แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 789
ถ. การพิจารณานามรูปอยู่เนืองๆ ใช่วิตก วิจาร ไหม
สุ. วิตกเจตสิกเป็นสัมมาสังกัปปะ และต้องทราบว่า วิตกหรือวิตกเจตสิก ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่คิดเรื่อง เพราะวิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘
เวลานี้วิตกเจตสิกเกิดขึ้นและดับไป นอกจากในขณะที่เห็น คือ จักขุวิญญาณ ขณะที่ได้ยิน คือ โสตวิญญาณ ขณะที่ได้กลิ่น คือ ฆานวิญญาณ ขณะที่ลิ้มรส คือ ชิวหาวิญญาณ และขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คือ กายวิญญาณ นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้ว วิตกเจตสิกเกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่รู้ลักษณะของวิตกเจตสิกว่า เป็นในขณะที่กำลังจรดตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะจึงเป็นองค์ของปัญญา เพราะถ้าวิตกไม่จรดในอารมณ์ ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นได้
ถ. ผู้ที่ได้ปฐมฌาน จะทราบลักษณะของการที่ได้นั้นอย่างไร
สุ. การที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี จะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ อย่างเวลาที่ให้ทาน สติเกิดขึ้นเป็นไปในทาน แต่ขณะนั้นขาดสัมปชัญญะได้ เพราะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
แต่สติสัมปชัญญะ หมายถึงขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามขั้น ถ้าเป็นสมถภาวนา ก็ขณะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ รู้ลักษณะสภาพความสงบของจิต รู้ว่าจิตสงบจากอกุศลธรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่เมื่อไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ที่ปัญญาจะไม่รู้นั้น เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่รู้เป็นอวิชชา ไม่ใช่ปัญญา ดังนั้น สมถภาวนาก็มีปัญญาขั้นที่รู้ในลักษณะความสงบของจิต และถ้าจะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต รู้ถึงลักษณะของวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาที่เป็นองค์ของฌาน ก็จะเห็นปัญญาของผู้ที่อบรมความสงบว่า เป็นผู้ที่ละเอียดและรู้จริง คือ สามารถรู้ความต่างกันของวิตกและวิจารได้ แต่ไม่สามารถละความเห็นผิดที่ยึดถือวิตกวิจารนั้น เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
เพราะฉะนั้น เป็นปัญญาต่างขั้น แต่ว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มิฉะนั้นแล้วภาวนาทั้งหมดจะเจริญอบรมไม่ได้เลย
ถ. การที่เราพิจารณากุศลธรรมอยู่เนืองๆ จะเรียกว่ามีกุศลธรรมตั้งมั่นในอารมณ์ได้ไหม
สุ. ตั้งมั่นในทาน หรือตั้งมั่นในศีล หรือตั้งมั่นในความสงบ หรือตั้งมั่นในการอบรมเจริญปัญญา แม้ตั้งมั่น ก็มีหลายขั้นด้วย
ถ. ตั้งมั่นในจิต
สุ. ตั้งอย่างไร
ถ. หมายถึงคิดแต่ด้านกุศล
สุ. กุศลขั้นไหน กุศลขั้นทาน หรือว่ากุศลขั้นศีล หรือกุศลขั้นความสงบ
ถ. ขั้นที่จะเรียกว่า อุทิศตนเป็นผู้ ..
สุ. ถ้าเป็นผู้มีความตั้งมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ ก็ถูกต้อง ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดคิดแต่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ก็ย่อมเจริญธรรมที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดว่า เป็นเพียงขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบ
ข้อความต่อไปใน มหาสีหนาทสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็นความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตพยัญชนะตอนนี้จะทราบว่า เป็นจิตตานุปัสสนา เรื่องของจิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ประมวลอยู่ในพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงว่า เป็นจิตตานุปัสสนา
การที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะไม่พ้นไปจากจิตตามที่กล่าวมาแล้ว เช่น จิตมีราคะ คือ โลภะ ความยินดีพอใจ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติตามความเป็นจริง
วันหนึ่งมีโลภะมากแค่ไหน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้ไหม นี่คือจุดที่สำคัญที่สุด การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ได้รู้อื่นที่นอกไปจากจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ขณะใดที่เป็นโลภะ ก็รู้ในขณะนั้นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ ทางตาในขณะที่กำลังเห็น เพียงเห็น รู้ว่าเป็นสภาพรู้ทางตาเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย น้อมไปรู้ว่าเป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้น คือ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมต้องตามปกติตามความเป็นจริงทุกอย่าง และสำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นทุกประการ ทุกประเภท ไม่ว่าจิตของบุคคลนั้นจะเป็นจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ เป็นจิตที่หดหู่ หรือเป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่เป็นมหรคต คือ เป็นมหัคคตจิต หรือเป็นจิตที่ไม่เป็นมหัคคตจิต เป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าเป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ กามาวจรจิต ตามปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เป็นจิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่ยิ่งกว่ากามาวจร คือ รูปฌานจิตและอรูปฌานจิต เป็นจิตที่ต่างไปยิ่งกว่ากามาวจรซึ่งเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึกเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางใจ ตามธรรมดา
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ สมาธิในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง
จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น สำหรับบุคคลที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่จิตหลุดพ้น ขณะนั้นหมายความถึงกำลังประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามขั้นของวิปัสสนาญาณ หลุดพ้นเป็นขณะๆ เป็น ตทังควิมุตติ ในขณะที่กำลังประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งยังไม่ใช่การหลุดพ้นด้วยมรรคญาณหรือว่าโลกุตตรจิต แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคทรงทราบตลอดหมด ไม่ว่าจิตของบุคคลนั้นจะเป็นโลกุตตรมรรค โลกุตตรผลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก ย่อมบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป กำลังเหล่านั้นของตถาคต ๑๐ ประการเหล่านี้แล ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกร สารีบุตร ตถาคตย่อมรู้ฐานะในโลกนี้โดยเป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ฐานะโดยเป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ธรรมใดเป็นเหตุ ธรรมใดเป็นผล ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดจะไม่ทราบว่า ธรรมที่เป็นเหตุและธรรมที่เป็นผลนั้น ทรงแสดงไว้โดยละเอียดในปฏิจจสมุปปาทธรรม คือ ธรรมซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น โลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุให้เกิดผลอะไร ทรงแสดงไว้โดยละเอียดในเรื่องของสภาพธรรมทั้งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน
เพราะฉะนั้น นี่เป็นพุทธวิสัยของพระผู้มีพระภาคที่ทรงรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นเหตุ ธรรมที่เป็นผลเกิดจากเหตุอย่างไร ก็เป็นผลที่เกิดจากเหตุนั้นอย่างนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วิบากของกรรมสมาทาน (คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว) ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง
ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้วิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
มีใครรู้วิบากของท่านเองบ้างไหม ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ได้ยินขณะนี้ โดยการศึกษาทราบว่า เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดเพราะกรรมในอดีต แต่ไม่ทราบว่า กรรมอะไรในอดีตเป็นปัจจัยให้ผลในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้เกิดขึ้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบโดยละเอียด โดยตลอด ไม่ว่าสัตว์โลกจะมีจำนวนมากสักเท่าไร ได้กระทำกรรมมาแล้วมากมายสักเท่าไรในสังสารวัฏฏ์ พระผู้มีพระภาคก็มีพระพุทธวิสัยที่จะทรงพยากรณ์ได้ว่า ในขณะนั้นผลคือวิบากนั้นเกิดจากกรรมอะไร และสำหรับในอนาคต ท่านผู้ฟังก็ย่อมจะไม่ทราบว่า กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วแม้ในชาติก่อน และในชาตินี้จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นในอนาคต แต่พระผู้มีพระภาคทรงมีพุทธวิสัยที่จะทรงพยากรณ์ได้
สำหรับทศพลญาณ คือ ญาณที่มีกำลังของพระผู้มีพระภาคประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงปฏิปทา คือ หนทาง ว่าหนทางนี้นำไปสู่นรก นำไปสู่สวรรค์ นำไปสู่นิพพาน ซึ่งไม่มีกิจที่บุคคลอื่นจะต้องแสดงหนทางแก่พระผู้มีพระภาคเลย มีใครจะแสดงกับพระผู้พระภาคไหมว่า ทางนี้ไปไหน แม้แต่ทางที่จะไปสู่บ้านนั้นเมืองนี้ก็ตาม
และแม้ข้อปฏิบัติ คือ ปฏิปทา ซึ่งเป็นทางนำไปสู่นรก พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโดยละเอียด หรือทางที่จะนำไปสู่สวรรค์ ทางที่จะนำไปสู่นิพพาน ก็ทรงแสดงโดยละเอียด เพราะฉะนั้น เพียงหนทางที่จะนำไปสู่ที่ต่างๆ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่มีกิจที่บุคคลอื่นจะต้องแสดงแก่พระองค์
บางท่านสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงขับรถยนต์ได้ไหม เล่นเปียโนได้ไหม พระผู้มีพระภาคทรงแทงตลอดในลักษณะของธาตุทั้งปวงตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ ถึงแม้อรูปธาตุหรือนิพพาธาตุ พระผู้มีพระภาคก็เป็นผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทศพลญาณประการต่อไป ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียวและมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียวและมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นความจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
ก็คงจะหมดข้อสงสัยได้ในพระพุทธวิสัย เพราะจะมีใครรู้แจ้งว่า โลกมิใช่มีธาตุอย่างเดียว แต่ว่ามีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง
โลภะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง นามธรรมแต่ละลักษณะก็เป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละลักษณะก็เป็นรูปธาตุแต่ละชนิด ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาว่า จะยังมีธาตุอะไรที่หลงเหลือที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประจักษ์แจ้ง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กันตามความเป็นจริง (อธิมุตติ หมายถึงอัธยาศัยที่เลวและประณีต เป็นต้น) ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กันตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจกบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ถึงอัธยาศัยที่เลวและประณีตของบุคคลอื่นได้อย่างแท้จริง และอย่างละเอียด แม้แต่ตัวเอง ถ้าลักษณะของความโลภอย่างวิจิตรอย่างแยบยล ไม่เกิดขึ้น จะมีใครรู้ไหมว่า ขณะนั้นจิตมีสภาพอย่างนั้น แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรู้อัธยาศัยทั้งเลวและประณีตของสัตว์โลกโดยละเอียด
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์และบุคคลทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อนและยิ่งตามความเป็นจริง ดูกร สารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดความที่สัตว์และบุคคลทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อนและยิ่งตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้เป็นโจก บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป
ถ้าไม่ทรงมีพระญาณที่มีกำลังข้อนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทรงอนุเคราะห์บุคคลที่สะสมอินทรีย์ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น ท่านพระองคุลีมาล และพระสาวกองค์อื่นๆ ได้ อย่างเช่นข้อความตอนหนึ่งในอรรถกถาที่ว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน แต่ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่สามารถที่จะเกิดความสลดสังเวช ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงอดีตชาติของท่านว่า ท่านเคยเป็นนายช่างทอง เพราะฉะนั้น ก็ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำ และให้เห็นความไม่เที่ยงของดอกบัวทองคำนั้น จิตของท่านก็สลด แต่บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้อัธยาศัยของบุคคลอื่นได้เลยว่า จะเกื้อกูลอย่างไรจึงจะทำให้อินทรีย์ที่สะสมมาพร้อมที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้เกิดขึ้น