แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 745

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความตั้งมั่นคงของจิตในความสงบว่า จะต้องมีความสงบเพิ่มขึ้นจริงๆ ปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นคงซึ่งเป็นสมาธิในความสงบนั้นยิ่งขึ้น พร้อมสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ และอย่าเพิ่งคิดว่า ขณะนั้นเป็นอุปจารสมาธิแล้ว ยังอีกไกล เพราะว่าผู้ที่จะถึงอุปจารสมาธิได้โดยระลึกถึงพุทธานุสสติ ต้องเป็นพระอริยสาวกประเภทเดียว ซึ่งท่านมีความแจ่มแจ้งในพระคุณของพระผู้มีพระภาค เพราะท่านได้บรรลุธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงและได้ทรงบรรลุ ดังนั้น ความนอบน้อม ความปีติ ความปราโมทย์ ความตั้งมั่นคง ความผ่องใสของจิตที่สงบ ย่อมมีมากกว่าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า

แต่ถ้าโดยนัยของวิปัสสนา ซึ่งอารมณ์ทุกอารมณ์เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พุทธานุสสติในขณะนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ที่จะทำให้บรรลุถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ได้ นี่เป็นความต่างกันของผลของการเจริญพุทธานุสสติ โดยนัยของสมถภาวนา และโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา

ผู้ฟัง บางคนพูดว่า ไปเจริญพุทโธเป็นอารมณ์บ้าง ไปเจริญอานาปาเป็นอารมณ์บ้าง ดิฉันก็สนใจไต่ถามว่า เขาไปประพฤติปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อนฝูงเหล่านั้นก็เล่าให้ฟังว่า ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ถามถึงการเจริญสติเป็นปกติ เขาก็ไม่ได้เจริญ แต่ถึงเวลาก็นั่ง และเขาบอกว่า เดี๋ยวนี้เขาพบธรรมแล้ว คือ ทำจิตให้สงบ เห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูปเปล่งรัศมี และเข้าใจว่าตัวเองรู้แจ้งธรรมแล้ว

สุ. การระลึกถึงพระคุณแล้วจิตสงบ เป็นกุศล

ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นการเจริญสมถะ

สุ. อย่าใช้คำว่า สมถะ เพราะว่าจิตไม่สงบในขณะนั้น

ผู้ฟัง เขานิมิตเห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป

สุ. เห็นแล้วเป็นอย่างไร

ผู้ฟัง ดีใจ

สุ. ดีใจ พอใจ ติด ต้องการ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา ไม่สงบ เริ่มจากการไม่สงบ ผลคือ ไม่สงบปรากฏ แต่เพราะความไม่รู้ ก็ถือเอาความพอใจความยินดีนั้นว่า เป็นความสงบ

ผู้ฟัง เป็นความพอใจ

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังเคยเจริญสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิมาก่อน มีความจงใจ มีการจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เกิดความยินดีพอใจขึ้น และก็เคยคิดว่า ขณะนั้นเป็นสมถภาวนา แต่เมื่อทราบความต่างกันของขณะที่เป็นกุศลจิต และสังเกตความสงบของจิตในขณะที่เป็นกุศล ไม่ว่าขณะที่ให้ทาน หรือขณะที่สามารถจะวิรัติทุจริตได้และเกิดความสงบ ปีติ ผ่องใส เมื่อระลึกถึงสภาพของกุศลจิตนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ก็มีความเข้าใจในสภาพของกุศล หรือว่าเวลาที่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแล้วจิตสงบ ไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องญาติพี่น้อง เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นอกุศลนานาประการ ในขณะนั้น มีความเห็นตรงเกิดขึ้นในความสงบว่า ความสงบคืออย่างนี้ และก็เริ่มสงบ ไม่ว่าจะพบบุคคลใดในเหตุการณ์อย่างไร ท่านจะเห็นได้ว่า ความสงบอย่างนี้ ต่างกับขณะที่มีความต้องการจดจ้องที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวด้วยความพอใจ ซึ่งในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่สงบเลย มีความปรารถนา ต้องการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ถ้าจ้องที่พระพุทธรูป ก็มีความปรารถนาต้องการที่จะให้เห็นเป็นนิมิตเกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นความต้องการ ไม่ใช่ความสงบ

เพราะฉะนั้น ก็เทียบได้ว่า ขณะที่ต้องการอย่างนั้น กับขณะที่เป็นกุศลแล้วสงบนั้น ผิดกัน ก็จะเป็นแนวทางที่ท่านจะเจริญสมถภาวนา คือ อบรมความสงบซึ่งไม่ใช่เป็นมิจฉาสมาธิ

ถ. เรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นอารมณ์ของสมถะ แต่ขณะที่เจริญวิปัสสนา ถ้ามีการระลึกรู้อาหาเรปฏิกูลสัญญา มีสติระลึกรู้ขึ้นมา และก็ละไปอย่างนี้ใช่ไหม

สุ. ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร จิตเป็นโลภะหรือโทสะ ถ้าอาหารอร่อย มีใครบ้างไหมที่จะไม่เกิดความยินดีพอใจในรสอาหาร ยากเหลือเกิน เพราะหลายท่านบอกว่า สติไม่ค่อยจะเกิดเวลาที่กำลังรับประทานอาหาร เพราะมักจะรับประทานด้วยความพอใจ เพราะฉะนั้น การที่จะลดความพอใจในอาหารที่รับประทาน ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ ไม่เห็นความน่าพอใจในอาหารนั้น ถ้าเห็นความเป็นปฏิกูลได้ก็ยิ่งจะเพียงรับประทานเพื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นโดยนัยของสมถภาวนา ตั้งแต่การแสวงหาที่ได้กล่าวไว้โดยละเอียดใน วิสุทธิมรรค

ถ. ในขณะที่รับประทานอาหารระลึกรู้สภาพของความเป็นปฏิกูล มีสติระลึกรู้อย่างนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเป็นอย่างนั้น อาหาเรปฏิกูลสัญญาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ไหม

สุ. ไม่ใช้คำว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา เวลาที่เป็นวิปัสสนา เพราะสำหรับสมถภาวนาทำให้จิตสลดสังเวช อย่างบางท่านรับประทานปลาทั้งตัว เกิดสลดสังเวชบ้างไหม

ถ. เวลาที่เจริญสติ ขณะที่รับประทานอาหารและมีสติระลึกรู้สภาพของอาหารที่ปะปนกัน และผ่านไปเป็นรู้อย่างอื่น

สุ. ขณะที่จิตสลด ขณะนั้นเป็นสมถภาวนา แต่ว่าขณะใดที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจึงจะเป็นวิปัสสนา

ถ. หมายความว่า ขณะที่เจริญสติ มีอารมณ์ของสมถะปรากฏได้

สุ. แน่นอน

ถ. และก็ระลึกรู้

สุ. ใช่ และสติปัฏฐานก็เกิดต่อได้

. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ลักษณะของสภาพธรรมตรง ขณะที่ปรากฏทางตาก็ทางตา ทางหูก็ทางหู ทางจมูกก็ทางจมูก ทางลิ้นก็ทางลิ้น ทางกายก็ทางกาย ทางใจก็ทางใจ ตรงตามความเป็นจริง แต่สำหรับสมถภาวนา เป็นการน้อมนึกที่จะให้เกิดความสลดสังเวชซึ่งเป็นความสงบ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ศึกษารู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ รับประทานอาหารบ่อยๆ สมถะบ้าง วิปัสสนาบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลมาก นี่เป็นการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อาหารบางอย่างดูคล้ายๆ สบู่ มีไหม ขนมบางชนิด มีความรู้สึกเป็นปฏิกูลในอาหารที่ปรากฏบ้างไหม แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะให้จิตสงบจริงๆ จะต้องมีการมนสิการโดยนัยต่างๆ หลายนัยทีเดียว ที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาหารได้

ปอด ตับ หัวใจ มีปรากฏให้เห็นไหม ปฏิกูล หรือไม่ปฏิกูล แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ความยินดีพอใจในอาหารเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เป็นลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ไม่เลือกว่า สมถภาวนาจะเกิดก่อน หรือว่าวิปัสสนาภาวนาจะเกิดก่อน แล้วแต่สภาพธรรมขณะนั้นจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ควรที่จะระลึกศึกษารู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ตามความเป็นจริง

และจุดประสงค์ของการกล่าวถึงสมถภาวนา ก็เพื่อที่จะเกื้อกูลแก่การเจริญ สติปัฏฐานเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ท่านเจริญสมถภาวนาถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือฌานจิต เพราะว่ายากที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทุกท่านก็รู้สภาพจิตของท่านตามความเป็นจริงได้ว่า ท่านสามารถที่จะประกอบด้วยปัญญาที่จะทำให้บรรลุถึงความสงบขั้นต่างๆ เหล่านั้นได้หรือไม่

ในวันหนึ่งๆ ใครเป็นผู้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย พระคุณของพระผู้มีพระภาค ก็ต้องเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังอาจจะคิดสงสัยว่า สมถะในชีวิตประจำวันของพระอริยสาวกทั้งหลายนั้นคือขณะไหน อย่างไร ซึ่งปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต มหานามสูตร

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมชนิดไหนเป็นส่วนมาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก คือ อริยสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกถึง พระตถาคตเนืองๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ดูกร มหานามะ สมัยใดอริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภ พระตถาคต ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความซาบซึ้งธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น

ดูกร มหานามะ นี้ตถาคตกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ ฯ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ

จาคานุสสติ เทวตานุสสติ และข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก ฯ

จบ สูตรที่ ๑๐

จบ อาหุเนยยวรรคที่ ๑

ถ. เครื่องอยู่ของพระสาวก ทำไมไม่เหมือนกับพระผู้มีพระภาค ซึ่งก็ทรงแสดงไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครถามว่า พระพุทธเจ้าส่วนมากอยู่ด้วยธรรมอะไร เธอจงบอกเขาว่า พระผู้มีพระภาคทั้งหลายส่วนมากอยู่ด้วยอานาปานสติ แต่ทำไมสาวกทั้งหลายอยู่ด้วยอนุสติ ๖ ทั้งที่เป็นอริยบุคคล

สุ. พระผู้มีพระภาคจะระลึกถึงพระพุทธคุณ มีพระคุณของพระผู้มีพระภาคพระองค์ไหนที่จะต้องทรงระลึกถึงไหม

ถ. ไม่ระลึกแน่ แต่ว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย จะอยู่ด้วยอานาปานสติไม่ได้หรือ

สุ. แสดงให้เห็นว่า อานาปานสติไม่ได้สาธารณะทั่วไปกับทุกบุคคล ไม่ใช่ของง่าย การเจริญอานาปานสติสำหรับบุคคลเช่นมหาบุรุษ มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น แต่เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทูลถามถึงธรรมสำหรับพระอริยสาวกส่วนมาก และส่วนมากของพระอริยสาวกนี้เป็นพระอรหันต์หรือ พระโสดาบัน มีพระสูตรหนึ่งที่แสดงว่า สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคนั้น มีพระโสดาบันมากกว่าบุคคลอื่น ข้อนี้ก็เป็นของธรรมดาว่า ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์นั้น ย่อมมีน้อยกว่าผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ปุถุชนกับพระโสดาบันบุคคล บุคคลไหนมีมากกว่า ก็ต้องเป็นปุถุชน

เมื่อบรรดาท่านที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลมีมากกว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น การที่จะเจริญสมถะในชีวิตประจำวันของพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นส่วนมาก ท่านจะไม่กระทำอย่างอื่นโดยเว้นการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว เวลาที่กุศลจิตน้อมระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย น้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ของพระธรรม และของพระอริยสาวก ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ธรรมที่พระอริยะทั้งหลายอยู่เป็นส่วนมาก คือ อนุสสติ ๖ ไม่ใช่อนุสสติ ๑๐ ไม่ใช่อานาปานสติ ไม่ใช่กายคตาสติ

แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ใช่พระอริยสาวก จะทำอย่างไร

ก็ควรที่จะเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า และมีการที่จะเข้าใจซาบซึ้งในพระคุณของพระรัตนตรัยยิ่งขึ้น มีความสงบประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

ถ. อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อีก ๔ คืออะไรบ้าง

สุ. มรณสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน

ถ. กายคตาสติ หมายความว่า ขณะที่เราเจริญสติ ระลึกที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นกายคตาสติไหม

สุ. กายคตาสติมี ๒ นัย คำว่า กายคตาสติ คือ สติที่ระลึกเป็นไปในกาย โดยนัยของวิปัสสนา กายคตาสติ หมายถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด แต่โดยนัยของสมถภาวนา กายคตาสติ หมายถึงสติที่ระลึกที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้เกิดความสลดสังเวชหรือความสงบ เช่น ระลึกที่ผมส่วนหนึ่ง ขน เล็บ ฟัน หนัง ทีละลักษณะ ทีละส่วน ให้เห็นความไม่งาม หรือความเป็นปฏิกูลของสิ่งที่เคยยึดถือ เคยพอใจอย่างมาก

ถ. เทวตานุสสติ ระลึกถึงด้วยประการใด

สุ. ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา และเกิดความสงบ เพราะพระอริยสาวกทั้งหลายท่านพร้อมด้วยคุณธรรมของเทวดา ที่จะเกิดเป็นเทวดา ท่านเป็นผู้ที่พ้นแล้วจากอบายภูมิ

ถ. หมายถึงว่า ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดา และจิตใจก็ยินดีอิ่มเอิบ

สุ. ใช่

ถ. ศรัทธาต่อคุณธรรมเหล่านั้น พร้อมกันนั้นก็มีสติระลึกรู้สภาพจิตที่เป็นอย่างนั้นด้วย

สุ. แล้วแต่ ถ้าเป็นผู้ที่เป็นอริยสาวกแล้ว หรือว่าเป็นผู้ที่รู้หนทางข้อปฏิบัติแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ เพราะท่านรู้ว่าท่านยังกระทำกิจไม่เสร็จ พระโสดาบันก็รู้ว่า ท่านยังไม่ได้เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ท่านจะไม่มีการคิดว่า พอแล้ว หรือว่าไม่ต้องระลึกรู้ ไม่ต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต่อไป แต่ท่านรู้ว่า ยังต้องมีกิจที่จะต้องกระทำ คือ การดับกิเลสที่อาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ว่าท่านยังเป็นผู้ที่มีกิเลสเหลืออยู่ ที่จะต้องดับให้หมดสิ้น

เปิด  252
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566