แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 768

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต สุสสูสาสูตร ข้อ ๓๕๙ กล่าวถึง ผู้ที่แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรก้าวลงสู่ความแน่นอน และความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย

ข้อความมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบุคคลอื่นแสดงอยู่ ก็ไม่ฟังด้วยดี ๑ ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ๑ ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ๑ ถือเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑ ทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ และเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่ไม่สมควร ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

สำหรับข้อความใน ฌานสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลใดยังไม่ละธรรมเหล่านี้ ก็ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ฌานสูตรที่ ๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เธอย่อมไม่เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริง ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ฯ

ท่านผู้ฟังก็คงทราบอยู่แล้วว่า ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นนิวรณ์ หรือนิวรณธรรม ๕ แต่ธรรมอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นประการที่ ๖ เมื่อผู้นั้นไม่ละ ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน คือ เธอย่อมไม่เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริง ฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะนิวรณ์ ๕ แต่ต้องเห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงด้วย

บางท่านคิดว่า เมื่อละเพียงนิวรณธรรม ๕ แล้ว จะบรรลุปฐมฌานได้ และบางท่านอาจจะไม่ทราบลักษณะของนิวรณธรรม ๕ ก็คิดว่าขณะที่กำลังเฉยๆ นี้ ไม่มี กามฉันทะ ไม่มีพยาบาท ไม่มีถีนมิทธะ ไม่มีอุทธัจจกุกกุจจะ และไม่มีวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็ใกล้ต่อการที่จะเป็นฌานจิตแล้ว โดยที่ไม่รู้ลักษณะของ กามฉันทะจริงๆ ว่า ในขณะนี้ ธรรมดาอย่างนี้ กามฉันทะมีไหม ถ้าอารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่รู้ ไม่สงบ ปัญญาไม่เกิด ไม่มีอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบ คือ ไม่ใช่สติปัฏฐานและไม่ใช่อารมณ์ของสมถภาวนา จะพ้นจากกามฉันทะได้อย่างไร

ในขณะที่ได้ยินเสียง ถ้าขณะนั้นไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจะพ้นจากกามฉันทะได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน และไม่ใช่อารมณ์ของสมถภาวนาที่ถูกต้อง จะพ้นจากกามฉันทะได้อย่างไร

ถ้าเห็นพระพุทธรูป แต่ไม่ได้ระลึกถึงพระพุทธคุณ จะพ้นจากกามฉันทะได้ไหม

ข้อความใน ฌานสูตรที่ ๒ ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียดขึ้นว่า การที่จะบรรลุปฐมฌาน จะต้องละธรรมอะไรบ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ กามสัญญา ๑ พยาบาทสัญญา ๑ วิหิงสาสัญญา ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อบรรลุปฐมฌาน ฯ

นอกจากจะละกามฉันทะ ต้องละกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และ แม้กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญาด้วย

สัญญาเป็นการจำ ที่ยังติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะยังจำอยู่ ไม่ลืม ที่เป็นกามสัญญาเพราะว่าไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่อารมณ์ของสมถะ คือ ไม่ใช่สมถกัมมัฏฐาน

ถ. สำหรับพุทธานุสสติ สัมมาสัมพุทโธ หมายความว่าอย่างไร

สุ. เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจอรรถของคำว่า ตรัสรู้ ไหม รู้อะไรที่จะเป็นตรัสรู้ และตรัสรู้เอง คนอื่นไม่สามารถที่จะตรัสรู้เองได้ และก็โดยชอบ โดยความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ถ. ตรัสรู้อะไร

สุ. ตรัสรู้อริยสัจธรรม

ถ. รู้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้อริยสัจธรรม รู้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ระลึกถึง พระพุทธคุณแล้วใช่ไหม

สุ. ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน คงจะยากที่จะระลึกถึงการตรัสรู้เองโดยชอบของพระผู้มีพระภาค เพราะไม่เข้าใจว่าตรัสรู้อะไร ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าผู้ที่เจริญสติ เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่ประจักษ์ความดับ แต่รู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประจักษ์ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏด้วยพระองค์เองโดยชอบ

ถ. และต่อไป

สุ. วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ถ. วิชชา ๘ จรณะ ๑๕ คืออะไร

สุ. วิชชา ๘ คือ

๑. วิปัสสนา เห็นธรรมในธรรม

๒. มโนมยิทธิ เนรมิตรูป

๓. อิทธิวิธิ คือ สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

๔. ทิพพโสตธาตุ คือ มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงใกล้ เสียงไกล

๕. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิต จิตใครขณะนี้มีราคะ มีโทสะ ซึ่งแม้จะเกิดดับอย่างรวดเร็ว ผู้ที่บรรลุญาณนี้ก็สามารถที่จะรู้วาระจิตของผู้อื่นได้

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณที่ระลึกชาติได้

๗. จุตูปปาตญาณ คือ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์

๘. อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสหรือ อาสวะเหลืออยู่เลย

จะระลึกถึงพระพุทธคุณข้อนี้ไหม ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าวิชชาคืออะไร และจรณะคืออะไร จะระลึกอย่างไร

เมื่อได้ฟังธรรม เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรม ที่ได้ฟัง และเข้าใจ ก็เห็นพระคุณตามขั้นที่ได้ฟัง แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติตาม ก็เห็นพระคุณที่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม และเมื่อเจริญสติบรรลุปัญญาแต่ละขั้น ก็ย่อมเห็นพระคุณตามปัญญาขั้นต่างๆ ที่ได้บรรลุ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามนึกอยากจะเจริญสมถภาวนา และจะระลึกถึงพระพุทธคุณได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้เข้าใจพระธรรมแล้วก็ควรจะระลึก มากบ้างน้อยบ้างก็ยังดี ตามสติปัญญาที่มี ตามขั้น อย่างการระลึกว่า พระองค์เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อนี้ก็คงจะไม่ยากใช่ไหมสำหรับบุคคลทั้งหลายที่เป็นผู้ที่มีกิเลส เวลาที่กิเลสเกิด รู้ได้เลยว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเทียบกับตัวท่านไม่ได้ แต่เมื่อได้ทรงแสดงธรรมและท่านได้เข้าใจในธรรมนั้นแล้ว รู้ว่าพระองค์เป็นผู้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ก็ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ที่สามารถดับกิเลสได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยชอบได้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะระลึกถึงพระพุทธคุณตามที่บุคคลในครั้งโน้นได้ประจักษ์แจ้งแล้ว แต่สำหรับบุคคลในครั้งนี้ ยังจะต้องศึกษาว่า วิชชาจะระณะสัมปันโน ได้แก่อะไรบ้าง และถึงแม้ว่าจะได้ทราบแล้ว ก็ยังไม่ซาบซึ้งใช่ไหม แต่ว่าสามารถรู้ได้ว่า เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง และไม่มีผู้ใดสามารถที่จะประกอบด้วยวิชชาและจรณะเสมอด้วยพระองค์

ผู้ฟัง สำหรับการระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ทำให้สะดุ้งหวาดกลัว ดิฉันคิดว่า กว่าจะระลึกถึงทั่ว ก็คงจะกลัวเสียจนจะช็อกไปเลย แต่มีหนทางอื่นที่ท่านอาจารย์สอนอยู่ คือ เจริญสติเท่านั้น รู้สึกว่าไว และก็ฉับพลันที่จะช่วยได้ เพราะดิฉันเคยมีความกลัว เมื่อเจริญสติใหม่ๆ นึกถึงคนที่เขาผูกคอตาย กลัวมาก รู้สึกว่าใจหวั่นไหวมากทีเดียว ตอนนั้นดิฉันอยู่ในห้องน้ำ เมื่อกลัวอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้สภาพที่จิตเป็นอย่างนั้น กำลังหวั่นไหว และสติระลึกรู้สภาพที่จิตกำลังหวั่นไหวนั้น ความกลัวก็หายไป

สุ. เป็นประสบการณ์ของท่านผู้ฟังจริงๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณและให้จิตสงบนี้จะยากสักแค่ไหน เพราะท่านผู้ฟังกล่าวว่า ถ้าจะระลึกจนทั่วก็คงจะกลัวเสียมากมายแล้ว ใช่ไหม และจิตไม่สามารถที่จะสงบ ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ สามารถที่จะระลึกตั้งแต่เป็นปุถุชน จนกระทั่งถึงเป็นพระอรหันต์ โดยการที่ว่า เมื่อระลึกถึงแล้ว ประพฤติปฏิบัติทันที เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีภัยอันตรายปรากฏเฉพาะหน้า และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น คือ การปฏิบัติบูชา เป็นการนอบน้อมสักการะอย่างยิ่ง เป็นการระลึกถึงพระคุณอย่างยิ่ง

ผู้ฟัง ขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ ขณะที่เจริญสติระลึกรู้นั้น ดิฉันคิดว่า สภาพของพระพุทธคุณที่ประทับอยู่ในความรู้สึกของผู้ที่ปฏิบัติ ย่อมสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง

สุ. เพราะว่าการนมัสการพระผู้มีพระภาค จากขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ซึ่งมีข้อความว่า คำว่า นมัสการอยู่ ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน

ในขณะใดที่อกุศลจิตเกิด และเห็นว่าเป็นอกุศล ไม่ควรที่จะปล่อยจิตให้เป็นอกุศลอย่างนั้น เพราะว่าผู้อื่นไม่สามารถจะรู้ใจของตนเองได้นอกจากตนเองเท่านั้น ที่เห็นอกุศลจิตของตน และก็ละ แม้แต่จะเป็นความตระหนี่ หรือความริษยาต่างๆ ขณะนั้นแม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็เป็นการนมัสการด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้างในชีวิตประจำวัน แต่ว่าสูงที่สุด คือ ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เพราะฉะนั้น การบูชาพระคุณ หรือว่าการระลึกถึงพระคุณในขณะที่สติเกิด นั่นเป็นการระลึกถึงพระคุณอย่างสูงสุด

สำหรับจรณะ ๑๕ คือ

ศีลสังวร ๑

อินทรียสังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๑

โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค ๑

ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียรโดยความเป็นผู้ตื่น ๑

สัทธรรม ๗ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา

และฌาน ๔ รวมเป็นจรณะ ๑๕

ศีลสังวร ก็คงเข้าใจกันอยู่แล้ว อินทรียสังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คงจะเข้าใจกันอยู่แล้ว โภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นจรณะด้วย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เห็นความสำคัญของการรู้จักประมาณในการบริโภค ก็จะระลึกถึงพระคุณที่เป็น วิชชาจะระณะสัมปันโน ไม่ได้ เพราะส่วนมากมักจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงการเป็นผู้ที่รู้จักประมาณในการบริโภค ถ้าท่านผู้ใดได้ประพฤติปฏิบัติตามแล้ว จะเห็นคุณจริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะในทางโลก แต่ในทางธรรมด้วย

ถ. ผมยังไม่เห็นว่า โภชเนมัตตัญญุตา มีคุณอย่างไร ตามพระไตรปิฎก หรือใน วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า การรู้จักประมาณในโภชนะนี้ทำให้อายุยืน แต่ทางโลกบางคนเขาบอกว่า มื้อเย็นไม่กินจะเป็นโรคกระเพาะ ปัญญาของตัวเองก็ยังไม่ถึง ทางโลกก็ว่าอย่างหนึ่ง ทางธรรมก็ว่าอย่างหนึ่ง ไม่รู้จะเชื่อทางไหนแน่

ผู้ฟัง ดิฉันเป็นผู้ที่รับประทานอาหารจุจนเป็นนิสัย เมื่อก่อนรับประทานอาหารอิ่มไปหน่อย ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความลำบาก มีอึดอัดอยู่บ้าง แต่สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงไม่มี ก็มีตัวตนที่อึดอัดไป ก็ทนได้ แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้ว ดิฉันก็สนใจในอรรถพยัญชนะต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมมากที่ว่า เป็นผู้ที่บริโภคอาหารพอประมาณ จะเป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย และก็ปฏิบัติธรรมได้ดี ดิฉันก็พยายามสังวรมาก

สุ. ลองพิจารณาให้ลึกซึ้งทั้งโลกทั้งธรรม ทั้งสุขภาพร่างกาย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไป ย่อมให้โทษเป็นของที่แน่นอน และทั้งเศรษฐกิจ ลองคิดดูว่าการที่เป็นผู้รู้จักประมาณนี้ จะให้ผลหลายด้านทีเดียวทั้งในทางโลก และในทางธรรม ทุกคนเกิดมาแล้ว เป็นสัตว์โลก จะมีความเป็นอยู่ได้ก็ด้วยอาหาร ขาดอาหารไม่ได้ แต่ขอให้พิจารณาการรับประทานว่า มีความติด หรือว่ามีความพอใจมากน้อยเท่าไร ถ้าเป็นผู้ที่รู้ประมาณในการรับประทาน ในการบริโภคจริงๆ แสดงถึงการละคลายความติดได้ไหม สังเกตดูในชีวิตจริงๆ

ผู้ฟัง เป็นการละคลายพอสมควร แต่ต้องเจริญสติ ถ้าไม่เจริญสติ ไม่รู้เลยเพราะเป็นตัวตนที่ชอบหรือไม่ชอบ แต่ถ้าเจริญสติแล้ว แม้ขณะที่กำลังรับประทานก็มีความรู้สึกว่า มีรสปรากฏ ก็ระลึกรู้ นอกจากรส อ่อนก็มี แข็งก็มี และหลังจากที่เจริญสติมาแล้วประมาณปีหนึ่ง ดิฉันก็นึกได้ว่า ที่เรากินเข้าไปทุกวันๆ อาหารที่แสนอร่อย ที่แท้ก็เป็นลักษณะของธาตุดิน เราเอาดินไปเติมดินในร่างกายนี้เอง รู้สึกอย่างนี้จริงๆ

สุ. สำหรับพระคุณประการต่อไป ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาความละเอียดได้ใน วิสุทธิมรรค

สุคะโต ผู้เสด็จไปดีแล้วทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ

โลกะวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก โลกมีมากมายหลายโลก เป็นจักรวาล เป็น อนันตจักรวาล แต่พระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสัตวโลก สังขารโลก หรือโอกาสโลก คือ พื้นโลกต่างๆ

อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ เป็นสารถีผู้ฝึกซึ่งบุรุษที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีใครสามารถที่จะฝึกบุคคลใดๆ ได้เท่ากับพระผู้มีพระภาค เพราะว่าไม่ต้องทรงลงอาญาเลย

สัตถา เทวะมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกมนุษย์เท่านั้น ไม่ว่าในเทวโลก มารโลก พรหมโลก ก็ไม่มีผู้ใดประเสริฐยิ่งกว่าพระองค์

พุทโธ เป็นผู้ทรงตื่นแล้ว

ภะคะวา เป็นผู้ทรงมีส่วนแห่งธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ที่ทรงจำแนกธรรม

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565