แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 759

ถ. ดิฉันได้ยินพระต่างประเทศกล่าวว่า ทำไมท่านอาจารย์ถึงได้อดทนพูดเรื่องเก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ขนาดพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก คนที่ไม่เข้าใจก็ยังมีอยู่

สุ เป็นเรื่องของการอบรม กี่กัป ไม่ใช่วันนี้วันเดียว หรือว่าเดือนนี้เดือนเดียว หรือว่าปีนี้ปีเดียว หรือว่าชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้น ความอดทนคือตบะอย่างยิ่ง ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญ เพราะว่าจะต้องอดทนจริงๆ อดทนที่จะไม่หวังในผลที่ว่าจะต้องการในชาตินี้ หรือว่าในปีนี้ ในเดือนนี้ หรือว่าในวันนี้ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สติเกิด เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และเป็นปัจจัยให้สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันได้

ขณะแรกๆ ที่สติเกิด ยังไม่รู้อะไร แต่ความรู้ก็ไม่ได้เกิดที่อื่น เกิดในขณะที่สติกำลังระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดนั่นเอง

อย่างเช่นทางตาในขณะนี้ ระลึกทันทีว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏ นั้นคือจุดเริ่มที่ปัญญาจะเกิด คือ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือสภาพรู้ที่กำลังเห็น ปัญญาเกิดตรงนั้น ไม่ได้เกิดที่อื่น ปัญญาเกิดที่นั่น ปัญญาเจริญที่นั่น ปัญญาคมกล้าที่นั่น

วันหนึ่งๆ ท่านเป็นผู้ที่ประมาทมากหรือน้อย ถ้าสติไม่เกิด ประมาทแค่ไหน ตลอดเวลาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จึงหลงยึดถือสภาพธรรมนั้นเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้ความหมายของคำว่า ประมาท

ถ. กว่าจะรู้ว่าตัวเองประมาท เห็นจะต้องใช้เวลานานมาก

สุ เวลานี้ประมาทหรือเปล่า กำลังฟังธรรม กำลังเข้าใจ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แต่มีตลอดเวลาหรือเปล่า ซึ่งจิตนี้ก็เกิดดับอย่างรวดเร็วและกลับกลอกตามเหตุตามปัจจัยด้วย ถ้าทุกท่านเป็นผู้ที่มีกุศลตลอดเวลา ก็ใกล้ต่อการเป็น พระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติ และเวลาที่กุศลจิตเกิดแต่ละครั้ง สติจะต้องเกิดด้วย ถ้าสติและกุศลธรรมทั้งหลายไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ไม่มีใครสามารถบังคับให้กุศลธรรมเหล่านั้นเกิดได้ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะทราบได้ว่า กุศลจิตของท่านเกิดมากหรือน้อยกว่าอกุศล

ถ. มีบุคคลคนหนึ่งถามว่า เวลาโกรธทำอย่างไรจะให้หายโกรธ ดิฉันบอกว่า ไม่ต้องทำอะไร ก็ระลึกรู้ เขาก็ถามว่า ไม่ชอบให้มีความโกรธ ทำไมต้องระลึกอีก อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบาย

สุ ไม่ชอบ และจะไม่ให้โกรธได้ไหม จะมีประโยชน์อะไรกับการชอบ การไม่ชอบ เพราะจะชอบหรือไม่ชอบ ความโกรธก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย

ถ. ดิฉันบอกว่า ที่โทสะกำลังเกิดอยู่อย่างนั้น และมีสติไประลึกรู้สภาพของโทสะนั้น ก็เป็นการละโทสะ เขาบอกว่า ระลึกรู้แล้วจะละได้อย่างไร ดิฉันบอกว่า ไม่มีตัวตนที่จะไปละ ผู้ละนั้นคือปัญญาเจตสิกที่ทำกิจละคลาย และในคราวต่อๆ ไป ก็จะน้อยลงได้ อย่างนี้ถูกไหม

สุ ต้องเจริญปัญญา เพราะว่าตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด อกุศลไม่สามารถที่จะดับไปได้

ขอพูดถึงเรื่องการเจริญสมถภาวนา ความสงบของจิต ต่อจากคราวก่อน

โดยศัพท์ที่จะให้เข้าใจได้ สมถะ คือ ความสงบ แต่ไม่ใช่ด้วยความพอใจของคนหนึ่งคนใด ต้องเป็นลักษณะที่สงบจริงๆ จากทั้งโลภะ ทั้งโทสะ และทั้งโมหะ

ถ้าท่านชอบอยู่คนเดียว ชอบ อย่าลืม ชอบอยู่คนเดียว เป็นความสงบไหม ท่านอาจจะคิดว่า ชีวิตของท่านสงบมาก ไม่มีใครมาวุ่นวาย ท่านชอบ ท่านพอใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่ความสงบ แต่เป็นโลภมูลจิต

ความสงบที่แท้จริง อย่าลืม สงบจากโลภะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะสงบได้ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา แม้ท่านจะพากเพียรทำอะไรก็ตาม แต่ปัญญาไม่เกิดขึ้นที่จะรู้ว่าขณะนั้นสงบหรือเปล่า หรือว่ากำลังพอใจ กำลังแสวงหา กำลังต้องการ กำลังติดในสิ่งที่ท่านกำลังพากเพียรกระทำอยู่ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่สมถะ

ผู้ที่จะสงบได้ และเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า จิตที่สงบจริงๆ ต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร จิตที่เป็นกุศลสงบไหม จิตที่เป็นอกุศลสงบหรือไม่สงบ เช่น โลภะ แม้ว่าจะไม่ใช่โลภะอย่างแรงที่จะปรากฏให้เห็นเป็นความเดือดร้อน ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวาย แต่ว่าลักษณะนั้นก็ไม่ใช่ความสงบ

เพราะฉะนั้น ขณะนี้กุศลขั้นไหนเกิด ธรรมสำหรับปฏิบัติ พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้ กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สงบหรือไม่สงบ ต้องตรง ต้องจริงต่อสภาพธรรม เมื่อเข้าใจแล้วว่า สมถะหมายความถึงความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เวลาที่สติเกิด และเป็นสติปัฏฐาน เพราะกำลังระลึกและศึกษา น้อมไปสู่ความเข้าใจในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้นสงบไหม สงบ เป็นสมถะไหม เป็น เพราะฉะนั้น ในมรรคมีองค์ ๘ จึงมีทั้งสมถะและวิปัสสนา

ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายสมถะและวิปัสสนา ผมยังแยกไม่ออก ยังไม่เข้าใจชัดแจ้ง

สุ ความสงบต่างกันเป็น ๒ ประการ คือ ความสงบที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นเพียงขั้นอบรมจิตให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และก็มีกำลังมั่นคงขึ้น คือ ความสงบมีกำลังขึ้น เป็นสมถภาวนา

ส่วนสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วงเรื่องของความสงบ เพราะขณะใดที่สติเกิดขึ้นศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็มีความสงบด้วย เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ

เพราะฉะนั้น ความสงบจึงมี ๒ อย่าง คือ ความสงบของสมถภาวนา ระงับอกุศลทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้น และสมถะที่เกิดกับการเจริญสติปัฏฐาน เพราะในมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีทั้งสมถะและวิปัสสนา

สำหรับวิปัสสนาในมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะ ๒ องค์ ส่วนองค์ที่เหลืออีก ๖ นั้น เป็นสมถะทั้งสิ้น

ถ. สมมติว่า โมโหเกิดขึ้น พอเรามีสติรู้ว่าความโกรธเกิดขึ้น โมโหนั้นหายไป และก็มีเรื่องราวอะไรต่างๆ เกิดขึ้นมาอีก แต่ปัญญายังไม่ถึง ยังมีกิเลสมาพัวพันอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นลักษณะของพุทธานุสสติ คือ เราปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จะเรียกว่า เป็นสมถะได้หรือเปล่าในขณะนั้น

สุ เป็นสมถะแน่นอนในขณะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นมนสิการพุทธานุสสติ หรือว่าธัมมานุสสติ หรือสังฆานุสสติ หรืออนุสสติอื่นๆ แล้วแต่

ถ. วิปัสสนาหมายความว่า เกิดพร้อมด้วยปัญญา รู้ว่าอะไรดับ

สุ ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของอะไร เพียงแต่ขณะใดที่สติเกิด ไม่หลงลืม คือ ศึกษา พิจารณา น้อมไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ. บางครั้งเมื่อขาดสติ อกุศลก็จะรุมขึ้นมา พอเกิดสติจะรู้ว่าเรากำลังโกรธอยู่ เรากำลังชอบอยู่ พอสติเกิดขึ้น ความรู้สึกที่เป็นเรื่องเป็นราวก็หยุดทันที ผมก็ยังสงสัยว่า เป็นสมถะหรือวิปัสสนา เพราะปัญญายังไม่เกิด

สุ ลักษณะของความสงบปรากฏได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนยังไม่หมด ในขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความสงบ ซึ่งสติจะต้องศึกษา รู้ว่าขณะที่สงบนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ต้องศึกษาอยู่ตลอดเวลา

การเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่ความสงบเกิดขึ้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะที่สงบ เพื่อที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ายังไม่ระลึก ยังไม่ศึกษา ยังไม่รู้ ก็ยังไม่สามารถที่จะดับความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

แต่สำหรับเรื่องสมถะ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะว่าธรรมทั้งหมดสำหรับปฏิบัติ อย่าลืม แม้แต่สมถะ ความสงบ ปฏิบัติได้จริงๆ ถ้ารู้ว่า ขณะไหนเป็นสมถะ เพราะส่วนมากมักจะเข้าใจสับสนในเรื่องของสมถภาวนา อย่างเช่นในขณะนี้ จะสงบไหม มีใครจะสงบบ้าง

ผู้ฟัง ตามความเข้าใจ สมถภาวนามีถึง ๔๐ วิธี เท่าที่ทราบคือ เจริญอนุสสติ ๑๐ อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร ปฏิกูลสัญญา และกสิณอีก ๑๐ สุดแล้วแต่ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร

สุ เดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังฟังอยู่นี้

ผู้ฟัง ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำอานาปานสติได้

สุ ทำอย่างไร

ผู้ฟัง กำหนดลมหายใจ โดยใช้สติจับไว้ที่จุดลมกระทบ

สุ ขอให้พิจารณาให้ละเอียดว่า ขณะที่คิดว่าสงบนี้ ต่างกันหรือเหมือนกันกับขณะที่ก่อนจะทำ

ผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน คือ ความสงบนี่มีขั้นตอน

สุ. แต่ดิฉันอยากจะให้พิจารณาศึกษาสภาพของจิตโดยละเอียดว่า ขณะที่จะจดจ้องที่ลมหายใจ จะทำอานาปา ความรู้สึกในขณะนั้น ความคิดหรือลักษณะของจิตในขณะนั้น ต่างกับขณะก่อนที่จะคิดอย่างนี้หรือเปล่า

ผู้ฟัง ต่างกัน

สุ ต่างกันอย่างไร

ผู้ฟัง แต่เดิมจิตมีปกติซัดส่าย อาจจะคิดไปในอารมณ์ต่างๆ

สุ ก่อนที่คิดจะทำอานาปา มีโลภะไหม ธรรมดาปกติมีโลภะบ้างไหม

ผู้ฟัง ควรจะมี

สุ ควรจะหรือ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การที่จะรู้ลักษณะของจิตนี้แสนยาก อาจจะเข้าใจคาดคะเนได้ว่า คงจะเป็นอย่างนี้ หรือว่าคงจะเป็นอย่างนั้น แต่เรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องคงจะ เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่รู้ชัดจริงๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่แสนจะรู้ยาก อาจจะศึกษาเข้าใจว่า จิตมี ๘๙ ดวง หรือว่า ๘๙ ประเภท แต่เวลานี้จิตชนิดไหนกำลังเกิด ยากที่จะรู้ เพราะเกิดดับอย่างรวดเร็ว

ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภมูลจิตดับไปแล้ว อาจจะมีลักษณะของสภาพธรรมอื่นเกิด แต่ถ้าสติไม่เกิดพร้อมสัมปชัญญะที่ระลึกศึกษารู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นจริงๆ ก็ยังคงเป็นการคาดคะเนอยู่นั่นเอง ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของจิตจริงๆ

แม้แต่โลภมูลจิต ก็คิดว่าคงจะมี หรือว่าควรจะมี แต่ไม่ได้รู้ลักษณะโลภมูลจิตจริงๆ ที่กำลังมีว่ามีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้น ที่เรียนถามให้พิจารณาว่า เวลาที่คิดจะจดจ้องที่ลมหายใจ ต่างกับขณะก่อนที่จะคิดจดจ้องที่ลมหายใจอย่างไรหรือไม่ เพราะว่าลักษณะของโลภะอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน จะย้ายจากอารมณ์หนึ่งไปสู่ อีกอารมณ์หนึ่งได้ไหม

นี่ต้องเป็นปัญญาพร้อมกับสัมปชัญญะ ที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตว่า เป็นจิตที่สงบหรือไม่สงบ ความต่างกันของจิตต้องมีในจิตที่สงบและในจิตที่ไม่สงบ และถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ เจริญสมถภาวนาไม่ได้

เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนาจริงๆ จะยาก หรือจะง่าย เพราะว่าต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้เอง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดสงบ แต่ถ้ายังไม่สามารถรู้ได้ ก็เป็นโลภะทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่าสงบ เพราะว่าไม่รู้แม้ลักษณะของโลภมูลจิตที่กำลังมีในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีอาการที่ต่างกันเลย เพียงแต่เปลี่ยนอารมณ์

ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎก เมื่อเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับที่นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ทูลถามว่า พระอริยสาวกส่วนมากอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไร พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงกล่าวถึงอานาปาเลย แต่กล่าวถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และ เทวตานุสสติ

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ควรจะอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไรที่จะสงบ นี่เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะจะต้องรู้ลักษณะของจิตที่สงบจริงๆ ว่า ขณะใดที่จิตผ่องใสเป็นกุศล เวลาที่มีการศึกษาธรรม เข้าใจธรรม ระลึกถึงพระพุทธคุณ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าตามว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ หรือว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต เพราะถึงแม้ว่าจะกล่าวอย่างนั้น แต่ขาดสัมปชัญญะที่จะพิจารณาลักษณะของจิต ขณะนั้นจิตไม่สงบก็ได้ จะกล่าวคำพูดอะไรด้วยโลภมูลจิตก็ได้ ไม่มีความต่างกัน แต่ว่าขณะใดที่ความสงบเกิดขึ้น แม้ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น สติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของความสงบก็ยังมีได้ นั่นก็เป็นพุทธานุสสติ

ในคราวก่อนได้กล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นันทิยสูตร ที่แสดงถึงพระอริยสาวกผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทว่าคืออย่างไร และพระอริยสาวกผู้อยู่ด้วยความประมาทว่าคืออย่างไร ซึ่งข้อความมีว่า

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... ตลอดไปตามบทของพระพุทธคุณจนกระทั่งถึง เป็นผู้จำแนกธรรม

อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่อ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิย่อมอยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีความทุกข์ย่อมไม่เป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความประมาท

ที่ว่า สงัดในกลางวันนั้น คือ สงบจากกิเลส

วันนี้รู้สึกว่าสงบจากกิเลสอะไรบ้างไหม ถ้ากุศลจิตไม่เกิด จะไม่ปรากฏความสงัด หรือความสงบจากกิเลส แต่ขณะที่ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ จะเกิดขึ้นปรากฏ หรือว่าจะมีความยินดียินร้ายในอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ขณะนั้นสงบจากอกุศล ขณะนั้นคือสงัดจากกิเลส

ในกลางวัน คือ ในชีวิตประจำวันจริงๆ ชีวิตประจำวันจริงๆ มีโลภะมาก มีโทสะมาก ถ้าสติไม่เกิด ขณะนั้นไม่สามารถที่จะสงัดหรือสงบจากกิเลสได้

ชีวิตประจำวันของทุกท่าน ก็ต้องมีการพบปะกับบุคคลต่างๆ อยู่เสมอ มีการคิดนึกตรึกตรองในเรื่องกิจการงาน ในธุรกิจต่างๆ แต่สติก็สามารถที่จะเกิดได้ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสงบแล้ว สงัดในเวลากลางวัน แต่ถ้าอยู่ในที่หลีกเร้นไม่มีใคร แต่เต็มไปด้วยกิเลสมาก แม้ในเวลากลางคืน ก็ไม่ชื่อว่าหลีกเร้น หรือไม่ชื่อว่าสงัด เพราะขณะนั้นจิตเป็นอกุศล

เปิด  235
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566