แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 784

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌา (โลภะ) มาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยังละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละความผูกโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความแข่งดี ยังละความแข่งดีไม่ได้ มีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้ มีมายา ยังละมายาไม่ได้ มีความปรารถนาลามก ยังละความปรารถนาลามกไม่ได้ มีความเห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะยังละไม่ได้ซึ่งกิเลสเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงไม่กล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาวุธชื่อมตชะ มีคมสองข้าง ทั้งชุบและลับดีแล้ว สอดไว้ในฝักและพันไว้ แม้ฉันใด เรากล่าวบรรพชาของภิกษุนี้มีอุปมาฉันนั้น

ท่านผู้ฟังเห็นความต่างกันของเพศฆราวาสกับบรรพชิตไหม คือ ฆราวาสก็ยังเป็นผู้ที่มีอภิชฌา ความโลภ มีพยาบาท เป็นผู้มักโกรธ หรือว่าบางท่านจะลบหลู่ แข่งดี ริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมายา นั่นเป็นชีวิตของฆราวาส ซึ่งถ้าท่านผู้ใดพากเพียรที่จะขัดเกลากิเลส ก็จะต้องอบรมปัญญาที่จะละกิเลสด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าสำหรับพระภิกษุ ถึงแม้ว่ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะต้องรู้ความต่างกันของจิตของพระภิกษุกับจิตของฆราวาสว่า สำหรับพระภิกษุไม่ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่ง ถ้าภิกษุรูปใดมีอภิชฌาคือโลภะมาก และก็ยังละอภิชฌาไม่ได้ หรือว่ายังไม่ได้เพียรที่จะละอภิชฌา

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ครองผ้าสังฆาฏิ เราหากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงครองผ้าสังฆาฏิไม่ บุคคลถือเพศเปลือยกาย เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะด้วยอาการเพียงเปลือยกายไม่ บุคคลที่หมักหมมด้วยธุลี เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะด้วยอาการเพียงเป็นคนหมักหมมด้วยธุลีไม่ บุคคลลงอาบน้ำ (วันละสามครั้ง) เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงลงอาบน้ำไม่ บุคคลอยู่โคนไม้เป็นวัตร เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอยู่โคนไม้เป็นวัตรไม่ บุคคลอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงเป็นผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรไม่ บุคคลอบกายเป็นวัตร เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงอบกายไม่ บุคคลกินภัตโดยวาระ เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงกินภัตโดยวาระไม่ บุคคลที่ท่องมนต์ เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงท่องมนต์ไม่ บุคคลที่มุ่นผม เราก็หากล่าวว่าเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงมุ่นผมไม่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าเมื่อบุคคลครองผ้าสังฆาฏิแล้ว มีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็สละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความแข่งดี ก็ละความแข่งดีได้ มีความริษยาก็ละความริษยาได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดได้ มีมายาก็ละมายาได้ มีความปรารถนาลามก ก็ละความปรารถนาลามกได้ มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการสักว่า ครองผ้าสังฆาฏิไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต พึงทำให้บุคคลนั้นครองผ้าสังฆาฏิตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงเชิญชวนผู้นั้นให้ครองผ้าสังฆาฏิอย่างเดียวว่า ท่านผู้มีหน้าอันเจริญ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ เมื่อท่านครองผ้าสังฆาฏิอยู่ มีอภิชฌามาก ก็จักละอภิชฌาเสียได้ ...

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของบุคคลผู้ถือเพศเปลือยกาย บุคคลผู้หมักหมมด้วยธุลี บุคคลที่ลงอาบน้ำ ๓ ครั้ง บุคคลผู้อยู่โคนไม้ ที่แจ้ง จนกระทั่งถึงบุคคลที่มุ่นผม

ข้อความต่อไป สำหรับจิตใจของผู้ที่เป็นพระภิกษุ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาเสียได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทเสียได้ มีความมักโกรธก็ละความมักโกรธเสียได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธเสียได้ มีความลบหลู่ก็ละความลบหลู่เสียได้ มีความแข่งดีก็ละความแข่งดีเสียได้ มีความริษยาก็ละความริษยาเสียได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่เสียได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดเสียได้ มีมายาก็ละมายาเสียได้ มีความปรารถนาลามกก็ละความปรารถนาลามกเสียได้ มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดเสียได้

ท่านผู้ฟังพิจารณาตามหรือเปล่าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ความมักโกรธ ถ้าเป็นของบุคคลอื่น ท่านก็ไม่สามารถที่จะละความมักโกรธของผู้อื่นได้ พระธรรมมีประโยชน์ที่จะน้อมพิจารณาถึงสภาพจิตใจที่แท้จริงของท่านว่า สมควรที่จะละสิ่งที่สะสมมาที่เป็นอกุศล เช่น ความมักโกรธ ความผูกโกรธ แต่บางท่านกลับเข้าใจว่า ดี สมควรโกรธ น่าโกรธ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่ควรเจริญ หรือควรสะสมให้มากขึ้น

ความลบหลู่ ความแข่งดี ความริษยา ความตระหนี่ ความโอ้อวด ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะเป็นอันตราย ไม่ได้ทำอันตรายให้แก่ใครเลย แต่ความโอ้อวดดีไหม และถ้าคนที่มีมากๆ และไม่รู้สึกว่าเป็นอกุศล ก็จะไม่ละความโอ้อวดเลย แม้ว่าความโอ้อวดไม่ใช่อกุศลที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นอกุศลธรรมที่ไม่ควรที่จะสะสม แม้เป็นเพียงความโอ้อวด

มายา คือ ความไม่จริง ซึ่งสำหรับเพศบรรพชิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในเรื่องการขัดเกลาไว้มาก เพราะบางท่านไม่ใช่ผู้ที่ทรงวินัย แต่ก็ใคร่ที่จะให้ผู้อื่นสรรเสริญว่าเป็นผู้ที่ทรงวินัย นั่นก็เป็นอาการของมายา หรือว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ประกอบด้วยกุศลธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ใคร่ที่จะให้บุคคลอื่นเห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะอย่างนั้น และสรรเสริญในลักษณะอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นมายา

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะละเสียได้ซึ่งกิเลสอันเป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดังว่าน้ำฝาดของสมณะ อันเป็นเหตุให้เกิดในอบาย มีวิบากอันตนพึงเสวยในทุคติเหล่านี้แล เราจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวงนี้ ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเธอเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติแล้ว นามกายก็สงบ เธอมี นามกายสงบแล้ว ก็เสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตก็ตั้งมั่น เธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น และเธอมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันกว้างขวางเป็นส่วนใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกหมดทุกส่วนโดยประการทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ... ข้อความต่อไป เป็นจิตที่สหรคตด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา

จากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณีมีน้ำใส จืด เย็น สะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาแต่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และจากที่ไหนๆ อันความร้อนแผดเผา เร่าร้อน ลำบาก ระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความกระวนกระวายเพราะความร้อนเสียได้ แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวว่า เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลพราหมณ์ ... สกุลแพศย์ ... สกุลศูทร ... ออกจากสกุลไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ความสงบจิต ณ ภายใน เรากล่าวว่า กุลบุตรนั้นเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันดียิ่งของสมณะ

ถ้ากุลบุตรออกจากสกุลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยความรู้ยิ่งโดยตนเอง เข้าถึงพร้อมแล้วอยู่ในชาตินี้ เรากล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของกุลบุตรที่ออกจากสกุลพราหมณ์ สกุลแพศย์ สกุลศูทร และสกุลไหนๆ โดนนัยเดียวกัน

ข้อความตอนท้ายมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

จบ จูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐

นี่เป็นเรื่องของความสงบจิต ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของกุศล คือ ขณะใดที่จิตประกอบด้วยเมตตา ขณะนั้นย่อมเกิดปราโมทย์ เพราะว่าพ้นแล้วจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งปวง เวลาที่เกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นลักษณะของความโสมนัสว่า มีความต่างกัน เช่น ความโสมนัสเพียงเล็กน้อยไม่ถึงขั้นปราโมทย์ ต่อจากนั้นเมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ก็ยังมีขั้นปีติซึ่งมีกำลังแรงกว่าขั้นปราโมทย์ และขณะที่เกิดปีติในกุศล นามกายก็สงบ จิต เจตสิกสงบ ระงับจากอกุศล เธอมีนามกายสงบแล้ว ก็เสวยสุข ขณะนั้นไม่เดือดร้อนเพราะไม่กระวนกระวายเร่าร้อนด้วยอกุศลธรรมใดๆ เมื่อเธอมีสุข จิตก็ตั้งมั่น มีจิตสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔

ฆราวาสก็อบรมเจริญได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่เป็นบรรพชิตก็ไม่สามารถเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุผู้ที่จะอบรมขัดเกลากิเลส ฆราวาสย่อมสามารถที่จะพากเพียรกระทำตามได้ แม้ว่าไม่ใช่เพศบรรพชิต

ถ. คำว่า รู้ นี้ครอบโลก ใช่ไหม ทางตาก็รู้ ทางหูก็รู้ ทางจมูกก็รู้ ทางลิ้นก็รู้ ทางกายก็รู้ มีแค่รู้เพียงอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มีหรือ และที่ปรากฏนี้เป็นอะไร

สุ. ที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม

ถ. ปรากฏทางตาก็เพียงแค่รู้ ปรากฏทางหูก็เพียงแค่รู้ ทางจมูกก็เพียงแค่รู้

สุ. รูปมีไหม มีนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่มีแต่นามธรรม

ถ. นามเป็นตัวรู้ รูปไม่รู้เรื่องนี่

สุ. แต่ว่ารูปปรากฏได้ เพราะมีสภาพรู้ที่กำลังรู้รูปนั้น

ถ. ตามที่ท่านอาจารย์อธิบายอยู่นี้ สรุปคืออนัตตา ใช่ไหม

สุ. รูปธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตาทั้งหมด

ถ. ที่อาจารย์อธิบาย คืออนัตตาใช่ไหม

สุ. แค่สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนเท่านั้น ยังจบไม่ได้ ยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัด นั่นเป็นขั้นความเข้าใจ แต่ขั้นรู้ กำลังเห็น สติระลึกหรือเปล่า

ถ. ระลึก รู้ ทำไมสติจะไม่ระลึก

สุ. รู้นามธรรมหรือรูปธรรม

ถ. รู้ทั้งรูปทั้งนาม

สุ. พร้อมกันไม่ได้

ถ. ทำไม ก็นามรู้ก่อน รูปก็เกิด นามต้องรู้ก่อน ใช่ไหม

สุ. นามธรรมเป็นสภาพรู้ อาการรู้ ขณะที่กำลังเห็น สติระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม

ถ. ถ้าพูดถึงสติระลึก รู้ว่าสีที่มาปรากฏทางตา ก็เพียงแค่ระลึกรู้

สุ. รู้ และศึกษาที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ ขณะนั้นไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะมีความรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นเพียงชั่วขณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จะมีบุคคล มีตัวตนอยู่ในชั่วขณะที่เพียงเห็นนั้นไม่ได้

ถ. สติระลึกรู้อยู่ ตัวเราของเราก็ไม่มี

สุ. รูปล่ะ ทางตาก็ต้องระลึกด้วย ขณะนี้เห็นเป็นอะไร

ถ. เห็นเป็นสี อย่างนั้นหรือ

สุ. เท่านั้นหรือ

ถ. เพียงแค่รู้

สุ. มีบุคคล มีสัตว์ มีวัตถุสิ่งต่างๆ ในห้องนี้บ้างไหม

ถ. มี ก็เป็นกลางๆ เป็นธรรมชาติ คล้ายๆ ไม่รู้เรื่องอะไร วัตถุก็ไม่รู้เรื่องอะไร อย่างดิฉันเห็นอาจารย์ ก็เพียงรู้ อาจารย์ไม่มี เพียงแค่รู้

สุ. รู้อะไร

ถ. รู้อยู่ที่รู้

สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง ใช่ไหม

ถ. มีจริง รู้แค่รู้ อยู่แค่รู้ จะว่าอาจารย์ก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ก็ไม่ใช่ เพียงแค่รู้

สุ. หลังจากนั้น มีนามธรรมอะไร และกำลังพูดกับใคร

ถ. ที่พูดนี่เป็นสมมติบัญญัติ ใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง ขณะที่คิดว่ากำลังพูดกับใคร ขณะนั้นเป็นอะไร

ถ. เป็นรู้ มีแต่แค่รู้เท่านั้น

สุ. รู้เฉยๆ ไม่ได้ เพราะว่าขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ต้องรู้ความต่างกัน

ถ. คิดอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง ถ้าจะพูดไป ก็มีอาจารย์อีกคนหนึ่ง

สุ. ที่ว่า แม้กำลังพูดนี่ก็ไม่มีใครทั้งนั้น ก็เป็นเพราะว่าสติมั่นคงที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นมีลักษณะของรูปปรากฏกับนามธรรมที่กำลังรู้ ชั่วขณะนั้นจึงไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เหมือนอย่างขณะที่กำลังได้ยินนี่ เสียงปรากฏกับได้ยิน ไม่ได้ปรากฏกับใครเลย เสียงปรากฏกับสภาพธรรมที่รู้เสียง ที่ใช้คำว่าได้ยิน หมายความถึงสภาพธรรมที่รู้เสียง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่คิดนึก เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏและรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะรู้ว่าขณะนั้นมีสภาพรู้เสียง เสียงจึงปรากฏ ชั่วขณะที่สภาพรู้เสียงกำลังรู้เสียงจริง ๆ ขณะนั้นไม่สามารถที่จะมีสัตว์บุคคลได้เลย เป็นเพียงชั่วขณะที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏและก็หมดไป เพราะฉะนั้น ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจึงไม่มีในขณะที่รู้ความจริงอย่างนั้น และเวลาที่กำลังพูด สติจะระลึกที่ได้ยินก็ได้ ที่เสียงก็ได้ ที่คิดนึกก็ได้

เพราะฉะนั้น ความหมายของความสงบในภายในก็คือว่า เป็นโลกซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้นเข้ามาปนอยู่ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

แท้ที่จริงแล้วจะเริ่มเข้าใจจากความหยาบไปหาความละเอียดก็ได้ มีใครปรากฏในขณะที่กำลังได้ยินเสียงเมื่อครู่นี้บ้างไหม เป็นแต่เพียงเสียงซึ่งปรากฏกับสภาพธรรมที่รู้เสียงในขณะนั้นเท่านั้น ถ้าปัญญาเกิดในขณะนั้น ลบความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเสียงต่างๆ ออกไป ขณะนั้นเป็นความสงบในภายใน ไม่มีภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับขณะที่กำลังได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏนั้นเลย สัตว์บุคคลใดๆ ก็ไม่มี โลกภายนอกไม่มี คนหนึ่งคนใดก็ไม่มี มีแต่เพียงสภาพนามธรรมและรูปธรรม คือ นามธรรมกำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น ขณะนั้นจริงๆ เป็นความสงบในภายใน

แต่ว่าโลกนี่ใหญ่มาก มีคนมากมาย นั่นไม่ใช่ความสงบในภายใน เพราะเต็มไปด้วยคนมากมายในโลก จะสงบได้อย่างไร

แต่ขณะใดก็ตามที่สติเกิด ไม่มีคน ไม่มีอะไรเลย มีแต่สภาพธรรมที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะนั้นเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นเป็นภายใน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสงบ เพราะไม่มีโลก ไม่มีคนเต็มโลกอย่างที่เคยคิด อย่างที่เคยยึดถือ

เปิด  263
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565