แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 751

สุ ถ้าพิจารณา จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาซึ่งเป็นผลของสมถภาวนาขั้นฌาน ก็ยังมีน้อยกว่าพระอรหันต์ที่เป็นสุกขวิปัสสกะ

และก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านก็เป็นพระโสดาบันก่อน เมื่อท่านเป็นพระโสดาบันท่านก็รู้ว่า กิเลสของท่านยังมีเหลือ เพราะฉะนั้น กิจของท่านที่ยังเหลืออยู่ คือ จะต้องศึกษาธรรมที่กำลังปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ และอบรมเจริญปัญญาให้ถึงการที่จะสามารถละกิเลสขั้นต่อไปได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น โดยบรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

นี่เป็นกิจของผู้ที่รู้ว่าตนเองยังมีกิเลสเหลืออยู่ ย่อมจะไม่ทำกิจอื่น หรือแม้พุทธบริษัทที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า กิเลสยังมีมากเหลือเกิน ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลสทั้งหลายได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งผู้ที่เข้าใจถูกอย่างนี้รู้ว่า มีหนทางเดียวเท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญขึ้นถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้ โดยการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจอย่างนี้จะไปเจริญฌานไหม หรือว่าจะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะคมกล้าสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท และแม้ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยะ ก็ศึกษาไตรสิกขา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็อบรมเจริญปัญญาต่อไปจนสามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ โดยที่จะไปทำฌานไหม ลองพิจารณา

ถ. พระโสดาบันยังไม่หมดโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อพระโสดาบันรู้ว่า การทำฌานนี้จะต้องไปเกิดในพรหมโลก อายุก็ยาวกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ประณีตกว่า เพราะฉะนั้น ท่านสบายใจแล้ว วัฏฏะจะยืดยาวสักเท่าไร ท่านก็ไม่ต้องไปอบาย อยู่ในสุคติอย่างเดียว ถ้าทำฌานก็มีโอกาสเกิดในพรหมโลก วัฏฏะของท่านไม่เป็นทุกข์แล้ว มีแต่สบาย

สุ ท่านจะเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกดี หรือท่านจะเป็นพระอรหันต์ดีกว่า

ถ. แล้วแต่บุคคล ผู้ที่ไม่ยอมเจริญสติปัฏฐาน กลัวนิพพานก็มี คำว่า ไม่เกิดนี้ ผมคิดว่าปุถุชนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ถ้าไปเกิดในสวรรค์ ชอบ

สุ. ขณะที่กลัวนิพพาน ขณะนั้นเป็นปัญญา เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ขณะใดที่เห็นผิด เกิดความกลัวนิพพาน ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กลัวปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่อยากให้ปัญญาเกิด เป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าปฏิบัติผิด จะกลัวบรรลุนิพพาน อย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ท่านเจริญสมาธิ และท่านยังไม่เข้าใจว่า ไม่ใช่ความสงบในขณะนั้น เพราะว่าท่านมีแต่เพียงจดจ้องต้องการที่จะให้จิตอยู่ที่ลมหายใจและเข้าใจว่า ขณะนั้นท่านกำลังปฏิบัติอานาปานสติ ซึ่งท่านกล่าวว่า ถ้าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ท่านก็ไม่อยากจะให้เกิด กลัวว่าจะเป็นวิปัสสนา กลัวว่าจะเป็นปัญญา เพราะว่าท่านกำลังต้องการให้จิตสงบเป็นสมถะเพื่อที่จะได้ถึงฌาน ท่านกลัวแม้แต่สติที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นอย่างนี้ เข้าใจได้เลยว่า ข้อปฏิบัติผิด

อะไรจะดีกว่ากัน ฌานจิต หรือว่าปัญญาที่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ถ. ถ้าตอบตามตำรา ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ย่อมดีกว่า แต่ความพอใจไม่แน่ อาจจะไม่พอใจก็ได้ อาจจะพอใจในความสงบก็ได้ ถ้าพูดถึงความพอใจกับความเป็นจริง ก็เป็นคนละอย่างกัน

สุ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ลักษณะของความพอใจอย่างละเอียด ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเห็นสมุทัยสัจ ความพอใจนี่ ไม่ว่าจะพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือในความสงบ ก็ต้องละ เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ เป็นสิ่งที่จะต้องดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นความพอใจ เป็นอกุศลธรรม เป็นสมุทัยสัจ ขณะนั้นจะปิดกั้นไม่ให้ปัญญาเจริญที่จะเห็นอริยสัจได้

ถ. มีกล่าวไว้ในตำราว่า เมื่อได้พระอรหันต์แล้ว จะได้ปฏิสัมภิทา ๔

สุ ไม่ใช่สำหรับทุกองค์ บางองค์เท่านั้นที่พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ คือ ธัมมปฏิสัมภิทา ปฏิสัมภิทาในเหตุ อัตถปฏิสัมภิทา ปฏิสัมภิทาในผล นิรุตติปฏิสัมภิทา และปฏิภาณปฏิสัมภิทา

เพราะฉะนั้น ขอให้เห็นตัวโลภะให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้วไม่มีวันที่จะรู้จัก หรือว่าจะชนะ หรือว่าจะดับโลภะได้ เพราะเป็นไปกับความต้องการ แม้สติจะเกิดก็ไม่เอา จะให้จิตสงบเป็นขั้นอัปปนาสมาธิที่จะให้ถึงฌาน อย่างนี้ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

การที่จะอบรมสมาธิ ความสงบที่มั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิไม่ใช่ของง่าย และต้องเป็นเหตุที่ถูกต้องตั้งแต่ในขั้นต้น หรือในเบื้องต้นจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่า ขณะนี้จิตสงบไหม ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ลักษณะความสงบของกุศลจิต และความไม่สงบของอกุศลจิต ทุกคนรู้ว่ามีจิตอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ จิตสงบหรือไม่สงบ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสามารถจะรู้ได้ เพราะพิจารณาด้วยปัญญารู้ในลักษณะที่สงบ ถ้าสงบ เป็นกุศล และลักษณะที่ไม่สงบเมื่อขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ซึ่งทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดดับสืบต่อสลับกันรวดเร็วเหลือเกิน ถ้าไม่อบรมปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ผู้ฉลาดจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า สงบหรือไม่สงบ และถ้าผู้ใดไม่สามารถรู้ได้ ก็อบรมเจริญความสงบไม่ได้ เป็นสิ่งที่ยากมาก

ผู้ฟัง ผู้ที่มาฟังอาจารย์บรรยาย เขาถามดิฉันว่า มาฟังอาจารย์บรรยายนานหรือยัง ส่วนเขาเพิ่งมาวันนี้เป็นวันแรก เขาสนใจการปฏิบัติธรรม ได้ไปหาพระภิกษุ ได้รับคำแนะนำว่า เขาเป็นคฤหัสถ์ต้องฝึกนั่งสมถะจนกว่าจิตเป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว ก็ถอนจิตมาสู่อารมณ์อุปจารสมาธิ และพิจารณารูปนาม ซึ่งไม่ตรงกับที่อาจารย์บรรยาย เพราะว่าอาจารย์ให้เจริญสติระลึกรู้ตามปกติที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเจริญวิปัสสนา ดิฉันก็บอกเขาว่า สำหรับดิฉันได้เจริญสมถะมาบ้างเป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งได้มาฟังอาจารย์ ดิฉันจึงได้เจริญวิปัสสนาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ทวาร

ถ้าหากจะทำสมถะเพื่อความสงบจนถึงขั้นอัปปนาแล้วจึงพิจารณารูปนาม ไม่ทราบว่าชาตินี้จะมีโอกาสได้พิจารณาไหม เพราะเราเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน อาจจะตายไปเสียก่อน หรืออีกหลายชาติก็ไม่รู้ แต่ว่าสำหรับพระภิกษุที่ท่านเป็นผู้ถือธุดงค์ปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์นั้น ดิฉันไม่ขอพูดถึง เพราะดิฉันไม่เข้าใจ แต่ดิฉันบอกเขาว่า ถ้าเจริญปัญญาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้ ก็มีโอกาสที่จะได้เจริญปัญญาในชาตินี้ จะได้ประโยชน์สักเท่าไรก็แล้วแต่ปัจจัยนิสัยที่ได้สะสมมา ดิฉันก็ได้แนะนำเขาอย่างนี้ และเขาให้มาฟังอาจารย์อีกจะได้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้น

สุ ท่านใดที่กล่าวถึงการเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ท่านผู้ฟังก็ควรจะถามท่านผู้กล่าวว่า ปฏิบัติแล้วหรือยัง ถึงแล้วหรือยัง อัปปนาสมาธิและอุปจารสมาธิ ถ้าท่านผู้นั้นกล่าวว่าถึงแล้ว ก็ควรที่จะได้ซักถามเพื่อความแจ่มแจ้งว่า อบรมเจริญอย่างไร ความสงบเกิดขึ้นอย่างไรจึงจะถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ และในขณะที่ท่านผู้นั้นกล่าวถึงข้อปฏิบัตินี้ ท่านผู้ฟังก็ย่อมจะทราบได้ว่า จิตของผู้ที่เข้าใจว่าตนเองอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั้น แท้ที่จริงแล้วสงบหรือไม่ นี่เป็นทางที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ

ผู้ฟัง ดิฉันเคยเจริญแบบลมหายใจ คือ อานาปานสมาธิบ้าง และเจริญ พุทโธบ้าง ดิฉันรู้ทีหลังเมื่อเจริญสติแล้วว่า ขณะใดที่จิตสงบก็ชอบ พอวันหลังนั่งก็ ต้องการอีก มีความต้องการขึ้นทีเดียว เหมือนกับติดใจในอารมณ์ที่ผ่านมา และพยายามนั่งอีกจะให้ได้อย่างเก่า นี่ก็เป็นโลภะ เมื่อเจริญปัญญาแล้วจึงจะรู้

สุ เวลาที่กล่าวว่า จิตสงบ หมายความว่า กำลังเป็นสมาธิ หรือว่ากำลังสงบ

ผู้ฟัง เป็นสมาธิ

สุ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสงบ ต้องแยกกัน เวลาที่จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ลักษณะของสมาธิ การจดจ้องอยู่ที่อารมณ์นั้นปรากฏ แต่จิตที่สงบนี่ ไม่ใช่ลักษณะของสมาธิขณะนั้น

ผู้ฟัง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญปัญญา ไม่ได้เจริญวิปัสสนาอย่างที่อาจารย์สอน คือ เจริญวิปัสสนาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นสงบหรือว่าเป็นสมาธิ

สุ เพราะเหตุว่าการที่จะเป็นผู้ที่สามารถได้ทั้งวิปัสสนา และสมถะ คือ ความสงบของจิตจนกระทั่งถึงฌานจิตนั้น ย่อมยากและน้อยกว่าผู้ที่บรรลุอริยสัจธรรม โดยที่ไม่มีความสงบถึงขั้นฌานจิต นี่เป็นของธรรมดา แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และแม้ในครั้งต่อๆ มา ที่กล่าวว่า ในพันปีแรกเป็นสมัยของพระอรหันต์ที่ประกอบด้วยอภิญญาหรือว่าปฏิสัมภิทา ซึ่งเป็นผลของสมถภาวนาที่สงบถึงขั้น อัปปนาสมาธิ แต่ว่าในยุคต่อมา คือ พันปีที่สอง ก็จะเป็นยุคของพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของฌานจิตด้วย และในพันปีที่สาม ก็เป็นยุคหรือสมัยของผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

เพราะฉะนั้น เป็นการยากเหลือเกินที่จะมีผู้ที่บรรลุคุณธรรมทั้งสมถะและวิปัสสนา และสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันก็เช่นเดียวกัน และแม้ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ซึ่งเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมของแต่ละท่านที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ท่านอาจจะสะสมสมถะ คือ ความสงบ เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะว่าวันหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้ สติปัฏฐานเกิดขึ้นตลอดเวลาขณะที่เป็นกุศล เพราะบางครั้ง บางขณะ กุศลจิตที่เป็นไปในทานก็เกิดขึ้นโดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลในขณะที่ให้ทาน แต่ว่าบางครั้งที่กระทำทานกุศล สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพระฉะนั้น เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ ที่จะให้เป็น สติปัฏฐานทุกขณะ

บางครั้งก็เป็นกุศลที่เป็นไปในทาน บางครั้งเป็นกุศลที่เป็นไปในศีล บางครั้งความสงบก็เกิดขึ้น แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ได้อบรมเจริญแล้ว สติย่อมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะความสงบในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย

ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ชำนาญจริงๆ คล่องแคล่วจริงๆ สะสมความสามารถในการที่จิตจะสงบอย่างรวดเร็วถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ สติย่อมจะไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความสงบขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพราะผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ทานบ้าง ศีลบ้าง ความสงบบ้าง

เพราะฉะนั้น ถ้าความสงบยังไม่คล่องแคล่ว ไม่ชำนาญที่จะเกิดขึ้นรวดเร็วเป็นอัปปนาสมาธิ สติก็จะตามระลึกรู้เพียงความสงบขั้นต้นที่ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิและ อัปปนาสมาธิ และปัญญาก็สามารถี่จะแทงตลอดอริยสัจธรรมในขณะนั้น บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันโดยที่ไม่ประกอบด้วยองค์ของฌานที่เป็นปฐมฌาน หรือ ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นผู้ที่อยากหรือต้องการที่จะไปทำฌานโดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ท่านผู้ฟังเคยท่องคาถาได้ใช่ไหม บางท่านอาจจะเคยท่องคาถาอะไรต่างๆ ตั้งแต่เป็นเด็กๆ ก็ได้รับคำบอกเล่า คำสั่งสอนให้ท่องคาถาต่างๆ จนชำนาญ พออายุมากขึ้น โตขึ้น ไม่ได้ท่องบ่อยๆ ก็หลงลืมไป นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก แต่สักครู่หนึ่งอาจจะระลึกขึ้นได้ทันทีถึงคาถาที่เคยท่องได้ ฉันใด การเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ศึกษารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานจะขาดตอนไปบ้าง แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เหมือนกับคาถาที่เคยท่องตอนเป็นเด็ก ที่ท่องจนคล่องจนชำนาญแล้วก็หลงลืมไป เพราะว่าขาดการท่อง การสาธยาย แต่ก็ยังมีปัจจัย คือ การที่เคยท่องอย่างชำนาญนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดระลึกขึ้นได้

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ นี้ ถึงแม้ว่าบางวัน บางครั้ง บางยามสติจะไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็มีปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้ว ที่สติจะมีโอกาสเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ถ้าไม่เคยฟัง ไม่เคยอบรม สติก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิด

เปิด  266
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566