แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 786

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาถึงจิตของผู้ที่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้จนกระทั่งสามารถที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ย่อมจะเห็นคุณของพระสังฆรัตนะที่เป็นไปได้ยาก ไม่ใช่เป็นไปได้ง่าย

การที่จะดับกิเลสรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่ของง่าย แม้ว่าจะได้บวชเป็นบรรพชิต เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่การที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลากิเลส ดับกิเลสได้ในวันหนึ่ง

ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา โรหิณีเถรีคาถา ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงถึงว่า เหตุใดสมณะจึงเป็นที่รัก เพราะว่าผู้ที่จะมีความเคารพ นอบน้อมสักการะในพระสงฆ์ คือ พระสังฆรัตนะ ย่อมเป็นผู้ที่รู้คุณของการที่บุคคลนั้นสามารถที่จะประพฤติธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความมีว่า

บิดาถามเราว่า

ดูกร แม่โหริณีผู้เจริญ เจ้าเห็นสมณะนี้ว่าเป็นสมณะ รู้สึกว่าเป็นสมณะ สรรเสริญสมณะทั้งหลาย เจ้าเห็นจักเป็นสมณะเป็นแน่แท้ เจ้าได้ถวายข้าวน้ำอันไพบูลย์แก่สมณะทั้งหลาย ดูกร แม่โรหิณี บัดนี้ เราจักขอถามเจ้า เพราะเหตุไร สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของเจ้า สมณะล้วนแต่เป็นผู้ที่ไม่ใคร่ต่อการงาน เกียจคร้าน อาศัยสิ่งของที่คนอื่นให้เลี้ยงชีวิต เป็นผู้มีความหวังอาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แต่คนอื่น ใคร่ต่ออาหารอันอร่อยดี เพราะเหตุไรสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของเจ้า

เราตอบท่านว่า

ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อถามดิฉันถึงคุณความดีของสมณะทั้งหลายมานานแล้ว ดิฉันจักชี้แจงคุณความดี คือ ปัญญา ศีล และความบากบั่นของสมณะเหล่านั้นให้ทราบ สมณะทั้งหลายเป็นผู้ใคร่ต่อการงาน ไม่เกียจคร้าน ทำแต่การงานอันประเสริฐสุด ย่อมละราคะและโทสะได้ เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

ไม่ได้เกียจคร้านเลยสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะว่าการงานนั้นเป็นการงานที่ประเสริฐสุด

สมณะทั้งหลายย่อมกำจัดรากเหง้าทั้ง ๓ ของบาป มีปกติทำแต่กรรมอันสะอาด ละบาปกรรมทั้งปวงได้แล้ว เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของสมณะเหล่านั้น ล้วนแต่สะอาด เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

สมณะทั้งหลายล้วนแต่ปราศจากมลทิน เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก บริบูรณ์ด้วยธรรมขาว เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน สมณะทั้งหลายเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม แสดงอรรถและธรรมให้ฟัง เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

สมณะทั้งหลายเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้ประเสริฐ เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม มีจิตแน่วเป็นอารมณ์เดียว มีสติ เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน สมณะทั้งหลายเป็นผู้ไปไกล มีสติ พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ทั่วถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

สมณะทั้งหลายหลีกไปจากบ้านใด ย่อมไม่กังวลถึงสัตว์หรือสังขารอะไรในบ้านนั้น เป็นผู้ไม่มีความห่วงใยหลีกไป เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉันสมณะทั้งหลายย่อมไม่เก็บสะสมข้าวไว้ในฉาง ไม่สะสมไว้ในหม้อ ไม่สะสมไว้ในกระเช้า เที่ยวแสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

สมณะทั้งหลายท่านไม่รับเงิน ไม่รับทอง ไม่รับรูปิยะ เยียวยาอัตภาพด้วยอาหารอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน สมณะทั้งหลายออกบวชจากตระกูลต่างๆ กัน และจากชนบทต่างๆ กัน แต่ย่อมรักใคร่กันและกันดี เพราะเหตุนั้นสมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของดิฉัน

บิดากล่าวกะเราต่อไปว่า

ดูกร ลูกโรหิณีผู้เจริญ เจ้าเกิดในตระกูลของเราเพื่อประโยชน์แก่เราหนอ เพราะเจ้าเป็นผู้มีศรัทธาและมีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ และเจ้าย่อมรู้จักพระสงฆ์ว่า เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของโลก ขอให้สมณะเหล่านั้นรับทักษิณาทานของเราบ้าง เพราะไทยธรรมที่เราตั้งไว้แล้วในสมณะเหล่านั้น จักมีผลไพบูลย์แก่เรา

เรากล่าวกะบิดาอย่างนี้ว่า

ถ้าคุณพ่อกลัวต่อทุกข์ ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์ จงเข้าถึงพระพุทธเจ้ากับทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์ผู้คงที่ว่าเป็นสรณะ จงสมาทานศีล ด้วยว่าสรณคมน์และการสมาทานศีลจักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คุณพ่อ

บิดาได้กล่าวกะเราว่า

พ่อจะเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ผู้คงที่ว่าเป็นสรณะ และจะสมาทานศีล เพราะสรณคมน์และการสมาทานศีลนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เรา เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม แต่เดี๋ยวนี้เราเป็นพราหมณ์แล้ว เราเป็นผู้มีวิชชา ๓ มีความสวัสดีถึงฝั่งแห่งเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว

ท่านผู้ฟังจะเห็นความสมบูรณ์ของพยัญชนะ ซึ่งโรหิณีเถรีได้กล่าวกับท่านบิดาว่า ถ้าคุณพ่อกลัวต่อทุกข์ ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์ จงเข้าถึงพระพุทธเจ้ากับทั้ง พระธรรมและพระสงฆ์ผู้คงที่ว่าเป็นสรณะ เพราะท่านเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว และเป็นผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะถ้ายังไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังไม่ใช่เป็นพระสังฆรัตนะ ย่อมเป็นผู้ที่คงที่ไม่ได้ ย่อมเป็นผู้ที่หวั่นไหวไปด้วยอกุศลต่างๆ คือ โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีศรัทธาที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการกระทำที่ยาก ไม่ใช่การกระทำที่ง่ายเลย พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นขัดเกลา และมีความประพฤติเป็นไปให้สมกับเพศ คือ สมณเพศซึ่งเป็นบรรพชิต

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุนั้น เป็นผู้ที่ทรงคุณมาก เพราะฉะนั้น พระภิกษุย่อมไม่แสดงความเคารพคฤหัสถ์ แต่ย่อมแสดงความเคารพพระรัตนตรัย คือ พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์

สำหรับการที่พระภิกษุไม่แสดงความเคารพคฤหัสถ์ แม้ผู้ที่มีวัยสูงกว่า ก็เป็นที่สงสัยของบางท่าน แม้ในครั้งพุทธกาล ซึ่งเห็นว่าบุคคลควรเคารพในวัยหรือว่าในอายุ

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๘๓ ซึ่งมีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมืองมธุรา ครั้งนั้นแล พราหมณ์กัณฑรายนะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน พระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า

ดูกร ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้ฟังมาดังนี้ว่า ท่านสมณะกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกร ท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกร ท่านกัจจานะ การกระทำเช่นนี้นั้น เป็นการไม่สมควรแท้ ฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในครั้งนั้นเวลาที่มีข้อข้องใจประการใด ท่านก็ถามกัน ตรงๆ เพื่อต้องการเหตุผล เมื่อเห็นว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ต้อนรับ เชื้อเชิญบุคคลที่มีวัยสูงกว่า ท่านก็ใคร่ที่จะได้ทราบเหตุผล เพราะฉะนั้น ท่านก็ถามท่าน พระมหากัจจานะตรงๆ

ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็ก ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ทรงเห็นพระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่ ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีแต่กำเนิดก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้ ดูกร พราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียวแล

ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะได้ลุกจากที่นั่ง แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่มด้วยเศียรเกล้ากล่าวว่า

พระผู้เป็นเจ้าแก่ ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น

ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นกับทั้ง พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเรื่องการขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ทราบถึงเหตุผลตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ควรเคารพอย่างสูงสุดนั้นคือพระรัตนตรัย ก็อาจจะทำให้บุคคลผู้นั้นยังเคลือบแคลงสงสัยในพระผู้มีพระภาค ในพระธรรม และในพระสงฆ์ได้

สำหรับความต่างกันของพระพุทธรัตนะและพระสังฆรัตนะ ซึ่งเป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดา ทรงเป็นผู้ชี้หนทางให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตาม

ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุต มัชฌิมปัณณากส์ พุทธสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างกันของพระองค์กับพระสงฆ์สาวกว่า

พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดพ้นเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ต่างพากันเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เราเรียกว่า ผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นจะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน จะมีอะไรเป็นข้อประสงค์ที่ยิ่งกว่ากัน จะมีอะไรเป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันต-สัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับ เป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆ ไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง ประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้ เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคต-อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา

จบ สูตรที่ ๖

ข้อความในพระสูตรนี้สั้น คงจะยังไม่สามารถทำให้เห็นความต่างกันของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบความละเอียดในพระไตรปิฎกบ้างและในอรรถกถาบ้าง ที่แสดงถึงพระคุณที่ต่างกันของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ซึ่งเป็นสังฆรัตนะ

ใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ได้อุปมาลักษณะของพระรัตนตรัย มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาค คือ พระพุทธรัตนะ เปรียบดุจพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เปรียบดุจข่ายรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ พระสงฆ์เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว คือ หมายถึงผู้ที่มีความเร่าร้อนอันสงบแล้วเพราะรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญ

ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจลักษณะของความเร่าร้อนว่าคือ ทุกๆ ขณะที่เกิดจากกิเลส และการยึดถือสภาพธรรมเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ เปรียบด้วยพื้นโลกที่มีความเร่าร้อน อันรัศมีแห่งพระจันทร์เพ็ญสาดส่องแล้ว เพราะว่าเป็นผู้ที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน พระธรรมซึ่งมีประการดังกล่าวแล้ว เปรียบด้วยข่ายรัศมีแห่งพระอาทิตย์อ่อนนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจโลกที่มีความมืดมน อันพระอาทิตย์อ่อนนั้นขจัดแล้ว

ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงเปรียบด้วยพระอาทิตย์อ่อน เพราะถ้าเป็นพระอาทิตย์ซึ่งแรงกล้า ก็ย่อมจะเผาไหม้ ร้อน มีอันตราย แต่เมื่อเป็นพระอาทิตย์ที่อ่อน ก็ไม่ทำอันตรายเช่นนั้น

พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยบุรุษเผาป่า พระธรรมซึ่งเผาป่าคือกิเลส เปรียบดุจไฟไหม้ป่า พระสงฆ์เปรียบดุจภูมิภาคอันเป็นที่นาเพราะมีป่าอันไฟไหม้แล้ว และชื่อว่าเป็นบุญเขตเพราะท่านเผากิเลสได้แล้ว

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจมหาเมฆ พระธรรมเปรียบดุจน้ำฝน พระสงฆ์ซึ่งมีเรณูคือกิเลสสงบระงับแล้ว เปรียบดุจชนบทที่มีละอองคือฝุ่นอันสงบแล้วเพราะฝนตกลงมา

พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนนายสารถีผู้ฉลาด พระธรรมเปรียบดุจอุบายฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบดุจม้าอาชาไนยที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ถอนลูกศร เพราะทรงถอนลูกศรคือทิฏฐิทั้งหมด ขึ้นได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายเครื่องถอนลูกศร พระสงฆ์คือผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิได้แล้ว เปรียบเหมือนคนที่มีลูกศรอันถอนขึ้นแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ถอนลูกศร เพราะถอนคือลอกฝ้า ในดวงตาคือโมหะขึ้นเสียได้ พระธรรมเปรียบดุจอุบายที่เป็นเครื่องลอกฝ้า พระสงฆ์ คือผู้ลอกฝ้าคือโมหะได้แล้ว และผู้มีนัยน์ตาคือญาณอันแจ่มใส เปรียบดุจคนที่มีนัยน์ตาอันแจ่มใสเพราะลอกฝ้าออกเสียแล้ว

เปิด  240
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566