แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 771

ถ. พระอริยเจ้าระดับพระอนาคามีลงมา ยังจะต้องศึกษาอยู่ไหม

สุ. คำว่า ศึกษา ใช้สำหรับพระโสดาบันจนกระทั่งถึงพระอนาคามี เรียกว่า เสขบุคคล สำหรับผู้ที่ไม่ต้องศึกษา มีบุคคลประเภทเดียว จำพวกเดียว คือ พระอรหันต์ ชื่อว่า อเสขบุคคล

ถ. หมายความว่า ไม่ต้องศึกษาอีกใช่ไหม

สุ. ศึกษาจบแล้ว

ถ. ท่านยังมีความสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติอะไรบ้างไหม

สุ. ศึกษาจบแล้ว ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุความเป็น พระอรหันต์ ไม่ต้องศึกษาข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสอีก แต่เนื่องจากท่านไม่ใช่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเพียงพระสาวก ท่านจึงต้องศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ แต่ไม่ต้องศึกษาในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะศึกษาจบแล้ว ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีกิเลสเหลือที่จะดับอีก

เพราะฉะนั้น การศึกษา ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะการฟังธรรม ขณะที่สติเกิด และศึกษา ขณะนั้นเป็นไตรสิกขาที่จะทำให้ประจักษ์ในสภาพธรรมที่ทรงแสดงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

การศึกษาต้องเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ไม่ชื่อว่าเสขบุคคล แต่กำลังประพฤติปฏิบัติหนทางที่จะให้เป็นพระเสขะ คือ ผู้ที่ยังจะต้องศึกษาต่อไป

ในบางแห่ง คือ ในอรรถกถาได้แสดงว่า เสขบุคคลนั้น หมายความถึง กัลยาณปุถุชน คือ รวมผู้ที่กำลังประพฤติปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานด้วย ซึ่งย่อมหมายความถึงผู้ที่บรรลุถึงวิปัสสนาญาณแล้วด้วยที่เป็นกัลยาณปุถุชน แต่ถ้าเป็นปุถุชนที่ยังเป็นพาลปุถุชน เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสมาก และไม่ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่เสขบุคคล

ถ. คำว่า กัมมัฏฐาน หมายถึงอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างเดียว หรือว่าอย่างอื่นด้วย

สุ. กัมมัฏฐาน หมายความถึงอารมณ์ที่จิตเข้าไปตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ถ. สมถกัมมัฏฐานมีอารมณ์ ๔๐ วิปัสสนากัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง

สุ. สติปัฏฐาน ๔

ถ. สติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในครั้งพุทธกาลที่พระผู้มีพระภาคยังทรงมีพระชนม์อยู่ ผู้ปฏิบัติมักจะไปทูลขอกัมมัฏฐานกัน

สุ. ในครั้งโน้น พระภิกษุทั้งหลายแม้แต่พระปัญจวัคคีย์ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม จะเรียกว่าภิกษุเหล่านั้นขอกัมมัฏฐานหรือเปล่า และเวลาที่ภิกษุสงสัยในข้อประพฤติปฏิบัติก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลถามเพื่อให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม อย่างนั้นจะชื่อว่าขอกัมมัฏฐานหรือเปล่า

ถ. อย่างนั้นไม่ใช่

สุ. ถ้าเช่นนั้น ขอกัมมัฏฐาน หมายความว่าอย่างไร

ถ. เข้าใจว่า ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมต้องไปขอกัมมัฎฐาน

สุ. ขออย่างไร

. ก็แล้วแต่ผู้ให้จะให้ ตามปกติอารมณ์กัมมัฏฐานมี ๔๐ จริตของคนมี ๖ ซึ่งจริตของใครจะต้องใช้อารมณ์กัมมัฏฐานอย่างไรนั้น อาจารย์จะเป็นผู้ให้ว่า จะต้องใช้อารมณ์อย่างนี้ ใช้อารมณ์อย่างนั้น ใน วิสุทธิมรรค ทุกคนที่จะเจริญสมณธรรม ต้องไปขอกัมมัฏฐานทุกที นับจากพระผู้มีพระภาคเป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด รองลงมาคือพระอสีติมหาสาวก ต่อมาก็พระอรหันต์ จนกระทั่งถึงพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน แต่ขณะนี้ไม่มี ก็ลงมาจนกระทั่งถึงผู้ที่ทรงพระไตรปิฎก ทวิปิฎก เอกปิฎก จนกระทั่งถ้าไม่มี นิกายใดนิกายหนึ่งก็ได้

สุ. เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ท่านที่ต้องการความสงบจะไปขอกัมมัฏฐาน จะได้อะไรมา

ถ. ในสมัยนี้ สมมติว่ามีอาจารย์ที่สมควร ก็ยังต้องขออยู่ ไปขอแล้วก็ได้อารมณ์มา

สุ. อารมณ์อะไร

ถ. ก็ได้กัมมัฏฐาน

สุ. ยกตัวอย่าง กสิณ จะได้อะไรมา ปฐวีกสิณ จะได้อะไรมา

ถ. ในนั้นท่านแสดงว่า ผู้ที่มีโมหะจริต ต้องเจริญนีลกสิณ แล้วแต่อาจารย์จะเห็นว่าผู้ขอนั้นมีจริตอย่างไหน ท่านก็จะให้อารมณ์อย่างนั้นๆ

สุ. อย่างในเวลานี้ มีหลายท่านที่นี่จะเจริญกสิณ ไปขอกสิณ จะได้อะไรมา

ถ. ก็ต้องได้กสิณ

สุ. กสิณ คืออะไรที่ได้มา

ถ. ก็มีปฐวีกสิณ เป็นต้น และเราก็ต้องสร้างขึ้น เมื่อเราจะเจริญกสิณ เราก็ต้องสร้างกสิณขึ้นมา

สุ. เป็นวงกลมใช่ไหม ได้มาแล้วทำอย่างไร อาจารย์ให้กสิณมา ก็ถือกสิณมา และทำอย่างไร

ถ. เขาก็มีแนะนำข้อปฏิบัติ คือ ให้ตั้งกสิณ กสิณมีวงกว้างเท่าไหร่ ๑ คืบ ๔ นิ้ว และก็ตั้ง

สุ. ตั้งแล้ว อย่างไรอีกต่อไป

ถ. ให้เพ่งดู

สุ. ให้ดูกสิณ แล้วจิตสงบอย่างไร

ถ. เพ่งแล้วต้องสงบ

สุ. เวลานี้เพ่งอะไรก็ได้ จะสงบไหม

ถ. ถ้าเพ่งแล้ว ถ้าจับอยู่ที่กสิณก็ต้องสงบ

สุ. เป็นไปไม่ได้ เพ่งด้วยความต้องการได้ไหม

ถ. ได้

สุ. ได้ ถ้าเช่นนั้นจะชื่อว่าสงบได้อย่างไร ในเมื่อเป็นความต้องการ

ถ. ก็ก่อนเพ่ง มีความต้องการอยู่

สุ. สำหรับผู้ที่ไม่เคยอบรม เช่น ปฐวีกสิณ มาในอดีตชาติ ไม่สามารถที่จะน้อมระลึกถึงความเป็นดิน สภาพที่เป็นดินของสิ่งทั้งหลายและสงบได้

ในวันหนึ่งๆ มีใครบ้างที่จะน้อมระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นดินเท่านั้นเอง เวลานี้มีสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า เคยน้อมระลึกบ้างไหมว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นดิน แต่ว่ามีรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่น้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดินเท่านั้น ย่อมทำให้จิตสงบ แต่ถ้าจะไปจ้องอยู่ที่ปฐวีกสิณ โดยที่ไม่รู้ว่าจ้องเพราะอะไร จิตย่อมไม่สงบ

ไม่มีปฐวีกสิณในที่นี้ เพียงแต่น้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดิน จะรู้ได้ว่าจิตสงบ แต่ว่าถึงมีปฐวีกสิณตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่ไม่น้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดิน จิตก็ย่อมไม่สงบ และดินที่เป็นปฐวีกสิณนี้ ไม่ใช่เฉพาะวงกลมที่ตั้งอยู่ ปฐวีกสิณที่เป็นกัมมัฏฐานจะต้องเป็นการน้อมระลึกถึงธาตุดิน หรือสภาพที่เป็นดินทั้งหมด ไม่ให้มีอะไรปรากฏเลย นอกจากธาตุที่เป็นดิน หรือเป็นสภาพที่เป็นดินเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจิตจะตรึกนึกถึงแต่ดินซึ่งเป็นเพียงดิน เมื่อเป็นเพียงดินเท่านั้น ก็ไม่ควรที่จะเกิดความยินดียินร้ายในสิ่งที่เป็นดินนั้น

แต่เพราะจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะระลึกถึงธาตุดินได้บ่อยๆ อย่างเช่น เดี๋ยวนี้น้อมระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นตัวของเราเอง ที่ร่างกายก็เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นดินเท่านั้น ซึ่งเมื่อไม่สามารถที่จะน้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดินของสิ่งต่างๆ ได้บ่อยๆ เนืองๆ จึงต้องอาศัยปฐวีกสิณเป็นเครื่องเตือนให้น้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดิน และจิตสงบไม่ตกไปสู่อารมณ์อื่นบ่อยๆ จึงจะเป็นสมถภาวนาโดยอาศัยปฐวีกสิณ แต่ต้องน้อมถึงธาตุดิน จนกระทั่งเวลาที่เป็นนิมิต จะไม่มีอย่างอื่นปรากฏนอกจากปฐวีกสิณเท่านั้น และจะไปขอกันอย่างไร

ถ. ก็ถ้าจริตไม่ถูกกัน นิมิตจะไม่เกิด เช่น คนมีราคะจริต ท่านก็มักจะให้เจริญอสุภะบ้าง เพื่อให้เกิดนิมิต

สุ. อสุภะเจริญอย่างไร

ถ. อสุภะ ก็ไปเพ่งดูซากศพ

สุ. น้อมระลึกถึงความเป็นอสุภะของสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า แต่เพราะไม่สามารถที่จะให้จิตตรึกนึกถึงลักษณะที่เป็นอสุภะได้สงบนานๆ จึงต้องอาศัยอสุภะซึ่งเป็นซากศพ แต่ก็ต้องเข้าใจความหมายด้วยว่า จิตเริ่มสงบหรือไม่สงบในขณะที่น้อมระลึกถึงอสุภะ เพราะว่าคนส่วนมากกลัว จะสงบได้อย่างไรเวลาที่เห็นอสุภะ

ถ. ถ้ากลัวก็ไม่สงบ

สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ลักษณะของจิตที่สงบ และเข้าใจว่า เหตุใดอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ นั้นจึงทำให้จิตสงบ แต่ไม่ใช่ความสงบอยู่ที่อารมณ์ ความสงบอยู่ที่ปัญญา ซึ่งรู้ลักษณะของจิตที่สงบเพราะระลึกถึงอารมณ์นั้น

ถ. ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องเข้าไปขอกัมมัฏฐานจากอาจารย์

สุ. เวลานี้ไม่สามารถจะสงบได้หรือ

ถ. ได้

สุ. เพราะอะไร เพราะเข้าใจใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเพราะกสิณ ถ้าอาจารย์เพียงแต่ให้ปฐวีกสิณมาและบอกให้ไปเพ่งเฉยๆ บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะสงบได้ แต่ที่ความสงบเกิดขึ้นแม้ในขณะนี้ เพราะความเข้าใจของตนเองในลักษณะที่สงบของจิตว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น อาจารย์จะต้องอธิบายประโยชน์ของการที่จะน้อมจิตไปสู่อารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานแต่ละอารมณ์ให้ถูกต้อง

ถ. แน่นอน ในเมื่อขอกัมมัฏฐานแล้ว ท่านก็ต้องอธิบายด้วย โดยย่อก็มี โดยอย่างกลางก็มี โดยพิสดารก็มี

สุ. เพราะฉะนั้น ที่ไปขอกัมมัฏฐาน ไม่ใช่ไปขอตัวกสิณ แต่ไปขอความเข้าใจในการที่จะอบรมจิตให้สงบ

ถ. กสิณท่านให้มาด้วย อารมณ์ท่านก็ต้องให้มาด้วย

สุ. ไม่ใช่ให้มาแต่อารมณ์

ถ. แนะนำให้ความเข้าใจด้วย เช่น คำว่า นิมิต ก็มี ๓ อย่าง มีบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ซึ่งท่านก็ต้องอธิบายว่า นิมิตเหล่านี้มีลักษณะอย่างไร

สุ. ถ้าขณะนั้นสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นสติปัฏฐาน จิตสงบไหม

ถ. สงบ

สุ. เพราะฉะนั้น สมถะ คือ ความสงบ มี ๒ อย่าง คือ ความสงบในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งต้องมีแน่นอนอย่างหนึ่ง และความสงบซึ่งเป็นสมถภาวนา ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ. ใน วิสุทธิมรรค มีว่า พระโยคาวจรไปขอกัมมัฏฐาน เมื่อได้กัมมัฏฐานแล้วท่านก็ไปเจริญสมณธรรม เมื่อเจริญสมณธรรมแล้วไม่ได้บรรลุฌานจิต กลับไปบรรลุเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง ทำไมท่านขอกัมมัฏฐานไปเจริญสมาธิ ผลจึงเป็นพระอริยบุคคล

สุ. เวลาที่ท่านผู้ฟังกำลังฟังเรื่องสมถภาวนา แต่ว่าก่อนฟังเรื่องสมถภาวนา ท่านเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่ฟังเรื่องความสงบ คือ สมถภาวนา สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้ามีเหตุสมควรแก่ผล ท่านผู้ใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในขณะนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เหมือนกับขอกัมมัฏฐานไหม คือ มีความเข้าใจเรื่องสมถะคือความสงบ แต่ว่าท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเพราะมีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่ให้ถึงอัปปนา แต่กำลังฟังเรื่องสมถะเพื่อที่จะได้รู้ว่า ขณะที่จิตสงบเป็นกุศลซึ่งไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปทางกาย ไม่ได้เป็นไปทางวาจา แต่ว่าเป็นไปทางใจ เพราะไม่ได้มีการให้ทานตลอดเวลา ไม่มีวัตถุที่จะก้าวล่วงซึ่งเป็นการวิรัติทุจริตเป็นศีล แต่ขณะที่นั่งเฉยๆ อย่างนี้ จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นสติปัฏฐานตลอดเวลาก็ไม่ได้ แล้วแต่ปัจจัย จิตอาจจะเกิดขึ้นเป็นกุศล สงบ และสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจธรรมแล้ว เวลาที่อ่าน วิสุทธิมรรค หรือ พระไตรปิฎก ย่อมเป็นผู้ที่ไม่สงสัยในพระธรรมที่ปรากฏใน วิสุทธิมรรค และใน พระไตรปิฎก เพราะว่าการอบรมเจริญธรรมนั้น มีทั้งขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ และขั้นสติปัฏฐาน แต่จุดประสงค์สูงสุด คือ สติปัฏฐาน และสมถะที่จะสงบนั้น ก็เพื่อไม่ให้จิตเป็นไปในอกุศล ในขณะที่ไม่ใช่ทานและศีล

ถ. มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า จิตของผู้ปฏิบัติถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิแล้ว

สุ. ยากจริงๆ สำหรับการเจริญกสิณ ๑๐ และอสุภะ ๑๐ มีนิมิตเป็นอารมณ์ มีนิมิตปรากฏ แต่สำหรับพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณสติ อุปสมานุสสติ ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์

สำหรับการเจริญปฐวีกสิณ ท่านผู้ฟังทราบเหตุผลแล้วว่า จิตสงบเมื่อระลึกถึงสภาพที่เป็นเพียงดินจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ไม่พ้นไปจากธาตุดิน หรือสภาพที่เป็นดินเท่านั้น แต่เพราะมี สีสันวัณณะต่างๆ ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ซึ่งเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงสภาพของธาตุดิน โดยที่ยังไม่ได้อบรมมาในอดีตชาติเพียงพอ จิตย่อมไม่สามารถที่จะสงบตั้งมั่นถึงอุปจารสมาธิได้ จึงต้องใช้ดินที่ทำเป็นวงกลม เป็นปฐวีกสิณ ซึ่งจิตจะสงบเพราะได้เพ่งจ้องดูที่ปฐวีกสิณ และน้อมระลึกถึงสภาพที่เป็นดิน โดยหลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง อยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่ ปฐวีกสิณให้สงบยิ่งขึ้น จนกระทั่งเวลาที่แม้หลับตานิมิตของปฐวีกสิณก็ปรากฏ ในขณะนั้นชื่อว่า อุคคหนิมิต ซึ่งบุคคลนั้นจะต้องประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ว่าจิตที่สงบมั่นคงที่นิมิตซึ่งปรากฏในขณะนั้น ก็ยังไม่ใช่อุปจารสมาธิ จะต้องมีความสามารถให้นิมิตนั้นปรากฏไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด และจิตสงบปราศจากนิวรณ์ ซึ่งขณะที่นิมิตที่ปรากฏ ก็ปรากฏบริสุทธิ์กว่าที่เคยปรากฏร้อยเท่า พันทวี พร้อมทั้งปราศจากนิวรณ์ในขณะนั้น จึงจะเป็นอุปจารสมาธิ

ถ. หมายความว่า อุปจารสมาธิ ก็เอานิมิตเป็นเครื่องวัด

สุ. สำหรับกสิณ ๑๐ และอสุภะ ๑๐ แต่สำหรับอนุสสติที่ไม่ใช่ อานาปานสติ และไม่ใช่กายคตาสติ ไม่มีนิมิต และทั้งๆ ที่ไม่มีนิมิต ความสงบจะต้องเทียบเท่ากับผู้ที่เจริญกสิณที่ถึงอุปจารสมาธิ และมีนิมิตปรากฏ

ถ. อัปปนาสมาธิมีอะไรเป็นเครื่องวัด

สุ. อัปปนาสมาธิมีองค์ของฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เจตสิก ๕ องค์ มีกำลังจนกระทั่งปรากฏเป็นองค์ในขณะนั้น จึงจะเป็นอัปปนาสมาธิ

ถ. ขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ องค์ของฌาน ๕ องค์ ยังไม่ปรากฏหรือ

สุ. ต้องมีแน่นอน แต่ยังไม่มีกำลังถึงกับจะปรากฏเป็นองค์ เพราะถ้าปราศจากองค์ ๕ นี้ ความสงบก็จะไม่ตั้งมั่น

เปิด  255
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566