แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 764
สำหรับการระลึกถึงความตาย บางท่านอาจจะยังไม่ค่อยระลึก ซึ่งการที่จะให้ระลึกถึงความตายที่จะให้เกิดความสลด นอกจากที่จะไม่เห็นนิมิตของชีวิตว่า จะสิ้นสุดลงในขณะไหนแล้ว ยังมีการระลึกถึงความมีโรคที่ไม่มีนิมิต ซึ่งความตายนี้ย่อมจะตายด้วยโรค แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ท่านจะตายด้วยโรคอะไร
มีโรคมากมายหลายอย่าง แต่ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า จะสิ้นชีวิตลงด้วยโรคอะไร นอกจากนั้นแล้ว กาลของความตายก็ยังไม่มีนิมิต เช่น ไม่มีใครรู้ว่าท่านจะสิ้นชีวิตลงตอนเช้า หรือตอนสาย หรือตอนบ่าย หรือตอนเที่ยง หรือตอนเย็น หรือตอนค่ำ นอกจากนั้นที่ทอดกายในขณะที่จะตาย ก็ยังไม่มีนิมิต คือ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะตายในบ้าน หรือว่าจะตายนอกบ้าน จะตายบนบก หรือว่าจะตายในน้ำ เพราะแม้สัตว์ที่อยู่ในน้ำ ก็ยังตายบนบก สัตว์หรือมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่บนบก ก็ยังตายในน้ำได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่ทอดกายในขณะที่ตายนั้น ก็ไม่มีนิมิต
นอกจากนั้นก็ควรที่จะระลึกถึงคติที่ไม่มีนิมิต ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะสิ้นชีวิตลง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า จะเกิดที่ไหน กรรมอะไรจะทำให้ปฏิสนธิที่ไหน ถ้าคิดอย่างนี้ เกิดความสลด ไม่เป็นโลภะ โทสะ โมหะในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่พอ เพราะจุดประสงค์ที่ระลึกอย่างนี้แล้ว ก็ควรที่จะเกิดสติซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่จะระลึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่จะทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพื่อให้ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่เข้าใจมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ไม่มีการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น สงบเพียงชั่วคราว เล็กน้อย ก็ยังใกล้ต่ออกุศล จึงควรมีวิธีที่จะทำให้สงบจนกระทั่งเป็นสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ ซึ่งยังไม่แนบแน่นในอารมณ์ ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็เห็นว่า แม้อุปจารสมาธินั้นก็ยังไม่พอ ก็เจริญความสงบให้มั่นคงยิ่งขึ้นจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงอรูปฌาน แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน เพราะว่าประโยชน์อะไรจะมากกว่ากัน การเจริญสมถภาวนาต้องประกอบด้วยปัญญา และเป็นปัญญาที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของกุศลจิตที่สงบในขณะนั้นที่จะให้สงบยิ่งขึ้น แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจิตจะสงบน้อมไปในอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดบ้าง ก็ยังมีการฟัง ซึ่งเป็นสัญญาที่มั่นคงที่จะทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่เป็นการไปพากเพียรให้เกิดอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ
ถ. ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายอุปจารสมาธิเพิ่มขึ้นอีกสักครั้ง
สุ. อุปจารสมาธิ หมายความถึงความสงบของจิตมีกำลังขึ้น และนิวรณธรรมทั้งหลายสงบลง เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวถึงอุปจารสมาธิโดยไม่กล่าวถึงการเจริญสมถกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใด เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงการเจริญกสิณซึ่งจะเป็นปฐวีกสิณ หรือว่าอาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณก็ได้
ปฐวี ได้แก่ ดิน ถ้าระลึกเป็นรูปร่างสีสันวัณณะต่างๆ ย่อมเกิดความยินดี ยินร้าย แต่ถ้าระลึกถึงธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุที่น่าเพลิดเพลินยินดี พอใจเลย เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และวัตถุทั้งหลายไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตตั้งมั่นคงที่ธาตุดิน จะต้องอาศัยปฐวีกสิณ คือ การเอาดินมาทำให้เป็นวงกลม ซึ่งความละเอียดมีกล่าวไว้ใน วิสุทธิมรรค ว่า ต้องเป็นดินสีอรุณ เป็นดินที่เกลี้ยง และวงกลมนั้นต้องมีขนาดที่ไม่ให้เล็กเกินไป เพราะถ้าเล็กเกินไปจะต้องใช้การจ้องทำให้จิตขาดความสงบ หรือว่าไม่ให้สูงนัก ไม่ให้ต่ำนัก นั่นก็เป็นความละเอียดของการที่จะให้จิตตั้งมั่นคงที่ปฐวีกสิณ
การที่จะให้จิตสงบจะต้องใช้ตา คือ ดูปฐวีกสิณ และนึกถึงปฐวีกสิณที่เห็น ลืมตา หลับตาอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้ ขณะนี้ ที่จะให้จิตนึกถึงปฐวีกสิณที่มองเห็นนั้น คือ บริกรรมสมาธิ เพราะว่าต้องอาศัยปฐวีกสิณเป็นเครื่องระลึก
ถ. หมายความว่า ขณะนั้นมีจิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียว
สุ. กำลังน้อมไปที่จะไม่ให้จิตตกไปในอารมณ์อื่น แต่เพื่อให้นึกถึงปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ
ธรรมสำหรับปฏิบัติ ซึ่งท่านผู้ฟังพิสูจน์ได้ในขณะนี้ จะนึกถึงดิน นึกอย่างไรที่จะให้สงบในขณะนี้ ย่อมยาก ใช่ไหม
แต่ถ้ามีปฐวีกสิณให้เห็น ให้มอง คือ ให้ดูที่ปฐวีกสิณนั้นบ่อยๆ โดยให้น้อมนึกถึงดิน จึงจะสงบ ไม่ใช่จ้องโดยที่ไม่เกิดปัญญา หรือว่าไม่มีความแยบคายในการที่จะมองหรือเพ่งจ้องที่ปฐวีกสิณเลย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในการอบรมเจริญสมถภาวนาทั้งหมด ที่จิตจะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรือว่าที่จะเป็นบริกรรมสมาธินั้น ในขั้นต้นจะต้องมีคำอธิบายว่าทำอย่างไร มนสิการอย่างไร จิตจึงสงบก่อนที่จะถึงบริกรรม ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ก็ไปเพ่ง แต่จะต้องมีการระลึกถึงสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ ที่จะให้จิตสงบ เช่น ระลึกถึงความเป็นธาตุดิน และในขณะที่กำลังบริกรรม คือ การที่มองดูกสิณนั้น ก็หลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง และจะต้องอาศัยสถานที่ที่สงบ เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนาที่จะให้จิตตั้งมั่นคงยิ่งขึ้น ต้องอาศัยสถานที่
ถ้าเป็นวิหาร ก็ต้องเป็นวิหารที่เหมาะที่ควร ไม่ใกล้นัก ไม่ไกลนัก เว้นวิหารที่มีโทษต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาได้ใน วิสุทธิมรรค
ความที่จิตสงบขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มตั้งแต่บริกรรม โดยการที่เพ่งดู ปฐวีกสิณในที่เงียบสงัด ลองคิดดู นึกถึงการที่เพ่งจ้องที่กสิณ และหลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง เพื่ออะไร เพื่อให้จิตไม่นึกถึงอารมณ์อื่นนอกจากปฐวีกสิณเท่านั้น จนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิตขึ้น
คำว่า อุคคหนิมิต หมายความถึงนิมิตที่ปรากฏโดยไม่ต้องดูกสิณ คือว่า ใจจดจำลักษณะของปฐวีกสิณ จนแม้ไม่ลืมตา หรือไม่ได้มอง ไม่ได้ดู ไม่ได้เพ่งที่ ปฐวีกสิณ ก็สามารถที่จะเห็นปฐวีกสิณเป็นนิมิต ชื่อว่า อุคคหนิมิต
ในขณะที่อุคคหนิมิตเกิด กำลังบริกรรมอยู่ หมายความว่า กำลังเพ่งดู ปฐวีกสิณโดยการลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง และก็ตรึกนึกถึงแต่ปฐวีกสิณ จนอุคคหนิมิตเกิดขึ้น ก็ยังไม่ใช่อุปจารสมาธิ เป็นแต่เพียงบริกรรมสมาธิ
เห็นความต่างกันหรือยัง บริกรรมกสิณ คือ รูปของกสิณ เวลาที่เพ่งจ้องจนกระทั่งจิตสงบ มั่นคง ไม่ตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏลักษณะของปฐวีกสิณแม้ไม่มองดูด้วยตา ขณะนั้นเป็นอุคคหนิมิต แต่ยังเป็นบริกรรมสมาธิ หลังจากนั้นแล้ว จะต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะประคองอุคคหนิมิตซึ่งปรากฏแล้วให้ปรากฏอยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า ชีวิตประจำวัน วันหนึ่งๆ นั้นจะทำได้ยากง่ายสักแค่ไหน เวลาที่อุคคหนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จะต้องกลับไปที่พัก เพื่อที่จะให้จิตตั้งมั่นคง สงบที่อุคคหนิมิตที่ปรากฏ เพราะว่าอุคคหนิมิตนั้นเป็นเครื่องหมายว่า จิตสงบจากอารมณ์อื่นจนกระทั่งปฐวีกสิณนิมิตนั้นปรากฏได้ทางใจ แม้ว่าไม่มองดู
และการที่จะให้อุคคหนิมิตนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น ก็คือ แม้ไปสู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ต่อหน้าปฐวีกสิณนั้นอีกต่อไป แต่ว่ากลับไปสู่อาวาสที่อยู่ หรือว่าที่พัก ก็ยังสามารถที่จะให้เห็นอุคคหนิมิตนั้นอยู่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ยาก เพียงแต่จะเดินทางกลับไปที่พัก ก็จะต้องมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ซึ่งจะทำให้อุคคหนิมิตนั้นหายไป เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาที่จะให้ถึงอุปจารสมาธินั้นจะยิ่งยากสักแค่ไหน แม้แต่เพียงขั้นเริ่มต้นที่จะต้องตรึกด้วยความแยบคาย และจะต้องมีปฐวีกสิณที่จะทำให้เกิดอุคคหนิมิต ซึ่งยังไม่ใช่อุปจารสมาธิ ยังจะต้องประคองทำให้จิตตรึกนึกถึงแต่อุคคหนิมิตนั้นจนกว่าจิตจะมั่งคง โดยที่ว่านิมิตนั้นผ่องใสบริสุทธิ์ร้อยเท่าพันทวีของอุคคหนิมิตที่เกิด ขณะนั้นจึงเป็นอุปจารสมาธิ
ขณะนี้ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ยังไม่ใช่ฌานจิต เป็นเพียงอุปจารสมาธิเท่านั้นที่มีปฏิภาคนิมิตปรากฏ ผู้ที่สามารถจะให้ปฏิภาคนิมิตไม่เสื่อมไปจนกระทั่งองค์ของฌานทั้ง ๕ ปรากฏ จึงจะเป็นปฐมฌาน
ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ นิวรณธรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้ก็จริง แต่ว่าองค์ของฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ยังไม่ปรากฏตราบใด ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ คือ ยังไม่ใช่ฌานจิต
การอบรมเจริญสมถภาวนา ความสงบ และสมาธิที่สงบมั่นคงขึ้น ต้องคู่กันกับปัญญา มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาองค์ของฌานได้ ไม่สามารถที่จะพิจารณาว่า วิตกไม่ใช่วิจาร และวิตกนั้นยังหยาบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้นต่อไปจนกระทั่งถึงทุติยฌาน ต้องเห็นโทษของวิตกเจตสิก ซึ่งหยาบ หยาบกว่าวิจารเจตสิก เมื่อเห็นโทษแล้ว จึงเพียรที่จะระลึกถึงปฐวี คือ กสิณ จนกระทั่งปฏิภาคนิมิตปรากฏพร้อมกับวิจาร โดยที่ขณะนั้นปราศจากวิตก จึงจะเป็นทุติยฌาน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ใช่ของง่าย แต่ว่าผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าความสงบจะไม่มั่นคงขึ้นถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้
และในชีวิตสั้นๆ อย่างนี้ จะเจริญอะไร ถ้าจะเจริญสมถภาวนา ก็ไม่แน่ว่าจะถึงอัปปนาสมาธิหรือไม่ถึง เพราะว่าในบรรดาผู้ที่เจริญสมถภาวนาที่เป็นบริกรรมสมาธิในหมื่นท่าน แสนท่านที่จะได้ถึงอุปจารสมาธิ ก็สักหนึ่งท่าน และในบรรดาผู้ที่ได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ในพันท่าน หมื่นท่าน แสนท่านที่จะได้ถึงอัปปนาสมาธิ ก็สักหนึ่งท่าน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานโดยที่ไม่บรรลุถึงฌานจิต ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้
ผู้ฟัง กสิณนี้ ผมก็เคยปฏิบัติมาก่อนที่จะได้ฟังอาจารย์ ประมาณสัก ๒๐ ปีได้ คือ เริ่มต้นผมทำเตโชกสิณ เพ่งเทียน และให้นิมิตนั้นมาอยู่ในอารมณ์ ก็ทำได้ผลบ้าง คือไปนั่งที่ไหนก็ได้ ผมทำถึงขนาดว่า ไม่ต้องไปเห็นเทียน หรือเห็นไฟ ไปนั่งที่ไหน หลับตา นิมิตนั้นก็เกิดขึ้น แต่ว่าทำไปๆ รู้สึกว่าหนักหัวสมอง ทำๆ ไปก็ต้องเลิก และในระหว่างที่นิมิตเกิดขึ้น ถ้าพิจารณาให้ละเอียดด้วยปัญญาแล้ว ไม่มีความสงบ สมมติว่า เพ่งเทียน พอนิมิตนั้นขยายเป็นรูปใหญ่ มีสีสวย เราก็เกิดปีติ ผมว่า เป็นความโลภ โลภะเล็กๆ เกิดขึ้นแล้ว
สุ. ขอประทานโทษ ท่านจะเห็นความสับสนของผู้ปฏิบัติโดยที่ขาดการศึกษาลักษณะของจิตอย่างละเอียดจริงๆ ที่ดูคล้ายๆ กับว่าจะขยายนิมิตได้ ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องถึงปฏิภาคนิมิตก่อนจึงจะขยายได้ และต้องกำหนดขนาดนิมิตที่จะขยายด้วย จึงควรขยาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ขยายออกไปได้
เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการศึกษาโดยละเอียด อะไรๆ ก็เป็นนิมิต ใช่ไหม แต่จิตสงบหรือเปล่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และพิจารณาโดยละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังก็กล่าวว่า ไม่สงบ แต่ว่ามีความต้องการ
สมาธิ คือ ความจดจ้องตั้งอยู่ที่อารมณ์เดียว ไม่ได้หมายความว่า ในขณะนั้นจิตจะสงบ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาเรื่องสมถภาวนากัมมัฏฐานพร้อมสติสัมปชัญญะที่สามารถระลึกรู้ในลักษณะของความสงบแล้ว การเจริญสมาธิไม่ได้ทำให้จิตสงบเลย แต่สามารถที่จะมีอารมณ์ปรากฏตามที่ต้องการ
ผู้ฟัง สมัยก่อนผมไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นนิมิต เมื่อฟังอาจารย์แล้วจึงรู้ว่า ระหว่างนั้นไม่มีสติ เพราะหลงอยู่อย่างนั้น พอนิมิตขยายกว้างก็ดี ใจก็แจ่มใส พอนิมิตเล็ก หรือมีอะไร มีสีเขียว มีสีดำ เกิดเป็นจุดในนิมิตนั้น ก็ชักโกรธ ทีแรกผมก็ไม่รู้ แต่พอมาฟังอาจารย์ให้เจริญสติบ่อยๆ จึงได้เข้าใจว่า ที่เราว่าสงบๆ นั้น ไม่มีเลย ที่ร้ายที่สุดนั้น คือ ตอนนั้นนึกว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ คิดดูถูกเหยียดหยามคนอื่น
สุ. เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ ต้องพิจารณาความต่างกันของความสงบกับสมาธิ เพียงแต่อ่าน วิสุทธิมรรค และก็จดจ้องที่อารมณ์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมถกัมมัฏฐาน แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกพร้อมสัมปชัญญะ คือ ปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า สงบหรือไม่สงบ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ
เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ท่านสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบที่เป็นกุศล เมื่อมีอารมณ์ที่ทำให้สงบ เช่น พุทธานุสสติ สำหรับท่าน สงบ เพราะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ถึงแม้จะไม่กล่าวคำว่า อิติปิ โส ภะคะวา มีการระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว แม้ว่าจะไม่เคยเห็นองค์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อได้ศึกษา พระธรรมแล้วก็เห็นว่า ไม่มีบุคคลอื่นใดในโลกนอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงธรรมได้ละเอียดตามความเป็นจริง ถ้าระลึกอย่างนั้น สติจะรู้ถึงความสงบของจิต เพราะว่าระลึกถึงพระพุทธคุณ
แทนที่จะไปเพ่งจ้องที่ปฐวีกสิณ สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวกมีปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค และปัญญาสามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่เพียงระลึก แต่ว่าเคารพ นมัสการ สักการะ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยจิต ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ เจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น สมถภาวนาเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานโดยที่ว่า เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ แต่ว่าไม่ใช่สงบเพื่อที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ แต่ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะใดก็ตามที่สงบ สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของจิตในขณะนั้น
ใน พระไตรปิฎก ถ้าท่านผู้ฟังอ่านหลายๆ พระสูตร จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาและได้บรรลุถึงฌานจิตแล้ว สติก็ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เป็น มหัคคตะ หรือที่มีกสิณเป็นอารมณ์ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่สงบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะทำอย่างนั้น ทุกท่านมีการสะสมมา ซึ่งแล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง