แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 782

สุ. เพราะฉะนั้น เรื่องการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ขั้นต้นอย่าหยิบธรรมหนึ่งธรรมใดมาถือ หรือมากระทำ เช่น จะทำโพชฌงค์นี้หรือว่าจะทำโพชฌงค์นั้น แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานก่อน

ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เริ่มด้วยสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่เริ่มด้วยโพชฌงค์ ๗ เพราะฉะนั้น จะต้องมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน และอบรมไปจนกระทั่งปัญญาเพิ่มขึ้น ชินขึ้น รู้ชัดขึ้น ประจักษ์แจ้ง และทั่วขึ้นด้วย และสภาพธรรมทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้นอย่างถูกต้องจริงๆ จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องไม่มีการข้ามขั้น หรือว่าไม่มีการเพียรกระทำด้วยความเป็นตัวตน ถ้าจะมีการเพียรกระทำด้วยความเป็นตัวตนขณะใด ขณะนั้นผิด ต้องรู้จริงๆ ว่าผิด ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ข้อความต่อไปใน มหาอัสสปุรสูตร ตามท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ถามเมื่อสักครู่นี้ว่า นอกจากการนั่ง การนอน การยืน การเดิน พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทพระภิกษุว่า

... พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย

สามัญญัตถะ คือ ผล ได้แก่ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ตลอดหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะขณะนั่ง นอน ยืน เดิน

ถ. อาจารย์ช่วยขยายความคำว่า ทำความรู้สึกตัวบ่อยๆ

สุ. เดี๋ยวนี้ บ่อยๆ คือ ทุกขณะที่จะเกิดได้

ถ. ไม่ทราบว่าทำอย่างไร ช่วยบอกวิธีทำด้วย

สุ. สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อะไรกำลังปรากฏทางตา หลายท่านบอกว่ายาก และยังไม่เคยระลึกเลย ยังเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้ศึกษารู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตามีจริงกำลังปรากฏ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น

ถ. ที่กล่าวว่า ให้ทรงผ้าสังฆาฏิ คู้เข้า หรือเหยียดออก เดินหน้า ถอยหลัง ทำอะไรทุกอย่าง ให้ทำความรู้สึกตัวบ่อยๆ เช่นนี้ใช่หรือเปล่า

สุ. ตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับ ฆราวาสก็แต่งตัว ทำอะไรก็แล้วแต่ ตามปกติ

ถ. ลักษณะนี้ผมเคยเพียรมาแล้ว

สุ. สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีการแล้ว ไม่มีการจบ จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ อย่าคิดว่าทำแล้ว เสร็จแล้ว หมดแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าทำมาหมดแล้ว

ขณะนี้ก็ยังเห็นอยู่ ยังต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดยังคงเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็หมายความว่า สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะเดียวกันกับที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร

ถ. พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทว่า ให้มีสัมปชัญญะในอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน จนกระทั่งหลับ ก็ให้มีความรู้สึกตัว หลับที่มีความรู้สึกตัวเป็นแบบไหนครับ

สุ. คือ ก่อนหลับสติเกิดรู้สภาพธรรมในขณะนั้น และก็หลับ ตลอดเวลานั้น ถ้าวิถีจิตทางมโนทวารไม่เกิด ก็ไม่ฝัน แต่ว่าตามความเป็นจริงนอกจาก พระอรหันต์แล้ว บุคคลทั้งหลายย่อมฝัน และเวลาที่ตื่นขึ้นสติเกิดทันที ในขณะนั้นรู้ว่าตื่น นั่นคือการรู้สึกตัวในขณะที่ตื่น รู้ว่าขณะที่ฝันเป็นเพียงความคิด และขณะที่ตื่นไม่ใช่ขณะที่ฝัน

ถ. หมายความว่า ก่อนหลับมีสติ

สุ. ทันทีที่จะหลับนั่นแหละ รู้

ถ. ระหว่างที่หลับนั้นมีสติด้วยหรือเปล่า

สุ. เวลาที่หลับ ส่วนมากจะมีการฝันซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย จะฝันเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ แล้วแต่อารมณ์ที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความฝันนั้น แต่ว่าบางครั้งฝันว่า เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นเพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพียงนิดเดียว และอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านของจิต ก็เป็นเหตุให้เกิดความฝันเกิดขึ้นติดต่อทันที ทำให้ลักษณะนั้นไม่เป็นการรู้สึกตัวเหมือนขณะที่ตื่น และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ. ขณะที่ภวังคจิตเกิด ขณะที่หลับ ที่จิตเป็นภวังค์นั้น มีสัมปชัญญะด้วยหรือเปล่า

สุ. ไม่มี ไม่ใช้คำว่า สัมปชัญญะ แม้ว่าจะมีสติเกิดกับมหาวิบากจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะว่าการเกิดในมนุษย์เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ย่อมเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต ต้องแยกกัน กุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล กุศลเป็นจิตและเจตสิกซึ่งดีงามเป็นเหตุให้กระทำกรรมที่ดีดับไป แล้วแต่ว่าในชาติหนึ่งจะมีจิตเจตสิกที่เป็นกุศลเกิดกระทำกรรมมากน้อยเท่าไร เมื่อจิตเจตสิกซึ่งเป็นกุศลที่กระทำกรรมดับไปแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยสะสมอยู่ในจิตดวง ต่อๆ ไป ทำให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศล ได้แก่ กุศลวิบาก

กุศลกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิต่อจากจุติจิต ซึ่งก่อนที่มหาวิบากจะทำกิจปฏิสนธิ ต้องมีจุติจิตเกิดและดับไปของชาติก่อน จากนั้นกรรมที่เป็นกุศลทำให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมินี้ สำหรับผู้ที่ไม่พิการแต่กำเนิดก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เพราะเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น สภาพที่กระทำกิจที่ดีงามจึงไม่เกิดปรากฏในขณะนั้น แต่ว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถอบรมเจริญกุศลได้ เพราะมีพื้นของจิตที่ประกอบด้วยธรรมที่ดีงาม เช่น สติ แต่ในขณะที่ปฏิสนธิก็ดี ขณะที่เป็นภวังค์ก็ดี ไม่ใช่ขณะที่เป็นกุศล เพราะว่าเป็นเพียงผลของกุศลกรรมในอดีตที่จะเกิดสืบต่อภพชาติไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ในขณะที่กำลังศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

ถ. หมายความว่า คำว่า หลับมีสติ ก็เอาเฉพาะแค่ก่อนจะหลับ

สุ. กำลังจะหลับ และรู้

ถ. ขณะที่หลับ ไม่ได้อยู่ในความหมายนี้

สุ. จิตเป็นภวังค์ มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ใช่กุศลกรรม ไม่ใช่การอบรมเจริญธรรมฝ่ายดีที่เป็นกุศล เป็นแต่เพียงกุศลวิบากซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

ถ. จุติจิต ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต บุคคลก่อนจะตายต้องจุติจิต แปลว่า ตายก่อน พอจุติจิตดับไป ปฏิสนธิก็เกิดแทน ใช่ไหม

สุ. สืบต่อทันที

ถ. ส่วนจุติจิตดับไปแล้ว

สุ. จิตทุกดวงดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย

ถ. ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นมนุษย์ ก็ต้องรักษาภพชาติ ภวังค์ก็รักษาภพชาติ

สุ. ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและก็ดับไป เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาตินั้นไว้ตามปฏิสนธิจิต คือ ปฏิสนธิจิตเป็นอย่างไร ภวังคจิตก็เป็นอย่างนั้น จนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกในอารมณ์ใหม่ของปัจจุบันชาติ

ถ. เมื่อเกิดนึกขึ้น ภวังคจิตก็ดับใช่ไหม

สุ. เวลาที่มีการเห็น อารมณ์ใหม่ของโลกใหม่ ของชาติใหม่ ของภพใหม่ ในขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นเสียงของชาติใหม่ ของโลกใหม่ ของภพใหม่ ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต การเห็น การได้ยินชาตินี้ทั้งหมดเป็นของใหม่สำหรับในชาตินี้ ไม่เหมือนกับอารมณ์ของภวังคจิตเลย

ถ. ภวังคจิตก็ไม่มี

สุ. ภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ใหม่ของชาตินี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย

ถ. ไม่มีในตัวบุคคล

สุ. ภวังคจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะกรรมไม่ได้ทำให้เฉพาะปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้น แต่กรรมยังทำให้ภวังคจิตเกิดเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว และกรรมก็ยังทำให้จุติจิตเกิดขึ้นเป็นดวงสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

ถ. เมื่อภวังคจิตเกิดขึ้น และจิตที่นึกคิด

สุ. ไม่ใช่ภวังค์ ขณะใดที่คิด ขณะนั้นรู้อารมณ์ของชาตินี้

ถ. ระหว่างที่นึกคิด ภวังคจิตก็ไม่มีใช่ไหม

สุ. ไม่มี จิตเกิดขึ้นขณะเดียว ขณะใดที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีภวังค์ ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีจิตอื่นเลย

ถ. จิตนึกคิด

สุ. จิตนึกคิดก็เป็นจิตที่เกิดทางมโนทวาร เป็นมโนทวารวิถีจิต

ถ. ๒ อย่างนี้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องดับไปเสียก่อน

สุ. ไม่มีอะไรอยู่ด้วยกันเลย จิตเกิดขึ้นทีละขณะ ขณะเดียว ดวงเดียวเท่านั้น มโนทวารวิถีจิตไม่ใช่ภวังคจิต

คำว่า วิถีจิต หมายความถึงจิตที่รู้อารมณ์ใหม่ของชาติใหม่ทั้งหมด ทางตาเป็นจักขุวิญญาณวิถีจิต ถ้ารู้เสียงทางหู ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวงก็ตามที่รู้เสียงทางหู เป็น โสตทวารวิถีจิตทั้งหมด ขณะใดที่มีการได้กลิ่น จะเป็นจิตกี่ดวงก็ตามที่รู้กลิ่นนั้น จิตทุกดวงนั้นเป็นฆานทวารวิถีจิต

คำว่า วิถีจิต หมายความถึงจิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ภวังค์พ้นจากการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ภวังค์คิดไม่ได้ ขณะใดที่คิด เป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร

ข้อความต่อไป ใน มหาอัสสปุรสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ในการภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความสำคัญหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้

ข้อความตอนนี้ หมายถึงการละด้วยการอบรมเจริญความสงบที่เป็นสมถภาวนา เพราะฉะนั้น ข้อความต่อไปนี้เป็นการที่ภิกษุนั้นบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนกระทั่งถึงการที่สามารถระลึกชาติต่างๆ ได้ และรู้จุติและ อุปัตติของสัตว์ทั้งหลาย และในที่สุดก็ถึงอาสวักขยญาณ คือ การดับอาสวกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท นั่นคือผลของการเสพเสนาสนะสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ซึ่งถ้ามีข้อความอย่างนี้ตอนใดในพระไตรปิฎก อ่านไปโดยตลอดก็จะพบถึงการบรรลุฌานจิตทั้งหมด จนกระทั่งถึงอาสวักขยญาณ

สำหรับอาสวักขยญาณนั้น เป็นการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์

ถ. คำว่า สติระลึกรู้ของจริงที่ปรากฏ ก็ปรากฏอยู่ ของจริงก็มีอยู่แล้ว เรียนถามว่า จริงมีหนึ่ง คือ มีจริงที่เที่ยงกับจริงที่ไม่เที่ยง จะใช้อย่างนี้ได้ไหม

สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า สภาพที่ปรากฏที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร เพราะเคยยึดถือว่า เป็นตัวตนที่กำลังเห็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าบุคคลต่างๆ และตามความเป็นจริง เวลาฟังเรื่องของการเห็น ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็คือ ขณะนี้ ที่กำลังเห็นนั่นเอง

เพราะฉะนั้น สติ คือ ขณะที่รู้สึกตัวและศึกษารู้ว่า ขณะเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้ อาการรู้ หรือธาตุรู้ชนิดหนึ่ง เพราะคำว่านามธรรมรูปธรรมก็เคยได้ยินได้ฟังกันบ่อยมากทีเดียว แต่ว่านามธรรมไม่ใช่ชื่อ หรือว่านามธรรมไม่ใช่เรื่องของธรรม แต่เป็นสภาพที่กำลังมีจริง ที่กำลังรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่จะรู้ว่านามธรรมมีอะไรบ้าง ก็คือ ขณะนี้กำลังเห็นไหม ถ้ากำลังเห็น ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้

และไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินก็มี ขณะที่ได้ยินนั้นเป็นอย่างไรที่ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมที่ได้ยิน ก็คือ ในขณะนั้นระลึกรู้ว่า ขณะที่ได้ยินนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง เพราะสภาพรู้หรือนามธรรมเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ขาดเลย และมีลักษณะต่างๆ คือ รู้อารมณ์ต่างๆ เช่น นามธรรมทางตาก็เห็นเท่านั้น นามธรรมทางหูก็ได้ยินเท่านั้น ไม่ใช่ขณะที่คิดนึกถึงความหมายของสิ่งที่กำลังได้ยิน

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริง มีลักษณะจริงๆ ให้ศึกษา ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น แม้แต่เพียงความหมายหรืออรรถของคำว่า นามธรรม ก็จะต้องรู้ว่า หมายความถึงสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ มีสภาพนามธรรมที่กำลังรู้ แต่ยังไม่ชินกับการที่จะศึกษาโดยน้อมไปรู้ในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ขณะที่กำลังได้ยินจริงๆ ขณะที่กำลังจำได้จริงๆ ขณะที่กำลังคิดนึกจริงๆ ในขณะนี้นั่นเอง

เปิด  260
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566