แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 791

ข้อความต่อไปใน มหาสีหนาทสูตร ขัอ ๑๘๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยอาหาร พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] งา ฯลฯ พวกเราย่อมเยียวยาอัตภาพด้วย [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสาร ดังนี้ พวกเขาเคี้ยวกิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้าง ข้าวสารป่นบ้าง ดื่มน้ำ [ประมาณเท่าเมล็ด] ข้าวสารบ้าง ย่อมบริโภค [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารที่จัดทำให้แปลกมีประการมิใช่น้อยบ้าง ดูกร สารีบุตร เราย่อมรู้สึกว่า กิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น

ดูกร สารีบุตร เธอจะพึงมีความสำคัญว่า ข้าวสารในสมัยนั้นชะรอยจะเมล็ดใหญ่เป็นแน่ ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ข้าวสารที่เป็นขนาดใหญ่นั้นเทียว ก็มีเมล็ดเท่าข้าวสารในบัดนี้ ดูกร สารีบุตร เมื่อเรากิน [อาหารเท่าเมล็ด] ข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้น ร่างกายก็ถึงความซูบผอมยิ่งนัก อวัยวะน้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่ข้อมากและข้อดำ เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง … ฯลฯ เรานั้นเมื่อจะยังร่างกายให้คล่องแคล่วก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะความที่เรามีอาหารน้อยนั่นเอง.

ข้อความต่อไปเป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติทั้งหมดเหล่านั้น ไม่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ด้วยการปฏิบัติอย่างไม่มีใครสู้แม้นั้น ด้วยปฏิปทาแม้นั้น ด้วยความเพียรที่กระทำได้แสนยากนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็น ญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะมิใช่ปฏิปทาที่เป็นเหตุบรรลุปัญญาอันประเสริฐ ปัญญานี้แล ที่ซึ่งเราได้บรรลุแล้ว เป็นของประเสริฐ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้กระทำอยู่ตามนั้น

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความเห็นของสมณพราหมณ์พวกต่างๆ ซึ่งคิดว่าความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏฏ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏฏ์ ดูกร สารีบุตร ก็สังสารวัฏฏ์ที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไปโดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกร สารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก

บางคนคิดว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา อยู่ไปๆ ในสังสารวัฏฏ์แล้วในที่สุดก็ย่อมหมดจดในเมื่อถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ คือ ไม่ต้องเกิดเลย แต่นั่นเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

ในพระสูตรแสดงต่อไปว่า สมณพราหมณ์บางพวกก็มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการอุบัติในโลกต่างๆ บางพวกก็มีความเห็นว่า มีความหมดจดได้ด้วยอาวาส คือ ที่เกิดที่ต่างๆ บางพวกก็มีความเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการบูชายัญ บางพวกก็มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการบำเรอไฟ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า พระองค์ได้ทรงประพฤติปฏิบัติข้อปฏิบัติทั้งหมดเหล่านั้นมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ตอนจบของพระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า บุรุษรุ่นหนุ่มผู้เจริญนี้มีเกศาดำสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญ ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่งสมกับวัยตน ต่อมาบุรุษผู้เจริญนี้เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ คือ มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ ย่อมเสื่อมจากปัญญาความเฉลียวฉลาดนั้นในภายหลัง

นี่เป็นความเชื่อของคนส่วนมากที่คิดว่า วัยของสติปัญญาจะต้องเป็นวัยที่มี ผมดำสนิท แต่ว่าเวลาที่ล่วงกาลผ่านวัยลง เป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า มีอายุถึง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง โดยชาติ คือ โดยการเกิด ย่อมเสื่อมจากปัญญา ส่วนมากคิดกันอย่างนี้สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ยิ่งล่วงกาลผ่านวัย เวลาของการสะสมปัญญา ปัญญาก็ยิ่งคมกล้าขึ้น ซึ่งสำหรับพระผู้มีพระภาคนั้น ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้ในกาลที่ยังมีพระเกศา ดำสนิท แต่เมื่อล่วงกาลผ่านวัยจนถึง ๘๐ ปี ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้เราเป็นคนแก่ เป็นคนเฒ่า ถือเอาซึ่งความเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยโดยลำดับ อายุของเราแปดสิบปีเข้านี่แล้ว สาวกบริษัททั้ง ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้มีอายุถึงร้อยปี เป็นอยู่ได้ตั้งร้อยปี ประกอบด้วย คติ สติ ธิติอันยอดเยี่ยม และปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

ดูกร สารีบุตร เปรียบเหมือนนักธนูผู้มั่นคง ได้รับการฝึกหัดแล้ว ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาลโดยขวางให้ตกลงด้วยลูกศรขนาดเบาโดยง่ายดาย แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของเรา เป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ฉันนั้น พวกเธอพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้ว โดยเป็นคำพยากรณ์ มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง

นี่คือสติปัญญาของคนในครั้งนั้น เมื่อฟังแล้วเข้าใจทันที และทรงจำได้ด้วย เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยคติ สติ และธิติ คือ ความทรงจำอันยอดเยี่ยม

ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังจะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และบรรเทาความเมื่อยล้า ดูกร สารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น บทและพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเป็นดังนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเราเหล่านั้น จึงมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี พึงกระทำกาละโดยล่วงไปแห่ง ๑๐๐ ปี

ดูกร สารีบุตร ถ้าแม้พวกเธอจะพึงหามเราไปด้วยเตียงน้อย ความเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาเฉลียวฉลาดของตถาคต ย่อมไม่มีเลย

ทำไมพระผู้มีพระภาคต้องตรัสถึงเตียงน้อยด้วย เพราะบางคนคิดว่า อะไรที่ เล็กๆ น้อยๆ ย่อมทำให้สติปัญญาน้อยลงไปด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มีตระกูลใหญ่ มีทุกอย่างใหญ่ก็คิดว่า บุคคลผู้มั่งคั่งด้วยสมบัติใหญ่นั้นก็คงมีปัญญาใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจะได้รับฐานะ คือ เป็นผู้ที่พึงหามไปด้วยเตียงน้อย แต่พระปัญญาของพระองค์ที่จะลดน้อยลงนั้น ย่อมไม่มีเลย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำนั้นกะเราเท่านั้นว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระนาคสมาละถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องปฤษฎางค์ ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมี อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีโลมาอันพองเพราะฟังธรรมปริยายนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นาคสมาละ เพราะเหตุนี้แหละ เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้ว่า ชื่อว่า โลมหังสนปริยาย

พระผู้มีภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละมีใจชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

จบ มหาสีหนาทสูตร ที่ ๒

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงนี้ ต้องเกิดจากการที่ทรงบำเพ็ญบารมี ตบะ และพรหมจรรย์อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่ของง่าย ผู้ที่เป็นสาวกต้องอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้จริงๆ

ชีวิตในวันนี้ ขณะนี้ ต่างกับเมื่อ ๕ ปีก่อน ๑๐ ปีก่อน ๒๐ ปีก่อนไหม ซึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อน หรือ ๒๐ ปีก่อน หรือ ๕ ปีก่อน ก็ไม่มีท่านผู้ใดที่จะรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า เหตุการณ์ที่ท่านกำลังประสบอยู่อย่างนี้ จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในขณะนี้ หรือในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ๓๐ ปีข้างหน้า ๔๐ ปีข้างหน้า ๑๐๐ ปีข้างหน้า ๒๐๐ ปีข้างหน้า ๒,๐๐๐ ปีข้างหน้า ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ย่อมมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะให้เกิดนามธรรมและรูปธรรมที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้อีก หรือว่าในโลกอื่นต่อๆ ไป ซึ่งปัญญาที่สะสมแล้ว จะต้องคมกล้าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะเกิดข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๒๐๐ ปี ๒,๐๐๐ ปี ถ้าท่านสะสมปัญญาในขณะนี้ไปเรื่อยๆ ที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้น

ท่านอาจจะเห็นว่า ใหม่ และก็แปลก เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น แต่ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมจะวิจิตรอย่างไร จะเป็นนามธรรมและรูปธรรมในโลกมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ตาม หรือในพรหมโลก ถ้าท่านจะเกิดที่นั่น โดยเป็นผู้ที่สามารถอบรมความสงบได้จนถึงฌานจิต มีอัปปนาสมาธิ ที่ไม่เสื่อม แต่การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งไม่ว่านามและรูปที่เกิดขึ้นนั้นจะวิจิตรอย่างไร ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนท่านก็ไม่ทราบว่า ขณะนี้จะมีนามที่เห็นอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ ได้กลิ่นอย่างนี้ ลิ้มรสอย่างนี้ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างนี้ แต่ปัญญาที่อบรมมาพร้อมพอที่จะรู้แจ้ง โดยการประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือยัง

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะต้องรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า อรรถ ความหมายของปัญญานั้น คือ ความเข้าใจ เริ่มจากการฟัง เข้าใจสภาพธรรม เรื่องของสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง เรื่องของเห็น เรื่องของได้ยิน เรื่องของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส และเมื่อมีความเข้าใจแล้วขั้นหนึ่ง สะสมไว้ ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกได้ในขณะที่เห็น หรือในขณะที่ได้ยิน หรือในขณะคิดนึก หรือขณะที่เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ เป็นการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าความสมบูรณ์ของปัญญาที่ได้อบรมแล้วนั้นจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. ในการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานมี ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ท่านอรรถกถาจารย์ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกับประตูเมืองทั้ง ๔ ถ้าใครเจริญสติปัฏฐาน เหมือนเข้าไปในประตูเมืองประตูใดประตูหนึ่ง จะเป็นทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้ ก็เข้าไปถึงใจกลางเมืองได้เหมือนกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีอาจารย์หลายคนที่กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เอาแค่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวก็พอ แต่อาจารย์กล่าวว่า ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ถ้าเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวจะถึงนิพพานไหม

สุ. เรื่องการเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดอ่านอรรถกถา และปฏิบัติได้ ประตูอยู่ที่ไหน ยังไม่ทราบเลยว่า ประตูอยู่ที่ไหน จะเข้าประตูไหน

ถ. ประตู คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

สุ. ถ้าประตู คือ กาย เวทนา จิต ธรรม รู้อะไรที่กาย

เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ สภาพธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ เป็นอริยสัจจะ โดยสรุปแล้วลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คือ ลักษณะสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และเป็นรูปธรรม คือ สภาพซึ่งไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ ไม่รู้อะไรเลยนั้นอย่างหนึ่ง นี่ไม่ใช่ว่าท่านเข้าใจแล้ว โดยประจักษ์แจ้งในอรรถของคำว่า นามะ นามธรรม หรือรูปธรรม

ในขั้นของการฟัง ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า รูปธรรม คือ สภาพที่มีจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นต่างๆ พวกนี้ไม่สามารถจะรู้อารมณ์อะไรเลย โดยการฟังทราบว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม

ส่วนนามธรรม ไม่ใช่ชื่อ นามธรรม หมายถึงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ขณะใดที่ได้ยินก็ระลึกได้ น้อมไปที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพรู้เสียง ถ้ามีการอบรมเจริญสติน้อมไปรู้ลักษณะของนามธรรมที่รู้ทางหูบ่อยๆ เนืองๆ ทางตาบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะรู้ได้ว่า ยังมีนามธรรมอีกมากที่จะต้องน้อมไประลึกรู้จนกว่าลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ หรืออาการรู้นั้นจะปรากฏจริงๆ ให้ประจักษ์แจ้งว่า เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าท่านผู้ฟังจะระลึกลักษณะของนามธรรมเพียงแค่ได้ยินเสียง จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็น มีความตั้งอกตั้งใจพากเพียรที่จะรู้เพียงลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินเสียงเท่านั้น ท่านคิดว่าท่านเข้าใจอรรถของนามธรรม ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่รู้เสียงหรือเปล่า

ถ้าท่านเข้าใจอรรถของสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้จริงๆ เวลาเห็น ท่านย่อมสามารถที่จะน้อมไปรู้ว่า แม้ขณะที่เห็นก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้นั่นเอง ซึ่งนั่นแสดงว่า ท่านเริ่มเข้าถึงอรรถ ความหมายที่แท้จริง ลักษณะที่แท้จริงของนามธาตุที่เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมหรือนามธาตุแล้วย่อมจะรู้ว่า ขณะที่เห็นก็เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ลักษณะหนึ่ง ขณะที่ได้ยินก็เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ลักษณะหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าท่านพยายามที่จะรู้ลักษณะของได้ยินอย่างเดียวว่า เป็นนามธรรม และท่านคิดว่าท่านรู้แล้ว แต่พอถึงทางตา ท่านไม่รู้ว่าเป็นเพียงอาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ จะแสดงว่าท่านมีความเข้าใจในลักษณะ ในอรรถของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ทางหูได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ก็เพื่อให้หยั่งลงถึงลักษณะที่แท้จริงของนามธาตุซึ่งเป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ว่าจะรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่เป็นที่สงสัยในลักษณะของนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ นั่นจึงจะแสดงว่า ท่านมีความเข้าใจจริงๆ หมดความสงสัยในลักษณะของนามธาตุ

แต่ถ้าท่านเพียงแต่ต้องการรู้เฉพาะนามเดียวเท่านั้น แสดงว่า ไม่ได้เข้าถึงอรรถ ลักษณะที่แท้จริงของนามธาตุ จึงไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ แม้ขณะที่เห็นก็เป็นเพียงแต่เป็นธาตุรู้ อาการรู้ แม้ขณะที่คิดก็เป็นเพียงแต่เป็นธาตุรู้ อาการรู้

ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของธาตุรู้ จึงไม่สามารถที่จะเพียงรู้ลักษณะของนามธรรมเดียว และหมดความสงสัยได้ เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอนที่จะเจริญสติปัฏฐานเดียว และจะเข้าถึงอรรถ ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรม

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565