แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 756

ถ. ทำไมหลวงพี่สามารถฟังอาจารย์สุจินต์เข้าใจ และปฏิบัติได้ถูกต้อง ก่อนฟังอาจารย์สุจินต์เคยฟังของสำนักอื่นบ้างหรือเปล่า ปฏิบัติมาแล้วหรือยัง

ธัม. ไม่ได้ฟังคุณสุจินต์ ไม่ได้ฟังคน แต่ฟังเหตุผล ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุผลก็ไม่น่าฟัง เมื่อฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ประกอบด้วยเหตุผลมากน้อยเท่าไร นี่สำคัญ

ถ. การปฏิบัติ ครั้งแรกท่านพิสูจน์ได้ทางทวารไหน ที่ว่าเป็นนามเป็นรูป เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

ธัม. สติจะเกิดขึ้นทางไหน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครรู้ ตอนต้นๆ สติเกิด แต่อ่อนมาก ปัญญาก็ยิ่งอ่อน ตอนต้นๆ ทุกคนที่เริ่มต้น ทั้งสติและปัญญาต้องอ่อนมาก เกิดเป็นครั้งเป็นคราว อาทิตย์หนึ่งอาจไม่เกิด เดือนหนึ่งอาจไม่เกิด เพราะเป็นผู้เริ่มต้น และเกิดแล้วกี่ขณะก็ไม่รู้ อารมณ์อะไรที่สติรู้ในขณะนั้นก็เข้าใจยาก ถ้าเป็นตอนเริ่มต้น นามรูปไม่ชัด แต่จะค่อยๆ ชัดด้วยขันติ ด้วยความไม่เบื่อที่จะเจริญต่อไป

ถ. ผู้ที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง สำหรับชาวต่างประทศแล้วไม่ใช่ง่าย เป็นเรื่องธรรมดาจริง แต่แสนยาก หนังสือที่อาจารย์แจก คำพูดธรรมดาเหลือเกิน แต่ว่าทุกคำนั้นลึกซึ้งและเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมทั้งนั้น

ธัม. อาตมาเกิดศรัทธาที่จะฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนามากที่สุด เท่าที่จะมากได้

ถ. ที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนานี้ ท่านเริ่มด้วยสมถะก่อนหรือไม่

ธัม. คำถามดี สมถะมีหลายขั้น ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล มักจะเป็นสมถะ ถ้าไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะจิตสงบในขณะนั้น

ถ. สมถกัมมัฏฐานมี ๔๐ ท่านได้ใช่วิธีอานาปานสติหรือไม่

ธัม. อาตมาสะสมมาที่จะสนใจในเรื่องการละกิเลสมากกว่าเรื่องอื่นๆ เรื่องสมถะไม่ใช่เรื่องการละกิเลส เพราะฉะนั้น ตั้งแต่อาตมาพบพระธรรม ไม่ค่อยสนใจในเรื่องสมถะเท่ากับเรื่องวิปัสสนา สมถะกับวิปัสสนาเป็นคนละเรื่องทีเดียว อารมณ์ต่างกัน จุดประสงค์ต่างกัน วิธีเจริญต่างกัน

ถ. ท่านเริ่มต้นฝึกสติอย่างไร

ธัม. จุดประสงค์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ ปัญญา ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น จิตสงบในขณะนั้น

ถ. ปัญญาที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าสติเกิดไม่ทัน บางครั้งทุกขเวทนาก็เกิดขึ้น ขอเรียนถามว่า การฝึกสติให้ระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมนั้น ท่านทำอย่างไร

ธัม. โยมสนใจในเรื่องทุกขเวทนาใช่ไหม ที่ถามว่าสติเกิดไม่ทันทุกขเวทนา

ถ. ตอนแรกที่สนใจพระพุทธศาสนา คือ สนใจคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล และฉลาดก็สนใจ ทีนี้ก็เริ่มปฏิบัติในเรื่องสมถะ ก็ได้รับความสงบจริงตามที่ได้บอกไว้เป็นขั้นตอน เมื่อมาพิจารณาเรื่องวิปัสสนา พบว่าสติเกิดไม่ทัน

ธัม. สติไม่ทัน หมายความว่าอย่างไร ไม่ทัน

ถ. ไม่ทันในปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้น ที่มากระทบ

ธัม. จุดประสงค์เป็นอย่างไร ที่สติไม่ทัน

ถ. สมมติว่า ขณะที่เราเดิน แรกๆ ยังไม่ได้ทำวิปัสสนา ฝึกสติก่อนว่า ขณะนี้กำลังเดินอยู่ ก้าวเท้าซ้าย ขวา เท่านี้ก่อน

ธัม. เท่านี้ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

ถ. ยังไม่เป็น หมายความว่ายังไม่ได้พิจารณาสติปัฏฐาน ยังไม่ได้เห็นกายในกาย ได้เคยทดลองจากอาปานสติ ไม่ได้จับอยู่ที่ลมกระทบ แต่พิจารณาลมว่า รูปนาม นั่นเป็นกายในกายใช่ไหม

ธัม. ลมมีอยู่ในขณะนี้ใช่ไหม อาจจะปรากฏ หรือไม่ปรากฏก็ได้ แต่อย่าง

อื่นที่กายปรากฏบ้างไหม เย็นบ้างไหม หรือร้อนบ้างไหม หรือว่าแข็งหรืออ่อนบ้างไหม

ถ. ไปพิจารณาธาตุ ๔ หรือ

ธัม. แต่ปรากฏที่กายหรือเปล่า

ถ. ปรากฏ แต่ยังไม่ได้พิจารณาในวิปัสสนา ต้องเริ่มด้วยการฝึกสติ ถูกต้องไหม ให้สติเกิดทัน

ธัม. ลักษณะของสติ ยากที่จะรู้ ทุกครั้งที่กุศลจิตเกิด สติเกิดในขณะนั้น เป็นสติแต่ละขั้น

ถ. กรุณาเล่าว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร

ธัม. เรื่องที่อาตมากำลังเล่า เป็นเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ถ. ท่านทำอย่างไร

ธัม. ไม่ใช่เรื่องท่าน ไม่ใช่เรื่องการทำ แต่เป็นเรื่องของธรรมซึ่งไม่ใช่อาตมา ไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรื่องการทำ ไม่ใช่เรื่องการว่า ไม่ใช่เรื่องการคิด แต่เป็นเรื่องการพิจารณาศึกษาธรรมที่ปรากฏเพราะสติระลึกในขณะนั้น จึงมีโอกาสที่จะศึกษาธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้

ถ้าสติไม่เกิด ก็ลืม เป็นธรรมดา ลืมที่จะพิจารณา หรืออาจจะเข้าใจว่า ไม่ลืมก็ได้ แต่ถ้าในขณะนั้นไม่พิจารณาก็เท่ากับลืม เพราะว่าต้องเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่าต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่พิจารณาการเดิน เพราะว่าการเดินนั้นตามความเป็นจริงไม่มีเลย ลักษณะการเดินไม่ได้ปรากฏที่กาย ที่จะปรากฏทางกายได้ มีแต่แข็งกับอ่อน เป็นต้น ไม่ใช่ว่ามีอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่าการเดิน และที่ปรากฏทางใจได้ก็มีหลายอย่าง แต่การเดินก็ไม่มีอยู่ในลักษณะนั้น

เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่องสภาพธรรมว่ามีอยู่กี่ชนิด มีลักษณะอย่างไรบ้าง ไม่ใช่พิจารณาตามใจอย่างไรก็ได้ คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น

ถ. ต้องเริ่มด้วยปริยัติ

ธัม. แน่นอนที่สุด คุณโยม เพราะคนที่ไม่เข้าใจปริยัติถูกต้อง หมายความว่า เข้าใจปริยัติผิดพลาด ซึ่งการเข้าใจปริยัติที่ผิดพลาด จะเป็นบาทของการปฏิบัติถูกต้องไม่ได้เลย

ถ. ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาตามปริยัติที่เล่าเรียนหรือศึกษามานี้ มีวิธีการอย่างไรที่สติจะเกิดทันกับปัญญา มิฉะนั้นแล้ว ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาก็พิจารณาไม่ทัน

ธัม. ถ้าสติเกิดในขณะนี้ ทันไหม คุณโยม ทันหรือเปล่า หรือว่าคิดถึงเฉพาะเวลาที่ทุกขเวทนาเกิด อยากให้ทันเฉพาะทุกขเวทนา หรือว่าอยากให้ทันเฉพาะบางรูปบางนามที่ไม่ค่อยพอใจ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของการเจริญวิปัสสนาแต่แสดงว่า จุดประสงค์ คือ ความสงบ ไม่ใช่ความรู้ ถ้าจะเลือกอารมณ์เฉพาะบางอารมณ์

ถ. สงบผ่านไปแล้ว แต่ถ้าทำวิปัสสนา ไม่สงบ

ธัม. โยมอาจจะเข้าใจว่า เรื่องสมถะผ่านไปแล้ว แต่ว่าตลอดชีวิตยังไม่จบเรื่องนี้ทุกคนสนใจมาก อยากจะสงบ แต่อยากจะสงบจากโทสะมากกว่า

ถ. การทำวิปัสสนา จุดประสงค์เพื่อมุ่งละกิเลสทีละตัวให้เบาบางลง

ธัม. นั่นเป็นขณะที่ปัญญาเกิด ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นก็เข้าใจอย่างนั้น และขณะต่อไปที่ปัญญาไม่เกิด ก็เข้าใจอย่างอื่นไป เข้าใจว่าอยากจะพ้นจาก...

ถ. ยังพ้นไม่ได้

ธัม. แต่อยากจะพ้น จะพ้นเร็วไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกคนไม่ชอบทุกขเวทนา โทมนัสเวทนา หาวิธีที่จะแก้ เป็นเรื่องปกติ คนที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ไม่ต่างกับคนอื่น คนที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็สนใจในเรื่องความสงบมากด้วย และโดยมากอยากจะให้จิตสงบเกิดขึ้นมากกว่า เพราะเป็นผู้เริ่มต้น ยังไม่ค่อยเข้าใจค่าของสติ อาจจะเข้าใจว่าเข้าใจดีแล้ว แต่ความจริงเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ค่าของสติ หรือสนใจในเรื่องความสงบมากกว่า

ถ. ก็เข้าใจอยู่แล้วว่าคนละอย่าง สมถะกับวิปัสสนา

ธัม. ถ้าเข้าใจถูกต้องก็ไม่มีปัญหา

ถ. คนละวิธี สมถะตัดทิ้งไป พูดถึงวิปัสสนา วิปัสสนานี้สิ่งที่จะได้รับ คือ ญาณ หรือปัญญา ที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาธรรมนั้น เรียนถามว่า แรกๆ รู้รูปรู้นาม ถ้าสติเกิดไม่ทันจะให้ทำอย่างไร บางทีผ่านไปแล้ว เช่น ปัจจุบันธรรมนั้นผ่านไป

ธัม. ไม่ค่อยเข้าใจคำว่า สติเกิดไม่ทัน หมายความว่าอย่างไร ไม่ทันอะไร

ถ. ไม่ทันในนามรูปปัจจุบันที่เกิดขึ้น ที่เกิดอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าบางครั้งเผลอสติ ไม่สามารถที่จะรับได้ บางทีผ่านไปแล้ว เราจึงระลึกได้ว่า ที่จริงตอนนั้นก็เกิดอยู่ แต่เราก็รับอารมณ์นั้นไม่ทัน

ธัม. คิดว่าคำถามของโยมเท่ากับคำถามว่า สติเกิดไม่บ่อย ทำไมเกิดไม่บ่อย คุณโยมอาจจะคิดว่า จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว เพราะสติปัฏฐานเป็นกุศลที่สูงสุด ซึ่งถ้าเจริญสติปัฏฐานได้สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องละกิเลสแน่ บางทีอาจจะเข้าใจถูกบ้าง เข้าใจผิดบ้างว่า จะเจริญสติปัฏฐาน แต่เรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าสติปัฏฐานมีกำลังมาก อาจจะเข้าใจว่า ปล่อยชีวิตให้เป็นไปเหมือนเดิมทุกอย่างๆ จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว กุศลอย่างอื่นไม่เป็นไร ไม่สนใจ

ซึ่งการคิดอย่างนี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าการที่จะเจริญสตินั้น ในขณะที่สติไม่เกิด ก็สะสมกิเลสไปมากมาย ไม่เป็นเหตุปัจจัยอุปการะให้สติและปัญญาเจริญขึ้นมีกำลังที่จะละกิเลสได้ เพราะทุกขณะอื่นๆ ไม่สนใจ ไม่มีฉันทะที่จะเจริญกุศล เพราะฉะนั้น คนที่ค่อยๆ รู้สึกตัวด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นกิเลสมากมาย น่ากลัวจริงๆ หลายประเภท

เดี๋ยวนี้มีไหม อาจจะไม่พอใจในคำตอบของอาตมาก็ได้ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง อาจจะร้อนเกินไป ไม่ชอบ นิดหน่อยไม่มาก แต่ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง รู้สึกอย่างไรในขณะนี้ มีโทมนัสนิดหน่อยไหม นิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นกิเลส ไม่ต้องพูดถึงโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิตที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้กิเลสที่หยาบบางทียังไม่เห็นเลย พูดไม่ดี สติไม่เกิด ไม่ต้องพูดถึงสติปัฏฐาน คือ ไม่รู้สึกตัวเลย ไม่เห็นว่าทำอะไรผิด ไม่เห็นว่าทำคนอื่นเจ็บ

เพราะฉะนั้น ผลของสติ คือ ค่อยๆ รู้ตัว เห็นกิเลส นี่เป็นผลอย่างหนึ่ง และเมื่อเห็นกิเลสว่ามีมากๆ ก็เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเจริญกุศลทุกประเภทให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ละโอกาส รู้ตัวดีแล้วว่าสติเกิดไม่บ่อย ขณะที่สติไม่เกิด ทำอย่างไรดี ก็น่าจะเจริญกุศลประเภทอื่นๆ ไม่ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะขณะที่กุศลไม่เกิด อกุศลต้องเกิดสะสมไปเรื่อยๆ

การเจริญกุศลมีหลายอย่าง และที่สำคัญมาก คือ การศึกษาธรรม ฟังธรรม คุณโยมที่นั่งฟังที่นี่วันอาทิตย์ ไม่ทราบว่าวันอื่นๆ หาโอกาสที่จะฟังธรรม หรือว่าศึกษาพระไตรปิฎกบ้างไหม เรื่องที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมีประโยชน์มากๆ แต่ต้องเก่งในการอ่าน ไม่ใช่ว่าอ่านผ่านๆ หาข้อความที่ประทับใจ ตรงนี้เคยอ่านมาแล้ว หาอะไรที่ไม่เคยอ่าน ที่ใหม่ๆ ที่แปลกๆ อย่างนี้ไม่มีประโยชน์

ต้องพิจารณาข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก พิจารณาจริงๆ เพราะถ้าพระพุทธเจ้าพูดถึงความโกรธ และเราคิดว่า เราไม่เป็นคนโกรธ ไม่อ่านข้อความนี้ และไปหาข้อความอื่นๆ ซึ่งก็น่าคิดว่า ความโกรธเราไม่มีเลยจริงหรือ เพราะเราอาจจะเข้าใจว่า ความโกรธเป็นกิเลสอย่างหยาบๆ เราไม่มีถึงขั้นที่จะเรียกว่าความโกรธ ไม่แช่มชื่นก็มี แต่ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนโกรธ

ข้อความนี้น่าพิจารณาจริงๆ ต้องคิดดีๆ พิจารณาชีวิตของตนเอง ความโกรธมีลักษณะอย่างไรรู้ไหม ความโกรธต่างกับโทสมูลจิตลักษณะอื่นๆ อย่างไร เช่น ที่เรียกว่าความไม่แช่มชื่น เป็นต้น

ภาษาไทยอาตมารู้น้อย แต่ถ้าเหมือนกับภาษาอังกฤษ สำหรับลักษณะของโทสะคงมีหลายคำมากมายทีเดียว แต่ละขั้นแต่ละอย่างว่าเป็นลักษณะความโกรธอย่างไร ต้องคิด ถ้าอ่านแล้วพิจารณาข้อความ ที่นี่ ที่ตัวเรา ชีวิตของเรา จะค่อยๆ เห็นประโยชน์ของข้อความในพระไตรปิฎกทุกๆ ข้อ ไม่เว้น ไม่ใช่คิดว่า คำบางคำไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะว่าทุกคำเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นคำสอนของคนธรรมดา ที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง

ถ้าศึกษาธรรมจริงๆ ไม่ใช่อ่านเผินๆ แต่อ่านดีๆ อ่านบ่อยๆ สนทนากับเพื่อนที่สนใจ อย่างนี้จะมีประโยชน์มาก และจะเกื้อกูลอุปการะแก่การเจริญสติ ขี้เกียจไม่ได้ในกุศล ต้องเอาใจใส่จริงๆ

รู้สึกว่าเหตุที่สติเกิดไม่บ่อย เพราะขี้เกียจก็ได้ ขี้เกียจที่จะเจริญกุศลทุกๆ ประเภท ไม่เลือก

เปิด  252
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565