แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 754

สำหรับผู้ที่อยู่ด้วยความประมาท พอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ก็ไม่พยายามให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน ขอให้พิจารณาพยัญชนะที่ว่า เพื่อความสงัดในกลางวัน ทำอย่างไรที่ว่าจะสงัดในกลางวัน ออกไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆ ไม่สงบเลย อย่างนั้นจะชื่อว่าสงัดไหม

เพราะฉะนั้น ในกลางวันชีวิตของอริยสาวกทั้งหลายก็เป็นปกติ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ใครเป็นพระอริยสาวก ใครเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางที่จะรู้เลย เพราะว่าท่านไม่ประกาศคุณธรรมของท่าน ถ้าท่านยังเป็นผู้ที่ครองเรือนอยู่ ท่านก็มีชีวิตปกติธรรมดา แต่ว่าเป็นผู้สงัดในเวลากลางวัน คือ เป็นผู้สงบจากกิเลส

เวลาที่ท่านพบบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชีวิตประจำวันของท่าน สำหรับปุถุชนย่อมเต็มไปด้วยความรักหรือความชัง ความโลภหรือความโกรธ หรือมีมานะ หรือมีความริษยา หรือมีความตระหนี่ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้ที่ไม่สงัดในเวลากลางวัน เพราะไม่สงบจากกิเลส แต่ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เช่นก่อนที่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระอริยเจ้าซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน ไม่ต่างกับผู้ที่เป็นปุถุชนในอาการที่ปรากฏภายนอก แต่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล แม้ว่ายังมีโลภะหรือโทสะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ว่าสติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ทำให้ท่านสงบมากกว่าบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอริยสาวก เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่สงบในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกขณะไป

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สำหรับพระอริยสาวกซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ด้วยความประมาทนั้น พอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า เพราะท่านรู้ว่าคุณธรรมนี้ของท่านมี ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าของท่านคลอนแคลนได้เลย เพราะท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงด้วยตัวของท่านเอง แต่ว่าชีวิตของพระอริยสาวกบางท่านก็สะสมมาที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรื่นเริง ความยินดี ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินต่างๆ ซึ่งถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นบ่อยๆ เนืองๆ อริยสาวกท่านนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพราะความสงัดนั้น คือ ความสงบ

เวลากลางวันที่ท่านจะต้องรับประทานอาหาร จะต้องพบบุคคลมากหน้าหลายตา วิสาขามหาอุบาสิกาท่านก็มีธุรกิจของท่าน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านก็เป็นคฤหบดี พ่อค้า ซึ่งจะต้องทำกิจการงาน มีการขาดทุนอย่างมาก หรือว่าได้กำไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตของท่านขณะนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ตามวิถีชีวิตของท่าน และไม่พยายามให้ยิ่งขึ้น คือ สงบ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม พระอริยสาวกนั้นก็เป็นผู้ที่อยู่ด้วยความประมาท นี่ก็เป็นชีวิตจริงๆ ประจำวัน ในกลางวัน

เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน

ตอนกลางคืน มีใครวุ่นวายอย่างนี้บ้างไหม ไปรับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง กับญาติมิตร สังคมต่างๆ ในวิถีชีวิตของแต่ละคนตามปกติ กลางวันกับกลางคืนเหมือนกันไหม ตอนกลางคืนพักผ่อนหลับนอน หมดธุรกิจ หมดเรื่องสังคม หมดเรื่องการติดต่อ ฉะนั้น วิถีชีวิตกลางวันกับกลางคืนย่อมต่างกัน

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่พระอริยสาวก ชีวิตตามความเป็นจริงของทุกท่าน กลางวัน วิถีชีวิตเป็นอย่างหนึ่ง สงบได้ถ้ากุศลจิตเกิด กลางคืน วิถีชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หลีกเร้นได้ หมายความว่าอย่างไร กลางคืนแล้ว จะต้องหลีกเร้นอะไรอีก ซึ่งความจริงก็ดูเหมือนกับว่าจะหลีกเร้นอยู่แล้วใช่ไหม ช่วงเวลาของกลางคืน เป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนบ้าง หรือว่าอยู่ในบ้านบ้างเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสว่า ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวกซึ่งอยู่ด้วยความประมาท

ความหมายของหลีกเร้น มีอธิบายไว้ในพระสูตร ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฏิลีนสูตร มีข้อความที่กล่าวถึง การหลีกออกเร้นอยู่ ว่า

อรรถ คือ ความหมาย ของหลีกออกเร้นอยู่ คือ การละกิเลสเป็นลำดับจนถึงพระอรหันต์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่อย่างนี้แล

เพราะฉะนั้น ความหมายของหลีก หรือหลีกออกเร้นอยู่ คือ หลีกออกจากโลกของความไม่รู้ โลกของตัวตน หรือว่าโลกที่คลุกเคล้าด้วยกิเลส

หลีกออกจากความไม่รู้นี่ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเวลากลางวัน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าเป็นธุรกิจการงาน ก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งสติตามระลึกรู้ได้ในลักษณะของสภาพธรรมในแต่ละวัน แต่พอถึงตอนกลางคืน สภาพธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนั้นพร้อมด้วยความมั่นคง ปรากฏลักษณะของความสงบซึ่งเป็นสมาธิ ขณะนั้นออกจากโลกของความไม่รู้สภาพธรรมยิ่งขึ้น

ผู้ฟัง สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน ตอนเจริญใหม่ๆ จะมีสติระลึกได้น้อยครั้งเหลือเกินสำหรับเวลากลางวัน เมื่อหมดธุรกิจแล้วจริงๆ เวลากลางคืนก็รู้สึกว่ามีสติเพิ่มขึ้น

สุ แต่ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเฉพาะในเวลากลางคืน ต้องประกอบกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวลาที่หลีกออกเร้นอยู่จากโลกของตัวตน จากโลกของอวิชชา ความไม่รู้สภาพธรรมในตอนกลางคืน ปัญญาที่ปรากฏในขณะนั้น จะทำให้เห็นชัดว่า เป็นการหลีกออกจากความไม่รู้และโลกของตัวตน

ผู้ฟัง ขณะที่เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ สติยังอ่อน ปัญญาก็ยังไม่คมกล้า กลางวันขณะที่ทำธุรกิจการงาน หรือเกี่ยวข้องกับใครมากมาย สติก็ไม่ค่อยมีกำลัง คือไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นสัปปายะกับสติ แต่เวลากลางคืนรู้สึกว่าเป็นอิสระ ไม่มีธุรกิจอะไรมาก รู้สึกมีสติเพิ่มขึ้น

สุ ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้อริยสาวกทั้งหลายเจริญกุศลทั้งกลางวันและกลางคืน จุดประสงค์ คือ ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ว่ากลางวันจะมีธุรกิจวุ่นวายมากมายในชีวิตประจำวัน ก็เป็นผู้สงบได้ คือ เป็นผู้สงัดในกลางวัน และเป็นผู้ที่หลีกออกเร้นอยู่ หรือว่าหลีกเร้นในเวลากลางคืน

ข้อสำคัญคือ อย่าเข้าใจผิดคิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมจะมีได้แต่เฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ตามความเป็นจริงในชีวิตของท่าน ในเวลากลางวัน สติที่เกิดจะเป็นไปในเรื่องของความสงัดในกลางวัน คือ สงบด้วยกุศลพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ในเวลากลางคืน ที่สงัดนั้น ก็สงัดแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดในขณะนั้น ก็หลีกเร้นออกจากโลกของความไม่รู้ยิ่งขึ้น แต่ว่าต้องเจริญทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งไม่มีใครจะสามารถรู้ได้ว่า จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเวลากลางวัน หรือว่ากลางคืน หรือว่า ในขณะหนึ่งขณะใด

ถ. อย่างท่านอนาถบิณฑิกะและท่านวิสาขา ท่านวิสาขาไปอยู่นิมมานรดี ท่านอนาถบิณฑิกะไปอยู่ดุสิต ถ้าพูดถึงการกระทำ ท่านอนาถบิณฑิกะท่านสร้าง พระวิหารเชตวัน และให้ทานจนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัวจนต้องใช้ข้าวปลายเกวียนใส่บาตร ส่วนท่านวิสาขาไม่ปรากฏว่ายากจน แต่พอตายไปได้ไปนินมานรดี สูงกว่า ส่วนท่านอนาถบิณฑิกะอยู่ที่ดุสิต

สุ ท่านผู้ฟังลองเลือก อยากจะอยู่ในภูมิไหน นิมมานรดี หรือดุสิต ก็มีผู้ฟังบางท่านเลือกดุสิต ถึงแม้ว่าจะรู้ว่านิมมานรดีนั้นสูงกว่า เพียบพร้อมด้วยสุขของกามคุณยิ่งกว่าดุสิต แต่ถึงกระนั้นท่านก็ไม่มีฉันทะในการที่จะเกิดในนิมมานรดี

ผู้ฟัง พูดถึงตัวผม เกิดเป็นมนุษย์พอมีพอกินก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปไหน แต่อยู่แล้วไม่ค่อยจะพอกิน นี่สำคัญ มนุษย์นี่ดีแล้ว มีอะไรๆ หลายอย่างที่น่าอยู่ คือ ยังไม่เจ็บไข้ก็ไม่อยากถึงนิพพาน แต่ถ้าไม่สบาย อยากไปนิพพาน

สุ ลืมสวรรค์แล้วหรือว่า ในสวรรค์ไม่มีทุกขกายวิญญาณ ไม่มีการป่วยไข้ ไม่มีการเจ็บกาย ทำไมไปนึกถึงแต่นิพพานเวลาเจ็บไข้ ทำไมไม่นึกถึงสวรรค์

ผู้ฟัง ขึ้นไปแล้ว เดี๋ยวต้องกลับมาเจ็บป่วยอีก

ถ. อย่างพระยามารที่คอยประทุษร้ายพระพุทธเจ้า อยู่ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นเทวดาต้องเป็นผลของบุญกุศลไม่ใช่หรือ

สุ ต้องเป็นผลของบุญแน่ ใครจะรู้ว่า ผู้ใดทำบุญไว้มากมายสำหรับชาติต่อไปจะไปเกิดในดาวดึงส์ หรือยามา หรือดุสิต หรือนิมมานรดี หรือปรนิมมิตวสวัตตี หรือว่าในอบายภูมิ

ถ. ในอรรถกถากล่าวว่า ต่อไปพระยามารจะเป็นพระพุทธเจ้า

สุ ไม่มีใครรู้แน่ในผลบุญที่ได้กระทำไว้แล้วว่า กรรมใดจะให้ผล ถ้าเป็นกุศลกรรมที่มีกำลังมาก ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ได้

เมื่อสักครู่ท่านผู้ฟังกล่าวถึงว่า ตอนกลางวันสติไม่ค่อยมีกำลังใช่ไหม

ผู้ฟัง ดิฉันหมายถึงตอนเจริญสติใหม่ๆ แต่เมื่อเจริญสติมานานพอสมควรแล้ว ก็เจริญได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

สุ ท่านผู้ฟังควรจะเข้าใจความหมายของปัญญาพละ และสติพละให้ถูกต้องด้วย ที่ท่านกล่าวว่า สติมีกำลัง ปัญญามีกำลัง หรือว่าสติไม่มีกำลัง ปัญญาไม่มีกำลังนั้น หมายถึงอะไร หมายความว่าอย่างไร

โดยมากท่านจะนึกถึงขณะที่สติกำลังระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมแน่วแน่ มั่นคง จึงกล่าวว่า เป็นสติที่มีกำลัง

แต่ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีคำว่า อินทรีย์ และพละ ซึ่งเป็นธรรมในหมวดของโพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมที่เป็นไปในการตรัสรู้อริยสัจธรรม

สำหรับลักษณะของอินทรีย์นั้น คือ สภาพความเป็นใหญ่ เวลาที่สติเกิดขึ้น เป็นอินทรีย์ คือ เป็นใหญ่กว่าอกุศล เพราะถ้าไม่มีลักษณะของความเป็นใหญ่ สติย่อมเกิดไม่ได้ ในวันหนึ่งๆ อกุศลมีกำลังมาก เกิดบ่อยๆ เพราะว่ามีปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้น สภาพลักษณะของสติเป็นอินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ จึงเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ในขณะนั้น และก็ศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้นตามความเป็นจริง นั่นคือ สตินทรีย์ ลักษณะที่เป็นอินทรีย์ของสติ

แต่เมื่อเจริญขึ้นๆ สติและปัญญาเป็นพละ เพราะว่ามีความชำนาญ สามารถที่จะมีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมละเอียดอย่างไร ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงถึงการอบรมสติและปัญญาที่ทำให้สติและปัญญานี้มีกำลังขึ้น โดยที่ไม่ว่าขณะนั้นเห็นอะไรสติก็ระลึกได้ ปัญญารู้ได้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดความพอใจหรือไม่พอใจอย่างไร สติซึ่งมีกำลังและปัญญาซึ่งมีกำลังเป็นพละ สามารถที่จะมีกำลังเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมและรูปธรรมที่ละเอียดทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลอย่างไร สติพละและปัญญาพละที่ได้อบรมแล้ว ก็สามารถเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง มีความสนใจในคำว่า คณะศึกษาธรรม คือ ไม่ทราบว่า หมายความว่าอย่างไร และหมายความถึงใคร

ขอเรียนให้ทราบว่า ที่ใช้คำว่า คณะศึกษาธรรม เพราะว่าไม่ประสงค์ที่จะให้เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ว่าเป็นทุกท่านที่มีความสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม และส่งเสริมในการเผยแพร่พระธรรม ซึ่งคณะศึกษาธรรมนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะคนไทย แต่มีชาวต่างประเทศด้วย สำหรับชาวต่างประเทศดิฉันจะสนทนาธรรมด้วยทุกวันพุธ ที่วัดบวร ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงจนถึงเวลาห้าโมงเย็น

ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่สนใจจริงๆ ในการศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทั้งอุบาสก อุบาสิกา และพระภิกษุ ท่านเหล่านี้ได้กระทำกิจเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ประเทศของท่าน เช่น ในประเทศออสเตรเลียก็มีคณะศึกษาธรรม ซึ่งใช้คำภาษาอังกฤษว่า Dhamma Study Group และเมื่อปีก่อนได้จัดพิมพ์การตอบปัญหาธรรมที่ศิริราช ที่เคยพิมพ์เป็นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ทางออสเตรเลียก็ขอพิมพ์เฉพาะภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ก็มีอุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุ สามเณรชาวต่างประเทศที่ได้สนใจและได้เผยแพร่ธรรม ไม่เฉพาะแต่ที่เมืองไทย แม้แต่ประเทศอื่น เช่น ที่ประเทศศรีลังกา

เมื่อปีก่อนท่านผู้ฟังคงจำได้ว่า ดิฉันได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาธรรมที่ประเทศ ศรีลังกา ซึ่งการที่ศรีลังกาเชิญมานี้ ในขณะนั้นทางศรีลังกาก็ยังไม่รู้จักดิฉันเลยว่า เป็นผู้ที่มีความสนใจและได้กระทำกิจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่เมืองไทย แต่ท่านพระภิกษุธัมมธโร ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ซึ่งคณะศึกษาธรรมได้นิมนต์ให้ไปที่ศรีลังกาด้วย และเวลาที่ดิฉันกลับมาที่เมืองไทย ท่านก็ยังกระทำกิจเผยแพร่พระศาสนาอยู่ที่ประเทศศรีลังกาต่อไป ท่านเป็นผู้ที่แนะนำชาวศรีลังกาให้เห็นว่า ควรจะได้มีการสัมมนาธรรมที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งทางโน้นก็เห็นด้วย และได้เชิญมาโดยตรง เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่จะร่วมในการสัมมนาธรรมให้ได้ประโยชน์ผู้หนึ่ง

ขณะนี้ท่านธัมมธโรซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ได้กลับจากประเทศศรีลังกาแล้ว และขณะนี้ท่านสนใจศึกษาภาษาบาลี การศึกษาภาษาบาลีมี ๒ อย่าง คือ ศึกษาภาษาบาลีไวยากรณ์ใหญ่ อีกอย่างหนึ่งไม่ทราบว่าเรียกอะไร เรียกไวยากรณ์น้อย โดยทั่วไปการศึกษาภาษาบาลีในยุคนี้สมัยนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเดิม ซึ่งสมัยเดิมศึกษาโดยบาลีไวยากรณ์ใหญ่ การศึกษาก็ยากกว่า กว้างขวางกว่า มีหลักที่แน่นมาก เวลานี้เท่าที่ทราบ มีการศึกษาบาลีไวยากรณ์ใหญ่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง โดยพระภิกษุพม่า ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะจำได้ว่า คณะศึกษาธรรมท่านหนึ่งที่ท่านเป็นผู้ที่มักจะถามปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทางบ้านบ่อยๆ

ขอเล่าถึงเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย เพื่อที่จะได้ทราบถึงชีวิตความเป็นมาของคณะศึกษาธรรม หรือว่าอุบาสก อุบาสิกาที่มีความสนใจในธรรม

วันหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังนั่งฟังแนวทางเจริญวิปัสสนาอยู่ที่นี่ บุตรชายของท่านได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกิดความเศร้าใจอย่างมาก เพราะฉะนั้น ท่านก็ใคร่ที่จะกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุตรชาย ท่านก็ไปที่จังหวัดลำปาง คิดว่าท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินจากคำบอกเล่าของท่านเองแล้วว่า ท่านไปแสวงหาวัด ซึ่งท่านอยากจะได้วัดที่มีทั้งการศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อที่จะได้สร้างกุฏิถวาย และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุตรชายของท่าน ขอเชิญท่านเล่าเองตอนนี้

เปิด  276
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566