แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 744

ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เวลาแบ่งออกเป็นยามละ ๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ตอนกลางวันตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ถึง ๔ โมงเช้า เป็นยามหนึ่ง และจาก ๔ โมงเช้า ถึงบ่าย ๒ โมง เป็นอีกยามหนึ่ง และจากบ่าย ๒ โมง ถึง ๖ โมงเย็น เป็นอีกยามหนึ่ง

ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเสร็จภัตกิจ ถ้าหากว่าพระองค์จะทรงหวังอยู่ พระองค์ก็ทรงมีพระสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยเบื้องขวาสักครู่หนึ่ง ต่อจากนั้นพระองค์ซึ่งมีพระกายอันสงบระงับแล้ว เสด็จลุกขึ้นแล้วทรงตรวจดูสัตว์โลกในภาคที่ ๒

ในภาคที่ ๓ คือ ตั้งแต่บ่ายสองโมงไป

ในสมัยที่พระองค์ทรงเข้าไปอาศัยบ้าน หรือนิคมใดอยู่ คนในบ้านหรือนิคมนั้นถวายทานและปุเรภัตแล้ว ในปัจฉาภัต คือ หลังจากเสร็จภัตกิจแล้ว ชาวบ้านก็นุ่งห่มเรียบร้อย แล้วถือของหอมและดอกไม้ เป็นต้น ย่อมประชุมกันในวิหาร ต่อแต่นั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปด้วยปาฏิหาริย์อันสมควรแก่บริษัทที่มาประชุมกัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์อันบวรอันเขาปูลาดไว้แล้วในธรรมสภา ย่อมทรงแสดงธรรมให้เหมาะแก่กาล ควรแก่ประมาณ ต่อจากนั้นทรงทราบกาลแล้ว จึงทรงส่งบริษัทกลับ

ต่อจากนั้น ในภาคที่ ๓ คือ ก่อน ๖ โมงเย็น

ถ้าหากพระองค์ทรงประสงค์จะสรงพระกาย ลำดับนั้น จึงได้เสด็จจากพุทธอาสน์ เสด็จไปยังโอกาสที่ภิกษุอุปัฏฐากได้เตรียมไว้แล้ว ได้ทรงรับผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำ จากมือของภิกษุผู้อุปัฏฐาก แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังซุ้มสำหรับอาบ แม้ภิกษุผู้อุปัฏฐากนำพุทธอาสน์มาแล้ว ย่อมปูไว้ที่บริเวณพระคันธกุฎี พระผู้มีพระภาคทรงสรงพระวรกายแล้ว ทรงนุ่งจีวร ๒ ชั้น ทรงคาดประคดเอว ทรงถือผ้าอุตราสงค์ เสด็จไปประทับนั่งในที่นั้น หลีกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวครู่หนึ่ง

ต่อจากนั้นภิกษุทั้งหลายออกจากสถานที่นั้นๆ แล้ว จึงพากันมาในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกถามปัญหา บางพวกทูลขอพระกัมมัฏฐาน คือ ฟังพระธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ

เพราะอะไร ถ้าไม่เข้าใจปฏิบัติได้ไหม เพียงแต่ขอ เพียงแต่บอก ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องหมายความถึง การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติให้ภิกษุเหล่านั้นได้ปฏิบัติถูกต้อง

บางพวกทูลขอการฟังธรรม

แล้วแต่จะเป็นเรื่องของกุศลธรรมมีเท่าไร อกุศลธรรมมีเท่าไร

พระผู้มีพระภาคทรงทำตามความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จอยู่ ย่อมทำปฐมยามให้ล่วงไป

โอกาสที่จะทรงพักผ่อนน้อยมาก เพราะว่าหลังจากที่สรงพระวรกายแล้ว ก็ยังมีภิกษุที่มาเฝ้า ทูลถามปัญหา ย่อมทำปฐมยามให้ล่วงไป คือ ตั้งแต่ ๖ โมง ถึง ๔ ทุ่ม

ในมัชฌิมยาม คือ ตั้งแต่ ๔ ทุ่ม ถึงตี ๒ พวกเทวดาจากหมื่นโลกธาตุเมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหาตามที่ตนได้แต่งขึ้น โดยที่สุดอย่างน้อยเป็นปัญหาแม้ที่มีอักษร ๔ ตัว

คือ ถามทุกอย่าง ตั้งแต่สั้นจนถึงเรื่องยาวทีเดียว

พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแก้ปัญหาของพวกเทวดาเหล่านั้นอยู่ ย่อมให้มัชฌิมยามล่วงไป

หมดแล้ว ถึงตีสอง

สำหรับในปัจฉิมยาม คือ ตั้งแต่ตีสองจนกระทั่งถึง ๖ โมงเช้า แบ่งออกเป็น ๔ ภาค ๔ ชั่วโมง ต่อจากนั้นพระองค์ทรงอธิษฐานจงกรม คือ ตั้งแต่ตีสองถึงตีสามก็ทรงอธิษฐานจงกรม

ในภาคที่ ๒ คือ ตั้งแต่ตีสามถึงตีสี่ ทรงเสด็จเข้าไปในพระคันธกุฎี มี พระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา

ชั่วโมงเดียวที่ทรงพักผ่อน โดยบรรทม

ในภาคที่ ๓ คือ ตั้งแต่ตีสี่ถึงตีห้า ปล่อยเวลาให้ล่วงไปด้วยผลสมาบัติ

ในภาคที่ ๔ คือ ตั้งแต่ตีห้าถึง ๖ โมงเช้า เสด็จเข้ามหากรุณาสมาบัติ ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทรงตรวจดูสัตว์ทั้งหลาย มีสัตว์ที่มีธุลีในตาน้อยและสัตว์ที่มีธุลีในตามาก

นี้คือปัจฉาภัตกิจของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะอนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อการให้ถึงพร้อมด้วย สัตตูปการสัมปทา

เมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงกระทำปัจฉาภัตกิจแล้วอย่างนี้ เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อทรงตรวจดูสัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิการอันตนไม่ได้กระทำแล้ว คือ ไม่ได้ทำบุญไว้ก่อน และมีอธิการอันตนได้กระทำแล้วในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งหลาย และในกรรมทั้งหลาย มีทาน ศีล และอุโบสถกรรม เป็นต้น ผู้มีอุปนิสัยที่ยังไม่ถึงพร้อม ทั้งผู้ที่มีอุปนิสัยที่ถึงพร้อม ทั้งท่านผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ในอวสานแห่งภาคที่ ๔ ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็จะทรงเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์เหล่านั้น

ในกาลใดพระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาที่จะเสด็จเข้าไปในที่ไหนๆ แต่พระองค์เดียว พระองค์ก็ทรงปิดประตูในเวลาที่จะเสด็จบิณฑบาต โดยที่เสด็จเข้าไปภายในพระคันธกุฎี แต่กาลนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมทราบด้วยสัญญาณนั้นว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จเข้าไปในบ้านแต่พระองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ได้ทรงเห็นแล้วซึ่งบุคคลบางคนที่จะพึงแนะนำแน่แท้ ภิกษุเหล่านั้นก็ถือบาตรและจีวรของตน กระทำประทักษิณ พระคันธกุฎี ถวายบังคมแล้วย่อมเข้าไปบิณฑบาต

ถ. เท่าที่อาจารย์อ่านมาในอรรถกถา พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกถึง ๒ ครั้งในแต่ละวัน ตอนบ่ายตรวจดูสัตว์โลกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งตอนไหน

สุ. ตี ๕ ถึง ๖ โมงเช้า

ถ. ตี ๔ ถึงตี ๕ พระผู้มีพระภาคก็สำเร็จสีหไสยาสน์

สุ. ที่ทรงพักผ่อน สำเร็จสีหไสยาสน์ ตี ๓ ถึงตี ๔ และผลสมาบัติ ตี ๔ ถึงตี ๕

ผู้ฟัง อาจารย์จำแนกไว้ดีมาก เป็นชั่วโมงๆ เข้าใจดี

สุ. ตามอรรถกถา

ถ. ยามสุดท้ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูว่า สัตว์ผู้ใดที่มีกิเลสน้อยก็จะเสด็จไปโปรด และให้สัญญาณโดยเสด็จเข้าไปในพระคันธกุฎีใช่ไหม

สุ. หมายความว่า คราวใดที่จะเสด็จไปโปรดบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเสด็จไปเพียงพระองค์เดียว โดยการที่เมื่อถึงเวลาบิณฑบาตจะไม่ไปพร้อมกับพระภิกษุอื่น แต่จะเสด็จเข้าไปภายในพระคันธกุฎีและปิดประตูด้วย ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็จะทราบว่า สักครู่ต่อมาพระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปโปรดบุคคลอื่นโดยลำพัง เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายก็กระทำประทักษิณรอบพระคันธกุฎี และออกไปบิณฑบาตโดยไม่ได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไป

ถ. มีเหตุมีปัจจัยอะไร ที่ทำให้เกิดสติเพิ่มขึ้น

สุ. การฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ มีการกล่าวถึงกัมมัฏฐาน คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นสติปัฏฐานให้ปัญญาสามารถที่จะเกิดระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ผู้ที่เป็นสาวกทั้งหลายขาดการฟังไม่ได้เลย

ถ. ตามปกติ ถ้าเราจะระลึกอะไรได้บ่อยๆ สิ่งนั้นมักจะเป็นประโยชน์ต่อเรา ฉะนั้นการที่มีสติบ่อยๆ ก็แสดงว่า เราเห็นประโยชน์ของสติ สติจึงจะขึ้นบ่อยๆ ใช่ไหม

สุ. มีความเข้าใจถูก มีการเห็นประโยชน์

ถ. อาจารย์กรุณาอธิบายประโยชน์ของสติให้ละเอียด

สุ. สติเกิดขณะใด เป็นกุศลขั้นหนึ่งขั้นใดเสมอ ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นย่อมหลงลืมสติเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ถูกโลภะ โทสะ โมหะครอบงำอยู่เรื่อยๆ

เวลานี้โลภะ โทสะ โมหะครอบงำหรือเปล่า จะรู้ได้เมื่อรู้ว่า สติเกิดหรือเปล่า และเป็นสติขั้นไหน ขณะที่กำลังฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความเข้าใจจะเกิดโดยปราศจากสติไม่ได้ แต่เป็นสติขั้นเข้าใจ ไม่ได้เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้น แต่ที่จะเป็นสติปัฏฐาน ต้องในขณะที่กำลังระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม และศึกษารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

ฟัง และเข้าใจ ก็เป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่สติไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่อเมื่อใดขณะนั้นสติระลึกศึกษาในลักษณะที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน

ถ. ผู้ที่เข้าใจการเจริญวิปัสสนาภาวนาแล้ว เจริญสมถภาวนา ต่างกับผู้ที่เจริญสมถภาวนาโดยไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนาอย่างไร

สุ. ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญวิปัสสนา จะรู้เพียงลักษณะสภาพของกุศลจิตที่สงบ แต่ว่าไม่สามารถที่จะศึกษารู้ชัดในสภาพที่สงบนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล รู้แต่เพียงว่า ขณะใดเป็นอกุศลตามความเป็นจริง ขณะใดเป็นกุศล เป็นความสงบตามความเป็นจริง แต่ว่ายังเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ทุกขณะเป็นสติปัฏฐาน

ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง ข้อ ๑๗๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ พุทธานุสสติ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

ข้อ ๑๘๐ เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุสสติที่เหลือ คือ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อานาปานสติ มรณสติ กายคตาสติ อุปสมานุสสติ คือ การระลึกถึงพระนิพพาน

ในตอนท้ายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

จบ วรรคที่ ๑

ถ้าอ่านเพียงผิวเผิน ก็จะสงสัยว่า พุทธานุสสติจะทำให้ถึงนิพพานได้อย่างไร แต่ว่าสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะเข้าใจได้ชัดเจนว่า ไม่มีอะไรที่จะนอกไปจากสภาพนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเมื่ออบรมแล้ว ศึกษาแล้ว มีความรู้ชัดแล้ว ย่อมจะทำให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะแม้ในขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดยังไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน อ่านข้อความนี้ย่อมสงสัยว่า ทำอย่างไรจึงให้เป็นพุทธานุสสติที่จะเพื่อการตรัสรู้ เพื่อนิพพาน แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ทุกอย่าง ทุกขณะ

ความสงบเกิดขึ้นในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีการน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคได้ในขณะนั้น ความคิดนึกเป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมหนึ่งนามธรรมใด การระลึกถึงพระพุทธคุณมีปัจจัยก็เกิดขึ้นได้ แต่ปัญญาก็จะต้องรู้ชัดว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพคิดนึก จึงจะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

เวลาที่สงบเพราะระลึกถึงพุทธคุณ และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจะเป็นบาทของวิปัสสนาไหม ก็เป็น เพราะคำว่า สมาธิเป็นบาทของวิปัสสนา ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า หมายความถึงความตั้งมั่นของความสงบที่ปรากฏเป็นความสงบ ขณะนั้นเป็นบาท โดยสติระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามว่า พระองค์จะอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องอนุสสติ ๖ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอนุสสติ ๑๐ สำหรับเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

ถ. อาจารย์ย้ำอีกทีได้ไหม อนุสสติ ๖

สุ. ได้แก่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ

พอไหมสำหรับความสงบในวันหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง หรือมีความต้องการที่จะให้ไปถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน เพราะสำหรับพุทธานุสติ ถ้าเป็นขั้นของการเจริญสมถภาวนา ขณะนั้นจิตจะตั้งมั่นคงสงบขึ้นอย่างมากที่สุดเพียงขั้นอุปจารสมาธิ และสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น แต่บุคคลธรรมดา คือ ปุถุชน ไม่สามารถที่จะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นพุทธานุสสติให้จิตสงบตั้งมั่นจนถึงอุปจารสมาธิได้

ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ท่านระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคได้บ่อยไหม มากไหม เวลาที่ระลึกแล้วสงบ หรือว่าธรรมดา หรือว่าลักษณะของความสงบที่เพิ่มความตั้งมั่น มีลักษณะอาการของสมาธิปรากฏบ้างไหม หรือว่าไม่มีเลย

ท่านผู้ฟังคงไม่ลืมว่า ธรรมสำหรับการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องความสงบของจิต หรือว่าสติปัฏฐาน เมื่อเป็นโอกาสของการที่กุศลประเภทใดจะเกิด ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าสงบไหม เพื่อที่ว่าจะได้เจริญกุศลขั้นต่อไปด้วย คือ ขั้นอบรมความสงบของจิต และก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าลักษณะของความสงบยังไม่มั่นคงที่จะปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นซึ่งเป็นสมาธิแล้ว ก็ยากที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นสงบบ้างไหม

ชั่วขณะที่กุศลแต่ละประเภทเกิดขึ้น เป็นความสงบแล้ว แต่ว่าเพราะมีน้อยมาก เมื่อสมาธิไม่มีกำลังที่จะปรากฏความตั้งมั่นในความสงบนั้นจริงๆ ย่อมไม่เห็นลักษณะของความสงบ แต่ว่าเจริญได้ โดยการสังเกต สำเหนียก รู้ในขณะที่กำลังกราบพระ หรือว่าสวดมนต์ จะได้ทราบว่า ขณะนั้น พุทธานุสสติ การระลึกถึงพระคุณ มีความปีติ มีความศรัทธา มีความสงบหรือไม่ในขณะนั้น ซึ่งการศึกษาและสังเกตเพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยนี้ จะเป็นปัจจัยทำให้มีความสงบเกิดเพิ่มขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ได้ ในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ หรือว่าระลึกถึงพระพุทธคุณ

และถ้ามีความตั้งมั่นในความสงบนั้น จนกระทั่งสามารถสังเกตรู้ในอาการของความตั้งมั่นซึ่งเป็นสมาธิพร้อมความสงบ ก็จะเห็นได้ว่า น้อยมาก ชั่วครู่เดียว ไม่ใช่ถึงกับตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิได้ดังเช่นพระอริยสาวกทั้งหลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระอริยสาวกทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธคุณและจะถึงอุปจารสมาธิได้ทุกท่าน ต้องแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยด้วย ซึ่งสภาพธรรมย่อมเกิดขึ้นแต่ละขณะตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งต่างกัน และพระอริยสาวกที่ถึงอุปจารสมาธิเพราะการระลึกถึง พระพุทธคุณนั้น ก็มีน้อย ไม่ใช่ว่ามีมาก

เปิด  270
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566