แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 787

พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยนายแพทย์ผู้ฉลาด เพราะสามารถนำออกซึ่งตัวพยาธิคืออนุสัยกิเลส พระธรรมเปรียบดุจยาที่ผสมดีแล้ว พระสงฆ์ผู้มีอนุสัยคือพยาธิอันเป็นตัวกิเลสสงบดีแล้ว เปรียบดุจหมู่ชนซึ่งมีโรคอันสงบแล้วเพราะการใช้ยา

พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนผู้ชี้ทางที่ฉลาด พระธรรมเปรียบเหมือนทางอันดี และเปรียบดุจภูมิภาคอันเกษม พระสงฆ์เปรียบดุจหมู่ชนผู้ไปถึงภูมิภาคอันเกษม

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจนายเรือผู้ฉลาด พระธรรมเปรียบดุจเรือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นคนเดินทางเปรียบดุจผู้ถึงฝั่งแล้วเพราะอาศัยเรือนั้น

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจหิมวันตประเทศ พระธรรมเปรียบตัวยาที่เกิดขึ้นที่ หิมวันตประเทศนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่หายโรคเพราะบริโภคยา

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจคนให้ทรัพย์ พระธรรมเปรียบดุจทรัพย์ พระสงฆ์ซึ่งได้อริยทรัพย์มาโดยชอบ เปรียบดุจคนที่ได้ทรัพย์ตามความประสงค์

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบดุจขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่ถึงขุมทรัพย์แล้ว

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบุรุษผู้ฉลาดซึ่งให้ความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบดุจความไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ถึงความไม่มีภัยโดยส่วนเดียวแล้ว เปรียบดุจคนที่มีความไม่มีภัยแล้ว

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้บอกความสบายใจคือโปร่งใจ พระธรรมเปรียบดุจความโปร่งใจ พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่มีความโปร่งใจ

พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องแนะนำที่มีประโยชน์ พระสงฆ์เปรียบดุจชนที่ได้รับประโยชน์ของตนแล้วเพราะการดำเนินตามอุบายที่มีประโยชน์

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบ่อเกิดแห่งรัตนะ พระธรรมเปรียบดุจรัตนะอันมีแก่น

สาร พระสงฆ์เปรียบดุจคนที่ใช้สอยรัตนะอันมีแก่นสาร

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ให้พระราชกุมารสรงน้ำ พระธรรมเปรียบดุจน้ำอาบที่สะอาด พระสงฆ์เปรียบดุจผู้ได้อาบน้ำคือพระสัทธรรมแล้ว ดุจหมู่แห่งพระราชกุมารผู้สรงน้ำแล้ว

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบดุจเครื่องประดับ พระสงฆ์ผู้ประดับประดาแล้วด้วยพระสัทธรรม เปรียบดุจหมู่แห่งพระราชกุมารผู้ทรงประดับประดาแล้ว

พระผู้มีพระภาคเปรียบด้วยต้นจันทน์หอม พระธรรมเปรียบด้วยแก่นจันทน์ที่เกิดจากต้นจันทน์หอมนั้น พระสงฆ์ผู้ระงับความกระวนกระวายได้โดยส่วนเดียว เพราะการนำพระสัทธรรมมาปฏิบัติ เปรียบดุจคนที่ระงับความกระวนกระวายได้แล้ว เพราะใช้จันทน์หอม

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจบิดาผู้ประทานมรดกคือพระธรรม พระธรรมเปรียบดุจมรดก พระสงฆ์ผู้ควรแก่มรดกคือพระสัทธรรม เปรียบดุจหมู่แห่งบุตรผู้ควรแก่มรดก

พระผู้มีพระภาคเปรียบดุจดอกปทุมที่แย้มบาน พระธรรมเปรียบดุจน้ำหวานที่เกิดในดอกปทุมนั้น พระสงฆ์เปรียบดุจหมู่ผึ้งผู้บริโภคน้ำหวานนั้น

ก็บัณฑิตพึงประกาศพระรัตนตรัยนี้ ด้วยอุปมาทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ ดังนี้แล

การที่กล่าวถึงพระคุณต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้น้อมระลึกถึงความประเสริฐของพระรัตนตรัย และจิตสงบ ปราศจากอกุศลในขณะนั้น เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญกุศลนั้น มีทั้งขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ คือ ความสงบ และขั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น สมถะไม่ใช่ขณะอื่น แต่คือทุกๆ ขณะที่จิตสงบได้ เวลาที่ฟัง พระธรรมอาจจะไม่ได้สังเกตพิจารณาลักษณะสภาพของจิตว่า สงบหรือไม่สงบ ปราโมทย์หรือไม่ปราโมทย์ ปีติหรือไม่ปีติ แต่ถ้าสติเกิด สามารถที่จะรู้ลักษณะของความสงบของจิต ซึ่งขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม หรือว่าการสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะให้มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้จิตสงบขึ้น โดยเข้าถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค พระคุณของพระธรรม และพระคุณของพระสงฆ์ด้วย

และเมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ประจักษ์ในพระคุณทั้ง ๓ ยิ่งขึ้น เพราะขณะใดที่เข้าใจธรรม ก็รู้ในลักษณะสภาพความไม่เป็นภัยของธรรม ความโปร่งใจ ความสงบที่เกิดจากการเข้าใจธรรม และเห็นคุณของพระผู้มีพระภาคผู้ประทานพระธรรมเป็นมรดกแก่สาวกของพระองค์ด้วย

เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ก็เพื่อเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เกิดความสงบยิ่งขึ้นในขณะที่ฟังธรรม หรือว่าสวดมนต์ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย

พระคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น มีปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ซึ่งผู้ที่เข้าใจในพระคุณนั้นแล้ว จะสรรเสริญพระคุณโดยอเนกปริยายเป็นอันมาก ไม่สามารถที่จะจบหรือสิ้นสุดลงได้ และมีการอุปมาพระคุณของพระผู้มีพระภาคโดยประการต่างๆ เช่น ครั้งหนึ่งท่านพระรักขิตเถระได้กล่าวถึงพระธรรม และสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาคตลอดราตรีหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้เสด็จไปสู่สถานที่ที่พระเถระกำลังแสดงธรรมและสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาค เมื่อหมดเวลาแสดงธรรมแล้ว พระราชาพระองค์นั้นได้ตรัสถามถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ท่านพระเถระแสดงว่า มีเพียงเท่านั้นหรือ หรือว่าจะมีโดยกระการอื่นๆ อีกซึ่งพระเถระรูปนั้นก็ได้กล่าวถึงพระคุณโดยการอุปมาว่า พระคุณทั้งหลายที่สาวกทั้งหลายสรรเสริญพระผู้มีพระภาคนั้น อุปมาเหมือนน้ำที่ลอดในช่องเข็มที่จุ่มในมหาสมุทร ส่วนพระคุณที่ไม่ได้กล่าวถึงหรือไม่ได้แสดงนั้น อุปมาเหมือนส่วนของน้ำในมหาสมุทรที่ไม่ได้ลอดช่องเข็มนั้น

เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเทียบกันได้ว่า ไม่ว่าจะมีการพรรณนาพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังเป็นส่วนน้อยของพระคุณของพระองค์ หรืออุปมาเหมือนนกเล็กๆ ซึ่งบินไปในอากาศ ส่วนของปีกของนกเล็กๆ ที่ถูกต้องอากาศนั้น เท่ากับส่วนที่บุคคลทั้งหลายสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระคุณของพระองค์นั้นมีมากมาย อุปมาเหมือนส่วนของอากาศที่ไม่ได้ถูกปีกของนกเล็กๆ กระทบ

ก่อนที่จะถึงอนุสสติประการอื่นต่อจากพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาถึงพระคุณของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสีหนาทสูตร ข้อความบางตอนมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกนอกพระนครเขตพระนครเวสาลี ก็โดยสมัยนั้นแล สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน สุนักขัตตลิจฉวีบุตรนั้นได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า

ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม

สมัยนี้คนที่คิดอย่างสุนักขัตตลิจฉวีบุตรคงจะมีมากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดย่อมไม่ทราบว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติเป็นเพียงกุศลขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบ บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ถึงพระปัญญาคุณที่ได้ทรงอบรมบารมีเพื่อประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นอริยสัจ ที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ ที่กำลังเกิดดับ ที่เป็นอนัตตาในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

บางท่าน อย่างเช่น สุนักขัตตลิจฉวีบุตร มีศรัทธาที่จะบวชในพระธรรมวินัย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังไม่เที่ยง กำลังเกิดดับในขณะนี้ สุนักขัตตลิจฉวีบุตรก็เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเกิดจากการเพียงค้นคิด ไตร่ตรอง ตรึกตรอง แต่ว่าเป็นประโยชน์ คือ เมื่อผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ก็สามารถสิ้นทุกข์

และบางท่านอาจจะเข้าใจว่า เวลาที่มีความทุกข์ ฟังพระธรรมแล้วก็หมดทุกข์ ปลดเปลื้องทุกข์ไป เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีประโยชน์เพียงเพื่อให้สิ้นทุกข์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงโดยการตรัสรู้นั้น ทรงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพื่อให้รู้แจ้งในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ และสามารที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้นแลเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมือง เวสาลีเพื่อบิณฑบาต ท่านได้สดับข่าวว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้กล่าววาจาเช่นนั้นในบริษัท ณ เมืองเวสาลี ... ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปในเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ...

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นบุรุษเปล่า มักโกรธ และวาจาที่เธอกล่าวนั่น ก็เพราะโกรธ ดูกร สารีบุตร สุนักขัตตะนั้นเป็นบุรุษเปล่า คิดว่าจักพูด ติเตียน แต่กล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต แท้จริงข้อนี้เป็นคุณของพระตถาคตที่บุคคลใดกล่าวอย่างนี้ว่า ธรรมอันพระตถาคตแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ดังนี้

บางท่านมีความแยบยลของกิเลสอกุศล อยากจะกล่าวติ แต่เพราะความฉลาด ไม่ให้รู้ว่ากล่าวติ ก็ทำเป็นสรรเสริญ แต่ว่าตามความเป็นจริง มีเจตนามุ่งหมายที่จะให้รู้ว่าเป็นการกล่าวติ ซึ่งสำหรับสุนักขัตตะนี้ คำพูดที่สุนักขัตตะกล่าวนั้น แท้จริงเป็นคุณของพระตถาคตที่ว่า ธรรมอันพระตถาคตแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ดังนี้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

สังเกตพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรม เพราะว่าสุนักขัตตลิจฉวีบุตรผู้เป็น บุรุเปล่า ไม่เข้าใจในอรรถของคำว่า ธรรม ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ

ถ้าผู้ใดเข้าใจอรรถของธรรม เวลาที่ฟังพระธรรมย่อมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ความชอบ ความไม่ชอบ สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้น เวลาที่บุคคลนั้นเข้าใจในอรรถของคำว่าธรรม ก็ย่อมฟังธรรม และเข้าใจธรรม ซึ่งก็คือ ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

แต่เมื่อไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การที่จะสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ก็ไม่ใช่โดยความเข้าใจธรรม หรือโดยธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรม ก็เพราะว่าไม่ได้รู้อรรถของธรรม

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

นี่คือพุทธานุภาพซึ่งเป็นส่วนน้อยมากที่กล่าวถึง เพราะว่าไม่มีบุคคลใดสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ยิ่งกว่าพระองค์ น่าอัศจรรย์ น่าเป็นไปได้ หรือว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ สำหรับสมัยนี้ มีคนที่ลูบคลำพระจันทร์ได้ไหม ไม่ยากแล้วใช่ไหมในการที่จะไปลูบคลำพระจันทร์ แต่ว่าสำหรับพระผู้มีพระภาค ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญฌานสมาบัติจนกระทั่งมีความชำนาญมาก จะสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามที่กล่าวแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้เสมอกับพระผู้มีพระภาค

ถ. ที่ดำดิน ดำอยู่นานๆ ได้ไหม ปกติผู้ที่ดำน้ำก็ต้องหายใจ เพราะใน

น้ำนี้หายใจไม่ได้ ถ้าดำดินนานๆ ไม่ต้องหายใจหรือ

สุ. หมายถึงใคร

ถ. ทุกคน

สุ. เว้นใครบ้างหรือเปล่า

ถ. ไม่มี

สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นไหม

ถ. พระองค์ก็ต้องหายใจด้วยเหมือนกัน

สุ. การหายใจหรือการไม่หายใจนี้ ผู้ที่เจริญฌานสมาบัติถึงขั้นฌานที่ ๔ หรือฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย ไม่มีลมหายใจ เพราะว่าจิตละเอียดมาก มีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องหายใจ

ถ. ท่านจะต้องออกจากจตุตถฌานก่อน จึงจะดำดินไม่ใช่หรือ

สุ. สำหรับความชำนาญในฌานสมาบัติของพระผู้มีพระภาค ในอรรถกถาแสดงว่า ในขณะที่ทรงแสดงธรรมและประชาชนสาธุการนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าผลสมาบัติ เวลาที่คนสาธุการจบ ก็ออกจากสมาบัติ และทรงแสดงธรรมต่อ หรือขณะที่หายใจเข้า เข้าด้วยสมาบัติหนึ่ง หายใจออก ออกด้วยสมาบัติหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดเปรียบเทียบพระผู้มีพระภาคกับบุคลใดๆ เลยทั้งสิ้น

เปิด  259
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565