอยู่ที่ไหน

ภิกษุทั้งหลายได้นำเขาไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่เขา ในที่สุดแห่งพระเทศนา เขาก็ดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล

นี่ก็เป็นสัตตูปการสัมปทา

สำหรับสัตตูปการสัมปทา การถึงพร้อมในการสงเคราะห์สัตว์โลกให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญตั้งแต่ตรัสรู้ ในระหว่างเดินทางจากคยาไปสู่พาราณสี ได้ทรงพบกับอุปกาชีวก ซึ่งขณะนั้นไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเลย แต่การคบของพระผู้มีพระภาคต่างกับการคบของบุคคลอื่น เพราะว่าการคบของบุคคลอื่นย่อมมีประโยชน์ของตนแม้เล็กน้อยในการคบนั้นเสมอ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะสังเกตได้ในชีวิตประจำวัน ท่านเข้าไปนั่งใกล้บุคคลใด ท่านแสดงความเคารพบุคคลใด ท่านมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับบุคคลใด ลองพิจารณาว่า มีประโยชน์อะไรบ้างหรือเปล่าที่ท่านได้รับจากการคบหาสมาคมนั้นๆ

ส่วนใหญ่แล้วประโยชน์ย่อมมี อย่างน้อยที่สุดแม้เพียงการไปไหนมาไหนด้วยกัน การรู้สึกสบายใจในการที่จะได้อยู่ใกล้ ในการที่จะได้คบหา ในการที่จะได้สนทนา ในการที่จะได้ร่วมทาง แต่ว่าการคบของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อย่างชาวโลก แต่เพื่อทรงอนุเคราะห์บุคคลนั้นให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และให้เจริญมั่นคงในกุศลยิ่งขึ้น

พระบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ เพื่อจะได้ถึงความสมบูรณ์ในการที่จะเกื้อกูลสัตว์โลก คือ สัตตูปการสัมปทา เริ่มตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน ด้วย พระวิริยะอุตสาหะ ด้วยพระมหากรุณาจริงๆ

ถ้าท่านผู้ฟังได้ทราบถึงพุทธกิจประจำวันของพระผู้มีพระภาค ย่อมจะเห็นได้ว่า ไม่ทรงละเลยโอกาสที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลกเลย ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้ย่อมไม่มีผู้ใดได้เห็นพระผู้มีพระภาค แต่ในอดีต ในครั้งโน้น ก็ไม่ทราบว่าจะมีท่านผู้ฟังท่านใดที่ได้เคยเห็น เคยเฝ้า เคยฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค และได้ซาบซึ้งในพุทธกิจที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบ้างหรือไม่

ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อุรควรรค กสิภารทวาชสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงปุเรภัตกิจ และปัจฉาภัตกิจของพระผู้มีพระภาค

สำหรับปุเรภัตกิจ คือ กิจก่อนการเสวยภัต และปัจฉาภัตกิจ คือ กิจหลังจากที่ได้เสวยพระกระยาหารแล้ว ซึ่งหมายความถึงตอนเช้ากับตอนบ่าย ปุเรภัตกิจ หมายความถึงตอนเช้า และปัจฉาภัตกิจ คือ กิจหลังจากที่เสวยพระกระยาหารแล้ว ก็เป็นกิจในตอนบ่าย

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ในพระสูตรนั้น จะพึงมีคำถามว่า ปุเรภัตกิจของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นไฉน ปัจฉาภัตกิจของพระพุทธเจ้าเป็นไฉน เฉลยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงกระทำการบริกรรมสรีระ มีการล้างพระพักตร์ เป็นต้น เพื่อจะอนุเคราะห์แก่ อุปัฏฐาก และเพื่อความผาสุกแห่งพระวรกาย ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงไปที่เสนาสนะอันสงัดจนกระทั่งถึงเวลาเสด็จบิณฑบาต

ในเวลาเสด็จบิณฑบาต ทรงนุ่งจีวร คือ สบง และทรงคาดประคดเอว ห่มจีวร ทรงถือบาตร บางคราวเสด็จเข้าไปในบ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาตแต่พระองค์เดียว บางคราวมีพระภิกษุสงฆ์ไปด้วย บางคราวเสด็จเข้าไปโดยปกติ แต่บางคราวเสด็จเข้าไปด้วยการแสดงอภินิหารเป็นอเนก คืออย่างไร คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ลมอ่อนๆ พัดมาแต่เบื้องหน้า ชำระแผ่นดินให้สะอาด เมฆฝนโปรยลงมา ทำให้ฝุ่นละอองบนถนนราบคาบ และก็ลอยเป็นเพดานอยู่ชั้นบน อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ลมทั้งหลายได้พัดเอาดอกไม้ทั้งหลายมาเกลี่ยลงบนหนทาง ภูมิประเทศซึ่งร้อนก็เย็นลง ภูมิประเทศซึ่งเย็นก็อุ่นขึ้น ในขณะที่ย่างพระบาทไป พื้นแผ่นดินก็เสมอราบเรียบ หรือว่าดอกบัวทั้งหลายซึ่งสัมผัสสบายมารับที่พระบาท เมื่อพระบาทเบื้องขวาสักว่าพอวางภายในเสาเขื่อน คือ พอย่างเข้าเขตเมือง ฉัพพรรณรังสีก็แผ่ออกจากพระสรีระซ่านไปทางทิศโน้นบ้าง ทิศนี้บ้าง ประดุจสีทองและสีเหลืองจับสถานที่ทั้งหลาย มีปราสาท และเรือนยอด เป็นต้น

สัตว์ทั้งหลาย มีช้าง ม้า และนก เป็นต้น ซึ่งยืนอยู่ในที่ของตนนั้นเอง ก็เปล่งเสียงด้วยอาการอันไพเราะ เครื่องดุริยางค์มีกลองและพิณเป็นต้น และเครื่องอาภรณ์ที่ประดับกายของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีเสียงด้วยอาการอันไพเราะเหมือนลม

เปิด  268
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566