แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 763
สุ. ความโกรธมีลักษณะหลายอย่าง ตั้งแต่ความขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่ความรู้สึกอับอาย ไม่พอใจ หรือว่ากระดากอายต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะเห็นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็มีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นต่อๆ ไปได้ แทนที่จะคิดบังคับ เพราะไม่สามารถที่จะบังคับได้ อาจจะมีความรู้สึกว่าบังคับได้ชั่วคราว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท สภาพธรรมที่ไม่ชอบใจทั้งหลาย คือ อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้
ในชีวิตของแต่ละคนต้องมีสิ่งที่ไม่พอใจมากมาย หลายครั้ง หลายขณะ หลายเหตุการณ์ ซึ่งก็ควรรู้ลักษณะของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรมที่กำลังปรากฏ และละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็สามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น แต่อย่าคิดที่จะบังคับ เพราะว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยความเป็นตัวตน
สำหรับพุทธานุสสติ ท่านผู้ฟังไม่สงสัยหรือว่า สมถภาวนานั้นมีถึง ๔๐ อารมณ์ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พระอริยสาวกทั้งหลายอยู่ด้วยการระลึกถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติมากกว่าวิหารธรรมอื่น นี่เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่เข้าใจในเหตุผล ก็ไม่ทราบว่า ทำไมพระอริยสาวกท่านจึงไม่อยู่ด้วยวิหารธรรมอื่น แต่ว่าอยู่ด้วยฉอนุสสติเป็นส่วนมาก
การอบรมเจริญภาวนา เป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ว่าจะเป็นขั้นสมถะหรือขั้นวิปัสสนาก็ตาม เพราะว่าธรรมที่เป็นกุศล ได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา ชีวิตของทุกท่านนี้มีการให้ทาน มีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นตามควรแก่โอกาส และท่านก็มีการอบรมเจริญศีล แต่แม้กระนั้นท่านที่มีการบริจาค มีการให้ทาน มีการรักษาศีลแล้ว ก็รู้สึกว่า ยังไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จึงมีการอบรมเจริญภาวนา ซึ่งการอบรมเจริญภาวนานี้เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ว่าจะเป็นขั้นสมถะหรือขั้นวิปัสสนาก็ตาม
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า จุดประสงค์ คือ การอบรมเจริญปัญญา ซึ่งผู้ที่ระลึกรู้พระพุทธคุณ ระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็เป็นเพราะว่า ได้เข้าใจพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม รู้ว่าเป็นธรรมที่ดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นย่อมจะระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติธรรมพร้อมกันด้วย
การระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ใช่เพียงระลึก แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านระลึกถึงพระธรรมและท่านประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น การระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่าน จึงเป็นการปฏิบัติธรรม อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต่อไป
ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ข้อ ๖๒๗ มีว่า
คำว่า นมัสการอยู่ ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน
ถ้าใครจะนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าลืมว่า ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน
นี่เป็นชีวิตจริงๆ ตลอดคืนและวัน คือ นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง กายวันนี้มนัสการ สักการะ บูชา เคารพ นับถือ บ่อยไหม พอไหมเพียงชั่วที่จะกราบ อัญชลี หรือว่านมัสการด้วยการไหว้เท่านั้น แต่ว่ากายทั้งหมดนี้ที่จะละเว้นทุจริต เว้นจากกายทุจริตขณะใด ขณะนั้นย่อมชื่อว่า นมัสการ สักการะ เคารพ บูชาพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค บ่อยๆ ย่อมเสมือนกับพระผู้มีพระภาคประทับอยู่เฉพาะหน้า ไม่สามารถที่จะล่วงกายทุจริตได้ เพราะว่าระลึกถึงพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงธรรมให้เห็นว่า ธรรมใดเป็นอกุศลที่ควรเว้น ธรรมใดเป็นกุศลที่ควรเจริญ
สำหรับวาจาก็เช่นเดียวกัน ในวันหนึ่งๆ ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ลองพิจารณาวาจาของตนว่า เป็นไปในทางที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างไหม บางทีลืมคิดถึงคนฟัง หรืออาจจะคิดว่าเขาคงไม่เดือดร้อนใจ พูดอย่างนี้คงไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านเป็นคนฟัง ท่านจะไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย เพราะว่าคำพูดบางคำแม้ว่าจะไม่ใช่คำหยาบคายที่เป็นผรุสวาจา ไม่ใช่คำที่รุนแรง แต่แม้กระนั้นก็เป็นคำที่อาจทำคนฟังเกิดความน้อยใจ หรือเสียใจ แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าสติเกิดจะเห็นความเป็นวจีทุจริต แต่ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สติที่เกิดขึ้นจะทำให้พิจารณาสภาพธรรมในขณะนั้น เห็นอกุศลเป็นอกุศล และเห็นกุศลเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธคุณจะอยู่เฉยๆ ไหม หรือว่าจะเตือนตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เป็นการนมัสการ เคารพ นอบน้อม แม้ด้วยวาจาสุจริต ไม่ใช่วาจาทุจริต
นอกจากที่จะประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ก็ยังมีการนมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ด้วยจิตบ้าง ซึ่งธรรมดาของการเห็น การได้ยินที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้จิตน้อมไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตาด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง เพราะฉะนั้น การที่จะนมัสการ สักการะ นอบน้อมพระผู้มีพระภาคด้วยจิต คือ การระลึกถึงพระพุทธคุณ แทนที่จะระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ซึ่งจะรู้ได้ว่า ขณะใดที่จิตระลึกนึกถึงพระพุทธคุณ ขณะนั้นเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ตลอดคืนและวัน การระลึกถึงพระผู้มีพระภาคด้วยความนอบน้อม สักการะ เป็นไปในลักษณะใด ด้วยการเว้นกายทุจริต วจีทุจริต และยังมีจิตที่น้อมระลึกถึงพระคุณ หรือว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามลำดับขั้น ตั้งแต่กายสุจริต วจีสุจริต จนกระทั่งถึงความสงบ จนกระทั่งถึงปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
นี่เป็นการระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ถึงแม้ว่าจะกล่าวอย่างนี้ ก็ย่อมจะพิจารณาได้ว่า ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคมากหรือน้อยในวันหนึ่งๆ
สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจพุทธานุสสติ ก็อาจจะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป แต่นั่นไม่ใช่เป็นการระลึกถึงพระคุณ
ในทางโลกอาจจะมีการสร้าง มีการแจก หรือมีการมอบสิ่งที่เป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดกุศล เช่น พระพุทธรูป แต่ว่าไม่ได้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งผู้นั้นก็ย่อมรู้ได้ว่า จิตของตนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือว่าเป็นโลภะ หรือเป็นความสงบ และบางท่านอาจจะกล่าวว่า ถ้ากราบไหว้ นมัสการพระพุทธรูปปางนั้นบ้าง ปางนี้บ้าง ก็ย่อมที่จะให้เกิดลาภผลต่างๆ นี่เป็นคำสั่งสอนในทางโลก
แต่ในทางธรรมไม่ใช่อย่างนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณ ถึงแม้จะมีพระพุทธรูปให้นมัสการกราบไหว้ ก็เพื่อให้น้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ตรงกันข้าม ถ้าขณะใดที่ไม่ระลึกถึงพระพุทธคุณ อาจจะหวังในลาภบ้าง ในสักการะต่างๆ บ้างในขณะที่กราบไหว้พระพุทธรูป ขณะนั้นไม่ใช่ในทางธรรม ถ้าในทางธรรมแล้ว เพื่อละคลายกิเลส และให้เกิดความสงบ ซึ่งขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
สำหรับพุทธานุสสติ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจในพระธรรมแล้ว การระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคย่อมเป็นการยาก
สำหรับอนุสสติ ๑๐ มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ ซึ่งท่านผู้ฟังควรที่จะทราบความเกี่ยวเนื่องกันของอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมดด้วยโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าสมถกัมมัฏฐานทั้งหมด ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาเองโดยตรงจาก พระไตรปิฎก หรือจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า สมถกัมมัฏฐานทั้งหมดทุกประการ จบลงด้วยเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการอบรมความสงบ ไม่ใช่ให้เพียงสงบ แต่ต้องพร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย
สำหรับพุทธานุสสติก็ดี ธัมมานุสสติ ซึ่งเป็นการระลึกถึงพระธรรม สังฆานุสสติซึ่งเป็นการระลึกถึงคุณของพระอริยสาวก สีลานุสสติ การระลึกถึงศีล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทุศีล จะนึกถึงศีลได้อย่างไร ไม่เห็นคุณของศีล ไม่รู้ถึงความปีติผ่องใสของจิตที่เป็นกุศลที่สามารถละเว้นจากทุจริตกรรมได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติรักษาศีลเท่านั้นจึงจะสามารถระลึกถึงคุณของศีลของตนได้
สำหรับจาคานุสสติ ก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้ที่เห็นคุณของการที่สามารถจะบริจาคได้ ในเมื่อสัตว์โลกทั้งหลายยากที่จะบริจาค เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีการบริจาคเนืองๆ มีความสามารถที่จะบริจาคบ่อยๆ การที่จะระลึกถึงจาคะ คือ การบริจาคของตน ย่อมทำให้จิตผ่องใสได้ ที่ตนสามารถเปลื้องตนเองจากความตระหนี่ซึ่งละยาก
และสำหรับเทวตานุสสติ การะลึกถึงคุณของเทวดา ผู้ที่เป็นอริยสาวกเท่านั้นที่จะระลึกได้ เพราะว่าการที่บุคคลใดจะได้เกิดในเทวโลกนั้น ต้องเป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นยังไม่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉท มีอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต มีอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว และยังไม่ได้ดับกิเลส กรรมนั้นย่อมสามารถเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยะจะระลึกถึงคุณของเทวดาทั้งหลายที่เกิดในเทวโลกด้วยกุศลกรรมต่างๆ ได้ไหม ระลึกได้ แต่ว่าไม่มีปัจจัยพอที่จะให้เกิดความสงบ
สำหรับพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ เฉพาะผู้ที่เป็นอริยสาวกเท่านั้นที่สามารถให้จิตสงบเมื่อระลึกถึง สำหรับปุถุชน ไม่สามารถที่จะถึงอุปจารสมาธิ อย่างไรก็ตาม การระลึกถึงพระพุทธคุณก็ดี จนกระทั่งถึงการระลึกถึงคุณของเทวดาก็ดี ไม่สามารถที่จะให้จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตได้ แต่ว่าจุดประสงค์ของสมถกัมมัฏฐานทุกบรรพ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อการเห็นธรรมในธรรม
เพราะฉะนั้น แม้แต่อนุสสติอื่นๆ อีก ๔ คือ มรณสติก็ตาม กายคตาสติก็ตาม อานาปานสติก็ตาม อุปสมานุสสติก็ตาม เป็นเพียงเครื่องระลึก และปัญญาก็ควรที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขอกล่าวถึงมรณสติ การระลึกถึงความตาย ถ้าระลึกโดยไม่แยบคาย กุศลจิตไม่เกิด แม้ว่าเป็นสมถกัมมัฏฐาน ต้องมีปัญญาจึงจะเจริญได้ทุกกัมมัฏฐาน ถ้าไม่มีปัญญา จิตไม่สงบ เช่น ถ้าระลึกถึงความตายของคนที่รัก เป็นอย่างไร โศกเศร้า เสียใจ เพราะขาดสติและปัญญา เวลาที่ระลึกถึงคนที่ไม่เป็นที่รัก หรือว่าคนที่เกลียดชัง หรือว่าคนที่เป็นศัตรู ความตายของบุคคลเหล่านั้นอาจจะก่อให้เกิดความยินดี ใช่ไหม นั่นเป็นการระลึกถึงความตายที่ปราศจากสติและปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้ หรือถ้าระลึกถึงคนซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชัง จิตก็ไม่สงบ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่ระลึกถึงด้วยความแยบคาย
อย่างวันหนึ่งๆ ที่ได้ข่าวของคนที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุต่างๆ หรือว่าผู้ที่กระทำกิจเกี่ยวข้องกับคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เช่น สัปเหร่อทั้งหลาย ไม่มีความรัก ความชังในบุคคลที่ตาย แต่ไม่ใช่หมายความว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตายโดยไม่แยบคาย ไม่ทำให้จิตสงบ
ระลึกอย่างไรจิตจึงจะสงบ ต้องน้อมมาระลึกถึงความตายของตนเอง และจะเห็นว่า ชีวิตนี้สั้นมาก สมบัติทั้งหลายที่มีย่อมถึงความวิบัติ พร้อมกับการขาดสูญของชีวิตนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
มีข้อความที่กล่าวถึงการระลึกถึงความตายที่จะให้เกิดความแยบคายนั้น เช่น ระลึกถึงว่า ชีวิตทั้งหลายไม่มีนิมิต คือ ไม่มีเครื่องหมายให้รู้เลยว่าจะเสียชีวิตลงไปเมื่อไร อาจจะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ได้ หรือว่าเกิดมาแล้วมีอายุจนถึง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๖๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้นิมิตของชีวิตได้เลยว่า จะมากหรือจะน้อย หรือว่าจะยาวนานสักเท่าไร
ทุกท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ มีนิมิตที่จะบอกได้ไหมว่า ชีวิตของใครจะสิ้นสุดลงเมื่อไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่ไม่แน่นอนเลย
ถ้าคิดถึงความไม่แน่นอน จนกระทั่งสามารถระลึกถึงความตายให้สั้นเข้าๆ เช่นที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกับพระภิกษุทั้งหลายว่า การระลึกถึงความตายชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ ก็ยังประมาท จนกระทั่งระลึกถึงในขณะที่มีชีวิตอยู่พอที่จะเคี้ยวอาหาร ๔ – ๕ คำแล้วกลืน นั่นก็ยังประมาท แต่ผู้ที่จะไม่ประมาท คือ ผู้ที่ระลึกถึงความตายชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืน หรือว่าหายใจเข้าแล้วออก หายใจออกแล้วเข้า แต่ไม่ใช่หมายความว่า ให้ระลึกถึงความตายอย่างนั้นเท่านั้น อย่าลืมว่า สมถกัมมัฏฐานทั้งหมด ควรที่จะจบลงด้วยเห็นธรรมในธรรม
เพราะฉะนั้น แม้แต่สมถกัมมัฏฐาน เช่น มรณสติ ก็ไม่ใช่ให้ระลึกถึงความตายและสงบเท่านั้น แต่ต้องไม่ประมาท โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเมื่อระลึกถึงความตายแล้ว อย่างเวลานี้ ถ้าท่านระลึกถึงความตาย กับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที อย่างไหนไม่ประมาท
ระลึกถึงความตาย แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่ระลึก มรณสตินั้นก็ไม่สามารถที่จะถึงเห็นธรรมในธรรมได้ และถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะให้ระลึกถึงความตาย คือ มรณสติเนืองๆ ก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ การที่จะให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท