แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 753

ข้อความต่อไป

ธรรมทินนะกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายยังครองเรือน นอนกกลูกอยู่ ยังทาจันทน์แคว้นกาสี ยังใช้มาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีทองและเงินอยู่ จะเข้าถึงพระสูตรที่พระตถาคตตรัสแล้ว อันลึกซึ้ง มีเนื้อความอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง ตลอดนิตยกาลอยู่ มิใช่กระทำได้โดยง่าย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่แล้วในสิกขาบท ๕ เถิด

ท่านเป็นอุบาสกซึ่งเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในศีล ๕ และท่านเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการเจริญในธรรม จึงได้กราบทูลถามข้อปฏิบัติที่ท่านจะปฏิบัติต่อไป และไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ทรงทราบถึงอุปนิสัยของเหล่าอุบาสกทั้งหลายที่ยังครองเรือน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า

ดูกร ธรรมทินนะ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ใน พระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... จักเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกร ธรรมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

ธรรมทินนะกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย และข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นชัดในธรรมเหล่านั้น เพราะว่าข้าพระองค์ทั้งหลายประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่ พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ธรรมทินนะ เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ดีแล้ว โสดาปัตติผลอันท่านทั้งหลายพยากรณ์แล้ว.

จบ สูตรที่ ๓

สงสัยไหมที่ว่า เป็นไปเพื่อสมาธิ เพื่อความตั้งมั่นคงขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ได้ไหม นี่คือ โสตาปัตติยังคะ คุณธรรมของผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล

พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่เลื่อมใสโดยไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ใน พระธรรม ในพระสงฆ์ และในศีลของพระอริยเจ้า คือ ศีลที่สมบูรณ์ ศีล ๕ ไม่ขาดเลย

ไม่ใช่ทำอย่างอื่น แต่ว่าอบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไป

ข้อความบางตอนในพระสูตร อาจทำให้ท่านผู้ฟังเข้าใจผิดคิดว่า เป็นเรื่องของการเจริญฌาน แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดในหลายๆ สูตรจะเห็นได้ว่า สำหรับอริยสาวกซึ่งเป็นคฤหัสถ์และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษา คือ อบรมเจริญปัญญาต่อไปให้บรรลุคุณธรรมยิ่งขึ้นถึงความเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นันทิยสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาท เพราะอริยสาวกทั้งหลายย่อมต่างกันตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา หรือแม้ปุถุชนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยสาวกเลย ความเลื่อมใส ความศรัทธา การอบรมเจริญสติปัฏฐานของแต่ละท่านนั้น ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่แต่ละท่านสะสมมาต่างๆ กัน

บางท่านเป็นผู้ที่มีเมตตามาก สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของเมตตาได้บ่อยๆ บางท่านก็เป็นผู้ที่มีความโกรธแรงกล้า มีมานะมาก มีมัจฉริยะมาก มีโลภะมาก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านสะสมมาอย่างไร ท่านก็จะเป็นพระอริยบุคคลได้โดยปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับท่านตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ. พระโสดาบัน ในพระสูตรท่านบอกว่ามี ๓ จำพวก ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย

สุ พระโสดาบัน พวกหนึ่งเป็นเอกพีชี คือ จะเกิดอีกเพียงครั้งเดียว อีกจำพวกหนึ่ง คือ โกลังโกละ คือ จะเกิดอีก ๒ – ๓ ครั้งเท่านั้น อีกพวกหนึ่งจะเกิดอีก ๗ ชาติ ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ถ. ความต่างกันของพระโสดาบัน ๓ จำพวก เป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่ละสังโยชน์เบื้องต้น ๓ ได้เป็นสมุจเฉทเหมือนกัน

สุ ต่างกันที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ช้าหรือเร็ว ตามการสะสม

ถ. หมายความว่า คุณธรรมส่วนละเอียดทางด้านจิตใจอาจจะสูงกว่ากัน

สุ มิได้ กิเลสประเภทใดที่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ดับไปแล้ว แต่ธรรมที่ได้สะสมมาต่างกันมาก ก็แล้วแต่ว่าพระโสดาบันท่านใดสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านไม่ต้องเกิดอีกเลย หลังจากที่ได้บรรลุพระโสดาบันบุคคลแล้ว อีก ๑๕ วันท่านก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ และหลังจากที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันแล้ว อีก ๗ วัน ท่านก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

ถ. ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล จะกลับมาสู่โลกมนุษย์ไหม หรือไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ในภูมิไหน แต่ต้องในสุคติภูมิเท่านั้น

สุ ใช้คำว่า กามโลก ซึ่งรวมถึงมนุษย์และสวรรค์ เพราะว่าท่านจะไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย

ถ. ถ้าท่านเกิดเป็นมนุษย์ แต่ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม มีกล่าวไว้ไหมว่า ท่านก็จะเจริญสติของท่านต่อไปอีกได้

สุ ไม่จำเป็นต้องฟังอีกแล้ว รู้หนทางข้อปฏิบัติแล้ว เพราะเป็นพระอริยสาวกแล้ว ฟังมากแล้ว อบรมแล้ว จนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้ง ประจักษ์แจ้งถ่องแท้ในธรรม สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาจะเจริญขึ้นจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมครั้งที่ ๒ เป็นพระสกทาคามีบุคคล

ถ. เหตุใดพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานมีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน

สุ เพราะการที่จะให้จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย กระทำได้ยาก ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่มั่นคงจริงๆ และสงบยิ่งขึ้นจนเป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ลักษณะของความสงบไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นสมาธิ จดจ้องโดยปราศจากปัญญา

ถ. ทำไมพระองค์ไม่ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ พระภิกษุสงฆ์ว่า อย่าเสียเวลาทำฌาน ให้มาเจริญสติปัฏฐานดีกว่า

สุ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด ไม่อย่างนั้นก็ให้เจริญแต่สติปัฏฐาน ทานอย่าทำ ศีลอย่ามี ความสงบไม่ต้องเจริญ แต่ว่าสิ่งใดที่เป็นกุศลควรเจริญ และที่ต้องเจริญที่สุด ที่สำคัญที่สุด ที่จะดับกิเลสได้จริงๆ นั้น มีทางเดียว คือ สติปัฏฐาน

เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว กุศลธรรมประการอื่นย่อมเจริญขึ้นด้วย เพราะปัญญารู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ก็ละอกุศล เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ สติปัฏฐาน ทานก็เจริญขึ้น ศีลก็เจริญขึ้น ความสงบก็เจริญขึ้นด้วย

ถ. ต้องเจริญฌานด้วยอย่างนั้นหรือ

สุ ความสงบไม่จำเป็นต้องถึงกับขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌาน ในพระไตรปิฎกพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ภิกษุเจริญเมตตาพรหมวิหาร ไม่ต้องถึงฌาน ดีไหมเมตตาวันหนึ่งๆ เป็นกุศลใช่ไหม ทานก็ดีใช่ไหม ศีลก็ดี ทุกอย่างที่เป็นกุศลดีทั้งนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่ดี ก็ควรเจริญทั้งหมด ทำไมจะเว้น แต่ว่าที่ควรเจริญที่สุด คือ สติปัฏฐาน

ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตร ข้อความตอนท้าย ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงเคยทราบมาแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เริ่มด้วยคุณประโยชน์ของทาน ซึ่งทรงแสดงว่าสังฆทานย่อมมีผลมากกว่า แต่การสร้างวิหารถวายสงฆ์ย่อมมีผลมากกว่าสังฆทาน การที่มีจิตเลื่อมใสพระรัตนตรัยเป็นสรณะก็มีผลมากกว่าการสร้างวิหาร การสมาทานสิกขาบท คือ การรักษาศีล มีผลมากกว่าการเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การเจริญเมตตาแม้แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม คือ เพียงอึดใจเดียว ก็มีผลมากกว่าการสมาทานสิกขาบท และการที่บุคคลเจริญ อนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ ก็มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

เป็นกุศลทั้งนั้น แต่ว่าเป็นกุศลที่ยิ่งขึ้น ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ก็จะเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ มานะ มัจฉริยะ อิสสา ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายจะถูกขัดเกลาได้อย่างไรถ้าไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการ

ไม่ได้กล่าวว่า ให้เจริญเมตตาถึงขั้นฌาน เพราะเพียงเวลาสูดดมของหอม เพียงชั่วเวลาสูดดมของหอม เพียงอึดใจเดียว เพียงชั่วขณะที่จะเกิดได้ ก็เป็นกุศลแล้ว แต่ว่าการเจริญอนิจจสัญญา การที่ประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น มีผลมากกว่าการเจริญเมตตา

บังคับใจใครให้เป็นสติปัฏฐานตลอดเวลาได้ไหม ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นประโยชน์มหาศาล แต่สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะอกุศลยังมีกำลังมากมาย เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลายจะบรรเทาอกุศลให้เบาบาง และสติปัฏฐานก็อบรมเจริญขึ้น เพราะการเจริญกุศลประการอื่นเป็นปัจจัย ถ้าไม่เจริญกุศลเสียเลย คิดแต่เพียงที่จะเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ผู้ฟัง การปฏิบัติ ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงนั้นมีประโยชน์มาก แต่ว่าโมหะก็มีกำลังมากเหลือเกินเหมือนกัน

สุ ต้องรู้ตามความเป็นจริง โมหะมากก็มาก และโมหะคือขณะไหน ก็คือกำลังเห็นแล้วไม่รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพของจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา เมื่อใดปัญญาเจริญขึ้น โมหะหรืออวิชชาน้อยลง และปัญญาที่คมกล้าประจักษ์แจ้งในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อนั้นก็จะรู้ได้ว่า โมหะหรืออวิชชานี้น้อยลงไปตามขั้นของปัญญาที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริง ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงสำหรับผู้ที่มีโมหะมากยังน้อยอยู่ ก็รู้ตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจผิดว่า มีปัญญามากแล้ว ไม่มีโมหะเลย นั่นผิด ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะละโมหะ ขณะนี้กำลังเห็น รู้ว่าเป็นโมหะที่ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การรู้อย่างนี้จะเป็นปัจจัยให้ระลึกศึกษาจนกว่าปัญญาจะคมกล้า

การที่จะรู้สัจธรรม ไม่ใช่รู้สิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริง ตามปกติอย่างนี้เอง และปัญญาที่คมกล้าก็จะประจักษ์ในสภาพที่เป็นธรรม ธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ ปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรมได้

สำหรับข้อความในพระไตรปิฎกบางตอน ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเข้าใจผิดคิดว่า พระผู้มีพระภาคให้พระอริยสาวกเจริญฌาน แต่ถ้าอ่านโดยละเอียด โดยตลอดประกอบกับพระสูตรอื่นๆ ก็จะเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้ พระอริยสาวกทั้งหลายบรรลุคุณธรรมขั้นสูงขึ้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์

ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นันทิยสูตร ข้อ ๑๕๙๙ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาท มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใดไม่มีโสตาปัตติยังคธรรม ๔ ประการ โดยประการทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อ อริยสาวกนั้นหรือหนอที่พระองค์ตรัสเรียกว่า อยู่ด้วยความประมาท

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นันทิยะ อริยสาวกใดไม่มีโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เราเรียกอริยสาวกนั้นว่า เป็นคนภายนอก ตั้งอยู่ในฝ่ายปุถุชน อนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท และอยู่ด้วยความไม่ประมาทโดยวิธีใด ท่านจงฟังวิธีนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

นันทิยศากยะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร นันทิยะ ก็อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างไร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้จำแนกธรรม และคุณธรรมประการอื่นๆ

อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่อ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิย่อมอยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีความทุกข์ย่อมไม่เป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความประมาท

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ ... โดยนัยเดียวกัน

ฟังดูเผินๆ คิดถึงสมาธิแล้ว ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริงของผู้ที่เป็นพระอริยสาวกที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน ความสงัดในกลางวันนี่จะทำอย่างไร ความหลีกเร้นในกลางคืนจะทำอย่างไร

ตอนท้ายของพระสูตร ทรงแสดงถึงพระอริยสาวกผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร นันทิยะ ก็อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้นยังไม่พอใจด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน พระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกนั้นยังไม่พอใจด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว พยายามให้ยิ่งขึ้นไปเพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติกายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท

ดูกร นันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้แล.

จบ สูตรที่ ๑๐

เปิด  252
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566